23 พ.ย. 2563 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์นัดสอบคําให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกําหนดวันนัดสืบพยาน ในคดี “วิ่งไล่ลุง” จ.บุรีรัมย์ ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นโจทก์ฟ้อง อิสรีย์ อภิสิริรุจิภาส อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ เขต 2 จ.บุรีรัมย์ ในความผิดฐาน เป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 จากกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 ซึ่งมีการจัดขึ้นที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ พร้อมกับอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ
หลังศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง โดยจําเลยให้การปฏิเสธตามคําให้การเป็นเอกสารที่ได้ยื่นต่อศาลในวันนี้แล้ว ศาลได้สอบถามโจทก์และจำเลยถึงแนวทางการสืบพยาน อัยการแถลงว่า จะนำพยานบุคคลเข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์รวม 3 ปาก ได้แก่ ผู้กํากับการสถานีตํารวจภูธรสตึก ซึ่งเป็นผู้รับแจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, ตํารวจที่สืบสวนการนัดชุมนุมตามที่โจทก์กล่าวหา และพนักงานสอบสวน
จําเลยและทนายจําเลยแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่าไม่ได้เป็นผู้จัดหรือนัดให้มีการชุมนุมตามที่ถูกกล่าวหา เพียงแต่แสดงออกว่าจะไปร่วมวิ่งออกกำลังกาย ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ตามที่พันธกรณีระหว่างประเทศ และรัฐธรรมนูญให้การรับรอง โดยที่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ การกระทําของจําเลยจึงไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย โดยอิสรีย์อ้างตนเองเป็นพยานเข้าสืบพยานจําเลยเพียงปากเดียว โดยอ้างส่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเป็นพยานเอกสารของฝ่ายจำเลยด้วย
กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยรวม 4 ปาก ในวันที่ 4 มี.ค. 2564
วันเดียวกันนี้จําเลยยังได้ยื่นคําร้องขอให้ศาลส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 วรรคสอง และมาตรา 28 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 26 ประกอบมาตรา 34 และมาตรา 44 หรือไม่ โดยอัยการแถลงไม่คัดค้านและไม่ประสงค์ที่จะยื่นคําคัดค้านคําร้องดังกล่าว ศาลจึงเห็นควรให้ส่งคำร้องดังกล่าวไปยังสํานักงานศาลยุติธรรมเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยต่อไป และในระหว่างนี้ให้ดําเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานของคู่ความไป แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” บุรีรัมย์ ที่อิสรีย์เข้าร่วม (ภาพโดยแนวหน้า)
กรณีการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 วรรคสอง และมาตรา 28 รวมทั้งมาตรา 14 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่นั้น ก่อนหน้านี้ พิศาล บุพศิริ จำเลยคดีวิ่งไล่ลุง จ.นครพนม และประเสริฐ กาหรีมการ จำเลยคดีวิ่งไล่ลุง จ.พังงา ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนครพนมและศาลจังหวัดตะกั่วป่าตามลำดับเช่นเดียวกัน โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว แต่ยังไม่มีคำวินิจฉัย
คำร้องดังกล่าวที่ระบุว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 วรรคสอง และมาตรา 28 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 อ้างถึงเหตุผลโดยสรุปดังนี้
- พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดผู้อื่นมาชุมนุมเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะที่ต้องแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ด้วย ทั้งที่นิยามในมาตรา 4 ไว้ชัดเจนแล้วว่า “ผู้จัดการชุมนุม หมายถึง ผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น” ซึ่งผู้จัดการชุมนุมจะต้องมีการแสดงออกอย่างชัดแจ้ง เช่น ขอใช้สถานที่ ขอใช้เครื่องเสียง ฯลฯ การกำหนดให้ผู้ที่เพียงเชิญชวนหรือนัดผู้อื่นต้องแจ้งการชุมนุมด้วยตามมาตรา 10 วรรคสอง จึงเพิ่มภาระและจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ทั้งยังส่งผลให้เกิดการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอันถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 ด้วย เนื่องจากทำให้ประชาชนทั่วไปไม่กล้าที่จะใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพราะอาจถูกตีความว่าเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมที่มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมด้วย
- มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ซึ่งกำหนดโทษทางอาญาให้กับผู้จัดการชุมนุมสาธารณะที่ไม่แจ้งการชุมนุมหรือที่แจ้งการชุมนุมไม่ครบกำหนด 24 ชั่วโมงก่อนการชุมนุม ขัดกับหลักความได้สัดส่วน และทำให้ประชาชนไม่กล้าที่จะใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ จึงขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ประกอบมาตรา 44
อ่านเนื้อหาของคำร้องโดยย่อที่ จำเลยวิ่งไล่ลุงยื่นศาล รธน.วินิจฉัย พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ขัด รธน.หรือไม่ เหตุแค่ชวนหรือนัดถือเป็นผู้จัด-ต้องแจ้งชุมนุม
คดีนี้ นายวันรพี ทองธวัช พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ ยื่นฟ้องอิสรีย์เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2563 โดยบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 เวลากลางวัน จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการชุมนุมได้จัดการชุมนุมในที่สาธารณะ และเชิญชวนบุคคลทั่วไปให้เข้าร่วมชุมนุมในกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” อันเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อคัดค้านการบริหารประเทศของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งนี้ โดยจำเลยไม่ได้แจ้งแก่หัวหน้าสถานีตำรวจภูธรสตึก
อ่านลำดับเหตุการณ์ในคดีนี้ทั้งหมดที่ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บุรีรัมย์ ร่วม “วิ่งไล่ลุง” พร้อมไลฟ์สด ถูกดำเนินคดี “ไม่แจ้งการชุมนุม”
ดูตารางคดีวิ่งไล่ลุงทั้งหมดที่ ลุงก็ต้องไล่ โรงพัก-ศาลก็ยังต้องไป: เปิดตารางความเคลื่อนไหวคดีจากกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง”