นอกจากการติดตามจับกุมดำเนินคดีแล้ว ภายใต้สถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นแทบทุกจังหวัด ในทุกวัน เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาล การคุกคามประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมในรูปแบบอื่นก็เกิดขึ้นทั่วไปเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะกับผู้จัดและผู้มีบทบาทขึ้นปราศรัย ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับการเปิดเผยจากประชาชนอีก 3 ราย ใน 2 จังหวัดภาคอีสาน คาดว่า ยังมีการคุกคามอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผย
สอบถามประวัติผู้แจ้งการชุมนุม #เผด็จการเป็นเหตุศรีสะเกษจะไม่ทน
ปณต ศรีนวล หรือ เต้ย อายุ 24 ปี นักกิจกรรม และเป็นผู้แจ้งการชุมนุม #เผด็จการเป็นเหตุศรีสะเกษจะไม่ทน ที่จัดขึ้นในวันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้าวันชุมนุม เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 63 เวลาประมาณ 21.00 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์มาหา อ้างว่าเป็นรองผู้กำกับแต่ไม่บอกสถานีตำรวจที่สังกัด ทำทีซักถามประวัติส่วนตัวและประวัติการศึกษาของปณต อ้างว่าเพื่อเอาไปบันทึกเป็นข้อมูล โดยที่ปณตไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ทราบเบอร์ส่วนตัวของตนได้อย่างไร เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ตอบเพียงสั้นๆ ว่า หาเบอร์เอา
ปณตแปลกใจว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่ต้องโทรมาถามประวัติของตน ทั้งที่ในเฟซบุ๊กตนก็เปิดเผยประวัติการศึกษาอยู่แล้ว และตนก็ขึ้นปราศรัยหลายครั้ง ปณตสันนิษฐานว่าตำรวจตามมาคุกคามจากเหตุที่ตนขึ้นเวทีปราศรัยทางภาคอีสานในหลายจังหวัด เช่น อุบลราชธานี ศรีสะเกษ มหาสารคาม รวมทั้งเป็นผู้แจ้งการชุมนุมที่ศรีสะเกษดังกล่าว
ชุมนุม #เผด็จการเป็นเหตุศรีสะเกษจะไม่ทน (ภาพจาก Pele Photography)
โทรหาครอบครัว-ตามถ่ายรูปถึงบ้าน ผู้จัด #อำนาจเจริญไม่ทนเผด็จการ
ขณะที่การชุมนุม #อำนาจเจริญไม่ทนเผด็จการ เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 63 ที่หอนาฬิกา อ.เมืองอำนาจเจริญ ก่อนการชุมนุมซึ่ง วรรณภัค จันทรเนตร ได้เข้าแจ้งการชุมนุม และ ผกก.สภ.เมืองอำนาจเจริญ ได้พูดคุยขอไม่ให้มีข้อความหรือการปราศรัยที่พาดพิงสถาบันกษัตริย์ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้โทรศัพท์มาถามอีกหลายครั้ง ทั้งข้อมูลของตนและแกนนำการชุมนุมคนอื่นๆ ว่า อยู่ไหน ทำงานที่ไหน อ้างว่า เพื่อจะได้ดูแลความปลอดภัยให้
ภายหลังการชุมนุมยุติลงในช่วงเย็นวันที่ 18 ต.ค. เมื่อวรรณภัคเดินทางกลับถึงบ้าน ได้มีโทรศัพท์เข้ามาเบอร์แม่ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ปลายสายซึ่งไม่ได้แนะนำตัวเองว่าเป็นใคร ถามว่าใช่ … (ชื่อแม่) มั้ย พอดีโทรหาพ่อไม่ติดจึงโทรหาแม่ วรรณภัคจึงถามว่าจะฝากข้อความถึงพ่อหรือไม่ เขาบอกว่า จะถามเรื่องการชุมนุมนิดหน่อย แต่ว่าไม่เป็นอะไรแล้ว วรรณภัคตั้งข้อสังเกตว่า ชายคนดังกล่าวทราบเบอร์โทรของแม่ได้อย่างไร ในเมื่อตอนแจ้งการชุมนุมได้กรอกเบอร์โทรของตนคนเดียว
สองวันต่อมา มีตำรวจ สภ.ปลาค้าว โทรศัพท์มาหาวรรณภัค แนะนำตัวว่าเป็นสารวัตร บอกว่า จะให้ลูกน้องมาหา ชี้แจงเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ วรรณภัคอ้างว่า ตนเองศึกษาเรื่องดังกล่าวมาแล้ว รู้ว่าไม่ได้ทำผิดอะไร แต่สารวัตรหว่านล้อมว่าจะให้ลูกน้องมาพบให้ได้ ไม่นาน ผู้ใหญ่บ้านก็พาตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 นาย มาที่บ้าน โดยได้พบและพูดคุยกับพ่อของวรรณภัคก่อน กล่าวถึงการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ต.ค. ว่าได้แจ้งการชุมนุมอย่างถูกต้องแล้ว แต่ที่มาหา เพราะต้องการมาดูว่า วรรณภัคมีตัวตนอยู่ที่บ้านนี้ตามทะเบียนบ้านจริงมั้ย และมีใครชักนำให้จัดการชุมนุมหรือไม่ หลังจากนั้น พ่อก็เรียกวรรณภัคที่อยู่ในบ้านออกไปพบ ตำรวจพูดทำนองว่า เข้าใจการเคลื่อนไหวที่เธอทำอยู่ และไม่ได้เป็นความผิดแต่อย่างใด แต่สุดท้ายก็ขอถ่ายรูปวรรณภัค พ่อ และผู้ใหญ่บ้าน ขณะยืนอยู่หน้าบ้านไป
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีกลุ่มนักศึกษานัดหมายจัดจัดกิจกรรม #เมืองอำนาจไม่หลงอำนาจไม่เอาเผด็จการ ที่หอนาฬิกา จ.อำนาจเจริญ แต่ต้องยกเลิกไป เนื่องจากถูกติดตามคุกคามจากเจ้าหน้าที่
ข่มขู่ผ่านครอบครัว-โรงเรียน นักเรียนผู้ขึ้นปราศรัย ไม่ให้เข้าร่วมชุมนุมอีก
นอกจากวรรณภัคแล้ว มีข้อมูลด้วยว่า พิษณุ (นามสมมติ) นักเรียน ม.6 ร.ร.หัวตะพานวิทยาคม ซึ่งร่วมปราศรัยในการชุมนุม #อำนาจเจริญไม่ทนเผด็จการ ก็ถูกติดตามคุกคาม โดยหลังจากพิษณุกลับถึงบ้านในช่วงดึกวันชุมนุม ได้รับการบอกเล่าจากแม่และย่าด้วยน้ำเสียงแตกตื่นว่า ผู้ใหญ่บ้านมาบอกว่า ตอนค่ำตำรวจโทรมาหาและให้บอกวิษณุไม่ให้ไปร่วมชุมนุม และช่วงดึก มีคนโทรมาหาแม่อีก บอกว่าเป็นตำรวจจากกรุงเทพฯ และพูดในลักษณะข่มขู่ว่า มีคำสั่งมาว่า หากเขาไปร่วมชุมนุมอีก อาจจะถูกดำเนินคดี และถ้าหมายมาถึงบ้านต้องไปรับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันทั้งครอบครัว เพราะเขาอายุไม่ถึง 20 ปี อาจจะติดคุกทั้งพ่อแม่ ใช้เงินประกันหลักล้าน ถ้าติดคุกไปอาจโดนซ้อม หมดสิทธิเข้ามหาวิทยาลัย ตอนท้ายชายคนดังกล่าวนัดให้แม่ไปพบที่ สภ.เมืองอำนาจเจริญ ในช่วงกลางวันวันรุ่งขึ้น ซึ่งทำให้แม่เกิดความหวาดกลัว
วันต่อมาพิษณุจึงได้ไปสอบถามผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านให้ข้อมูลว่า จังหวัดโทรมาหาตำรวจ สภ.หัวตะพาน ตำรวจจึงโทรมาสอบถามข้อมูลว่า ในหมู่บ้านมีคนชื่อพิษณุมั้ย เป็นลูกใคร โดยบอกผู้ใหญ่บ้านว่า เขาขึ้นเวทีปราศรัยที่อำนาจเจริญ
นอกจากนี้ วันถัดมา ครูที่โรงเรียนได้ฝากรุ่นน้องมาบอกพิษณุว่า มีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์มาบอกครูว่า เขามีข้อมูลของพิษณุแล้วว่าเป็นนักเรียนโรงเรียนนี้ ครูจึงฝากเตือนให้เขาระวังคำพูดเกี่ยวกับสถาบันฯ ด้วย
ชุมนุม #อำนาจเจริญไม่ทนเผด็จการ (ภาพจาก Vannapak Toey Juntaranate)
ทั้งนี้ พิษณุเล่าว่า ในวันที่ชุมนุมเขาขึ้นปราศรัยเรื่องความเหลื่อมล้ำ และประณามรัฐบาลที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม ไม่ได้มีการพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ (ดูคลิปปราศรัย) เขาคิดว่าเขาไม่ได้ทำผิดอะไร ไม่รู้ว่าทำไมตำรวจต้องมาติดตามคุกคามเขาและครอบครัวเช่นนี้
เป็นที่สังเกตว่า แม้การชุมนุมในแต่ละที่ ผู้จัดได้แจ้งการชุมนุมแล้ว ตำรวจก็ยอมรับว่า ไม่ได้เป็นความผิด แต่ยังมีการติดตามขอข้อมูลส่วนตัว ถ่ายรูป โทรศัพท์ถึงครอบครัว รวมถึงการข่มขู่ไม่ให้เข้าร่วมการชุมนุมอีก ซึ่งถือเป็นการคุกคามประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพ และบ่งบอกว่าในมุมมองของรัฐ การชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองเป็นสิ่งที่ต้องจับตา ไม่ได้ถือเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้