ศาลพิพากษาคดี ‘วิ่งไล่ลุงพังงา’ ว่าผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุม แม้สู้ว่าไม่ใช่ผู้จัดชุมนุม ให้รอกำหนดโทษ 4 เดือน

11 พ.ย. 64 ศาลจังหวัดตะกั่วป่า จังหวัดพังงา นัดอ่านคำพิพากษาในคดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดตะกั่วป่า กับนายประเสริฐ กาหรีมการ อดีตเจ้าหน้าที่พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จากกรณีการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563

คดีนี้ ประเสริฐถูกแจ้งข้อหาที่ สภ.ตะกั่วป่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 ก่อนอัยการจะมีคำสั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 โดยกล่าวหาว่าเขาได้สร้างกลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “วิ่ง ไล่ ลุง พังงา” และใส่ภาพปกของกลุ่ม พร้อมกับเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมแสดงออกทางการเมือง ในวันที่ 12 มกราคม 2563 เวลา 7.00 น. ณ ลานพระนารายณ์ ถึง บขส.ตะกั่วป่า และวิ่งรวมระยะทาง 1.5 กิโลเมตร โจทก์กล่าวหาว่าประเสริฐเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะดังกล่าว โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ซึ่งข้อกล่าวหามีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

ประเสริฐได้ให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีเรื่อยมา โดยต่อสู้ว่าตนไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงดังกล่าว จึงไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะ คดีนี้มีการนัดสืบพยานไปเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2563 และหลังเสร็จสิ้นการสืบพยาน ทางฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 วรรคสอง, 14, 28 ในเรื่องการให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งมีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมแล้วนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากเป็นการเพิ่มภาระและจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุหรือไม่ ศาลจึงให้จำหน่ายคดีชั่วคราว เพื่อส่งเรื่องและรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน

จนเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ศาลจังหวัดตะกั่วป่าได้นัดอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้จำเลยฟัง โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตราดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ศาลจึงได้นัดอ่านคำพิพากษาในคดีต่อมา

ในวันนี้ ศาลจังหวัดตะกั่วป่าได้พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง เนื้อหาโดยสรุประบุศาลพิเคราะห์ว่า การทำกิจกรรมวิ่งไล่ลุงเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563 เป็นการโจมตีการทำงานของรัฐบาล ถือว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะ ที่ผู้จัดการชุมนุมจะต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ในเขตท้องที่รับผิดชอบ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ

การที่จำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม ไม่สามารถรับฟังได้ เนื่องจากเมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ รับฟังได้ว่า ก่อนวันที่ 12 มกราคม 2563 จำเลยได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว โดยแชร์ข้อความเชิญชวนร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุง และมีการสร้างเฟซบุ๊กชื่อ “วิ่งไล่ลุงพังงา” ซึ่งจำเลยเป็นผู้ดูแล ต่อมาจำเลยได้ออกจากการเป็นผู้ดูแลเฟซบุ๊คดังกล่าว เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามคุกคาม จากนั้นมีบุคคลอื่นเป็นผู้ดูแลเฟซบุ๊กต่อจากจำเลย ซึ่งข้อกล่าวอ้างของจำเลยประเด็นนี้ไม่อาจรับฟังได้ เเม้จำเลยจะออกจากการเป็นผู้ดูแลเฟซบุ๊กดังกล่าว แต่ไม่อาจเชื่อได้ว่าจำเลยไม่ได้เกี่ยวข้องแล้วแต่อย่างใด เพราะบุคคลอื่นที่จำเลยกล่าวอ้างไม่มีตัวตนมาเเสดงและจำเลยอาจอยู่เบื้องหลังในการใช้เฟซบุ๊ก “วิ่งไล่ลุงพังงา” ประกอบกับจำเลยเอง ก็ไม่ได้นำประเด็นดังกล่าวยกเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การชั้นพนักงานสอบสวนมาก่อน

พยานโจทก์ยังได้เบิกความว่าในวันเกิดเหตุคดีนี้ พยานเห็นจำเลยนำแผ่นกระดาษจำนวนหลายแผ่น และปากกาจำนวนหลายด้ามมาวางไว้ และได้ตะโกนเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมมาเขียนข้อความลงในแผ่นกระดาษ จากนั้นผู้เข้าร่วมการชุมนุมก็ได้ทยอยเข้ามาเขียนกระดาษ

ในส่วนของบทนิยามของผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 นั้น ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยต้องโทษทางคดีอาญามาก่อน และไม่ปรากฏว่าการทำกิจกรรมในวันเกิดเหตุมีความรุนแรงเกิดขึ้น จึงให้รอการกำหนดโทษจำเลยไว้ 4 เดือน

.

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้นับเป็นคดีในชุดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” คดีที่สาม ซึ่งมีการต่อสู้คดีในชั้นศาล และศาลมีคำพิพากษาออกมา ก่อนหน้านี้ได้มีคำพิพากษาในคดีวิ่งไล่ลุงนนทบุรี ซึ่งศาลแขวงนนทบุรีลงโทษปรับ 3,000 บาท และคดีวิ่งไล่ลุงนครพนม ซึ่งศาลจังหวัดนครพนมมีคำพิพากษายกฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่าจำเลยมีพฤติการณ์เพียงแค่โพสต์เชิญชวน ไม่มีพฤติการณ์เป็นผู้จัดในระหว่างทำกิจกรรม จึงเห็นว่าไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะ

ขณะที่ยังมีคดีวิ่งไล่ลุงอีก 4 คดี ที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดีหรือรอฟังคำพิพากษา ได้แก่ คดีวิ่งไล่ลุงกรุงเทพ, คดีวิ่งไล่ลุงบุรีรัมย์, คดีวิ่งไล่ลุงนครสวรรค์ และคดีวิ่งไล่ลุงเชียงราย ส่วนคดีวิ่งไล่ลุงกาฬสินธุ์ ผู้ถูกฟ้องคือ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ ได้ตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพตามข้อกล่าวหา และศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 พฤศจิกายน นี้

.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัยการสั่งฟ้องผู้จัด #วิ่งไล่ลุง พังงา-นนทบุรี ข้อหา “ไม่แจ้งการชุมนุม” แล้ว

ลุงก็ต้องไล่ โรงพัก-ศาลก็ยังต้องไป: เปิดตารางความเคลื่อนไหวคดีจากกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง”

การออกวิ่งที่เต็มไปด้วยขวากหนาม: ภาพรวมการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในกิจกรรม #วิ่งไล่ลุง ทั่วไทย

.

X