ตร.แจ้ง 9 ข้อหา 2 นักเรียนมัธยม พร้อมสมาชิกพรรคก้าวไกล เหตุ “คาร์ม็อบภูเก็ต” เรียกร้องวัคซีนและการเยียวยาช่วงโควิด

วันที่ 25 ส.ค. 2564 นักเรียน 2 คน และสมาชิกพรรคก้าวไกล เดินทางไปยัง สภ.เมืองภูเก็ต เพื่อรับทราบ 9 ข้อกล่าวหา ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อ, มั่วสุมก่อความวุ่นวาย และข้อหาอื่นๆ ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษอีก 6 ข้อหา กรณี “คาร์ม็อบภูเก็ต #บีบให้เทือน” บริเวณวงเวียนสะพานหิน อ.เมืองภูเก็ต เคลื่อนขบวนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไปยังศาลากลางจังหวัดภูเก็ต เพื่อยื่นหนังสือให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2564 

ทั้ง 3 คน ทยอยได้รับหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหา จาก สภ.เมืองภูเก็ต ลงวันที่ 26 ก.ค. 2564 โดยนายเฉลิมพงศ์ แสงดี สมาชิกพรรคก้าวไกล ซึ่งยืนยันว่าตนเพียงเป็นผู้เดินทางมาสังเกตการณ์ในวันดังกล่าว ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในช่วงเช้า ขณะที่เยาวชน 2 คน อายุ 15 และ 17 ปี เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาช่วง 14.00 น. พร้อมด้วยที่ปรึกษากฎหมายและผู้ปกครอง โดยได้มีการแยกสอบและมีเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพร่วมสอบด้วย

พนักงานสอบสวน พ.ต.ท.หญิง นุชรี ล่องแก้ว รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.เมืองภูเก็ต บรรยายพฤติการณ์ผู้ต้องหาโดยสรุป ระบุ

ก่อนเกิดเหตุในคดี เจ้าหน้าที่ตํารวจฝ่ายสืบสวนและ พ.ต.ท. พงศ์พิชาญ ชญานนท์พิริย ผู้กล่าวหา ตรวจสอบพบว่า วันที่ 19 ก.ค. 2564  เวลาประมาณ 17.41 น. ได้มีการโพสต์ข้อความพร้อมภาพเชิญชวนลงในเพจ “กลุ่มภูเก็ตปลดแอก” โดยได้มีการนัดหมายจัดชุมนุม CAR MOB ให้กลุ่มที่เห็นต่างในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งมีข้อความระบุว่า “ทําไมเรายังไม่ได้วัคซีนที่ดี? ทําไมเราไม่มีสิทธิ์เลือกวัคซีน? ทําไม ปัญหาโควิดจึงไม่หมดสิ้นไปเหมือนหลายประเทศ? ขอเชิญประชาชนพี่น้องชาวภูเก็ตทั้งหลาย มาร่วมกันบอกเล่าความยากลําบากของตน และเรียกร้องสิ่งที่เราควรจะได้รับกันเถิด ในขบวน Car mob เจอกัน ณ เวทีกลางสะพานหิน ในวันเสาร์ที่ 24 ก.ค. 2564 เวลา 15.00 น. 

โดยจากการตรวจสอบพบอีกว่า นายเฉลิมพล แสงดี (ผู้ต้องหาที่ 1) ได้มีการโพสต์ข้อความลงในเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า “ตื่นเถอะ ลุกขึ้นมาครับภูเก็ต..!! เตรียมรถยนต์ รถมอไซค์ของท่านให้พร้อม ใส่น้ำมันรถให้เต็มถัง เช็คแตร์ให้ดัง ออกมาไล่ประยุทธ์กันครับพ่อแม่พี่น้อง” พร้อมภาพรถและมีข้อความระบุวันเวลาสถานที่ประกอบภาพรถดังกล่าว ซึ่งมีการโพสต์เป็นสาธารณะ 

จากนั้นต่อมาปรากฏว่าเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2564  เวลาประมาณ 15.30 น. ได้เริ่มมีการทยอยรวมกลุ่มกันของกลุ่มคนที่มาตามประกาศเชิญชวนนัดหมายชุมนุมตามเพจดังกล่าวที่บริเวณสวนสาธารณะสะพานหิน ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยกลุ่มผู้ชุมนุมบางกส่วนขับขี่และนั่งอยู่ในรถยนต์ บางส่วนขับขี่รถจักรยานยนต์ และบางส่วนก็ยืนและเดินเกาะกลุ่มกัน โดยไม่ได้มีการเว้นระยะ บางส่วนถือป้ายข้อความ และมีรถยนต์กระบะที่ใช้พูดโฆษณาผ่านเครื่องเสียงนําหน้าขบวน โดยมีการติดแผ่นป้ายด้านข้างของรถยนต์ระบุ 3 ข้อเรียกร้องจากประชาชน เยาวชนผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 คน อยู่ในรถคันดังกล่าว และพูดเชิญชวน ตลอดจนกล่าวถึงข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 

ระหว่างนั้น พ.ต.ท.พงศ์พิชาญ ชญานนท์พิริย รักษาการรองผู้กำกับป้องกันปราบปราม สภ.เมืองภูเก็ต ได้ประกาศต่อแกนนําและกลุ่มผู้ชุมนุม ใจความว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้สิทธิเสรีภาพแก่บุคคลในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ถือเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นมาเพื่อความมั่นคงของรัฐ, ความปลอดภัยสาธารณะ, ความสงบเรียบร้อยของประชาชน และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น จึงเป็นข้อยกเว้นในสิทธิเสรีภาพดังกล่าว ประกอบกับได้มีประกาศ/ข้อกําหนด/คําสั่ง ที่ออกภายใต้กฎหมายดังกล่าวห้ามการชุมนุม

ดังนั้นจึงขอประกาศเตือนพี่น้องกลุ่มผู้ชุมนุมทุกท่าน ที่ได้มาชุมนุมในลักษณะนี้ รวมถึงผู้ที่โพสต์ แชร์ข้อความเชิญชวนให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุม ว่าการกระทําของท่านถือเป็นความผิดที่ถูกกล่าวหาได้ และในสถานการณ์ขณะนี้การกระทําของท่านถือเป็นความเสี่ยงต่อการแพร่โรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้อื่นและครอบครัวของท่านอย่างมาก 

เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง และเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย จึงขอให้พวกท่านยุติการชุมนุมแต่เวลานี้ แต่หากยังคงฝ่าฝืนชุมนุมรวมตัวกันอีก การกระทําของพวกท่านจะมีความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ก็จําเป็นต้องดําเนินการตามกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นๆ 

ต่อมาในเวลาประมาณ 16.15 น. เยาวชนทั้งสองได้สลับกับพูดปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงตลอดเส้นทาง ซึ่งตามด้วยขบวนรถจักรยานยนต์และมีขบวนรถยนต์ปิดท้าย มีการบีบแตรเพื่อส่งเสียงตลอดเส้นทางที่เคลื่อนขบวน และในเวลา 16.54 น. ขบวนได้เคลื่อนมาถึงหน้าศาลากลางจังหวัดภูเก็ต จากนั้น เยาวชนทั้งสองได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อนาย วิกรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต โดยมีเนื้อหาโดยสรุปคือ 1.นําเข้าวัคซีนที่มีคุณภาพมาแจกจ่ายให้กับประชาชนทุกคนให้เท่าเทียมกัน 2.ประกันรายได้กับประชาชนทุกกลุ่ม 3.ออกมาตรการเยียวยา 4.เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก 

จนถึงเวลา 17.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้ยุติการชุมนุมดังกล่าว

คาร์ม็อบภูเก็ต 24 ก.ค. 64 ภาพจากเฟซบุ๊ก Charlie Hallett

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 3 คน รวม 9 ข้อหาประกอบด้วย

  1. ประมวลกฎหมายอาญา ม.215 ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง 
  2. ประมวลกฎหมายอาญา ม.368 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร
  3. ประมวลกฎหมายอาญา ม.370 ส่งเสียงทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร 
  4. ประมวลกฎหมายอาญา ม.385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร
  5. ประมวลกฎหมายอาญา ม.397 ร่วมกันก่อความเดือดร้อนรำคาญในสถานที่สาธารณะ
  6. พ.ร.บ.จราจรฯ ม.114 ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร
  7. พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียง ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
  8. พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ร่วมกันกระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ระบาด
  9. พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดให้เป็นเขตพื้นที่เฝ้าระวังสูง

เบื้องต้นทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดทุกข้อกล่าวหา ภายหลังรับทราบข้อกล่าวหาเสร็จสิ้น ทั้ง 3 คนได้เดินทางกลับโดยตำรวจไม่ได้ควบคุมตัวไว้

ถือเป็นคดีคาร์ม็อบคดีแรกที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหามากที่สุด  แม้หลายข้อหาจะเป็นความผิดลหุโทษ คือมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่ว่าอย่างไรก็สร้างภาระแก่ผู้ถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะผู้ถูกดำเนินคดีเป็นนักเรียนมัธยม ซึ่งเพียงออกมาเรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนโดยรวม ในสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปอย่างมาก

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2564 ขณะกลุ่มภูเก็ตปลดแอกจัดกิจกรรมคาร์ม็อบและยุติการชุมนุมช่วงเวลา 17.30 น. ได้มีมวลชนที่ไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมดังกล่าวเข้ามาต่อว่าและยื่นมือเข้ามาทางกระจกรถยนต์ซึ่งเปิดอยู่เพื่อกระชากคอเสื้อเยาวชนซึ่งอยู่ในรถปราศรัย โดยนายเฉลิมพลได้เข้าไปช่วยห้ามปรามก่อนถูกผลักออกทำให้ได้ไปแจ้งความดำเนินคดีเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2564 ซึ่งผู้ก่อเหตุถูกตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 291 “ใช้กำลังประทุษร้าย โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” และได้รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา พร้อมจ่ายค่าปรับ 1,000 บาท

อย่างไรก็ตาม จ.ภูเก็ต ได้เปิดรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา ภายใต้โครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์” หลังมีการระบุว่า ประชาชนในพื้นที่ได้รับวัคซีนถึง 70% ซึ่งคาดว่าทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่

ในปัจจุบันมีคดีที่เกิดจากการจัดคาร์ม็อบในพื้นที่ต่างๆ แล้วอย่างน้อย 22 คดี โดยมีการดำเนินคดีในภาคใต้ 4 คดี ที่ภูเก็ต, กระบี่ และยะลา


อ่าน :  สรุปคดี “คาร์ม็อบไล่ประยุทธ์” ทั่วประเทศ มีไม่น้อยกว่า 22 คดีแล้ว

X