นักกิจกรรม-ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ร่วมคาร์ม็อบสุรินทร์ เรียกร้องวัคซีนคุณภาพ ได้ 2 คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แทน

“สนใจการบ้านการเมือง เห็นจากในเฟซว่ามีการจัดกิจกรรมจึงมาร่วม ผู้ร่วมชุมนุมเห็นว่ามีอายุมากกว่า จึงชักชวนให้พูดผ่านไมค์ ซึ่งผมก็พูดบรรยายพิธีกรรมที่เขาเผาหุ่น สาปแช่งรัฐบาล รวมถึงปราศรัยเรียกร้องวัคซีนคุณภาพมาฉีดให้ประชาชนตามสิทธิที่ประชาชนพึงได้รับ ไม่ใช่ปล่อยให้มีคนฉีดวัคซีนแล้วตายก็ไม่รับผิดชอบ แต่ผมไม่ได้เป็นตัวตั้งตัวตีจัดกิจกรรม”

“ผมมาเรียกร้องงานที่หายไป ทำงานรถแห่ ลิเก สถานบันเทิง ร้านอาหาร คลับ บาร์ ได้รับผลกระทบ จากนโยบายรัฐบาลที่ล้มเหลว บริหารไม่เป็น และเรียกร้องวัคซีนที่มีคุณภาพ เพราะรัฐบาลเอาวัคซีนด้อยคุณภาพมาฉีดให้เรา” 

คำให้การของประชาชน 2 ราย หลังตกเป็นผู้ต้องหาจากกิจกรรม #คาร์ม็อบสุรินทร์ไล่เผด็จการ เมื่อวันที่ 1 และ 15 ส.ค. 2564 รวม 2 คดี เพื่อแสดงเจตนาว่า การออกมาร่วมคาร์ม็อบในวันดังกล่าว ไม่ได้ต้องการให้โควิดระบาดเพิ่มขึ้น กลับกันทั้งสองต้องการเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาโควิดที่มีประสิทธิภาพ ที่จะหยุดการระบาดของโควิด เพื่อให้ตนเองและประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ทั้งสองคือ นิรันดร์ ลวดเงิน อายุ 64 ปี อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และวิสณุพร สมนาม อายุ 37 ปี นักกิจกรรมกลุ่ม “สุรินทร์ไม่เอาเผด็จการ” ซึ่งวานนี้ (14 ก.ย. 2564) เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของ สภ.เมืองสุรินทร์ โดยมี พ.ต.ท.สกาว คำไกร รอง ผกก.สส.สภ.เมืองสุรินทร์ เป็นผู้กล่าวหา ก่อนที่จะทราบว่า ทั้งสองต้องตกเป็นผู้ต้องหา รวม 2 คดี 

พ.ต.ท.รัฐพงษ์ พรมมี สารวัตร (สอบสวน) สภ.เมืองสุรินทร์ แจ้งพฤติการณ์ที่เป็นเหตุในการดำเนินคดีทั้ง 2 คดี คล้ายคลึงกันว่า นิรันดร์และวิสณุพรเป็นแกนนําในการจัดกิจกรรม “Surin Car Mob” โดยนิรันดร์ได้ขึ้นปราศรัยบนรถยนต์กระบะสองแถวผ่านเครื่องขยายเสียงตลอดเส้นทาง และเป็นผู้ประกาศแจ้งยุติกิจกรรม ส่วนวิสณุพรได้โพสต์ทางเฟซบุ๊กเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม และได้ใช้รถยนต์กระบะเข้าร่วมกิจกรรม บรรทุกเสบียงให้บริการผู้เข้าร่วมกิจกรรม รวมถึงถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยมีจํานวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 500 คน รถยนต์ 150 คัน รถจักรยานยนต์ 100 คัน ถือว่าเป็นการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจํานวนมาก อันเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่ของโรคโควิด-19

จากนั้นได้แจ้งข้อกล่าวหานิรันดร์และวิสณุพรว่า “ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของบุคคลจํานวนมาก เสี่ยงต่อการแพร่ของโรคโควิด-19 อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ประกอบข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 ส.ค. 2564 และคําสั่งจังหวัดสุรินทร์ที่ 3036/2564 ลงวันที่ 3 ส.ค. 2564 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 9)” 

นิรันดร์และวิสณุพรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในทั้ง 2 คดี โดยให้การเบื้องต้นไปดังข้างต้น เพื่อแสดงเจตนาว่า การออกมาร่วมคาร์ม็อบในวันดังกล่าว ไม่ได้ต้องการให้โควิดระบาดเพิ่มขึ้น และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน ก่อนลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาและบันทึกประจำวัน โดยวิสณุพรเขียนว่า “ผมมาเรียกร้องวัคซีน” แทน

อย่างไรก็ตาม แม้ทั้งสองจะนัดหมายส่งคำให้การและพยานหลักฐานเพิ่มเติมภายในวันที่ 14 ต.ค. 2564 แต่พนักงานสอบสวนนัดทั้งสองให้มาพบอีกครั้งเพื่อส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการในวันที่ 5 ต.ค. 2564  

ระหว่างการแจ้งข้อกล่าวหา วิสณุพรตั้งคำถามกับพนักงานสอบสวนว่า ทำไมถึงมาดำเนินคดีกับตนว่าเป็นผู้จัดการชุมนุม ทั้งที่ตนเป็นเพียงผู้แชร์โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ และการออกมาเรียกร้องดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์ของทุกคน พนักงานสอบสวนเองยังเพิ่งได้ฉีดวัคซีนเข็มเดียว ญาติห่างๆ ของตน หลังฉีดวัคซีนก็เสียชีวิต เพิ่งจะเผาไป และเท่าที่ตนทราบ ในสุรินทร์มีคนที่ฉีดแล้วเป็นอัมพาต 2 ราย เป็นเพราะวัคซีนที่รัฐบาลนำมาฉีดไม่มีคุณภาพนั่นเอง 

วิสณุพร หรือเรียว ยังเปิดเผยภายหลังว่า ในกิจกรรมทั้งสองครั้งตนก็ใส่แมสก์ เว้นระยะห่าง ภาพหลักฐานที่ตำรวจให้ดูก็เป็นภาพที่ตนไม่ได้อยู่ใกล้ชิดคนอื่น อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกดำเนินคดีก็ต้องสู้คดีเพื่อพิสูจน์ว่าเราไม่ได้ผิด ในเรื่องผลกระทบนั้น มีมาตั้งแต่โควิดระบาด ทำให้รายได้ลดลง เกิดความเครียด แต่พอออกมาเรียกร้องก็ถูกดำเนินคดี ซึ่งทำให้ภรรยาซึ่งตอนที่ได้รับหมายเรียกใกล้ถึงกำหนดคลอดลูก เกิดความกังวลในเรื่องนี้  

ด้านนิรันดร์ หรือที่คนรู้จักเรียกว่า “อ.นิรันดร์” เนื่องจากอดีตเคยรับราชการครู และร่วมเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยมาตั้งแต่ราวปี 2550 ในการเลือกตั้งสมัยหน้าก็มีเป้าหมายว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งอีกเป็นครั้งที่ 2 เปิดเผยว่า โดยส่วนตัวคาดว่า ที่ถูกดำเนินครั้งนี้มีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง เพราะในสุรินทร์มีการจัดกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยหรือเรื่องอื่นๆ มาประจำ ไม่เคยถูกดำเนินคดีในลักษณะนี้ 

แต่ครั้งนี้มีการไปยื่นหนังสือให้อนุทิน ชาญวีรกูล ที่หน้าบ้านพักในตลาดของปกรณ์ มุ่งเจริญพร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ในวันนั้นก็มีตำรวจหลายร้อยคนไปเฝ้า แต่ ส.ส.ปกรณ์ไม่ได้ออกมารับหนังสือเอง ภายหลังกิจกรรมก็มีข่าวว่า ส.ส.ปกรณ์ ไม่พอใจ ตำรวจในสุรินทร์จำนวนมากก็เป็นคนของพรรคดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม อ.นิรันดร์กล่าวว่า ตนยินดีจะต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ว่า เป็นสิทธิของประชาชนในการเรียกร้องรัฐบาลให้จัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพมาฉีด เพื่อให้การระบาดของโควิดน้อยลงหรือหมดไป

ทั้งนี้ ในจังหวัดสุรินทร์มีการจัดคาร์ม็อบมาแล้วรวม 3 ครั้ง แม้ว่ากิจกรรมรูปแบบคาร์ม็อบจะเป็นกิจกรรมที่ที่แสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ โดยเฉพาะในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด โดยผู้จัดและผู้เข้าร่วมมีการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดเพิ่มมากขึ้น แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังใช้ข้อกล่าวหา จัดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาปิดกั้นการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลดังกล่าว 

นอกจากจังหวัดสุรินทร์ ในภาคอีสานพบว่ามีการดำเนินคดีจากกิจกรรมคาร์ม็อบในอีก 6 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น ชัยภูมิ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ นครพนม ไม่น้อยกว่า 13 คดี รวมผู้ถูกออกหมายเรียกอย่างน้อย 43 ราย โดยเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี รวม 6 ราย อายุน้อยที่สุดคือ 14 ปี โดยถูกออกหมายเรียกถึง 2 คดีอีกด้วย

.  

X