คาร์ม็อบโคราช ปฏิเสธข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ย้ำ! ชุมนุมมีมาตรการป้องกันโควิด ถ้าไม่ออกมาส่งเสียงก็เหมือนศิโรราบ

วันที่ 2 กันยายน 2564 เวลา 10.00 น. ที่ สภ.เมืองนครราชสีมา ประชาชน 7 ราย  เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรมคาร์ม็อบในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 และคาร์ม็อบในวันที่ 15 สิงหาคม 2564 โดยทั้ง 7 คนได้แก่ วัฒนะชัย สืบศิริบุษย์, วรพงษ์ โสมัจฉา, กฤติพงศ์ ปานสูงเนิน, บริพัตร กุมารบุญ, จักรวุธ ไตรวัลลภ, นะโม สุขปราณี และภัทรกาญจน์ ทองแดง 

ก่อนเข้าพบพนักงานสอบสวน พ.ต.อ.กรกฎ โปชยะวาณิช ผู้กำกับ สภ.เมืองนครราชสีมา กล่าวกับผู้ต้องหาทั้งหมดในห้องประชุมว่า สิ่งที่จะมุ่งเน้นในการดำเนินคดีคือ มิติด้านสาธารณสุข ว่าการชุมนุมนั้นมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด -19 หรือไม่  อย่างไรก็ตามการรับทราบข้อกล่าวหาครั้งนี้ อยากให้ผู้ต้องหาแต่ละคนใช้ความรู้สึกของตัวเองให้มากที่สุดในการตอบพนักงานสอบสวน หากจะให้การปฏิเสธ  

“อยากให้บอกพนักงานสอบสวนถึงเหตุผลในการปฏิเสธไปเลยว่า ไม่มีเจตนาจะฝ่าฝืนอะไร อยากจะชุมนุมอะไรก็ว่าไปตามสิทธิที่พึงมีพึงได้ อย่าไปให้ปากคำสั้นๆ และไม่ต้องคิดไปถึงภาษากฎหมายอะไรมาก คิดถึงภาษาใจ อยากจะให้การยังไง และควรให้การที่เป็นประโยชน์กับตัวเองว่าปฏิเสธเพราะอะไร”

การรับทราบข้อกล่าวหาแบ่งผู้ต้องหาออกเป็น 2 ห้อง สำหรับคดีจากเหตุเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 คณะพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครราชสีมา แจ้งพฤติการณ์ทั้งวัฒนะชัย สืบศิริบุษย์, วรพงษ์ โสมัจฉา, กฤติพงศ์ ปานสูงเนิน และบริพัตร กุมารบุญ ว่า ก่อนการชุมนุมเจ้าหน้าที่ตํารวจชุดสืบสวนพบเห็นกลุ่มเฟซบุ๊กเพจ Korat NO เผด็จการ โพสต์แจ้งการจัดกิจกรรมว่า “ประกาศเลื่อนกิจกรรม CAR MOB โคราช #ขับไล่ลุงโคราช จากวันอาทิตย์ที่ 25 ก.ค. เป็นวันอาทิตย์ที่ 1 ส.ค. 64 จัดคู่ขนานกับสมบัติทัวร์ที่กรุงเทพและทั่วประเทศ” 

ต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 พบเพจ Korat NO เผด็จการ โพสต์แจ้งการจัดคาร์ม็อบโคราช ในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 บริเวณประตูชุมพล (หลังอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี) จนเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ชุดสืบทราบว่า จะมีกลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันเป็นจํานวนมาก จะใช้รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ขับเคลื่อนขบวน พร้อมเปิดสัญญาณไฟและแตรรถไปตามถนนในตัวเมืองนครราชสีมา จากนั้นเวลาประมาณ 15.30 น. พบรถยนต์ประมาณ 200 คัน รถจักรยานยนต์ประมาณ 500 คัน และมีกลุ่มคนประมาณ 1,000 คน กลุ่มผู้ชุมนุมปราศรัยใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยโจมตีการทํางานของรัฐบาล พร้อมทั้งแพร่ภาพสดผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งในบางครั้งผู้ต้องหากับพวกถอดหน้ากากอนามัย พูดคุยกันนานเกินกว่า 15 นาที ทั้งยืนอยู่ใกล้ชิดกันไม่ห่างเกินกว่า 2 เมตร และรวมกลุ่มกันเกินกว่า 20 คน เข้าลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคสูง การชุมนุมยุติลงบริเวณลานจอดรถหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เมื่อเวลา 19.20 น. 

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาประชาชนทั้งสี่ว่า ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อ 2 ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย และร่วมกันฝ่าฝืนคําสั่งจังหวัดนครราชสีมา คําสั่งที่  7100/64 และ 7368/64 เรื่องการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกันของบุคคลไม่เกิน 20 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต”

คาร์ม็อบ 1 สิงหา ภาพจาก เพจ Korat No เผด็จการ

ขณะที่เหตุจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564  คณะพนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์ในคดีให้ วัฒนะชัย สืบศิริบุษย์, จักรวุธ ไตรวัลลภ, นะโม สุขปราณี และภัทรกาญจน์ ทองแดง ทราบว่า เมื่อวันที่  14  สิงหาคม 2564 ตํารวจชุดสืบสวน สภ.เมืองนครราชสีมา ตรวจสอบบัญชีเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ วัฒนะชัย สืบศิริบุษย์ โพสต์ว่า “15 สิงหา โคราชม็อบ & car park ไล่รัฐบาลประยุทธ์ออกไป พร้อมกันทั่วประเทศ” และพบว่าเฟซบุ๊กกลุ่มเพจ Korat no เผด็จการ โพสต์วันเวลานัดหมายและแผนที่การจัดกิจกรรมคาร์ม็อบโคราชเช่นกัน

กระทั่ง วันที่ 15 สิงหาคม 2564 เวลา 15.00 น. มีผู้ชุมนุมประมาณ 200 คน รวมกลุ่มกันที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี  เริ่มมีการจัดกิจกรรมโดยใช้รถเครื่องขยายเสียง ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมกิจกรรม  นะโม สุขปราณี แกนนํากลุ่มองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนา ขึ้นปราศรัยหัวข้อเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาล เรียกร้องให้ประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาล จักรวุธ ไตรวัลลภ  ขึ้นปราศรัยถึงการบริหารของ รัฐบาลที่ยังแก้ไขไม่ตรงจุด 

หลังจากนั้นวัฒนะชัย แกนนำในการจัดกิกรรมขึ้นปราศรัย เนื้อหาส่วนใหญ่โจมตีการทํางานของรัฐบาล และการจัดหาวัคซีนที่ไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน พร้อมทั้งเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ภัทรกาญจน์ ทองแดง แกนนํากลุ่มก้าวไกลนครราชสีมา ถือป้ายกระดาษ “มันจบแล้วรัฐบาลฆาตกร ประยุทธ์ ออกไป!” 

หลังการปราศรัย ผู้ชุมนุมนำดอกไม้มามอบให้เจ้าหน้าที่ตํารวจที่มาปฏิบัติหน้าที่ จากนั้นผู้ร่วมกิจกรรมใช้พาหนะเป็นรถยนต์ จํานวนประมาณ 60 คัน รถจักรยานยนต์ประมาณ 90 คัน ตั้งขบวนขับขี่รถเริ่มออกจากลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีเคลื่อนที่ไปในเมืองแล้วกลับมายังบริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ต่อมาเวลา 18.00 น. ผู้ร่วมกิจกรรมร่วมกันเคารพธงชาติ พร้อมชูสามนิ้ว ก่อนยุติกิจกรรม 

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา  ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกําหนด และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และฝ่าฝืนคําสั่งจังหวัดนครราชสีมาที่ 7916/64 เรื่อง มาตรการในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด 19 ข้อ 10 ซึ่งห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจํานวนรวมกันมากกว่า 5 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 35 ประกอบคําสั่งจังหวัดนครราชสีมาที่ 7916/64 

ทั้ง 2 คดี ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวนนัดผู้ต้องหาอีกครั้งเพื่อส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงนครราชสีมาในวันที่ 20 กันยายน 2564 

คาร์ม็อบ 1 สิงหา ภาพจาก เพจ Korat No เผด็จการ

หลังเข้าพบพนักงานสอบสวน วัฒนะชัย สืบศิริบุษย์ จากกลุ่มโคราชเลือดใหม่ ซึ่งถูกดำเนินคดี 2 คดี จากคาร์ม็อบ 2 ครั้ง ให้ความเห็นถึงการออกหมายเรียกจากเหตุคาร์ม็อบและการชุมนุมอื่นๆ ในโคราชที่มีเยาวชนถูกออกหมายเรียกด้วยว่า 

“อดคิดไม่ได้ว่าพนักงานสอบสวนน่าจะใช้ดุลพินิจมากกว่านี้ เพราะว่าเด็กต้องได้รับการปกป้องในการแสดงออก ที่ผมเชื่อว่าเขาทำด้วยบริสุทธิ์ใจจริงๆ ในการออกมาแสดงความคิดเห็นหาทางออกให้ประเทศจึงอยากให้ตำรวจทบทวนดุลพินิจอีกครั้งหากจะออกหมายเรียกฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” 

ด้านวรพงศ์ โสมัจฉา อดีตผู้สมัคร ส.ส.นครราชสีมา เขต 1 พรรคอนาคตใหม่ กล่าวด้วยว่า โคราชเป็นจังหวัดใหญ่ ใหญ่กว่ากรุงเทพฯ ปทุมธานี และสมุทรปราการ รวมกันอีก เวลามีสถิติผู้ติดเชื้อโควิด-19  โคราชก็จะติดอันดับต้นๆ ตลอด เพราะเป็นจังหวัดใหญ่ประชากรเยอะ “ถึงอย่างนั้นเวลาจัดกิจกรรมอะไรเราจะระวังและทำตามมาตรการควบคุมโรคทุกครั้ง และคาร์ม็อบเป็นอีกทางเลือกในการออกมาเรียกร้องขณะนี้ ด้วยผลงานรัฐบาลล้มเหลวที่ผ่านมา ถ้าเราไม่ออกมาเคลื่อนไหว มันก็ไม่มีเสียงสะท้อนอะไรจากสังคม เราอยากออกมาแสดงเจตนาที่ดีต่อบ้านเมือง เพื่อไม่ศิโรราบกับสิ่งที่เกิดขณะนี้” 

นอกจาก 2 คดีนี้ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครราชสีมา ยังออกหมายเรียกข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 3 คดี จากคาร์ม็อบและกิจกรรมของกลุ่มเยาวชน ได้แก่ คดีคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 มีผู้ถูกออกหมายเรียก 5 ราย เป็นเยาวชน 2 ราย, คดีจากกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์หน้าตำรวจภูธรภาค 3 ในวันที่  7 สิงหาคม 2564 มีผู้ถูกออกหมายเรียก 2 ราย และเหตุจากคาร์ม็อบวันที่  21 สิงหาคม 2564  มีผู้ถูกออกหมายเรียก 10 ราย เป็นเยาวชน 4 ราย 

ทั้งสามคดีมีผู้ถูกออกหมายเรียกรวม 12 ราย เป็นเยาวชนถึง 5 ราย อายุน้อยที่สุดคือ 14 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นเยาวชนกลุ่ม Korat Movement  แต่เนื่องจากบางรายยังไม่ได้รับหมายเรียก จึงขอเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ไปเป็นวันที่ 14 กันยายน 2564 

.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สรุปคดี “คาร์ม็อบไล่ประยุทธ์” ทั่วประเทศ มีไม่น้อยกว่า 22 คดีแล้ว

หนุ่มไรเดอร์ถูกแจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังร่วมคาร์ม็อบชัยภูมิ ส่งเสียงไล่ประยุทธ์

อีกคดี! แจ้ง “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” เจ้าของธุรกิจส่วนตัว เหตุร่วม CarMob หนองบัวลำภู ขับไล่รัฐบาล เจ้าตัวยัน “ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ”

X