นักกิจกรรม “นครพนมสิบ่ทน” ถูกแจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวดเดียว 3 คดี หลังจัดคาร์ม็อบ ตามด้วยแอดมินเพจวัย 18 ถูกรองประธานสภาฯ แจ้งความหมิ่นประมาทฯ

22 ก.ย. 2564 ประกอบ วงศ์พันธ์ เกษตรกรและนักกิจกรรมกลุ่ม “นครพนมสิบ่ทน” วัย 51 ปี เข้ารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมทนายความที่ สภ.เมืองนครพนม หลังได้รับหมายเรียกผู้ต้องหา ที่มี พ.ต.ต.ชวลิต ธีมานนท์ เป็นผู้กล่าวหา ในข้อหา จัดกิจกรรมรวมกลุ่มมากกว่า 50 คน 

เมื่อเข้าพบ พ.ต.ท.คำดี เฮียงบุญ รอง ผกก.(สอบสวน) ได้แจ้งว่า ในวันนี้จะแจ้งข้อกล่าวหา 3 คดี จากคาร์ม็อบ 3 ครั้ง ในวันที่ 7, 15 และ 27 ส.ค. 2564 ก่อนเริ่มแจ้งพฤติการณ์ที่ดำเนินคดี และข้อกล่าวหา ใน 3 คดี คล้ายคลึงกัน เนื้อหาว่า ก่อนคาร์ม็อบในวันดังกล่าว ประกอบได้โพสต์เฟซบุ๊กชื่อ “นครพนมสิบ่ทน – Nahhon Panonsiborton” ลักษณะเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปมาร่วมในกิจกรรมคาร์ม็อบนครพนม #แห่ไล่ประยุทธ์ #ประยุทธ์ออกไป 

เมื่อถึงวันนัดหมาย ประกอบและบุคคลต่างๆ ตั้งแต่ 50 – 100 คน ได้นํารถยนต์และรถจักรยานยนต์ตั้งแต่ 30 – 70 คันมาเข้าร่วมกิจกรรม ตั้งแถวเป็นขบวนและเคลื่อนตัวไปตามถนนสายต่างๆ โดยมีการติดป้ายข้อความ และปราศรัยโจมตีการทํางานของรัฐบาล และให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก พร้อมทั้งบีบแตรรถยนต์ตลอดเส้นทาง จากนั้นเมื่อถึงจุดหมายมีการปราศรัย และชูสามนิ้วประกาศจุดยืนขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนยุติการชุมนุม หลังกิจกรรมทั้ง 3 ครั้ง พ.ต.ต.ชวลิต ธีมานนท์ สารวัตรสืบสวน สภ.เมืองนครพนม เป็นผู้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดี

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนเห็นว่า การกระทำดังกล่าว เป็นการรวมกลุ่มกันมากกว่า 50 คน จัดกิจกรรมในเขตจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อันเป็นความผิดฐาน ฝ่าฝืนข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 30) ข้อ 4(3) ลงวันที่ 1 ส.ค. 2564 และคําสั่งจังหวัดนครพนมที่ 1847/2560 ลงวันที่ 26 ก.ค. 2564 

ประกอบให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในทั้ง 3 คดี โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือมายื่นภายใน 20 วัน และได้ตอบคำถามที่พนักงานสอบสวนถามว่า มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ใดในคดีนี้มาก่อนหรือไม่ โดยให้การว่า มีสาเหตุโกรธเคืองพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มานานแล้ว ตั้งแต่ทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากประชาชนเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 จากนั้นก็บริหารประเทศล้มเหลวมา 7 ปี

หลังเสร็จการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ ประกอบถามพนักงานสอบสวนทิ้งท้ายว่า “ผมแจ้งความประยุทธ์ข้อหา ม.113 ฐานเป็นกบฏได้มั้ย” ก่อนกล่าวตามมาว่า “ผมถามเล่นๆ” 

คาร์ม็อบนครพนม 15 สิงหา (ภาพจากเพจ นครพนมสิบ่ทน)

“รัฐบาลนี้ขับเคลื่อนด้วยการด่า ถ้าเราไม่ออกไปด่า รัฐบาลก็ไม่ทำอะไร เราด่าเพื่อเร่งให้หาวัคซีนมาเร็วๆ” นี่ดูจะเป็นวัตถุประสงค์ของคาร์ม็อบในนครพนมซึ่งจัดมาแล้วรวม 4 ครั้ง ประกอบเล่าให้ฟังว่า ทุกครั้งนอกจากการโพสต์ประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนประชาชนในจังหวัดเข้าร่วมแล้ว ก่อนจัดยังได้มีการส่งหนังสือแจ้งการชุมนุมถึงตำรวจ ระบุเวลา สถานที่ที่จะใช้ทำกิจกรรม เพื่อให้การชุมนุมเป็นไปอย่างถูกกฎหมาย 

อีกทั้งยังมีการประสาน อสม.มาคัดกรองที่จุดเริ่มต้น วัดอุณหภูมิ แจกแมสก์ แอลกอฮอล์ ระหว่างที่เคลื่อนขบวนไป เราเชิญชวนให้คนที่อยู่ตามเส้นทางเข้าร่วม แต่ก็ประชาสัมพันธ์ให้เว้นระยะห่างตลอดเวลา แต่ก็ยังถูกดำเนินคดี ทั้งที่ถนนคนเดิน ตลาดนัด ก็เปิดตามปกติ เห็นชัดว่า เขาอยากปิดปากคนที่วิจารณ์รัฐบาล  

นอกจากการเรียกร้องวัคซีนแล้ว ในการปราศรัยในคาร์ม็อบแต่ละครั้งยังเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้องค์กรอิสระต้องมาจากประชาชน อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญต้องเป็นของประชาชน ซึ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มันผิดเพี้ยนไป รวมทั้งเรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออก เพราะความล้มเหลวในการบริหารประเทศ 

ในคาร์ม็อบ 3 ครั้ง ที่ประกอบถูกดำเนินคดี ประกอบเปิดเผยว่า เพราะเขาเป็นคนลงชื่อในหนังสือแจ้งการชุมนุม ส่วนครั้งที่ 4 ที่เพิ่งจัดไปล่าสุดในวันครบรอบ 15 ปี 19 กันยา มีวารียา นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคเป็นผู้แจ้ง เมื่อสอบถามรอง ผกก.(สอบสวน) ว่า จะมีการออกหมายเรียกผู้แจ้งการชุมนุมครั้งหลังสุดอีกหรือไม่ ได้รับคำตอบว่า คาร์ม็อบในวันที่ 19 ก.ย. 2564 มีคนเข้าร่วมน้อย เพราะฝนตก จึงไม่ดำเนินคดี 

คาร์ม็อบนครพนม 27 สิงหา (ภาพจากเพจ นครพนมสิบ่ทน)

อย่างไรก็ตาม ขณะประกอบไปพิมพ์ลายนิ้วมือ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่พิมพ์ลายนิ้วมือสอบถามถึงวารียา นักกิจกรรม “นครพนมสิบ่ทน” อีกคนว่าอยู่ที่ไหน ไปส่งหมายเรียกแต่ไม่พบตัว ประกอบจึงสอบถามรายละเอียดของหมายเรียกดังกล่าว จึงได้ข้อมูลว่า ศุภชัย โพธิ์สุ หรือ “ครูแก้ว” (รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส.จังหวัดนครพนม พรรคภูมิใจไทย), ศุภพานี โพธิ์สุ (นายก อบจ.นครพนม) และอลงกต มณีกาศ (รองนายก อบจ.นครพนม) มอบอำนาจให้ ผศ.(พิเศษ) ธนบวร สิริคุณากรกุล เข้าแจ้งความดำเนินคดีแอดมินเพจ “นครพนมสิบ่ทน” ในข้อหา หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยหมายเรียกดังกล่าวให้วารียา (สงวนนามสกุล) อายุ 18 ปี ไปพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครพนม ในวันที่ 24 ก.ย. 2564

ต่อมา เวลาประมาณ 16.30 น. วารียาก็ได้รับหมายเรียกดังกล่าว หลังตำรวจนอกเครื่องแบบไปส่งให้ที่บ้านอีกครั้ง 

วารียาเองยังไม่แน่ใจว่า เธอถูกแจ้งความจากโพสต์ใด ทั้งนี้ ในเพจมีการโพสต์ถึงประเด็นที่ศุภชัยถูกตรวจสอบ และลูกสาวถูกฟ้องว่าผิดระเบียบ กกต.เรื่องการหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ. วารียากล่าวว่า ทั้งสามคนน่าจะคิดผิดที่มาให้ความสนใจแจ้งความดำเนินคดีนักศึกษาอย่างเธอในข้อหาดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวารียาได้รับหมายเรียกกระชั้นชิด ทนายความจึงแจ้งพนักงานสอบสวนขอเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปเป็นวันที่ 12 ต.ค. 2564 

ก่อนหน้านี้ นับจากต้นปี 2563 ในจังหวัดนครพนมมีกิจกรรมและชุมนุมแสดงออกทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยหลายครั้ง มีผู้ถูกดำเนินคดีจากกิจกรรมดังกล่าวอย่างน้อย 1 ราย ได้แก่ พิศาล บุพศิริ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จ.นครพนม ในข้อหา ไม่แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ จากการโพสต์เชิญชวนและร่วมกิจกรรม “วิ่งไล่ลุงนครพนม” โดยศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 6 ต.ค. ที่จะถึงนี้

.

X