หนุ่มไรเดอร์ถูกแจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังร่วมคาร์ม็อบชัยภูมิ ส่งเสียงไล่ประยุทธ์

17 ส.ค. 2564 เวลา 11.00 น. ศุภากร คำประดิษฐ อายุ 28 ปี กลุ่มราษฎรชัยภูมิ พร้อมทนายความ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของ สภ.เมืองชัยภูมิ หลังจากถูก พ.ต.ท.จักรภพ ศรีหนา รอง ผกก.สส.สภ.เมืองชัยภูมิ กล่าวหาว่า จัดการชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุด จากกิจกรรม #CarMobชัยภูมิ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 

พ.ต.ท.ชาญ จูงกระโทก รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.เมืองชัยภูมิ พนักงานสอบสวนคดีนี้ แจ้งข้อเท็จจริงที่กล่าวหาศุภากรว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 เวลา 16.00 – 17.30 น. กลุ่มคณะราษฎรชัยภูมิ นำโดยศุภากร ซึ่งเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “คณะราษฎรชัยภูมิ” เป็นแกนนำและผู้ประสานงานจัดให้มีการชุมนุมและทำกิจกรรมในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ โดยมีมวลชนเข้าร่วมประมาณ 300 คน รถยนต์ประมาณ 130 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 100 คัน รวมตัวกันที่วงเวียนหน้าอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพระยาแล จากนั้นเคลื่อนขบวนรถไปตามถนนในเมือง แล้วกลับมายังจุดเดิมหน้าอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล

จากนั้นกลุ่มมวลชนที่ลงจากรถแล้วเดินมารวมกลุ่มชุมนุมที่หน้าศาลาเอกลักษณ์ มีการใช้เครื่องขยายเสียงกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งผู้จัดการชุมนุมย่อมต้องเล็งเห็นผลได้ว่า การรวมกลุ่มเข้ามาอยู่ใกล้กันโดยไม่ได้รักษาระยะห่างให้เหมาะสม อาจเกิดความเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดในพื้นที่ที่มีการประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และผู้จัดไม่ได้มีการห้ามหรือยับยั้งแต่อย่างใด

จากนั้น พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ศุภากรทราบว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน “จัดให้มีการชุมนุมหรือทำกิจกรรม (ที่มีการรวมกลุ่มกันของบุคคลมากกว่า 50 คน) ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีการประกาศและคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต”

ข้อหาดังกล่าว เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท   

ศุภากรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือภายใน 15 วัน หลังพิมพ์ลายนิ้วมือและลงบันทึกประจำวันแล้ว พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวไว้

ศุภากร หรือหนึ่ง  เปิดเผยว่า ชัยภูมิมีการชุมนุมหลายครั้งแล้ว ไม่เคยมีใครถูกดำเนินคดี ไม่ทราบเหมือนกันว่า ทำไมตำรวจจึงมาดำเนินคดีกับเขาในครั้งนี้ ทั้งที่เป็นคาร์ม็อบ ซึ่งทุกคนที่มาร่วมก็อยู่ในรถอยู่แล้ว ลงมารวมตัวกันก่อนยุติกิจกรรมไม่เกิน 10 นาที แต่ละคนก็พยายามระวังตัว ใครๆ ก็กลัว ไม่อยากเป็นโควิดอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้มีคนมาร่วมมากกว่าทุกครั้ง น่าจะเป็นเพราะทนไม่ไหวแล้วกับประยุทธ์และรัฐบาลนี้ 

หนึ่งยังคาดว่า การที่เขาเป็นคนเข้าไปพูดคุยกับตำรวจตอนที่ตำรวจมาแจ้งว่าให้เลิกกิจกรรม น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ตำรวจดำเนินคดีกับเขา 

ปกติหนึ่งเป็นไรเดอร์ส่งอาหาร ซึ่งเขาทำเองส่วนตัว สนใจติดตามการเมืองมาตั้งแต่ครั้งคนเสื้อแดงมีบทบาทในการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งเขาเองก็เคยไปร่วมพร้อมกับครอบครัว ในช่วงที่ทหารทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เขาก็รับไม่ได้ จนถึงปัจจุบันที่ทหารก็สืบทอดอำนาจมา และบริหารประเทศล้มเหลว เขาจึงไปร่วมชุมนุมหลายต่อหลายครั้งเท่าที่เขาสามารถไปได้ ทั้งในกรุงเทพฯ และในอีสาน เพื่อส่งเสียงของประชาชนคนเล็กคนน้อยให้รัฐบาลได้ยิน การถูกดำเนินคดีครั้งนี้แม้จะเป็นครั้งแรก แต่เขาตั้งใจว่าจะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดเพื่อยืนยันสิทธิของประชาชน  

กิจกรรม #CarMobชัยภูมิ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 นั้น จัดขึ้นพร้อมอีกกว่า 30 จังหวัด ทั่วประเทศ ภายใต้สโลแกน “1 สิงหา คาร์ม็อบทั่วไทย ขับไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในส่วนของ จ.ชัยภูมิ นั้น เพจ “ราษฎรชัยภูมิ” ได้โพสต์ประชาสัมพันธ์ว่า  

“ทนไม่ไหวแล้วใช่ไหม กับวัคซีนคุณภาพที่ไม่มาสักที

ทนไม่ไหวแล้วใช่ไหม กับคนตายรายวันที่รัฐบาลไม่เคยใยดี

ทนไม่ไหวแล้วใช่ไหม กับการบริหารที่ล้มเหลวของฆาตกรประยุทธ์ จันทร์โอชา

เมื่อพูดแล้วไม่ยอมไป ก็ต้องขับรถไล่มัน!”

ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จนถึงวันที่ 13 ส.ค. 2564 พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีการดำเนินคดีต่อกิจกรรมในลักษณะคาร์ม็อบ ซึ่งเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่ไม่ได้มีการรวมตัวกันอย่างใกล้ชิด ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไปแล้วไม่น้อยกว่า 22 คดี ในจำนวนนี้มีคดีที่มีอัตราโทษปรับ และตำรวจได้เปรียบเทียบปรับให้คดีสิ้นสุดไปแล้ว 6 คดี 

>> สรุปคดี “คาร์ม็อบไล่ประยุทธ์” ทั่วประเทศ มีไม่น้อยกว่า 22 คดีแล้ว

เครดิตภาพกิจกรรมจากเฟซบุ๊ก Natthaphon Sanghuaithai(SK Lulla)

X