สรุปคดี “คาร์ม็อบไล่ประยุทธ์” ทั่วประเทศ มีไม่น้อยกว่า 22 คดีแล้ว

หลังจาก “บก.ลายจุด” หรือสมบัติ บุญงามอนงค์ ริเริ่มนำรูปแบบ “คาร์ม็อบ” (Car Mob) มาใช้ในการแสดงออกทางการเมือง โดยมีการจัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2564 ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รูปแบบการชุมนุมรวมตัวคนจำนวนมากมีข้อจำกัด รูปแบบการนั่งอยู่บนรถส่วนตัว ไม่ได้สัมผัสใกล้ชิด แต่ยังสามารถร่วมเคลื่อนขบวนรถไปด้วยกัน จึงเป็นทางเลือกสำคัญในการจัดกิจกรรมแสดงออกทางการเมือง

หลังเริ่มมีการจัดกิจกรรมในกรุงเทพฯ กิจกรรมนี้ก็กระจายไปในต่างจังหวัด ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม และมีการจัดคาร์ม็อบอย่างต่อเนื่องในจังหวัดต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน และในสิงหาคมนี้ การพยายามหยุดยั้งความเคลื่อนไหวรูปแบบนี้ของเจ้าหน้าที่รัฐก็เริ่มเข้มข้นขึ้น เมื่อเริ่มมีการออกหมายเรียกและดำเนินคดีการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบในจังหวัดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ภายในเวลาไม่ถึงครึ่งเดือน

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจนถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2564 มีคดีความที่เกิดจากกิจกรรมในลักษณะคาร์ม็อบแล้วอย่างน้อย 22 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 57 คน ในจำนวนนี้ยังพบว่าเป็นเยาวชน 3 รายด้วย คดียังเกิดขึ้นกระจายไปในแทบทุกภูมิภาคทั่วไทย

ในจำนวนคดีนี้ แยกเป็นคดีที่ตำรวจกล่าวหาในข้อหาที่มีอัตราโทษปรับ เช่น ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือข้อหาเกี่ยวกับ พ.ร.บ.จราจรฯ ทำให้ผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับ คดีจึงสิ้นสุดไปแล้วจำนวน 6 คดี ได้แก่ กรณีผู้ร่วมคาร์ม็อบวันที่ 10 กรกฎาคม และ 1 สิงหาคม ในกรุงเทพฯ, ผู้จัดคาร์ม็อบ 1 สิงหาคม ที่จังหวัดลำปาง, อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดกาญจนบุรี

ขณะที่คดีอื่นๆ พบว่ามีการกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกด้วย ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา หรือหลายพื้นที่เพิ่งได้รับหมายเรียกในช่วงนี้ ยังไม่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา หากแยกตามภูมิภาคจะพบว่ามีคดีดังต่อไปนี้

ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีอย่างน้อย 4 คดี ได้แก่

1.  ตำรวจ สน.ชนะสงคราม ออกหมายเรียกผู้ร่วมคาร์ม็อบวันที่ 3 กรกฎาคม ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผู้เข้าร่วม 12 ราย

2.  ตำรวจ สน.ทุ่งมหาเมฆ ออกหมายเรียกผู้เข้าร่วมคาร์ม็อบวันที่ 1 สิงหาคม จากกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก 2 ราย

3.  ตำรวจ สน.ลุมพินี ออกหมายเรียกผู้เข้าร่วมคาร์ม็อบวันที่ 1 สิงหาคม 3 ราย

4.  กรณีทีมงานรถเครื่องขยายเสียง 3 รายที่ถูกจับกุมหลังนำรถไปร่วมคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม โดยเป็นคดีของ สน.สำราญราษฎร์

ในพื้นที่ปริมณฑล มีอย่างน้อย 2 คดี ได้แก่

1. ตำรวจ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ออกหมายเรียกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และกลุ่มคนเสื้อแดงปทุมธานี จากการเข้าร่วมคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม รวม 2 ราย

2.  คดีที่เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี ถูกจับกุมระหว่างเดินไปร่วมคาร์ม็อบ 1 สิงหาคม รวม 7 ราย โดยเป็นคดีของ สภ.รัตนาธิเบศร์

ในพื้นที่ภาคเหนือ มีอย่างน้อย 5 คดี ได้แก่

1.  คดีจากคาร์ม็อบที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม มีผู้ถูกดำเนินคดี 5 ราย

2.  คดีจากคาร์ม็อบที่จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม มีผู้ถูกดำเนินคดี 1 ราย

3.  คดีจากคาร์ม็อบที่จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม มีผู้ถูกดำเนินคดี 2 ราย

4.  คดีจากคาร์ม็อบที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม มีผู้ถูกออกหมายเรียกแล้ว 1 ราย

5.  คดีจากคาร์ม็อบที่จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม มีผู้ถูกออกหมายเรียก 1 ราย

ในพื้นที่ภาคอีสาน มีอย่างน้อย 1 คดี ได้แก่

คดีจากคาร์ม็อบ #ชัยภูมิจะไม่ทน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม มีผู้ถูกออกหมายเรียกแล้ว 1 ราย

ในพื้นที่ภาคใต้ มีอย่างน้อย 4 คดี ได้แก่

1.  คดีจากคาร์ม็อบที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม  มีผู้ถูกออกหมายเรียก 3 ราย

2.  คดีจากคาร์ม็อบที่จังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 

3-4. คดีจากคาร์ม็อบที่จังหวัดยะลา ที่ตำรวจ สภ.เมืองยะลา ออกหมายเรียกทั้งจากกิจกรรมวันที่ 1 และ 7 สิงหาคม โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีไม่ต่ำกว่า 8 ราย

จะเห็นได้ว่าสถานการณ์การดำเนินคดีจากคาร์ม็อบมีแนวโน้มจะเป็นไปอย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันการจัดกิจกรรมเพื่อเรียกร้องทางการเมืองก็ยังดำเนินต่อไป โดยแทบไม่ถูกรับฟังข้อเรียกร้องใดๆ จากรัฐบาล ทั้งเจ้าหน้าที่ยังใช้มาตรการปราบปรามทางการเมืองผ่าน “กฎหมาย” เช่นนี้ แนวโน้มคดีจึงน่าจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นต่อไป

.

X