แม้กระแสการจัดกิจกรรม “คาร์ม็อบ” (Car Mob) เพื่อแสดงออกทางการเมือง และเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่ง จะลดระดับลงไปในช่วงเดือนนี้ แต่ในช่วงสามเดือนเศษที่ผ่านมา ลักษณะการจัดกิจกรรมนี้ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายเป็นทางเลือกสำคัญในการแสดงออกทางการเมือง โดยเกิดขึ้นนับร้อยครั้งทั่วประเทศ
ขณะเดียวกัน คดีความที่ติดตามมาก็ยังไม่ได้ยุติลง ตำรวจในพื้นที่ต่างๆ ยังมีการออกหมายเรียก และแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้จัดและผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และในแต่ละคดี ต้องใช้ระยะเวลาต่อสู้คดีต่อไปอีกนับปี
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มมีการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากกิจกรรมลักษณะนี้ ไม่น้อยกว่า 244 ราย ใน 96 คดี (บางรายถูกกล่าวหาในหลายคดี) ในจำนวนนี้เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ยังเป็นเยาวชนจำนวน 18 ราย
หากพิจารณาคดีแยกเป็นรายจังหวัด จะพบว่ามีคดีเกิดขึ้นทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ไม่น้อยกว่า 37 จังหวัด ได้แก่
ภาคกลางและตะวันออก กรุงเทพมหานคร (22 คดี), นนทบุรี (3 คดี), ปทุมธานี (2 คดี), ชลบุรี (2 คดี), ลพบุรี (2 คดี), สระบุรี (1 คดี), สิงห์บุรี (1 คดี), กาญจนบุรี (1 คดี), นครนายก (1 คดี)
ภาคเหนือ เชียงใหม่ (6 คดี), เชียงราย (5 คดี), ลำปาง (3 คดี), ลำพูน (2 คดี), ตาก (2 คดี), พิษณุโลก (1 คดี), นครสวรรค์ (1 คดี), กำแพงเพชร (1 คดี), อุตรดิตถ์ (1 คดี)
ภาคอีสาน นครราชสีมา (7 คดี), ขอนแก่น (4 คดี), นครพนม (3 คดี), สุรินทร์ (2 คดี), ร้อยเอ็ด (2 คดี), ชัยภูมิ (1 คดี), ยโสธร (1 คดี), หนองบัวลำภู (1 คดี), อำนาจเจริญ (1 คดี), อุบลราชธานี (1 คดี)
ภาคใต้ นครศรีธรรมราช (3 คดี), ยะลา (3 คดี), กระบี่ (2 คดี), ภูเก็ต (2 คดี), ปัตตานี (2 คดี), นราธิวาส (1 คดี), สตูล (1 คดี), สุราษฎร์ธานี (1 คดี), สงขลา (1 คดี)
ในคดีเหล่านี้ มีคดีที่ตำรวจเปรียบเทียบในข้อหาการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ทำให้คดีสิ้นสุดไปแล้วจำนวน 12 คดี
ขณะที่อีกจำนวน 84 คดี นั้น มีการกล่าวหาในข้อหาหลัก คือฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีทั้งอัตราโทษจำคุกและโทษปรับ ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาส่วนใหญ่เลือกจะต่อสู้คดีต่อไป โดยหลายคดีได้ทยอยถูกพนักงานอัยการเร่งสั่งฟ้องต่อศาล (พบว่ามี 2 คดี ได้แก่ คดีที่จังหวัดลำปาง และจังหวัดหนองบัวลำภู ที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ให้การรับสารภาพในชั้นศาล)
.
.
จากคดีความที่เกิดขึ้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตดังต่อไปนี้
1. กิจกรรมที่ถูกกล่าวหาหลายกิจกรรม จัดขึ้นในรูปแบบที่ผู้เข้าร่วมนั่งอยู่บนรถส่วนตัว ไม่ได้ลงจากรถ ไม่ได้มีการรวมตัวสัมผัสใกล้ชิด หรือมีความแออัดในพื้นที่ทำกิจกรรม ทำให้ดูเหมือนไม่น่าจะเข้าข่ายองค์ประกอบในการทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคแต่อย่างใด แต่ตำรวจในพื้นที่ต่างๆ ยังคงมุ่งใช้และกล่าวหาด้วยข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมฯ ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง
กระทั่งในบางกิจกรรม เช่น ที่จังหวัดนครพนม ผู้จัดก็ได้มีการประสาน อสม. มาตั้งจุดคัดกรองก่อนเริ่มกิจกรรม มีการตรวจวัดอุณหภูมิ แจกแมสก์ และเจลแอลกอฮอล์ ระหว่างที่เคลื่อนขบวนรถไป แต่ก็ยังถูกดำเนินคดี
สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ถูกกล่าวหามีภาระต้องต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์เป็นระยะเวลานานต่อไปอีก ส่งผลเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมทางการเมืองที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ ข้อกำหนดและประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด จึงมีแนวโน้มจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐตีความใช้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563
.
2. เจ้าหน้าที่ตำรวจมี “การเลือก” ดำเนินคดีบุคคลหรือนักกิจกรรมที่มีบทบาททางการเมือง หรืออยู่ใน “กลุ่มจับตาเฝ้าระวัง” ของเจ้าหน้าที่ บางจังหวัดเน้นที่กลุ่มผู้จัด บางจังหวัดมีการดำเนินคดีผู้เข้าร่วมที่อาจจะถูกจับตาอยู่ ทั้งที่ไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม
รวมทั้งยังมีการไล่ดำเนินคดีในกิจกรรมแต่ละครั้ง ทำให้ผู้จัดกิจกรรมบางราย ถูกกล่าวหาในหลายคดีอย่างต่อเนื่อง ตามจำนวนครั้งที่จัดกิจกรรม เช่น ที่จังหวัดเชียงราย ทีมผู้จัดถูกกล่าวหา 4 คดี จากการจัดกิจกรรม 4 ครั้ง, ที่จังหวัดนครพนม ถูกกล่าวหา 3 คดี จากการจัดกิจกรรม 3 ครั้ง, ที่จังหวัดนครราชสีมา มีการดำเนินคดีต่อกิจกรรมทั้ง 5 ครั้ง ทั้งยังดำเนินคดีต่อเยาวชนรวมถึง 5 รายด้วย
รูปแบบการดำเนินคดีเช่นนี้ ทำให้จำนวนคดีทางการเมืองในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และขยายไปในจังหวัดต่างๆ อย่างกว้างขวาง
ขณะเดียวกัน รูปแบบการดำเนินคดีก็ยังไม่มีความแน่นอนชัดเจน เต็มไปด้วย “การเลือก” กระทั่งเป็นไปตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น คดีคาร์ม็อบที่จังหวัดลำปาง กรณีกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน มีการจัดกิจกรรมสองครั้งในรูปแบบที่ใกล้เคียงกันทั้งหมด แต่การจัดครั้งแรก ผู้จัดถูกเรียกไปเสียค่าปรับเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงและขับรถกีดขวางการจราจร แต่การจัดครั้งที่สอง มีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาถึง 9 ราย ไปแจ้งข้อหาหลักเรื่องการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้ผู้ต้องหาต้องต่อสู้คดีต่อ ทั้งที่ลักษณะ รูปแบบ และกลุ่มผู้จัดกิจกรรมแทบไม่มีความแตกต่างกันนัก
.
.
3. เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการใช้ข้อกล่าวหาจำนวนมาก มากล่าวหาผู้จัด/ผู้เข้าร่วม ทั้งข้อหาเกี่ยวกับมาตรการโควิด ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง, ฝ่าฝืนคำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัดต่างๆ หรือฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
ข้อหาเกี่ยวกับการจราจร อาทิ ใช้เสียงสัญญาณแตรโดยไม่มีเหตุจําเป็น, ขับรถกีดขวางการจราจร, ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น, กดขวางทางสาธารณะ, ส่งเสียงอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร หรือปิดบังแผ่นป้ายทะเบียนรถจนไม่สามารถมองเห็น เป็นต้น
การใช้ข้อหาทางกฎหมายจำนวนมากต่อการแสดงออกทางการเมืองเช่นนี้ ทำให้คดีในบางจังหวัด ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาด้วยข้อหายิบย่อยจำนวนมาก เช่น ที่จังหวัดเชียงราย ที่แต่ละคดี ตำรวจใช้ข้อหาเหล่านี้มากล่าวหาหลายข้อหา คดีหนึ่งถูกกล่าวหา 5-7 ข้อกล่าวหา
ทั้งนี้ น่าสังเกตด้วยว่ามีกฎหมายจำนวนมากที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกใช้ในการดำเนินคดีต่อการชุมนุมทางการเมือง โดยพบว่ามีการทับซ้อนในการออกและการบังคับใช้กฎหมาย สร้างความสับสนในหมู่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 จนปัจจุบันมีถึง 34 ฉบับ, ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงฯ จนปัจจุบันมีถึง 11 ฉบับ, ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ และยังมีประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศจำนวนมากที่มีการออกตามความของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ซึ่งเนื้อหาข้อกำหนดของประกาศในจังหวัดต่างๆ ก็แตกต่างกันออกไปอีก จึงเป็นการยากที่จะให้ประชาชนทั่วไปสามารถทราบและเข้าใจถึงกฎหมายออกมาบังคับใช้ที่มีความซับซ้อนและมีจำนวนมากเช่นนี้
.
.
4. ในจำนวนคดีทั้งหมด พบว่ามี 2 จังหวัด ที่มีการกล่าวหาผู้จัดหรือร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบในเรื่องการไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ได้แก่ ที่จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดกำแพงเพชร ทั้งที่ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 3 (6) กำหนดให้กฎหมายไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ โดยในคดีที่จังหวัดกำแพงเพชร พนักงานอัยการยังสั่งฟ้องคดีทั้งข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ไปพร้อมกันอีกด้วย ส่วนที่จังหวัดนครสวรรค์ ตำรวจเปรียบเทียบปรับข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ทำให้คดีสิ้นสุดลง
.
5. เจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีการตีความเพื่อดำเนินคดีต่อผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมเลยด้วย ได้แก่ ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งมีการกล่าวหาแอดมินเพจอุตรดิตถ์ปลดแอก ว่าเป็น “เป็นผู้ก่อให้มีการกระทำความผิดในการชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคฯ” แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบเลย ทั้งไม่ได้อยู่แม้แต่ในจังหวัดอุตรดิตถ์ หรือที่จังหวัดยะลา มีการแจ้งข้อหาต่อประชาชนที่ไม่ได้ร่วมกิจกรรม รวมทั้งมีการแจ้งข้อหาต่อช่างภาพของสื่อออนไลน์ ที่ไปติดตามถ่ายภาพในกิจกรรมด้วย
.