ศาลแขวงลำปางลงโทษ จำ-ปรับ-กัก สองผู้จัดคาร์ม็อบ “คนลำปางจะไม่ทน” หลังรับสารภาพข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยไม่มีทนาย

26 สิงหาคม 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่านายกิตติชัย เครือวัฒนา อายุ 55 ปี และนางสายพิณ ทันแก้ว อายุ 58 ปี ชาวจังหวัดลำปาง 2 ราย ได้ถูกตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการ่วมจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ “คนลำปางจะไม่ทน II CARMOB x ป้าเป้า” เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 และได้ถูกสั่งฟ้องคดีต่อศาลแขวงลำปาง เนื่องจากให้การรับสารภาพ โดยไม่มีทนายความ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 นายกิตติชัยได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวนสภ.เมืองลำปาง ให้เข้าไปรับหมายเรียกผู้ต้องหาที่สถานีตำรวจ เมื่อทั้งสองได้เข้าพบตำรวจ พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาทันที 

ร.ต.ท.วชิรกิติ์ ขุนคลังมีวน และ ร.ต.ท.หญิง จันทิมา คุณโรจน์อังกูร รองสารวัตรสอบสวน สภ.เมืองลำปาง ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ทั้งสอง โดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 นายกิตติชัย ได้โพสต์เชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรม “คนลำปางจะไม่ทน II CARMOB x ป้าเป้า” ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “Lampang บ้านเฮา” โดยระบุจัดกิจกรรมในวันที่ 22 สิงหาคม 2564 เวลา 15.30 น. เป็นต้นไป นัดรวมพลที่บริเวณห้าแยกหอนาฬิกา จ.ลำปาง เริ่มเคลื่อนขบวนเวลา 16.00 น. 

เมื่อถึงเวลากิจกรรม พบว่ามีรถยนต์และรถจักรยานยนต์รวมตัวกันบริเวณลานจอดรถหน้าโรงยิมเทศบาลนครลำปาง โดยมีนางสายพิณ ทันแก้ว ขับรถยนต์ติดเครื่องขยายเสียง และนายกิตติชัยขึ้นรถยนต์ติดเครื่องขยายเสียงดังกล่าว ประกาศเชิญชวนให้คนเข้าร่วมกิจกรรม มีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 40 คน ขับรถเคลื่อนไปตามถนนในจังหวัดลำปางก่อนมาถึงจุดทำกิจกรรมและแยกย้ายกันกลับ โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีการสวมใส่หน้ากากอนามัย มีการตั้งจุดตรวจวัดอุณหภูมิ จุดล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ แต่ไม่มีการเว้นระยะห่าง ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรการของคณะทำงานโรคติดต่อจังหวัดลำปางในการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 

พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหา 2 ข้อหา ได้แก่ “ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งออกตาม มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 หรือมาตรา 13, ทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต”

ในชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาทั้งสองไม่ได้พบและปรึกษากับทนายความก่อน และไม่มีทนายความร่วมฟังการสอบสวนด้วย จึงได้ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ทั้งตำรวจยังกล่าวในลักษณะว่าหากยินยอมรับสารภาพ ก็จะไม่มีการดำเนินคดีต่อผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ เพิ่มเติมอีก ทำให้ทั้งสองเลือกจะยินยอมรับสารภาพให้เรื่องจบลง

พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเงิน 200 บาท และได้นัดให้มารายงานตัวที่ศาลแขวงลำปางในวันที่ 26 สิงหาคม 2564 เพื่อส่งสำนวนฟ้องต่อศาล

วันที่ 26 สิงหาคม 2564 เวลา 10.00 น. ผู้ต้องหาทั้งสองเดินทางไปยังศาลแขวงลำปางตามเวลานัด โดยทราบจากพนักงานสอบสวนว่าศาลจะพิจารณาคดีและพิพากษาในช่วงบ่ายเลย 

จนเวลาประมาณ 14.30 น. พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาล และเวลา 16.00 น. ศาลได้อ่านคำพิพากษาในคดี โดยพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสอง 2 เดือน แต่ให้รอการลงโทษไว้เป็นระยะเวลา 2 ปี ปรับคนละ 6,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 1 เดือน รอการลงโทษไว้ 2 ปี ปรับคนละ 3,000 บาท และศาลยังใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัย มีคำสั่งให้กักกันห้ามจำเลยทั้งสองออกจากบริเวณเคหสถานของตนเองโดยไม่มีเหตุอันควร เป็นเวลา 7 วันด้วย 

หลังจำเลยทั้งสองได้ชำระเงินค่าปรับรวม 6,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ จึงได้รับการปล่อยตัว และเดินทางกลับ 

ทั้งนี้ความผิดฐานฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 หรือมาตรา 13 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

.

* ภาพประกอบจากเพจ KonLampang – ฅนลำปางดอทคอม

X