ผู้จัดการชุมนุมที่จังหวัดเชียงรายและลำปาง เมื่อช่วงปลายเดือนก.ค. ได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว หลังการชุมนุมผ่านมากว่า 2 สัปดาห์ กำหนดให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาวันเดียวกัน 25 ส.ค. 63
ชุมนุม #คนเจียงฮายก้ายคนง่าวบ่เอาคนหลายใจ จ.เชียงราย
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่าเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 63 นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นผู้จัดกิจกรรม #คนเจียงฮายก้ายคนง่าวบ่เอาคนหลายใจ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 63 บริเวณหอนาฬิกาจังหวัดเชียงราย ได้รับหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย
หมายเรียกดังกล่าวมี พ.ต.ท.เทพสวัสดิ์ สุภาวรรณ เป็นผู้กล่าวหา ในข้อกล่าวหา “ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดประกาศ หรือฝ่าฝืนคำสั่งของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งออกตามมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยให้มีการชุมนุมหรือการมั่วสุมใดๆ , จอดรถในลักษณะกีดขวางการจราจร และโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ” กำหนดให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหากับ ร.ต.อ. ศรีเดช สุวรรณ์ รองสารวัตรสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย ในวันที่ 25 ส.ค. 63 เวลา 10.00 น.
เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าได้มีการส่งหมายเรียกไปยังที่อยู่ตามทะเบียนบ้านแต่ไม่พบผู้อยู่อาศัย จึงได้ปิดหมายเรียกดังกล่าวไว้ และได้ส่งหมายเรียกให้นักศึกษาคนดังกล่าวถึงมืออีกครั้ง
สำหรับกิจกรรม #คนเจียงฮายก้ายคนง่าวบ่เอาคนหลายใจ จัดขึ้นเพื่อร่วมแสดงพลังขับไล่เผด็จการ และยืนยัน 3 ข้อเสนอของกลุ่มเยาวชนปลดแอก อีกทั้งยังเรียกร้องให้มีการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีนักเรียน นักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมกว่า 1,000 คน
ชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ จ.ลำปาง
วันที่ 17 ส.ค. 63 นายอานนท์ นำภา ได้รับหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรเมืองลำปาง ในคดีที่มี พ.ต.ท.ประสิทธิ หล้าสมศรี เป็นผู้กล่าวหา “ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย การชุมนุมการทำกิจกรรมหรือมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค” ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
หมายเรียกระบุว่ามีผู้ถูกกล่าวหาดำเนินคดี ได้แก่ นายพินิจ ทองคำ ร่วมกับพวกรวม 4 คน โดยกำหนดให้ผู้ถูกออกหมายเรียกเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวนในวันที่ 25 ส.ค. 63 เวลา 9.00 น.
สำหรับหมายเรียกดังกล่าวคาดว่ามาจากการชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ ที่บริเวณข่วงนคร ห้าแยกหอนาฬิกา กลางเมืองลำปาง ซึ่งมีการประกาศกิจกรรมโดยกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 63 เพื่อแสดงออกสนับสนุน 3 ข้อเสนอของกลุ่มเยาวชนปลดแอก อีกทั้งมีข้อเสนอเพิ่มเติมในการเรียกร้องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น และการสร้างพื้นที่การแสดงออกของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ในกิจกรรมดังกล่าวมีนายอานนท์ นำภา เป็นหนึ่งในผู้ร่วมปราศรัย โดยไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมแต่อย่างใด
การดำเนินคดีที่จังหวัดเชียงรายและลำปางล่าสุดนี้ นับเป็นการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาดำเนินคดีต่อการแสดงออกทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่รัฐบาลให้สัมภาษณ์ตลอดมาว่าการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้นไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ถึงปัจจุบันมีการดำเนินคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อผู้แสดงออกทางการเมืองแล้วจำนวนอย่างน้อย 14 คดี มีจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 34 ราย
เป็นที่น่าสังเกตว่าหลังการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63 ในพื้นที่ต่างจังหวัด มีรายงานการดำเนินคดีเกิดขึ้นในภาคเหนือเป็นหลัก คือถึงปัจจุบัน มีการดำเนินคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้จัดกิจกรรมที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย และลำปาง ขณะที่ในพื้นที่ภาคอื่นๆ ยังไม่มีรายงานการดำเนินคดีเกิดขึ้น