17 ก.ย. 63 เวลา 11.00 น. ที่สภ.เมืองลำปาง นายอานนท์ นำภา ทนายความและนักกิจกรรม ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ ที่บริเวณข่วงนคร ห้าแยกหอนาฬิกา จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 63
คดีนี้มี พ.ต.ท.ประสิทธิ หล้าสมศรี เป็นผู้กล่าวหา ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 63 ผู้ถูกออกหมายเรียกอีก 3 คน ได้แก่ นายพินิจ ทองคำ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และสมาชิกกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายธนวัฒน์ วงศ์ไชย นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาก่อนแล้ว แต่ในช่วงดังกล่าว อานนท์ได้ถูกศาลอาญาเพิกถอนการประกันตัวในคดีชุมนุมเยาวชนปลดแอก และถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาพร้อมกับคนอื่นได้ หลังจากอานนท์ได้รับการปล่อยตัวแล้ว พนักงานสอบสวนจึงได้ติดต่อนัดหมายให้มารับทราบข้อกล่าวหา
>> 3 น.ศ.ปฏิเสธข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมลำปาง ขาดอานนท์ในเรือนจำ มารับทราบข้อหาไม่ได้
ในวันนี้ มีกลุ่มนักศึกษาพิราบขาวเพื่อมวลชน และประชาชนในจังหวัดลำปางมามอบดอกไม้และร่วมให้กำลังใจอานนท์ ประมาณ 10 คน แต่มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจากหน่วยต่างๆ คอยติดตามกิจกรรมเกือบ 20 นาย
ร.ต.อ.จิตติพงศ์ จินาเคีย รองสารวัตรสอบสวนสภ.เมืองลำปาง เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหากับอานนท์ ในข้อหา “ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมการทํากิจกรรม หรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทําการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย การชุมนุมการทํากิจกรรมหรือมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค” ตามพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9, 18
พนักงานสอบสวนระบุพฤติการณ์ของอานนท์ ว่าได้ร่วมกันกับผู้ต้องหาอีก 3 คน จัดให้มีการชุมนุมทางด้านการเมือง ที่บริเวณสวนสาธารณะห้าแยกหอนาฬิกา จังหวัดลำปาง ในวันที่ 26 ก.ค. 63 เวลา 17.00 น. และยังผลัดกันขึ้นเวทีกล่าวปราศรัย
อานนท์ได้กล่าวปราศรัยเวลาประมาณ 18.48 น. ในประเด็นต่างๆ อาทิเช่น โจมตีระบบศาลที่ไม่สั่งฟ้องนายบอส โดยอ้างว่าเป็นคนมีเงินจะไม่ถูกจับติดคุก แต่หากเป็นลูกคนจนจะถูกจับติดคุก เช่น จ่านิว และหลายคนที่โพสต์เกี่ยวกับสถาบัน แต่ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112, กล่าวหาว่าทหารและกองทัพ จะทำการรัฐประหารอีกครั้ง, เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่หยุดคุกคามประชาชน เลิกตาม และหากถูกดำเนินคดี จะไปที่สภ.นั้น, เรียกร้องให้ยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่ และขอไม่ให้ประชาชนเลือกพรรค/บุคคล ที่สนับสนุนเผด็จการ เลือกพรรคที่เป็นประชาธิปไตย, โจมตีที่มาของส.ว. และการทำหน้าที่ของส.ว., เสนอให้มีการแก้ไขอารัมภบทในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้มีการกำหนดว่าประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาจากการต่อสู้ของคณะราษฎร เมื่อปี 2475 ขอให้ผู้มาร่วมเคลื่อนไหวครั้งนี้ภาคภูมิใจว่าได้เริ่มนับหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าเดิม
หลังจากทราบข้อกล่าวหา อานนท์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้นพนักงานสอบสวนได้นำตัวไปพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม พร้อมกับนัดวันเพื่อส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการในวันที่ 5 ต.ค. 63 และให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้
ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 63 เป็นต้นมา เป็นเวลาเกือบ 6 เดือน มีการนำกฎหมายฉบับนี้มาใช้กล่าวหาเพื่อดำเนินคดีกับประชาชนซึ่งออกมาชุมนุมทางการเมือง แล้วอย่างน้อย 21 คดี โดยมีผู้ถูกกล่าวหาจำนวนอย่างน้อย 73 คน (อ่านรายงาน ณ 26 ส.ค. 2563 ที่ เปิดสถิติคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 17 คดี 63 ราย แม้รัฐบาลอ้างไม่ใช้กับการชุมนุม)
ในพื้นที่ภาคเหนือ มีรายงานการดำเนินคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้จัดกิจกรรมชุมนุม ทั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง และพะเยา