3 น.ศ.ปฏิเสธข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมลำปาง ขาดอานนท์ในเรือนจำ มารับทราบข้อหาไม่ได้

วันที่ 5 ก.ย. 63 ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองลำปาง นายธนวัฒน์ วงศ์ไชย, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ และนายพินิจ ทองคำ สามนักศึกษาผู้ได้รับหมายเรียกในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ ที่บริเวณข่วงนคร ห้าแยกหอนาฬิกา กลางเมืองลำปาง เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 63 ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก โดย 2 ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ด้านพริษฐ์ไม่ขอให้การ ปฏิเสธลงชื่อในเอกสาร

ภาพนักศึกษาทั้ง 3 รายหลังรับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจภูธรเมืองลำปาง วันที่ 5 ก.ย. 63

 

คดีนี้มี พ.ต.ท.ประสิทธิ หล้าสมศรี เป็นผู้กล่าวหา และมีผู้ถูกออกหมายเรียกทั้งหมด 4 ราย ได้แก่ “บอล” ธนวัฒน์ วงศ์ไชย นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พินิจ ทองคำ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ควบคู่กับมหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมทั้งอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ที่ถูกศาลอาญาเพิกถอนการประกันตัวในคดีชุมนุมเยาวชนปลดแอก และถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 63 ทำให้ไม่สามารถเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาได้

สำหรับบรรยากาศการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาของนักศึกษาทั้ง 3 ราย มีประชาชนมารอให้กำลังใจนักศึกษาราว 20-30 ราย โดยมีกลุ่มนักศึกษาพิราบขาวเพื่อมวลชนนำแผ่นป้ายชื่อกลุ่ม และข้อเรียกร้องสามข้อ ได้แก่ “หยุดคุกคามประชาชน, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่, รัฐบาลต้องยุบสภา” มาแสดงหน้าสถานีตำรวจ และร่วมกันชูสามนิ้ว

ขณะที่บริเวณถนนด้านหน้าสถานีตำรวจภูธรเมืองลำปาง ตำรวจมีการตั้งด่านตรวจก่อนถึงสถานีตำรวจหลายจุด อีกทั้งยังมีการตั้งรั้วล้อมบริเวณประตูทางเข้าอาคารสถานีตำรวจ พร้อมด้วยการวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบกว่า 70 นาย ประจำการและจับตากิจกรรมของประชาชนที่มาให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด

เจ้าหน้าที่ได้จัดวางจุดเข้าออกอาคารสถานีตำรวจไว้จุดเดียว และมีการตรวจคัดกรองอุณหภูมิและขอตรวจบัตรประชาชนผู้จะเข้าไปยังสถานี พร้อมกับขอรูปบัตรเอาไว้ โดยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยถ่ายรูปผู้ลงชื่อและผู้เข้าร่วมให้กำลังใจด้วย

 

 

เวลาประมาณ 9.45 น. ผู้ถูกออกหมายเรียก 3 ราย พร้อมด้วยทนายความ ได้เดินทางเข้าพบ ร.ต.อ.จิตติพงศ์ จินาเคีย รองสารวัตรสอบสวนสภ.เมืองลำปาง เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ด้านพนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ซึ่งคล้ายกันในส่วนต้น คือ

ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย ได้มีการประกาศแจ้งข่าวสารตามสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยมีข้อความชักชวนให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมชุมนุมทางด้านการเมือง ณ บริเวณสวนสาธารณะห้าแยกหอนาฬิกา อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ในวันที่ 26 ก.ค. 63 เวลา 17.00 น. ต่อมาวันที่ 26 ก.ค. 63 ผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย ได้ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมตามที่ได้ประกาศในเฟซบุ๊ก อีกทั้งในการชุมนุมผู้ต้องหายังได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นกล่าวปราศรัย

แต่มีส่วนที่แตกต่างกันในข้อกล่าวหา คือรายละเอียดพฤติการณ์รายบุคคล กล่าวคือ รายละเอียดในส่วนของนายพินิจที่พนักงานสอบสวนระบุว่าพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาโดยสรุป คือได้อ่านแถลงการณ์กลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน โจมตีรัฐบาลไร้ประสิทธิภาพบริหารประเทศเพื่อคนบางกลุ่ม และยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่, หยุดคุกคามประชาชน, ยุบสภา, แก้ไขฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อปากท้องประชาชน, สร้างพื้นที่การแสดงออกของประชาชนและสร้างบรรยากาศทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย

รายละเอียดในส่วนนายพริษฐ์ที่พนักงานสอบสวนระบุว่าพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาโดยสรุป คือได้กล่าวปราศรัยโจมตีการบริหารของรัฐบาลที่ไม่เหมาะสม คนที่ต่อต้านก็จะถูกคุกคามหรือถูกอุ้มหายเช่นนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์, โจมตีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเหตุการพัฒนาประเทศหยุดชะงัก, รัฐบาลไม่เห็นหัวประชาชน เห็นเป็นแต่วัวควาย ก่อนร่วมกันร้องเพลงล้อเลียน รัฐบาล เมาคลีล่าสัตว์, เพลงโอ้ประเทศไทยแสนงาม, ไพร่ฟ้าหน้าใส ภาษีของใคร เอาไปให้พวกมัน เอาประยุทธ์ ออกไป

ส่วนนายธนวัฒน์พนักงานสอบสวนระบุว่าพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหานั้น มีเพียงส่วนต้น เรื่องการโพสต์ชักชวนบุคคลเข้าร่วมกิจกรรม โดยไม่มีรายละเอียดพฤติการณ์ระหว่างการชุมนุมแต่อย่างใด เนื่องจากธนวัฒน์ไม่ได้ขึ้นปราศรัยใดๆ

พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหานั้น พนักงานสอบสวนเห็นว่าเป็นความผิดฐาน “ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมการทํากิจกรรม หรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทําการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย การชุมนุมการทํากิจกรรมหรือมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค” ตามพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9, 18 และตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 (เรื่องการร่วมกันกระทำความผิด)

เมื่อผู้ต้องหาได้รับทราบข้อกล่าวหาแล้ว นายพินิจและนายธนวัฒน์ ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะขอให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือแก่พนักงานสอบสวนในภายหลัง ส่วนนายพริษฐ์ไม่ขอให้การใดๆ และไม่ขอลงลายมือชื่อในเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวน เนื่องจากยืนยันปฏิเสธกระบวนการที่เกิดขึ้น

ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ไปพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม พร้อมกับนัดวันเพื่อส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการในวันที่ 24 ก.ย. 63 และให้ปล่อยตัวผู้ต้องหากลับโดยไม่มีการควบคุมตัวแต่อย่างใด

ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าระหว่างกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบสวมเสื้อจากสถานีตำรวจภูธรภาค 5 เข้ามาถ่ายรูปและวิดีโอการแจ้งข้อหา และเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการตั้งโทรศัพท์มือถือถ่ายวิดีโอการสอบสวนเอาไว้โดยตลอดด้วย

หลังจากที่นายพริษฐ์เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเสร็จสิ้นแล้ว ยังได้เดินทางออกมาปราศรัยด้านหน้าสถานีตำรวจภูธรเมืองลำปาง โดยมีเนื้อหาย้ำข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ก่อนเดินทางกลับ

 

ภาพนายพริษ์ฐ์หลังรับทราบข้อกล่าหาแล้วเสร็จ ได้ออกมาปราศรัยย้ำข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามอย่างใกล้ชิด

 

ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 63 เป็นต้นมา เป็นเวลากว่า 5 เดือน มีการนำกฎหมายฉบับนี้มาใช้กล่าวหาเพื่อดำเนินคดีกับประชาชนซึ่งออกมาแสดงออกทางการเมือง อย่างน้อย 20 คดี โดยมีผู้ถูกกล่าวหาจำนวนอย่างน้อย 72 คน (อ่านรายงาน ณ 26 ส.ค. 2563 ที่ เปิดสถิติคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 17 คดี 63 ราย แม้รัฐบาลอ้างไม่ใช้กับการชุมนุม)

ในพื้นที่ภาคเหนือ มีรายงานการดำเนินคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้จัดกิจกรรมชุมนุม ทั้งที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง และพะเยา

 

 

X