ผู้ร่วมคาร์ม็อบ “เมืองคอน” ถูกแจ้งข้อหา 2 คดีรวด ขณะคาร์ม็อบยะลาก็ถูกแจ้งข้อหาเป็นคดีที่ 2 ช่างภาพสื่อโดนด้วย

20 สิงหาคม 2564 ที่ สภ.เมืองนครศรีธรรมราช สองผู้เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ก่อนทั้งสองจะถูกตำรวจแจ้งข้อหาพร้อมกันสองคดีรวด จากกิจกรรมเมื่อวันที่ 1 และ 7 สิงหาคม 2564

ขณะที่วานนี้ ที่ สภ.เมืองยะลา ผู้เข้าร่วมคาร์ม็อบจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 จำนวน 4 คน ก็ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเช่นกัน นับเป็นคดีจากกิจกรรมคาร์ม็อบคดีที่สองของจังหวัดยะลาแล้ว โดยหนึ่งในสี่ของผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ยืนยันว่าเดินทางไปติดตามกิจกรรมในฐานะช่างภาพข่าวของสื่อออนไลน์ Student voice ไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมแต่อย่างใด

.

ตร.นครศรีธรรมราชแจ้งข้อหา 2 คดีรวด จากคาร์ม็อบไล่ประยุทธ์ 2 ครั้ง

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 16 และ 17 สิงหาคม ชญานิน คงสง และ พนธกร พานทอง ทยอยได้รับหมายเรียกลงวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ในคดีที่มี พ.ต.ท.ธีระวุฒิ เทพเลื่อน เป็นผู้กล่าวหา ทั้งสองจึงได้นัดหมายเดินทางเข้ารับทราบข้อหาในวันนี้ พร้อมกับทนายความ

คณะพนักงานสอบสวนทั้งหมด 4 นาย นำโดย พ.ต.ท.จริญ ขาวเอี่ยม รองผู้กำกับสอบสวน สภ.เมืองนครศรีธรรมราช ได้เป็นผู้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้งสองคน โดยได้แจ้งข้อกล่าวหาใน 2 คดี จากกิจกรรมคาร์ม็อบที่จัดขึ้นในตัวเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 1 และ 7 สิงหาคม 2564

สำหรับคดีคาร์ม็อบ 1 สิงหา พฤติการณ์ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่าก่อนเกิดเหตุ ชญานินได้โพสต์ในเฟซบุ๊กที่เปิดเป็นสาธารณะ ชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบในพื้นที่อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการบริหารที่ล้มเหลวของรัฐบาล ต่อมาเพจเฟซบุ๊ก “คนคอนจะไม่ทน” ก็ได้โพสต์ชักชวนให้มาร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ โดยนัดหมายในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 เวลา 14.00 น. ที่บริเวณสี่แยกหัวถนน อ.เมืองนครศรีธรรมราช ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปที่ศาลากลางจังหวัด โดยผู้กล่าวหาอ้างว่าพนธกรเป็นแอดมินดูแลเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว

ต่อมาในวันเกิดเหตุ ได้มีการย้ายจุดรวมรถมาที่บริเวณหน้าบ้านนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ โดยผู้ต้องหาทั้งสองคนได้ขับรถจักรยานยนต์พ่วงข้าง มาถึงสถานที่ดังกล่าว จากนั้นได้มีผู้เข้าร่วมทยอยมารวมตัวกัน โดยนับรถยนต์ได้ประมาณ 30 คัน รถจักรยานยนต์ประมาณ 30 คัน ทั้งสองคนได้พูดผ่านไมโครโฟน ผ่านรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องขยายเสียง กล่าวปราศรัยโจมตีรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี เมื่อตั้งขบวนเสร็จ ทั้งสองคนได้ขึ้นบนรถยนต์และพูดผ่านไมโครโฟนไปตลอดทาง จนถึงหน้าศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช

เมื่อขบวนรถหยุด มวลชนส่วนหนึ่งได้ลงจากรถมายืนฟังการปราศรัยของชญานินและพนธกร โดยมีการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก นับจำนวนผู้ฟังได้เกินกว่า 30 คน นอกจากพูดปราศรัย ยังได้ให้มวลชนส่งเสียงโห่ร้อง ทำสัญลักษณ์ชูสามนิ้วเป็นระยะ จนเวลา 16.00 น. มวลชนได้กดสัญญาณแตรพร้อมกันให้เสียงดัง ก่อนแยกย้ายกันกลับ

พนักงานสอบสวนกล่าวหาทั้งสองคนใน 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการจัดชุมนุมหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค, ข้อหาจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มทางสังคมจำนวนมากกว่า 30 คน ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดนครศรีธรรมราช ลงวันที่ 20 ก.ค. 64 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ส่วนคดีที่สอง คือคดีคาร์ม็อบ 7 สิงหา พนักงานสอบสวนกล่าวหาทั้งสองคนคล้ายกันกับคดีข้างต้น แต่กิจกรรมในวันนี้ไม่ได้มีการใช้เครื่องขยายเสียง

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาระบุว่าทั้งสองได้มีการโพสต์เชิญชวนประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบในวันที่ 7 สิงหาคม 2564 เวลา 14.00 น. ที่หน้าหมู่บ้านเดอะซิตี้ ถนนอ้อมค่ายวชิราวุธ ต่อมาได้มีรถยนต์ประมาณ 10 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 30 คันมาเข้าร่วม ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปยังหน้าศาลากลางจังหวัด โดยมวลชนที่ขับขี่รถบางคน ได้ลงจากรถมารวมกลุ่มในลักษณะใกล้ชิดกัน โดยมีผู้ต้องหาทั้งสองคนเดินอยู่ในกลุ่มด้วย และได้พูดปากเปล่าให้นายกรัฐมนตรีลาออกไป และโจมตีรัฐบาล โดยนับคนที่รวมตัวได้เกินกว่า 20 คน ก่อนจะแยกย้ายกันกลับ

พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหา ในคดีนี้ ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการจัดชุมนุมหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค, ข้อหาจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มทางสังคมจำนวนมากกว่า 20 คน ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดนครศรีธรรมราช ลงวันที่ 3 ส.ค. 64 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

ผู้ต้องหาทั้งสองคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในทั้งสองคดี และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือในภายหลัง พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวทั้งสองคนไปหลังรับทราบข้อหา โดยนัดหมายให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 4 ต.ค. 64

ชญานิน เปิดเผยในไลฟ์ของเพจคนคอนจะไม่ทนหลังรับทราบข้อกล่าวหา ว่าตนรู้สึกเป็นเกียรติในการถูกดำเนินคดีทางการเมืองครั้งนี้ เพราะเราได้ทำหน้าที่ของพลเมือง ด้วยความเชื่อว่าบ้านเมืองเป็นของคนทุกคน ถ้าเราไม่ช่วยกัน ก็ไม่รู้จะพึ่งใคร ในส่วนคดี ก็ไม่ได้กังวลอะไร เราก็เข้าใจตำรวจที่ต้องทำตามคำสั่งของเผด็จการ และก็อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พิจารณาตัวเอง เห็นใจพี่น้องเยาวชน ลุงป้าน้าอา ที่ได้รับผลกระทบความเดือดร้อนจากสถานการณ์ขณะนี้ ถ้าท่านยังเห็นแก่พี่น้องร่วมชาติ คนในสังคมไม่มีใครเอาท่านแล้ว

.

ภาพกิจกรรมคาร์ม็อบนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 64 (ภาพจากเพจคนคอนจะไม่ทน)

.

แจ้งข้อหาคดีที่ 2 คาร์ม็อบยะลา ช่างภาพสื่อออนไลน์ก็โดนด้วย แม้ยืนยันไม่ได้ไปในฐานะผู้เข้าร่วม

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 ที่ สภ.เมืองยะลา ประชาชน 4 ราย ได้แก่ นายอารอฟัต อาบู, นายอับดุลซาตาร์ บาโล, นายสารีฟฟุดดีน สาเมาะ และนายมะซอดี ดือรากี ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก จากกรณีร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบในตัวเมืองยะลา เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564

ก่อนหน้านี้ในจังหวัดยะลา ได้มีการดำเนินคดีจากกิจกรรมคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 มาแล้ว 1 คดี โดยมีผู้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 13 และ 18 สิงหาคม 2564 ไปแล้ว รวม 7 ราย โดยที่นายอับดุลซาตาร์ บาโล เป็นเพียงคนเดียวที่ได้รับหมายเรียกในทั้งสองคดี ทำให้เขาเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมกันในวันเดียว ในทั้งสองคดีมี พ.ต.อ.ตรัยฤกษ์ ปัญญาไตรรัตน์ ผู้กำกับ สภ.เมืองยะลา เป็นผู้กล่าวหา ด้วย

พ.ต.ต.หญิงพนิดา หงษา สารวัตรสอบสวน สภ.เมืองยะลา ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้งสี่คน พฤติการณ์โดยสรุประบุว่าเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 เพจเฟซบุ๊ก “ยะลาปลดแอก” ได้โพสต์เชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม Car Mob Yala ในวันที่ 7 สิงหาคม 2564 เวลา 16.30 น. ที่สวนสาธารณะขวัญเมือง (พรุบาโกย) อำเภอเมืองยะลา

ต่อมาในวันเวลาดังกล่าวได้มีกลุ่มประชาชนประมาณ 300 คน เป็นชายประมาณ 140 คน หญิง 160 คน ใช้พาหนะเป็นรถยนต์ประมาณ 5 คัน รถจักรยานยนต์ประมาณ 150 คัน เคลื่อนขบวนไปรอบตัวเมืองยะลา ไปสิ้นสุดบริเวณที่รวมตัวเดิมในเวลา 18.30 น. ตลอดกิจกรรมผู้ชุมนุมมีการตะโกนด่าทอรัฐบาล วิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการแผ่นดิน และตะโกนขับไล่นายกรัฐมนตรี ในขบวนยังมีการเขียนกระดาษข้อความขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และการบริหารที่ล้มเหลว โดยเฉพาะประเด็นปัญหาโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ รวมทั้งมีการชูสามนิ้ว กดแตรตลอดเส้นทาง

เจ้าหน้าที่อ้างว่าจากการตรวจสอบบุคคล ยานพาหนะของผู้ที่เป็นแกนนำในกิจกรรมขบวนม็อบดังกล่าว พบว่ามีทั้งหมด 5 ราย และได้เดินทางเข้ารับทราบข้อหาครั้งนี้ 4 ราย เจ้าหน้าที่อ้างว่าอารอฟัตและอับดุลซาตาร์เป็นผู้ใช้โทรโข่งปราศรัยไปตามเส้นทางที่มีกิจกรรม, สารีฟฟุดดีนนั่งอยู่บนรถกระบะคันเดียวกันกับที่ทั้งสองคันนั่ง และได้ร่วมชูสามนิ้วออกมาจากกระจกรถ ส่วนมะซอดี เจ้าหน้าที่อ้างว่าทำหน้าที่ถ่ายภาพกิจกรรมต่างๆ ตลอดขบวนม็อบ

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสี่คนในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และส่งเสียงหรือทำให้เกิดเสียงอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 370

เฉพาะอารอฟัต, อับดุลซาตาร์ และมะซอดี ยังถูกแจ้งข้อกล่าวหาขับรถกีดขวางทางจราจร และ หยุดรถในช่องทางเดินรถในลักษณะกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ด้วย

ทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การในรายละเอียดเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป ส่วนมะซอดีได้ให้การเพิ่มเติมในส่วนของตน ว่าตนไม่ใช่แกนนำและผู้ร่วมชุมนุมตามข้อกล่าวหา แต่ไปติดตามกิจกรรมในฐานะช่างภาพของสื่อออนไลน์ Student voice ซึ่งเป็นสื่อของนักศึกษาปาตานี

ในส่วนของอับดุลซาตาร์ ยังถูก พ.ต.ท.ประพันธ์ บัวแก้ว สารวัตรสอบสวน สภ.เมืองยะลา แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และส่งเสียงอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร จากกิจกรรมคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 อีกคดีหนึ่ง โดยพฤติการณ์ข้อกล่าวหาระบุเช่นเดียวกับกรณีของนักกิจกรรมและประชาชนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาไปก่อน พร้อมระบุว่าเขาเป็นหนึ่งในแกนนำจัดกิจกรรม และร่วมกล่าวโทรโข่งขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างกิจกรรมวันดังกล่าว โดยเขาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาเช่นเดียวกัน

หลังการสอบสวนในทั้งสองคดี พนักงานสอบสวนได้ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

ในส่วนกิจกรรมคาร์ม็อบที่จังหวัดยะลา รวมแล้วขณะนี้มีผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 11 คน ใน 2 คดี โดยมีหนึ่งรายถูกแจ้งข้อหาในทั้งสองคดี ขณะที่ในคดีของวันที่ 7 สิงหาคม 2564 ตำรวจยังระบุว่าได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาอีกหนึ่งคน ซึ่งไม่ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา

.

อ่านรายงานข่าวก่อนหน้านี้

3 ผู้ร่วมคาร์ม็อบยะลา ถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งถูก ตร.ขอฝากขัง แต่ศาลไม่อนุญาต

คาร์ม็อบยะลา เยาวชนหญิงอายุ 17 ปี – ประชาชนไม่ได้ไปร่วมกิจกรรม ก็ถูกตร.เรียกแจ้งข้อหา

.

X