3 ผู้ร่วมคาร์ม็อบยะลา ถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งถูก ตร.ขอฝากขัง แต่ศาลไม่อนุญาต

เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 64 ที่ สภ.เมืองยะลา สามผู้เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบยะลา ได้แก่ อารีฟีน โสะ, ประเสริฐ ราชนิยม, อามานียะ ดอเล๊าะ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียก ก่อนถูกตำรวจกล่าวหาว่าเป็นผู้ร่วมจัดคาร์ม็อบ และแจ้งข้อหาหลักฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งยังถูกยื่นขอฝากขังต่อศาล ทั้งที่มาพบตามหมายเรียก แต่ศาลยกคำร้อง

ก่อนหน้านี้ ผู้เข้าร่วมคาร์ม็อบยะลา #ประยุทธ์ออกไป เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 64 ซึ่งเป็นกิจกรรมขับรถวนรอบเมืองยะลา เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองในการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จัดขึ้นโดยกลุ่มยะลาปลดแอก ทยอยได้รับหมายเรียกในคดีที่มี พ.ต.อ.ตรัยฤกษ์ ปัญญาไตรรัตน์ เป็นผู้กล่าวหา

จากการประสานงาน พบว่ามีผู้ถูกออกหมายเรียกทั้งหมด 8 ราย ผู้ได้รับหมายเรียกจำนวน 3 ราย พร้อมทนายความ จึงได้นัดหมายเดินทางเข้ารับทราบข้อหาเบื้องต้นก่อน โดยมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เดินทางมาร่วมติดตามคดี หากต้องใช้ตำแหน่งในการประกันตัว

พ.ต.ท.ประพันธ์ บัวแก้ว สารวัตรสอบสวน สภ.เมืองยะลา ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้งสามคน พฤติการณ์ข้อกล่าวหาระบุว่าเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 64 พ.ต.อ.ตรัยฤกษ์ ได้รับรายงานจากชุดสืบสวน สภ.เมืองยะลา ถึงกรณีกลุ่มยะลาปลดแอก ได้ประชาสัมพันธ์ในเพจเฟซบุ๊กถึงการจัดกิจกรรม CAR & MOTORCYCLE MOB YALA ในวันที่ 1 ส.ค. 64 บริเวณหน้าพรุบาโกย และวนรถรอบเมืองยะลา ซึ่งมีลักษณะเป็นการเชิญชวนให้ประชาชนออกมารวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล

.

.

ผู้กล่าวหาเห็นว่าในช่วงเวลาปัจจุบัน ได้มีการออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หากมีการดำเนินการจัดกิจกรรมดังกล่าวอาจผิดข้อกำหนดดังกล่าว พ.ต.อ.ตรัยฤกษ์ จึงให้ชุดสืบสวนและฝ่ายงานป้องกันปราบปราม สภ.เมืองยะลา ทำการสืบสวนหาข่าว ต่อมา ได้รับรายงานว่าได้มีการทำกิจกรรมดังกล่าวจริง เริ่มในเวลา 16.30 น. โดยมีทั้งสามคนเป็นกลุ่มแกนนำ

ตำรวจผู้กล่าวหาอ้างว่าในกิจกรรมดังกล่าว นายประเสริฐและน.ส.อามานียะ ได้เป็นผู้ขับรถยนต์นำขบวนรถจักรยานยนต์และรถยนต์ออกไปตามเขตเทศบาลนครยะลา โดยอามานียะยังได้เขียนแผ่นกระดาษข้อความ “บอดอ” ยื่นออกมาข้างรถยนต์ ตลอดเส้นทางกลุ่มผู้ขับขี่ได้ชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์ จนขับรอบเมืองยะลา ถึงสวนสาธารณะขวัญเมือง (พรุบาโกย) ขบวนได้หยุด และแกนนำประกาศยุติกิจกรรม เมื่อเวลา 18.30 น. ผู้กล่าวหาเห็นว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองยะลา ให้ดำเนินคดี

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาประเสริฐและอารีฟีน ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ส่งเสียงหรือทำให้เกิดเสียงอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 370, ขับรถกีดขวางทางจราจร และ หยุดรถในช่องทางเดินรถในลักษณะกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ

ขณะที่ น.ส.อามานียะ ถูกแจ้งเฉพาะสองข้อกล่าวหาแรก แต่ไม่ได้ถูกแจ้งข้อหา ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ

ทั้งสามคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 31 ส.ค. 64

หลังพิมพ์ลายนิ้วมือและลงบันทึกประจำวันไว้ พนักงานสอบสวนยังได้ยื่นคำร้องขอฝากขังทั้งสามคนต่อศาลจังหวัดยะลาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ผู้ต้องหาทั้งสามได้คัดค้านการฝากขังด้วยวาจา ก่อนที่ศาลจังหวัดยะลาจะมีคำสั่งยกคำร้องของพนักงานสอบสวน โดยไม่อนุญาตให้ฝากขังตามคำขอ ทำให้ทั้งสามคนได้รับการปล่อยตัวกลับ

ทั้งนี้น่าสังเกตว่า คดีในข้อกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี หากผู้ได้รับหมายเรียกเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเอง ในพื้นที่อื่นๆ แทบทั้งหมดยังไม่มีรายงานที่พนักงานสอบสวนยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาแต่อย่างใด แต่คดีคาร์ม็อบที่จังหวัดยะลานี้ พนักงานสอบสวนกลับมีการยื่นขอฝากขัง

ในส่วนผู้ถูกออกหมายเรียกอีก 5 ราย จากกรณีกิจกรรมคาร์ม็อบยะลาในวันที่ 1 ส.ค. 64 ได้นัดหมายจะเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาต่อไปในวันที่ 18 ส.ค. 64

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จนถึงวันที่ 13 ส.ค. 64 พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีการดำเนินคดีต่อกิจกรรมในลักษณะคาร์ม็อบ ซึ่งเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่ไม่ได้มีการรวมตัวกันอย่างใกล้ชิด ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไปแล้วไม่น้อยกว่า 22 คดี ในจำนวนนี้มีคดีที่มีอัตราโทษปรับ และตำรวจได้เปรียบเทียบปรับให้คดีสิ้นสุดไปแล้ว 6 คดี ขณะที่ในพื้นที่ภาคใต้มีการดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 4 คดีแล้ว

>> สรุปคดี “คาร์ม็อบไล่ประยุทธ์” ทั่วประเทศ มีไม่น้อยกว่า 22 คดีแล้ว

.

X