ฟ้องอีก 2 คดี คาร์ม็อบโคราช – ชุมนุมหน้าภูธรภาค 3 จำเลยชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้แก้โควิด แต่จำกัดสิทธิคนเห็นต่างรัฐบาล

วันที่ 8 ตุลาคม 2564 มกรพงษ์ ทรัพย์ประเสริฐ, วรัญญู คงสถิตย์ธรรม สองนักกิจกรรมกลุ่ม Korat Movement และเมธานุช กอผา สมาชิกและคณะทำงานพรรคก้าวไกล จังหวัดนครราชสีมา เดินทางไปที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงนครราชสีมา ในนัดฟังคำสั่งคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรมคาร์ม็อบในวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 และชุมนุมหน้าตำรวจภูธรภาค 3 วันที่ 7 สิงหาคม  2564 โดยอัยการมีคำสั่งฟ้องทั้งสองคดี หลังเพิ่งได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ก่อนที่ทนายความจะยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ และศาลให้ประกันตัวโดยให้สาบานตน

.

ขอความเป็นธรรม เหตุชุมนุมใช้สิทธิตาม รธน. รายหนึ่งไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุไม่สมควรสั่งฟ้อง

ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ในนัดส่งตัวอัยการ 3 คดี จากเหตุคาร์ม็อบโคราชวันที่ 23 กรกฎาคม 2564, เหตุชุมนุมหน้ากองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 และเหตุคาร์ม็อบโคราชเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2564 ทนายความยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการไม่ให้ฟ้องคดี ระบุเหตุผลใจความว่า

1.การกระทำตามข้อกล่าวหาทั้งเหตุคดี เป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต โดยสงบ และปราศจากอาวุธ ตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และตามรัฐธรรมนูญ กรณีการจัดกิจกรรมชุมนุมของประชาชน และการปราศรัย จึงไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด 

2.ตามข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวน ผูัต้องหาขอให้การว่า ไม่ได้ ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนด และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา ที่ 7916/2564 เรื่อง มาตรการในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดต่อเชื้อโควิด-19  แต่อย่างใด เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมให้มีการรวมกลุ่มของบุคคลใด ซึ่งในวันดังกล่าวประชาชนต่างคนต่างมาเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง 

3.กิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีนั้นเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสะท้อนถึงความล้มเหลวในการจัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาล ซึ่งได้ปรากฏต่อสาธารณะชนทั่วไปเห็นว่ามีคนจำนวนมากมิได้รับการดูแลรักษา และป้องกัน ในทางสาธารณสุขอย่างทั่วถึงจากรัฐบาล กิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นทางเดียวที่จะทำให้รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจหันมาสนใจความเดือดร้อนและข้อเรียกร้องของประชาชน การใช้กฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และคำสั่งจังหวัดมาดำเนินคดี จึงมิได้เป็นการบังคับใช้ตามเจตนารมณ์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 แต่มุ่งประสงค์จะจำกัดสิทธิเสรีภาพ ยับยั้งบุคคลไม่ให้มีความเห็นต่างจากรัฐบาล 

ภาพการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 ที่หน้าตำรวจภูธรภาค 3 จากเพจ Korat Movement

ส่วนเมธานุช ซึ่งถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์คาร์ม็อบวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 และในชั้นสอบสวนเธอปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ทั้งให้การเพิ่มเติมว่า วันดังกล่าวเธอไม่ได้อยู่ในที่ชุมนุม  ตามที่ถูกแจ้งความดำเนินคดี ในหนังสือขอความเป็นธรรมได้ระบุเหตุผลที่ไม่สมควรสั่งฟ้องเสมือนเป็นการย้ำว่า เธอไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรม และไม่ได้ไปยังที่เกิดเหตุ ตามที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา นอกจากนี้ ภาพถ่ายหรือพยานหลักฐานอื่นๆ ที่บ่งชี้ว่าเธอเป็นผู้กระทำผิด ก็ไม่มีส่วนใดเกี่ยวข้องกับเธอ          

.

กระบวนการฟ้องที่ล่าช้า ทนายและจำเลยต้องเสียเวลาไปทั้งวัน

เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงนครราชสีมา เมื่อทั้งสามคนเดินทางมาถึง กลับต้องรอจนเวลาล่วงมาถึง 11.40 น. โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งว่า จะไปยื่นฟ้องเมื่อไหร่ เมื่อ ภัทรพงษ์ วรรณพงษ์ ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ไปสอบถามว่าจะยื่นฟ้องทันช่วงเช้าหรือไม่เพราะหากไม่ทันจะติดช่วงพักเที่ยง เจ้าหน้าที่กลับบอกว่าคงต้องไปฟ้องช่วงบ่าย ทนายจึงกล่าวว่า ถ้าจะฟ้องบ่ายไม่ควรนัดจำเลยมาตอนเช้า เสียเวลาทำมาหากินของจำเลย หากจะฟ้องบ่ายก็ควรจะนัดช่วงบ่าย ต่อมา เจ้าหน้าที่กลับบอกว่าอัยการติดสืบพยานคดีอื่นด้วย ทนายจึงตั้งคำถามว่า ถ้าอัยการมีนัดสืบพยานเช้า ทำไมถึงนัดจำเลยมาฟ้องช่วงเช้า เพราะคนอื่นๆ ก็มีงานการทำเช่นกัน จะได้ไม่ต้องมานั่งคอยเช่นนี้  

หลังเจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการไปปรึกษากันราว 15 นาที  จึงกลับมาบอกให้ทั้งทนายและจำเลยไปที่ศาลแขวงนครราชสีมาเพื่อยื่นฟ้องและทำเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อไป 

สำหรับคดีจากเหตุคาร์ม็อบวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้อง มกรพงษ์, วรัญญู และเมธานุช  เป็นจำเลยรวม 3 คน บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมจัดกิจกรรมให้ประชาชนมาชุมนุมรวมกลุ่มมากกว่า 20 คน  เพื่อวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และได้เข้าร่วมชุมนุมในพื้นที่ควบคุมสูงสุดของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่ได้เข้มงวดในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย  มีประชาชนบางคนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ไม่มีการเว้นระยะห่างเกิน 2 เมตร รวมทั้งจำเลยได้ขึ้นปราศรัยโดยลดหน้ากากอนามัยลง พร้อมทั้งมีระยะเวลาการร่วมชุมนุมฟังปราศรัยเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 และอาจทำให้เหตุการณ์การแพร่ระบาดร้ายแรงมากขึ้น 

ภาพการชุมนุมวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 จากเพจ Korat Movement

และคดีจากการชุมนุมวันที่ 7  สิงหาคม 2564 ซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้อง วรัญญูและมกรพงษ์  บรรยายฟ้องลักษณะเดียวกันว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันจัดกิจกรรมให้ประชาชนมาชุมนุมรวมกลุ่มมากกว่า 5 คน และเข้าร่วมชุมนุมกับประชาชน ซึ่งผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่ได้เข้มงวดในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย  มีประชาชนบางคนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ไม่มีการเว้นระยะห่างเกิน 2 เมตร ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 และอาจทำให้เหตุการณ์การแพร่ระบาดร้ายแรงมากขึ้น

ทั้ง 2 คดี อัยการฟ้องในข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อฯ มาตรา 34 และคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา เรื่องมาตรการในการเฝ้าระวังป้องกันและการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19

หลังศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 2 คดี โดยไม่ใช้หลักทรัพย์ ให้เหตุผลว่า จำเลยประสงค์ที่จะต่อสู้คดีในชั้นพิจารณา เนื่องจากเชื่อว่าไม่ได้ทำผิดตามที่โจทก์กล่าวอ้าง และมีหนทางที่จะต่อสู้คดีตามกฎหมาย โดยจะนำพยานหลักฐานมาเสนอต่อศาลเพื่อต่อสู้คดีในชั้นพิจารณาคดีพิสูจน์ความบริสุทธิ์ต่อไป 

นอกจากนี้จำเลยทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนีและให้ความร่วมมือต่อกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นสอบสวน และแม้ปัจจุบันประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้การเดินทางออกไปในที่สาธารณะนั้นเพิ่มโอกาสในการติดโรคดังกล่าว แต่จำเลยทุกคนพยายามขวนขวายเดินทางไปตามนัดของตำรวจและอัยการทุกครั้ง ไม่ได้มีความคิดจะหลบหนี จึงขอศาลปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อให้จำเลยได้มีอิสรภาพสู้คดีอย่างเต็มที่ 

เวลา 14.30 น. ศาลแขวงนครราชสีมา มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งหมดในทั้ง 2 คดี โดยให้สาบานตนแทนการใช้หลักทรัพย์ หลังสาบานตนทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวในช่วงเวลา 16.30 น. และนัดคุ้มครองสิทธิ์และตรวจพยานหลักฐานวันที่  18 พฤศจิกายน 2564

หลังได้รับการปล่อยตัว วรัญญู กล่าวว่าการฟ้องคดีครั้งนี้เป็นการบังคับใช้กฏหมายที่ไม่เป็นธรรม กฎหมายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่มักจะถูกรัฐใช้อยู่เสมอๆ เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนที่คิดจะลุกขึ้นมาท้าทายต่ออำนาจของพวกเขา จุดประสงค์ของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คืออยากให้เราหยุดท้าทาย หยุดทำกิจกรรมทางการเมือง แต่ตรงข้ามจุดประสงค์ของเรามันคือการต่อสู้เพื่อการกระจายอำนาจ ต่อต้านอำนาจเผด็จการที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นเราจึงไม่กลัวและไม่ได้คิดว่าจะหยุดทำกิจกรรมต่อไป

ส่วนการที่ต้องมาขึ้นศาล วรัญญูกล่าาว่า เตรียมใจไว้อยู่แล้วว่าวันนี้ต้องมาถึง เราไม่เคยคิดเลยว่าสิ่งที่เราต่อสู้มันผิด ดังนั้นด้านสภาพจิตใจเราไม่มีปัญหา แต่ยอมรับว่ารู้สึกเสียเวลา รู้สึกว่าจริงๆ ถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตยมากพอ เราก็ไม่สมควรถูกพามาอยู่ตรงจุดนี้ จุดที่ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 

ส่วนกระบวนการที่ไปสำนักงานอัยการตั้งแต่ 10.00 น. กว่าจะเสร็จกระบวนการก็ล่วงถึง 16.30 น. จากที่ลางานมาครึ่งวัน  “สรุปต้องลาทั้งวัน เสียการเสียงานไปอีก ส่วนเวลาที่เราจะต้องเอาไปใช้ทำอย่างอื่น มันก็พลอยหายไปด้วย แต่เอาจริงๆ ก็ไม่ค่อยเซอร์ไพรซ์อะไร เพราะรู้ว่ากระบวนการของประเทศนี้ เรื่องความล่าช้าถือเป็นเรื่องปกติของผู้มีอำนาจ”

ขณะที่มกรพงษ์ ที่ปัจจุบันทำงานที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดนคราชสีมา มองว่าการสั่งฟ้องคดีครั้งนี้  เพราะรัฐก็อยากให้หยุดชุมนุม  “เพราะสิ่งที่เราทำ คือการเปิดโปงความจริง  รัฐคงทนไม่ได้เเน่ ถ้าความจริงถูกเปิดเผยไปเรื่อยๆ เเล้วประชาชนหลายๆ คนจะรู้ความจริงในที่สุด” 

ส่วนการต้องขึ้นศาล มกรพงษ์เล่าว่า มีผลกระทบในชีวิตมากเลยทีเดียว เพราะต้องลางานมา เสียดายเวลา ไม่ได้ค่าเเรง เเถมเสียดายความสุขในชีวิตวัยรุ่นของผมที่ควรจะได้รับ ทั้งที่เราออกมาเรียกร้องสิ่งที่ถูกต้อง เเต่กลับโดนดำเนินคดี

.

รวมฟ้องไปแล้ว 4 คดี จาก 5 คดี  พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมที่โคราช

ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมามีคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทั้งหมด 5 คดี ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 พนักงานอัยการคดีศาลแขวงนครราชสีมายื่นฟ้องคดีจากคาร์ม็อบไป 2 คดี จากเหตุวันที่ 1 สิงหาคม 2564 และเหตุวันที่ 15 สิงหาคม 2564 รวมแล้วจึงมีจำนวนคดีที่ถูกยื่นฟ้องไปแล้ว 4 คดี

โดยยังเหลือคดีคาร์ม็อบโคราชจากวันที่ 21 สิงหาคม 2564 ที่อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้อง และส่งสำนวนคืนให้ตำรวจ เนื่องจากขณะพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการ ผู้ถูกออกหมายเรียกอีก 2 คนได้แก่ กนกวรรณ ฉิมนอก และเบนจา อะปัญ นักกิจกรรมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการเมือง ยังไม่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยได้ส่งหนังสือขอเลื่อนไว้ 

 

ภาพการชุมนุมวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 จากเพจ Korat Movement

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 กนกวรรณได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์ที่ดำเนินคดีเกี่ยวกับการคาร์ม็อบในวันที่ 21 สิงหาคม 2564 เช่นเดียวกับคนอื่นที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปก่อนหน้านี้ ก่อนแจ้งข้อหา ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกําหนด, ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และคําสั่งจังหวัดนครราชสีมาที่ 7916/2564 เช่นเดียวกับคนอื่น กนกวรรณให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวอัยการ 29 ตุลาคม 2564 

>> นักกิจกรรมโคราชสาดสีก่อนเข้าปฏิเสธ 3 คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยืนยันขับเคลื่อนด้วยความฝัน ความต้องการมีชีวิตที่ดี

.

ศาลแขวงโคราชถอนหมายจับเบนจา ชี้ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ด้านเบนจายังไม่ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน เหตุศาลไม่ให้ประกันคดี ‘112’ ที่กรุงเทพฯ

สำหรับกรณีของเบนจา ซึ่งได้ขอเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเป็นวันที่ 8 ตุลาคม 2564 แต่ก่อนหน้านั้น อัครพงษ์ วรรณพงษ์ ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ทราบว่า ศาลแขวงนครราชสีมาได้อนุมัติหมายจับเบนจาในคดีนี้ หลังพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครราชสีมา ได้ยื่นขอ  

วันที่ 6 ตุลาคม 2564 ทนายความจึงยื่นคำร้องต่อศาลขอเพิกถอนหมายจับดังกล่าว ช่วงบ่ายวันเดียวกันศาลเรียกไต่สวน สอบถามข้อเท็จจริงในการยื่นคำร้องและคำขอให้เพิกถอนหมายจับ อย่างไรก็ตาม หลังไต่สวน ศาลมีคำสั่งยกคำร้องของทนายความ ด้วยเหตุว่า เอกสารที่เบนจาเซ็นแต่งตั้งให้อัครพงษ์เป็นทนายความลงลายมือชื่อด้วยลายเซ็นอิเลคทรอนิกส์ ซึ่งถือว่าไม่ใช่ฉบับจริง จึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ยื่นคำร้องได้รับมอบอำนาจจากเบนจาให้มายื่นคำร้อง 

ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนหมายจับอีกครั้งทางออนไลน์ผ่านระบบซีออส  

วันต่อมา (7 ตุลาคม 2564) เวลา 11.30 น.ศาลได้เรียกไต่สวนคำร้องดังกล่าว ทนายความผู้ต้องหาเบิกความว่า วันที่ 2 กันยายน 2564 ตนได้พาตัวผู้ต้องหาคดีอื่นที่เกี่ยวพันกับคดีนี้เข้าพบพนักงานสอบสวน และได้แจ้งพนักงานสอบสวนขอเลื่อนการพาตัวผู้ต้องหาคดีนี้มาพบพนักงานสอบสวนไปในวันที่ 14 กันยายน 2564  

ภาพการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2564 จากเพจ Korat Movement

ต่อมาวันที่ 14 กันยายน ก็ได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนการเข้าพบพนักงานสอบสวนของผู้ต้องหาไปวันที่ 8 ตุลาคม 2564 โดยมีเจ้าพนักงานตำรวจอื่นเป็นผู้รับหนังสือดังกล่าวตามเอกสารที่ได้อ้างส่งต่อศาลแล้ว ซึ่งผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี ไม่มาพบพนักงานสอบสวน 

ด้านพนักงานสอบสวนผู้ร้องขอให้ศาลออกหมายจับเบนจาเบิกความว่า ผู้ต้องหาทราบหมายเรียกครั้งที่ 1 ให้มาพบพนักงานสอบสวนแล้วในวันที่ 2 กันยายน 2564 แต่ผู้ต้องหาไม่มาตามหมายเรียก โดยทนายผู้ต้องหาขอเลื่อนไปในวันที่ 14 กันยายน 2564 แต่เมื่อถึงวันนัดผู้ต้องหาก็ไม่ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน จึงเป็นการไม่มาพบพนักงานสอบสวนเป็นครั้งที่ 2 โดยผู้ร้องไม่ทราบว่ามีหนังสือขอเลื่อนเข้าพบพนักงานสอบสวนฉบับลงวันที่ 14 กันยายน 2564 ตามที่ทนายผู้ต้องหาเบิกความและอ้างส่งศาล จึงมายื่นคำร้องต่อศาลให้ออกหมายจับ เนื่องจากจะต้องส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการ ผู้ร้องเพิ่งทราบว่ามีหนังสือฉบับดังกล่าวในภายหลัง การยื่นคำร้องขอหมายจับในวันที่ 27 กันยายน 2564 จึงเป็นการยื่นคำร้องตามพยานหลักฐานที่มีในขณะนั้นให้ศาลพิจารณา

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในการยื่นคำร้องขอหมายจับผู้ต้องหา ศาลได้พิจารณาไต่สวนจากพยานหลักฐานของผู้ร้อง ซึ่งได้ความจากการไต่สวนพนักงานสอบสวนผู้ร้องว่า ได้ออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหามาพบพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีวันที่ 2 กันยายน 2564 เมื่อถึงวันนัดผู้ต้องหาไม่มาพบพนักงานสอบสวน ซึ่งรายงานผลการส่งหมายดังกล่าว พนักงานสอบสวนเห็นว่าสภาพบ้านเป็นบ้านร้างไม่มีผู้ใดอยู่ จึงไม่ได้มีการออกหมายเรียกไปยังผู้ต้องหาอีกครั้งหนึ่ง และจากการตรวจสอบไม่พบว่าผู้ต้องหามีที่อยู่ที่อื่น

นอกจากนี้ผู้ต้องหายังไม่มาพบตามที่ขอเลื่อนเป็นครั้งที่ 2 และเนื่องจากการทำสำนวนการสอบสวนมีระยะเวลาให้ส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสำนวนต่อไปตามแนวปฏิบัติ ผู้ร้องจึงยื่นขอคำร้องขอออกหมายจับผู้ต้องหาในวันที่ 27 กันยายน 2564 จึงเป็นกรณีที่มีหลักฐานตามสมควรว่าผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน ไม่มาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกและตามที่ขอเลื่อน น่าเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี มีเหตุให้ออกหมายจับผู้ต้องหาได้ในวันดังกล่าว

แต่จากการไต่สวนพยานทั้งสองฝ่าย ผู้ร้องและทนายผู้ต้องหาเบิกความรับกันว่า มีหนังสือขอเลื่อนฉบับลงวันที่ 14 กันยายน 2564 ขอเลื่อนเข้าพบพนักงานสอบสวนเป็นวันที่ 8 ตุลาคม 2564 โดยมีพนักงานสอบสวนเวรเป็นผู้รับหนังสือ จึงเป็นการยื่นหนังสือที่เป็นกิจจะลักษณะ แม้หนังสือดังกล่าวไม่ได้ส่งต่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีโดยตรง ทำให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีไม่ทราบข้อเท็จจริง แต่การยื่นหนังสือนั้นก็แสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหาและทนายแสดงเจตนาที่จะเข้าพบพนักงานสอบสวนอยู่ 

ภาพ เบนจา อะปัญ ขณะในรถควบคุมตัว หลังศาลไม่ให้ประกันตัวในคดี 112

แม้ผู้ต้องหาไม่ได้มาพบพนักงานสอบสวนตามวันนัดที่ขอเลื่อนไปทั้งสองครั้ง แต่ระยะเวลาที่ขอเลื่อนแต่ละครั้งก็ไม่ถึงนานจนเกินสมควร จึงยังไม่ถึงกับมีเจตนาที่จะไม่มาพบหรือบ่ายเบี่ยงไม่มาพบพนักงานสอบสวน ไม่ได้มีพฤติการณ์จงใจหลบหนี ประกอบกับทนายความผู้ต้องหาเบิกความว่า หากศาลเพิกถอนหมายจับ เบนจาจะเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ตามที่นัดไว้ จึงให้เพิกถอนหมายจับผู้ต้องหา 

อย่างไรก็ตาม หลังศาลแขวงนครราชสีมามีคำสั่งเพิกถอนหมายจับไม่นาน ในวันช่วงบ่ายของวันที่ 7 ตุลาคม เบนจาก็ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบจาก สน.ทองหล่อ เข้าแสดงหมายจับของศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่ 441/2564 ลงวันที่ 3 กันยายน 2564 ในข้อหา “หมิ่นประมาทมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ ที่หน้าบริษัทซิโน-ไทย ในระหว่าง #ม็อบ10สิงหา ‘คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช’ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 

ต่อมาพนักงานสอบสวนขอฝากขังต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ทั้งยังขอคัดค้านการประกันตัว ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ฝากขังเป็นระยะเวลา 12 วัน แม้ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว แต่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเบนจา หนำซ้ำวันที่ 9 ตุลาคม 2564 หลังทนายยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกัน ศาลอุทธรณ์ยังมีคำสั่งยกคำร้องอีกด้วย ส่งผลให้การเข้าพบพนักงานสอบสวนของเบนจาในคดีนี้ตามนัดหมายในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟ้องแล้ว! พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คาร์ม็อบโคราช 2 คดีจำเลยยันสู้เต็มที่ แม้รัฐบอกว่าผิด แต่เชื่อว่าการไล่รัฐบาลคือสิ่งที่ถูก

นักกิจกรรมโคราชสาดสีก่อนเข้าปฏิเสธ 3 คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยืนยันขับเคลื่อนด้วยความฝัน ความต้องการมีชีวิตที่ดี

คาร์ม็อบโคราช ปฏิเสธข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ย้ำ! ชุมนุมมีมาตรการป้องกันโควิด ถ้าไม่ออกมาส่งเสียงก็เหมือนศิโรราบ

.

X