ก่อนจะถึงคำพิพากษา: 2 จำเลยคาร์ม็อบโคราช1สิงหา ยืนยันสิทธิชุมนุมเรียกร้องวัคซีน – คาร์ม็อบไม่เสี่ยงโควิด – ไม่มีผู้ติดเชื้อ 

1 มิ.ย. 2565 ศาลแขวงนครราชสีมา นัดฟังคำพิพากษาคดี ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมี วัฒนะชัย สืบศิริบุษย์, วรพงศ์ โสมัจฉา, กฤติพงศ์ ปานสูงเนิน และบริพัตร กุมารบุญ รวม 4 คน เป็นจำเลย ถูกฟ้องว่า ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 และคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา จากกิจกรรมคาร์ม็อบโคราชที่จัดพร้อมกันในหลายจังหวัดทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564

หลังใช้เวลาไป 2 นัด คดีนี้สืบพยานเสร็จเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2565 แต่ก่อนเริ่มสืบพยาน วัฒนะชัย และ บริพัตร 2 จำเลย ตัดสินใจให้การรับสารภาพ ให้เหตุผลส่วนตัวว่าต้องการทำให้จบคดีโดยเร็ว เพราะมีแผนเตรียมการจะลงรับสมัครเลือกตั้ง 

อย่างไรก็ตาม จำเลยอีก 2 ราย ที่เหลือ ทั้งวรพงศ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และกฤติพงศ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ยังคงยืนหยัดสู้คดีอย่างเต็มที่ ดังที่กฤติพงศ์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “แม้ตำรวจหรืออัยการจะฟ้องว่าเป็นความผิด แต่สิ่งที่ตนคิดและเชื่อนั้น ไม่ใช่สิ่งผิดแน่นอน หนำซ้ำการออกมาขับไล่เรียกร้องให้รัฐบาลลาออกขณะนั้น ถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญของพลเมืองไทยที่ทนไม่ได้กับสภาพการเมืองและการแก้ปัญหาโควิด-19 ที่ไม่มีประสิทธิภาพ” 

โดยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าพวกเขาไม่ได้เป็นผู้จัดชุมนุมตามที่ถูกกล่าวหา แต่เป็นเพียงผู้เข้าร่วมชุมนุมเพื่อแสดงออกถึงความต้องการให้รัฐบาลปรับปรุงการทำงานโดยจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพมาให้ประชาชน   

จากการสืบพยานโจทก์ไป 7 ปาก และพยานจำเลย 2 ปาก นำมาสู่การนัดฟังคำพิพากษาคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีแรกจากการชุมนุมในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ที่ประชาชนถูกดำเนินคดีรวมกันถึง 5 คดี

.

ไม่มีวัคซีนที่เพียงพอ จึงเกิดคาร์ม็อบ #ขับไล่ลุงโคราช

2 ก.ย. 2564 หนึ่งเดือนหลังกิจกรรมคาร์ม็อบ ทุกคนที่ได้รับหมายเรียกต่างเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา วันนั้น พ.ต.อ.กรกฎ โปชยะวาณิช ผู้กำกับ สภ.เมืองนครราชสีมา กล่าวกับผู้ต้องหาว่า “สิ่งที่จะมุ่งเน้นในการดำเนินคดีคือ มิติด้านสาธารณสุข ว่าการชุมนุมนั้นมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด -19 หรือไม่ การรับทราบข้อกล่าวหาครั้งนี้ อยากให้ผู้ต้องหาแต่ละคนใช้ความรู้สึกของตัวเองให้มากที่สุดในการตอบพนักงานสอบสวน หากจะให้การปฏิเสธ “ 

หลังพบพนักงานสอบสวน ซึ่งวัฒนะชัย, วรพงศ์, กฤติพงศ์ และบริพัตร ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่า ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และร่วมกันฝ่าฝืนคําสั่งจังหวัดนครราชสีมา ทั้งหมดให้การปฏิเสธ ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะปล่อยตัวกลับบ้าน 

ในครั้งนั้นวรพงศ์เล่าถึงความตั้งใจที่เข้าร่วมชุมนุมจนถูกดำเนินคดีว่า คาร์ม็อบเป็นอีกทางเลือกในการออกมาเรียกร้องขณะนี้ ด้วยผลงานรัฐบาลล้มเหลวเรื่องจัดหาวัคซีนที่ผ่านมา ถ้าเราไม่ออกมาเคลื่อนไหว มันก็ไม่มีเสียงสะท้อนอะไรจากสังคม เราอยากออกมาแสดงเจตนาที่ดีต่อบ้านเมือง เพื่อไม่ศิโรราบกับสิ่งที่เกิดขณะนี้” 

.

ไม่หลบหนี พร้อมสู้คดีให้ถึงที่สุด

ในสถานการณ์ที่คาร์ม็อบ 1 ส.ค. 2564 ที่จัดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เริ่มถูกดำเนินคดีและส่งฟ้องไปในหลายพื้นที่ คดีนี้ก็ไม่ต่างกัน 

1 ต.ค. 2564  สุภัค บัวแย้ม พนักงานอัยการคดีศาลแขวงนครราชสีมา ยื่นฟ้อง วัฒนะชัย, วรพงศ์, กฤติพงศ์ และบริพัตร เป็นจำเลย กล่าวหาว่าได้ร่วมกันจัดกิจกรรมให้ประชาชนมาชุมนุมรวมกลุ่มกันประมาณ 1,000 คน  เพื่อวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และได้เข้าร่วมชุมนุมในพื้นที่ควบคุมสูงสุดของจังหวัดนครราชสีมา โดยผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่ได้เข้มงวดในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 มีประชาคนบางคนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ไม่ได้เว้นระยะห่างเกิน 2 เมตร และจำเลยได้ขึ้นปราศรัยโดยลดหน้ากากอนามัยลง พร้อมทั้งมีระยะเวลาการร่วมชุมนุมฟังปราศรัยเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 และอาจทำให้เหตุการณ์การแพร่ระบาดร้ายแรงมากขึ้น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา

สำหรับวัฒนะชัย จากกลุ่มโคราชเลือดใหม่ ซึ่งตกเป็นจำเลยใน 2 คดี จากคาร์ม็อบ 2 ครั้ง ในเหตุวันที่ 15 ส.ค. 2564 ด้วย  พนักงานอัยการระบุในคำฟ้องด้วยว่าขอให้ศาลนับโทษจำคุกในทั้งสองคดีเรียงต่อกัน

หลังศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสี่ โดยไม่ใช้หลักทรัพย์ ให้เหตุผลว่า จำเลยประสงค์ที่จะต่อสู้คดีในชั้นพิจารณา เนื่องจากเชื่อว่าไม่ได้ทำผิดตามที่โจทก์กล่าวอ้าง และเชื่อว่าศาลจะอำนวยความยุติธรรมให้แก่จำเลยได้ นอกจากนี้จำเลยทั้งหมดไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี และให้ความร่วมมือต่อกระบวนการยุติธรรมมาตลอด ก่อนที่ในบ่ายวันนั้นศาลจะมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยให้สาบานตนแทนการใช้หลักทรัพย์ 

เมื่อคดีดำเนินมาถึงชั้นศาล วรพงศ์กล่าวในมุมมองของเขาว่า “อดคิดไม่ได้ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีไว้ปรามการชุมนุมทางการเมือง และการดำเนินคดีกรณีคาร์ม็อบในโคราช ล้วนมีเบื้องหลังทางการเมืองอยู่”

ส่วนกฤติพงศ์ยืนยันว่า “ส่วนตัวคิดว่าจะสู้คดีอย่างถึงที่สุด เพราะนอกจากคดีนี้ยังมีประชาชนจำนวนหนึ่งจากทั่วประเทศที่เผชิญหน้าคดีในลักษณะเดียวกันอยู่ และไม่ได้รู้สึกว่าตนสู้อย่างโดดเดี่ยว”

.

ไม่ปรากฏข่าว ผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลังชุมนุม

ในการสืบพยาน นพ.ชาญชัย บุญอยู่ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เบิกความเป็นพยานฝ่ายโจทก์ว่า ได้รับคำสั่งให้ไปดูการชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัด ในวันที่ 1 ส.ค. 2564 ว่า มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโควิดหรือไม่ โดยพบว่า มีคนเข้าฟังการปราศรัยวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ประมาณ 500 คน มีรถจักรยานยนต์ประมาณ 100 คัน และรถยนต์ประมาณ 50 คัน 

นพ.ชาญชัย เบิกความอีกว่า ผู้ร่วมชุมนุมนั่งฟังการปราศรัย โดยนั่งห่างกันเกิน 1 เมตรก็มี ไม่เกิน 1 เมตรก็มี มีทั้งสวมหน้ากากอนามัยและไม่สวม บางช่วงมี 2-3 คน ยืนใกล้ชิดกัน ผู้ปราศรัยไม่สวมหน้ากากอนามัย ส่วนคนที่อยู่บนเวทีบางคนก็ไม่สวมหน้ากากอนามัยเช่นกัน ตนเห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นความผิด เนื่องจากมีการรวมกลุ่มกันเกิน 20 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต และเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาด

ก่อนที่ต่อมา นพ.ชาญชัย จะตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ตนไม่ทราบว่าหลังการชุมนุมครั้งนั้นมีการจัดทำรายงานผู้ติดเชื้อจากการชุมนุมหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเหตุการณ์สำคัญพยานก็ต้องจำได้ แต่ในบางกรณีก็ไม่อาจทราบได้ว่า มีการติดเชื้อมาจากสถานที่หรือบุคคลใด  

นพ.ชาญชัย รับว่า บริเวณหน้าศาลากลางในช่วงเย็นจะมีรถจอดเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีพื้นที่กว้าง ผู้ชุมนุมสามารถยืนกระจายกันได้ อากาศถ่ายเท ปลอดโปร่ง สามารถลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคได้ นอกจากนั้น การปราศรัยก็ไม่มีการยุยงให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง เป็นการเรียกร้องวัคซีนที่มีคุณภาพและการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่มีประสิทธิภาพ ผู้เข้าร่วมชุมนุมคือคนที่ไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล ส่วนผู้ที่ขึ้นปราศรัยจะเป็นแกนนำหรือผู้จัดชุมนุมหรือไม่ พยานไม่ทราบ 

ขณะที่จักรกฤษ ศรีสุวรรณ นิติกรประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา พยานโจทก์อีกปากเบิกความว่า ตนเป็นผู้ร่างคำสั่งจังหวัดนครราชสีมาที่ 7368/2564 ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งตามคำสั่งดังกล่าว การจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มเกิน 20 คน ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการฯ ก่อน แต่การชุมนุมในคดีนี้ ไม่มีการขออนุญาตจากคณะกรรมการฯ อย่างไรก็ตาม พยานยังไม่ได้ยินข่าวว่า มีผู้ติดเชื้อโควิดจากการชุมนุมครั้งนี้

.

ไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้โพสต์ชวนคนออกไปชุมนุม หรือกำหนดเส้นทางคาร์ม็อบ

พ.ต.ท.ไพฑูรย์ อ่อนคำ รองผู้กำกับการสืบสวน สภ.เมืองนครราชสีมา ผู้กล่าวหาในคดีนี้ และ พ.ต.ต.อุกฤษฎ์ แพงไธสง สารวัตรสืบสวน สภ.เมืองนครราชสีมา เบิกความในทำนองเดียวกันว่า ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ติดตามความเคลื่อนไหวของเฟซบุ๊กเพจ Korat No เผด็จการ ซึ่งมีการโพสต์เชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุม โดย พ.ต.ท.ไพฑูรย์ พบเฟซบุ๊กของวัฒนะชัย สืบศิริบุษย์ มีการแชร์โพสต์ดังกล่าวไป วันเกิดเหตุ พยานทั้งสองอยู่บนรถยนต์ซึ่งร่วมในขบวนตั้งแต่เวลา 15.00 น. ไปจนจบการชุมนุมในเวลาประมาณ 18.30 น.  

ตำรวจสืบสวนทั้งสองยังเบิกความอีกว่า เห็นจำเลยขึ้นปราศรัยบนรถซึ่งติดตั้งเครื่องเสียงทีละคน ผู้ปราศรัยสวมหน้ากากอนามัย แต่ใช้เวลาการปราศรัยนาน จึงมีบางช่วงที่ถอดหน้ากากอนามัยบ้าง เนื้อหาการปราศรัยเป็นการโจมตีการทำงานของรัฐบาลในการจัดหาวัคซีน ผู้ฟังการปราศรัยส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย แต่มีบางคนถอดออกบ้างในบางช่วง มีการยืนใกล้กัน ประกอบกับสภาพอากาศที่อบอ้าว จึงมีความเสี่ยงในการแพร่โรคระบาด พ.ต.ต.อุกฤษฎ์ ระบุด้วยว่า จำเลยทั้งสองได้ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมขบวนด้วย 

พ.ต.ท.ไพฑูรย์ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ จ.นครราชสีมา เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีการประกาศห้ามชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค อีกทั้งคำสั่งจังหวัดนครราชสีมาได้ห้ามรวมกลุ่มทำกิจกรรมเกิน 20 คน พยานจึงกล่าวหาจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐาน ร่วมกันจัดการชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัด

รองผู้กำกับสืบสวนตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า พยานเห็นว่า วรพงศ์และกฤติพงศ์เป็นแกนนำในการจัดชุมนุม เนื่องจากเป็นผู้ขึ้นกล่าวปราศรัย แต่พยานไม่ทราบว่า บุคคลใดเป็นผู้โพสต์เชิญชวนให้คนมาชุมนุม ตำรวจสืบสวนทั้งสองไม่ทราบด้วยว่า รถที่ใช้ติดตั้งเครื่องเสียงเป็นของจำเลยทั้งสี่หรือไม่ รวมถึงไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้กำหนดเส้นทางคาร์ม็อบ 

พ.ต.ท.ไพฑูรย์ ยังตอบทนายจำเลยสอดคล้องกับพยานโจทก์ปากอื่นว่า ที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเทสะดวก ผู้เข้าร่วมชุมนุมสามารถยืนห่างกันได้ นอกจากนี้ ผู้ปราศรัยยังยืนห่างจากผู้ฟังประมาณ 3 เมตร ทั้งไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น ระหว่างการเคลื่อนขบวนก็ไม่ได้มีการปิดถนน ประชาชนยังสัญจรได้ตามปกติ 

ด้านธงชัย แสงประทุม พนักงานปกครองกลุ่มงานความมั่นคง จ.นครราชสีมา เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ พยานเห็นการชุมนุมปราศรัย โดยผู้เข้าร่วมชุมนุมยืนติดกัน น่าจะมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด แต่ต้องขึ้นกับการวินิจฉัยของสาธารณสุขจังหวัดด้วย 

ธงชัยยังเบิกความเกี่ยวกับ กฤติพงศ์ จำเลยที่ 3 ว่า เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เคยจัดกิจกรรมทางการเมืองภายในมหาวิทยาลัย ในทางการข่าวทราบว่า กฤติพงศ์เป็นแอดมินเพจ Korat No เผด็จการ ส่วนจะมีแอดมินทั้งหมดกี่คนนั้นพยานไม่ทราบ พยานพิจารณาจากพฤติกรรมต่างๆ แล้วเห็นว่า กฤติพงศ์เป็นผู้จัดการชุมนุมในคดีนี้ ส่วนวรพงศ์ จำเลยที่ 2 เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขต จ.นครราชสีมา ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

ในการตอบคำถามค้านของทนายจำเลย ธงชัยรับว่า ขณะเกิดเหตุ เนื่องจากวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามาให้ประชาชนไม่มีคุณภาพและล่าช้า จึงมีการรวมตัวกันชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ พยานไม่ได้ทำการสืบสวนว่า จำเลยที่ 3 เป็นแอดมินเพจ Korat No เผด็จการ หรือไม่ ทั้งนี้ ใน จ.นครราชสีมา ไม่ได้มีกลุ่ม Korat No เผด็จการ เพียงกลุ่มเดียวที่จัดชุมนุมทางการเมือง พยานไม่ทราบด้วยว่า จำเลยที่ 3 เคยเข้าร่วมกิจกรรมที่จัดโดยกลุ่มอื่นๆ หรือไม่ 

พยานโจทก์อีก 2 ปาก คือ พ.ต.อ.กรกฎ โปชยะวณิช ขณะเกิดเหตุเป็นผู้กำกับการ สภ.เมืองนครราชสีมา และ พ.ต.ท.สมยศ นาชิน พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน ทั้งสองมาเบิกความยืนยันเพียงว่า จำเลยทั้งสี่ถูกดำเนินคดีฐาน ชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรมในวันที่ 1 ส.ค. 2564 ของกลุ่ม Korat No เผด็จการ โดย พ.ต.อ.กรกฎ เป็นผู้สั่งการให้ฝ่ายสืบสวนออกติดตามหาข่าว และสั่งการให้ฝ่ายสอบสวนออกหมายเรียกผู้ต้องหา 

.

ไม่ใช่ผู้จัด จำเลยตั้งใจไปร่วมชุมนุมเรียกร้องวัคซีนดีๆ แต่ถูกชวนขึ้นปราศรัย

ช่วงบ่ายของวันที่ 21 เม.ย. 2565 กฤติพงศ์และวรพงศ์อ้างตนเป็นพยานจำเลยเข้าเบิกความ กฤติพงศ์เบิกความว่า ปกติเวลาจะทำกิจกรรมทางการเมือง ตนไม่เคยขออนุญาต แต่จะแจ้งผู้กำกับการ สภ.เมืองนครราชสีมา เพื่อให้ประสานเจ้าหน้าที่มาดูแลความปลอดภัย ในวันที่ 1 ส.ค. 2564 พยานทราบว่า มีการจัดคาร์ม็อบในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เท่าที่จำได้มี กรุงเทพมหานคร, ขอนแก่น, เชียงใหม่, พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากปกติพยานติดตามข่าวสารอยู่แล้ว  

กฤติพงศ์เห็นว่า คาร์ม็อบเป็นกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ดี เนื่องจากผู้เข้าร่วมไม่ต้องออกจากรถ จึงลดความเสี่ยงของการแพร่โรค ตนทราบว่าจะมีคาร์ม็อบในจังหวัดนครราชสีมาจากเฟซบุ๊กเพจ Korat No เผด็จการ โดยตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับเพจนี้ เพียงแต่ไปร่วมกิจกรรมตามที่มีการประกาศในเพจบ้างเป็นครั้งคราว ซึ่งปกติตนก็ไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองแทบทุกครั้ง ไม่ว่ากลุ่มไหนจัด ทั้งกลุ่ม Korat Movement และกลุ่มอื่นๆ เพราะเป็นการแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพของประชาชน 

กฤติพงศ์เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุว่า ตนขับจักรยานยนต์ไปไว้ที่หน้าอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ตั้งใจจะไปร่วมกิจกรรมเฉยๆ แต่คนในที่ชุมนุมชวนให้ออกไปพูดอะไรสักอย่าง ตนจึงออกไปแสดงความคิดเห็น ขณะที่อยู่ในที่ชุมนุมก็ใส่หน้ากากอนามัยตลอด อาจจะถอดบ้างตอนดื่มน้ำ ขณะปราศรัยตนก็บอกผู้ร่วมชุมนุมให้รักษาระยะห่างและใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ที่รวมตัวกันชุมนุมวันนั้นก็เนื่องจากต้องการเรียกร้องวัคซีนดีๆ ให้คนโคราช สำหรับตนเองหลังกิจกรรมคาร์ม็อบครั้งนี้ก็ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 และไม่พบเจอข่าวที่ว่ามีผู้ติดเชื้อโควิดจากกิจกรรมครั้งนี้

สำหรับวรพงศ์เบิกความว่า คาร์ม็อบเป็นการชุมนุมที่ผู้เข้าร่วมอยู่ในรถยนต์ เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้ตนเคยจัดกิจกรรมทางการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ และเคยเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม Korat No เผด็จการ บ้าง ตอนจัดกิจกรรมของพรรคอนาคตใหม่ก็ไม่เคยต้องแจ้งขออนุญาตกับผู้ใด 

ทั้งนี้ ตนเห็นจากเฟซบุ๊กของ สมบัติ บุญงามอนงค์ ว่า จะมีการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบทั่วประเทศ ในวันที่่ 1 ส.ค. 2564 แต่ตนไม่ทราบว่า สมบัติเป็นผู้จัดกิจกรรมดังกล่าวเองหรือไม่ ต่อมา เพจ Korat No เผด็จการ ได้โพสต์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมดังกล่าวด้วย ตนเห็นโพสต์ดังกล่าวจึงเข้าร่วม โดยเดินทางไปที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีในช่วง 15.30 น. และมีคนในที่ชุมนุมเชิญตนให้ขึ้นไปปราศรัย เพราะเห็นว่าเป็นนักการเมืองมาก่อน 

เช่นเดียวกับกฤติพงศ์ วรพงศ์เบิกความว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเพจ Korat No เผด็จการ ขณะเข้าร่วมกิจกรรมตนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดโดยสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หลังกิจกรรมก็ไม่ได้ยินข่าวว่า มีผู้ติดเชื้อโควิดจากกิจกรรมครั้งนั้น รวมถึงตนเองก็ไม่ได้ติดเชื้อ ในส่วนของตนเห็นว่า คำสั่งจังหวัดนครราชสีมาไม่ชอบธรรม เพราะมีการกำหนดควบคุมในบางพื้นที่ทำให้ประชาชนใช้ชีวิตยากลำบาก

วรพงศ์ตอบคำถามอัยการว่า วันที่เกิดเหตุตนใส่เสื้อกาวน์แทนสัญลักษณ์ของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้จัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพมาให้ประชาชนอย่างรวดเร็ว เพราะไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง

.

หลังสืบพยานเสร็จสิ้น ทนายความได้ยื่นคำพิพากษาของศาลจังหวัดพะเยาในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นเดียวกับคดีนี้ เพื่อให้ศาลใช้ประกอบการพิจารณาพิพากษาคดี 

สำหรับคดีที่ถูกกล่าวหาว่า ชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใน จ.นครราชสีมา ทั้ง 5 คดี นอกจากคดีคาร์ม็อบ 1 ส.ค. 2564 แล้วยังมีคดีคาร์ม็อบ 15 ส.ค. 2564 ที่สืบพยานไปแล้วนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 4 ก.ค. 2565, คดีกิจกรรมหน้าตำรวจภูธรภาค 3 เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 21 มิ.ย. 2565, คดีคาร์ม็อบ 23 ก.ค. 2564 นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 19 ก.ค. 2565 ส่วนคดีคาร์ม็อบวันที่ 21 ส.ค. 2565 จะสืบพยานกันในเดือนพฤศจิกายน 2565  

.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

คาร์ม็อบโคราช ปฏิเสธข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ย้ำ! ชุมนุมมีมาตรการป้องกันโควิด ถ้าไม่ออกมาส่งเสียงก็เหมือนศิโรราบ

ฟ้องแล้ว! พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คาร์ม็อบโคราช 2 คดีจำเลยยันสู้เต็มที่ แม้รัฐบอกว่าผิด แต่เชื่อว่าการไล่รัฐบาลคือสิ่งที่ถูก

X