สั่งไม่ฟ้อง 3 นกม.ท้องถิ่น-แกนนำเสื้อแดง คดี “คาร์ม็อบมุกดาหาร” ชี้ไม่มีหน้าที่ขออนุญาต เหตุไม่ใช่ผู้จัด เพียงชวน ปชช.เข้าร่วม

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2564 ที่สำนักงานอัยการจังหวัดมุกดาหาร ในนัดฟังคำสั่งอัยการ คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีเหตุมาจากกิจกรรม “คาร์ม็อบ” ที่ จ.มุกดาหาร เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2564 ที่มีการนัดหมายพร้อมกัน “Car Mob – Call Out” ทั่วประเทศ แสดงพลังขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกฯ ผู้ต้องหาซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่นทั้งในปัจจุบันและอดีต รวมทั้งอดีตแกนนำคนเสื้อแดงในมุกดาหาร รวม 3 ราย ซึ่งเดินทางไปฟังคำสั่งอัยการเป็นครั้งที่ 3 ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี โดยคำสั่งเป็นหนังสือจะแจ้งให้ทราบให้ภายหลัง

ต่อมา วันที่ 7 ม.ค. 2565 พ.ต.ท.นิเวศ เด่นนินนาท อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 4 รักษาการอัยการจังหวัดมุกดาหาร ได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง 3 ผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวถึง ผกก.สภ.เมืองมุกดาหาร  เพื่อให้แจ้งแก่ผู้ต้องหาและผู้กล่าวหาทราบ คำสั่งนี้มีผลให้คดีดังกล่าวถึงที่สุด นับเป็นคดีจากกิจกรรม “คาร์ม็อบ” คดีที่ 2 ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี

แสดงจุดยืนไล่นายกฯ โดยสงบ ถูกตั้งข้อหา “จัดกิจกรรมเสี่ยงแพร่โรคโดยไม่ได้รับอนุญาต”

นักกิจกรรมทางการเมืองทั้ง 3 ราย ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ ได้แก่ ประเศียร สีสด ส.อบจ.มุกดาหาร, เดชณรงค์ (สงวนนามสกุล) อดีตแกนนำคนเสื้อแดงมุกดาหาร และสุระนาวา (สงวนนามสกุล) อดีตนายก อบต.แห่งหนึ่งใน จ.มุกดาหาร โดยราวต้นเดือนตุลาคม 2564 ทั้งสามได้เข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองมุกดาหาร เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา “ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” หลัง พ.ต.ท.ฉัตรมงคล บุญกลาง รอง ผกก.สืบสวน สภ.เมืองมุกดาหาร เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน 

พฤติการณ์คดีที่ถูกกล่าวหาคือ ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ ประเศียรได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “29 ส.ค. 64 รวมตัวที่หน้าหอแก้วมุกดาหาร 14.00 น.เป็นต้นไป คาร์ม็อบรอบเมือง” และภาพถ่ายข้อความเขียนด้วยลายมือความว่า “แดง มุกดาหาร ไผบ่มักประยุทธ์ 29 ส.ค. 64 รวมตัวกันที่หอแก้ว เวลา 14 น. ไผมีรถขับออกมาเด้อ” 

ต่อมา วันที่ 29 ส.ค. 2564 มีการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ เคลื่อนขบวนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไปตามถนนสายต่างๆ ในเขตอําเภอเมืองมุกดาหาร โดยประเศียร, เดชณรงค์ และสุระนาวาได้ใช้เครื่องขยายเสียงที่ติดตั้งอยู่กับรถยนต์กระบะ ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมขบวนเพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งปราศรัยวิจารณ์การทํางานของนายกฯ ขบวนยังมีป้ายข้อความ “29 ส.ค. 64 รวมพลัง (แดงมุกดาหาร) หน้าหอแก้ว 7 ปีแล้ว นะจ๊ะ ออกไป ประเทศพังหมดแล้ว” โดยไม่ได้ขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานในการจัดกิจกรรม 

ประเศียร, เดชณรงค์ และสุระนาวา ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ต่อมา พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการ ก่อนอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีในที่สุด

ประเศียรเปิดเผยหลังได้รับทราบคำสั่งอัยการว่า การออกมาทำกิจกรรมคาร์ม็อบในวันดังกล่าว เขาคิดว่าเป็นการออกมาแสดงจุดยืนในการขับไล่นายกรัฐมนตรีโดยสงบ สันติเท่านั้น ไม่ได้คิดว่าจะถูกดำเนินคดี เพราะไม่ได้เหตุการณ์ความวุ่นวายใดๆ จึงรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเมื่อถูกเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหา แต่ในที่สุดเมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้องคดี ทำให้ในวันนี้รู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมกลับคืนมา

คำสั่งไม่ฟ้อง: เพียงแต่โพสต์-ประกาศเชิญชวน ไม่อาจถือว่าเป็นผู้จัดกิจกรรม จึงไม่มีหน้าที่ขออนุญาต

พนักงานอัยการจังหวัดมุกดาหาร เจ้าของสำนวนคดี แจ้งถึงคําวินิจฉัยในคำสั่งไม่ฟ้อง มีเนื้อหาว่า 

“คดีมีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยว่า การใช้เครื่องขยายเสียงประกาศเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมกันชุมนุมของผู้ต้องหาทั้งสาม และการโพสต์ข้อความนัดหมายเชิญชวนให้บุคคลมาร่วมชุมนุม จะถือได้หรือไม่ว่าผู้ต้องหาทั้งสามได้ร่วมกันจัดทํากิจกรรมในครั้งนี้

พิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 วรรคสอง บัญญัติว่า “ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวันเวลา และสถานที่ที่กําหนดไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ รวมทั้งผู้ขออนุญาตให้ใช้สถานที่หรือเครื่องขยายเสียง หรือขอให้ทางราชการอํานวยความสะดวกในการชุมนุมเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามวรรคหนึ่ง”

แต่มาตรา 3 บัญญัติว่า “พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะ ดังต่อไปนี้ 

(6) การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน…” 

คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2564 อยู่ในช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยมีการออกข้อกําหนดตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 30) และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงเรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ฉบับที่ 9) และคําสั่งจังหวัดมุกดาหารที่ 3905/2564 เรื่องห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค 

พระราชกําหนดและกฎหมายลําดับรองที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุในคดีตามที่กล่าวมาข้างต้น มิได้บัญญัติให้นําบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลมแต่อย่างใด กรณีจึงไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กําหนดโดยชัดแจ้งให้ถือว่าผู้เชิญชวนบุคคลอื่นให้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นผู้จัดกิจกรรม อันจะเป็นผลให้ผู้จัดกิจกรรมมีหน้าที่ต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานตามที่กําหนดไว้ในคําสั่งจังหวัดมุกดาหารที่ 3905/2564 ข้อ 1 

และผู้จัดกิจกรรมโดยสภาพแห่งการกระทําคือผู้ที่ทําให้กิจกรรมนั้นเกิดขึ้น แต่ผู้เชิญชวนให้ร่วมกิจกรรมนั้น โดยสภาพแห่งการกระทําคือผู้ที่สนใจหรือเห็นด้วยกับกิจกรรมนั้น อาจจะไม่ใช่ผู้ที่ทําให้กิจกรรมนั้นเกิดขึ้น 

สอดคล้องกับคําให้การของพยานปาก พ.ต.ท.ฉัตรมงคล บุญกลาง ผู้กล่าวหา และ ร.ต.อ.ทักษิณ ธงศรี ที่ให้การทํานองเดียวกันว่า ผู้ต้องหาทั้งสามได้มีการเชิญชวนให้คนมาร่วมชุมนุมผ่านเครื่องขยายเสียง ส่วนผู้ต้องหาที่ 1 โพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนให้คนมาร่วมกิจกรรม ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่า ผู้ต้องหาทั้งสามมีบทบาทในการกํากับดูแล หรือสั่งการในการจัดทํากิจกรรมครั้งนี้ 

กับมีแผ่นซีดีบันทึกภาพเคลื่อนไหว ปรากฏภาพเคลื่อนขบวนรถโดยมีเสียงผ่านเครื่องขยายเสียงที่ติดตั้งอยู่กับรถยนต์กระบะของผู้ต้องหาที่ 2 ซึ่งนํามาร่วมกิจกรรมด้วยตนเอง วิจารณ์การทํางานของนายกรัฐมนตรี ส่วนรถยนต์และรถจักรยานยนต์คันอื่นที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ไม่ปรากฏว่ามีการจ้างมาจากที่ใด จึงฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละคนนํามาร่วมกิจกรรมด้วยตนเอง 

ส่วนภาพถ่ายหมู่ผู้ที่มาร่วมชุมนุม เป็นการถ่ายรูปร่วมกันระหว่างผู้มาร่วมกิจกรรมเท่านั้น ไม่มีภาพใดที่จะแสดงหรือสื่อความหมายให้เข้าใจได้ว่า ผู้ต้องหาทั้งสามเป็นผู้จัดกิจกรรมในครั้งนี้ 

และเมื่อวินิจฉัยว่าผู้ต้องหาทั้งสามไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมคาร์ม็อบครั้งนี้แล้ว ผู้ต้องหาทั้งสามจึงไม่มีหน้าที่ต้องขออนุญาตต่อเจ้าพนักงาน ตามที่กําหนดไว้ในคําสั่งจังหวัดมุกดาหารที่ 3905/2564 ข้อ 1 การกระทําของผู้ต้องหาทั้งสามไม่เป็นความผิด สั่งไม่ฟ้อง

“คาร์ม็อบ” คดีที่ 2 ที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง

คาร์ม็อบซึ่งริเริ่มโดยสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ราวต้นเดือนกรกฎาคม 2564 จนกลายเป็นรูปแบบการแสดงออกทางการเมืองเพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่ง ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 นั้น ติดตามมาด้วยคดีความจำนวนมากที่ฝ่ายรัฐใช้ปิดกั้นการแสดงออกที่เป็นการต่อต้านรัฐบาล จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จนถึงวันที่ 18 ต.ค. 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากคาร์ม็อบ ไม่น้อยกว่า 244 ราย ใน 96 คดีทั่วประเทศ โดยเป็นเยาวชนถึง 18 ราย 

ทั้งนี้ คดีคาร์ม็อบมุกดาหารนับเป็นคดีที่ 2 ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ในเวลาใกล้เคียงกับคดีคาร์ม็อบตากซึ่งอัยการจังหวัดตากมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง “สุภา” (นามสมมติ) ระบุเหตุผลโดยสรุปว่า กิจกรรมดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 ไม่ปรากฏว่ามีการสัมผัสใกล้ชิดหรือการกระทำอื่นใดที่เป็นการเสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรคติดต่อ

ขณะที่จำนวนมากอัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีและยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว เช่น คดีคาร์ม็อบยะลา, คดีคาร์ม็อบสุราษฎร์ธานี, คดีคาร์ม็อบกำแพงเพชร, คดีคาร์ม็อบแม่สอด, คดีคาร์ม็อบนครราชสีมา ซึ่งต้องติดตามจับตาการต่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป

ขณะเดียวกันคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองในรูปแบบอื่น ซึ่งนักกิจกรรมและประชาชนถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกมากกว่า 1,000 ราย อัยการก็มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเด็ดขาดแล้วอย่างน้อย 5 คดี ได้แก่ คดีชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ ที่จังหวัดลำปาง, คดีชุมนุมหน้าสถานทูตกัมพูชา รวม 2 คดี, คดีชุมนุม #เด็กนนท์พร้อมชนเผด็จการ ที่ท่าน้ำนนทบุรี, คดีชุมนุม #สมุทรปราการจะไม่ทน ที่ลานหน้าหอชมเมืองสมุทรปราการ ซึ่งนับว่ายังเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น แต่คำสั่งไม่ฟ้องเหล่านี้หากอัยการเจ้าของสำนวนคดีอื่นๆ หยิบไปเป็นบรรทัดฐานในการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะเป็นผลดีต่อบรรยากาศการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

**หมายเหตุ ภาพประจำเรื่องเป็นกิจกรรมคาร์ม็อบมุกดาหารเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 จากไลฟ์สดของเพจ สำนักข่าว CIA ประเทศไทย

X