เปิดนส.ขอให้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุม #ม็อบ24มีนา ชี้เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), ณัฐธิดา มีวังปลา หรือ “แหวน” และอรรถพล บัวพัฒน์ หรือ “ครูใหญ่” ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมแก่พนักงานอัยการขอให้ไม่สั่งฟ้องคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม #ม็อบ24มีนา เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 64 ที่แยกราชประสงค์ เพื่อยืนยันเพดานการเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หลังพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนการสอบสวนพร้อมส่งตัวผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 64 

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 เม.ย 64 ที่สน.ลุมพินี นักกิจกรรมและประชาชนรวม 10 ราย ได้แก่ ชาติชาย แกดำ, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, ธนพร วิจันทร์, เบนจา อะปัญ, อรรถพล บัวพัฒน์, ชุมาพร แต่งเกลี้ยง,  ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, ณัฏฐิดา มีวังปลา และภูมิ (สงวนชื่อและนามสกุล) เยาวชนจากกลุ่มนักเรียนไท ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีการเข้าร่วมการชุมนุม #ม็อบ24มีนา ที่แยกราชประสงค์ โดยหนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนอายุ 16 ปี ทั้งนี้ ยังมีภัสราลวลีที่ถูกแจ้งข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกด้วย

>>ตร.สน.ลุมพินีแจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 9 ปชช. 1 เยาวชน เหตุร่วมชุมนุม #ม็อบ24มีนา “มายด์” ถูกแจ้ง ม.112 เพิ่ม

ยิ่งชีพ iLaw ยื่นหนังสือขอให้อัยการไม่สั่งฟ้องคดี ชี้เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพทางการแสดงออก

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 64 ที่สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ผู้ต้องหาที่ 2 ในคดีนี้ ได้เดินทางไปที่สำนักงานอัยการ เพื่อยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมขอให้พนักงานอัยการไม่สั่งฟ้องคดี เนื่องจากพนักงานสอบสวนปรับใช้ข้อกฎหมายไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง จึงขอให้พิจารณาสั่งไม่ฟ้องคดีของผู้ต้องหา เพราะการฟ้องคดีจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ซึ่งมีเหตุผลไล่เลียงโดยสรุปได้ดังนี้  

1. พฤติการณ์เกี่ยวกับกิจกรรมการชุมนุมวันที่ 24 มี.ค. 64 ณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เป็นกิจกรรมการชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ กิจกรรมดังกล่าวมีเจตนาในการไปทำกิจกรรมก็เพื่อแสดงออกเรียกร้องต่อรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพให้ลาออก ให้จัดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นเพียงการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม โดยสุจริตและเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยผู้ที่ประกาศนัดหมายและผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น เมื่อกิจกรรมเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 21.00 น. และผู้ดำเนินรายการประกาศยุติการชุมนุม ผู้เข้าร่วมการชุมนุมก็เดินทางกลับด้วยความเรียบร้อย ไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่ถูกกล่าวหา

2. เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงตามที่ผู้ต้องหาได้เรียนข้างต้น ผู้ต้องหามีความประสงค์จะขออ้างพยานบุคคลเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 ที่กำหนดให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา 2 ราย ได้แก่ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าว The Standard ที่ไปติดตามทำข่าวในพื้นที่การชุมนุม และ นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมในวันที่ 24 มิ.ย. 64 

“แหวน-ณัฐธิดา” ยื่นหนังสือถึงอัยการชี้การดำเนินคดีนี้เป็นการปิดปากไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิอันโดยชอบตามรธน. 

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 64 ที่สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 ณัฐธิดา มีวังปลา หรือ “แหวน” ผู้ต้องหาที่ 11 ในคดีนี้ ได้เดินทางไปที่สำนักงานอัยการ เพื่อยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม โดยมีเนื้อหาคล้ายคลึงกันเพื่อขอให้พนักงานอัยการไม่สั่งฟ้องคดี  เนื่องจากพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย และการสั่งฟ้องคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน โดยระบุเหตผลเพิ่มเติมว่า การประกาศห้ามชุมนุมของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงมุ่งใช้บังคับเฉพาะการรวมตัวที่กระทบต่อสถานการณ์แพร่เชื้อโรคระบาดเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการจำกัดเสรีภาพ ดังนั้น การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาเป็นไปโดยมีเหตุผลทางการเมือง เพื่อแทรกแซงยับยั้งการใช้สิทธิ เสรีภาพโดยชอบด้วยกฎหมายของประชาชน และมีเจตนาไม่สุจริต เป็นการจำกัดเสรีภาพการชุมนุมและเสรีภาพการแสดงออกที่กระทบกระเทือนถึงสาระสำคัญของสิทธิและเสรีภาพ และขัดต่อหลักความจำเป็นและหลักความได้สัดส่วน

ทำให้การแจ้งความดำเนินคดีและการสอบสวนในคดีนี้เป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมและกระบวนการทางกฎหมายเป็นเครื่องมือกำบังหรืออำพรางเจตนาที่ต้องการหวังผลในทางการเมืองเพื่อสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชน และต้องการยับยั้งมิให้ประชาชนใช้สิทธิโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญของตนในการแสดงออก หรือแสดงความคิดเห็นในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล การใช้วิธีการเช่นนี้ทำให้ผู้ต้องหาขาดเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งถือเป็นคุณค่าสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ทั้งยังสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชน เพื่อไม่ให้กล้าแสดงความคิดเห็นเกี่ยวประเด็นปัญหาสาธารณะต่างๆ อีก อันเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

ทั้งนี้ ณัฐธิดายังมีความประสงค์จะขออ้างพยานบุคคลเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาเช่นกัน ได้แก่ อาจารย์ภาควิชากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นพยานบุคคลสำคัญซึ่งจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาในประเด็นหลักการเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็น และความไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศในการตั้งข้อหาดำเนินคดีนี้ 

“ครูใหญ่” ยื่นหนังสือชี้พฤติการณ์คดีคล้ายคดีชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี

ต่อมา เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 64 ที่สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ “ครูใหญ่” ผู้ต้องหาที่ 6 ในคดีนี้ ได้เดินทางไปที่สำนักงานอัยการ เพื่อยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมครั้งที่ ไม่ให้อัยการสั่งฟ้อง โดยอ้างถึงกรณีพนักงานอัยการจังหวัดคดีศาลแขวงลำปางมีคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดต่อผู้ต้องหา 4 รายในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ ซึ่งจัดขึ้นบริเวณสวนสาธารณะห้าแยกหอนาฬิกา อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 63 โดยให้เหตุผลว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอจะฟ้องได้ (อ่านรายละเอียด: อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ เป็นคดีแรก)

ในหนังสือขอความเป็นธรรมได้ชี้แจงถึงพฤติการณ์เกี่ยวกับการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ว่า เมื่อวันที่ 24 มี.ค 64 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งได้ขยายระยะเวลาออกไปเป็นคราว จนถึงคราวที่ 10 มีผลถึงวันที่ 31 มีนาคม 64 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2563 ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคโควิด 19 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 64 อัยการจังหวัดคดีศาลแขวงลำปาง ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดนายพินิจ ทองคำ กับพวก รวม 4 คน ในข้อหา ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมการทำกิจกรรม หรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย การชุมนุม การทำกิจกรรมหรือมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค เนื่องจาก เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานรูปถ่ายสถานที่เกิดเหตุมีลักษณะเป็นลานกว้าง โล่งแจ้ง ไม่มีลักษณะเป็นที่แออัด อันจะมีลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค เชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้งมีภาพถ่ายของผู้ที่มาร่วมชุมนุมส่วนใหญ่มีการป้องกันด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัย 

อรรถพลจึงระบุในหนังสือร้องขอความเป็นธรรมว่า เมื่อพิจารณาสถานที่เกิดเหตุและพฤติการณ์ในคดีนี้ พบว่า สถานที่เกิดเหตุ คือ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ มีลักษณะเป็นลานกว้าง เปิดโล่ง ไม่มีลักษณะแออัดอันจะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค รวมถึงผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ต่างก็ป้องกันด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพฤติการณ์ในคดีที่อัยการจังหวัดคดีศาลแขวงลำปางมีคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดนายพินิจ ทองคำ กับพวก รวม 4 คน ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้ต้องหาจึงขอให้พนักงานอัยการพิจารณาคำสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงายอัยการจังหวัดคดีศาลแขวงลำปางดังกล่าวเพื่อประกอบการสั่งไม่ฟ้อง 

>>วันที่ 29 มี.ค. 64 ที่สำนักงานอัยการจังหวัดลำปาง พนักงานอัยการคดีศาลแขวงลำปาง มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา 4 ราย 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 64 ภูมิ แนวร่วมกลุ่ม ‘นักเรียนไท’ พร้อมที่ปรึกษาทางกฎหมาย (ทนายความ) ได้เดินทางมาพบพนักงานอัยการ ที่สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 เพื่อรายงานตัวต่อพนักงานอัยการ ขณะที่พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้กับพนักงานอัยการ ในคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากการเข้าร่วมการชุมนุม  #ม็อบ24มีนา 

โดยวันดังกล่าว ภูมิยังได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการ ขอให้สั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย การสั่งฟ้องคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน รวมถึงการดำเนินคดีอาญากับผู้ต้องหาซึ่งเป็นเยาวชน เป็นไปโดยมีเหตุผลทางการเมือง รัฐบาลเลือกดำเนินคดีกับเยาวชนที่มีการแสดงออกเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา อันเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน จึงถือว่าขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) อย่างร้ายแรง

>>“ภูมิ” ยื่นหนังสือขออัยการสั่งไม่ฟ้องคดี กรณีร่วมชุมนุม #ม็อบ24มีนา ชี้เป็นเสรีภาพการชุมนุมโดยสุจริต

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 63 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน (29 ก.ค. 64) มีการนำกฎหมายฉบับนี้มาใช้กล่าวหาเพื่อดำเนินคดีกับประชาชนซึ่งออกมาชุมนุมทางการเมือง แล้วอย่างน้อย 177 คดี รวมผู้ถูกกล่าวหาจำนวนอย่างน้อย 549 ราย โดยในจำนวนนี้มีผู้ต้องหาหลายราย ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการขอให้ไม่ฟ้องคดี เนื่องจากไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณ พบว่ามีคดีที่พนักงานอัยการมีความเห็นไม่สั่งฟ้องคดีอย่างน้อย 3 คดี ได้แก่ คดีชุมนุม #Saveวันเฉลิม หน้าสถานทูตกัมพูชา ในช่วงบ่ายของวันที่ 8 มิ.ย. 63, คดีชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 63 และคดีชุมนุม  #เด็กนนท์พร้อมชนเผด็จการ 29 ก.ค. 63 ที่ท่าน้ำนนท์ 

X