ยกฟ้อง! ผู้ชุมนุม “คณะราษฎรอีสาน” 17 ราย ชี้ แค่ชุมนุมแสดงออกทางการเมือง รอลงอาญา-ปรับ 10,000 “วชิรวิชญ์” ทำให้เสียทรัพย์ ปรับ “ไผ่” 10,000 ไม่แจ้งการชุมนุม

วันที่ 18 ก.ย. 2567 เวลา 10.00 น. ศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษาคดีของนักกิจกรรม 19 ราย เหตุจากการชุมนุมของ “คณะราษฎรอีสาน” เพื่อรอการชุมนุมใหญ่ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 โดยทั้งหมดถูกฟ้องใน 11 ข้อหา อาทิ มาตรา 215 มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานตั้งแต่สามคนขึ้นไป

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 (วชิรวิชญ์) มีความผิดในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ และทำร้ายร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และมาตรา 391 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด คือ ทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี และจำเลยที่ 18 (จตุภัทร์) มีความผิดในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ให้ลงโทษปรับ 10,000 บาท และมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ปรับ 200 บาท รวมปรับ 10,200 บาท ส่วนจำเลยอื่นให้ยกฟ้อง

ทั้งนี้ ในวันเกิดเหตุมีผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 21 ราย เป็นเยาวชน 1 ราย ก่อนถูกนำตัวไปที่ บก.ตชด.ภาค 1 ผู้ถูกจับกุมหลายรายมีบาดแผลจากการถูกทำร้ายระหว่างถูกจับกุม และถูกนำตัวไปฝากขังต่อศาลในวันรุ่งขึ้น โดยศาลอาญาและศาลแขวงดุสิตไม่อนุญาตให้ประกันผู้ชุมนุม 20 ราย กระทั่งวันที่ 19 ต.ค. 2563 ศาลอุทธรณ์จึงให้ประกันผู้ชุมนุม 19 ราย และในวันที่ 23 ต.ค. 2563 ให้ประกัน “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา รวมเวลาถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 6 วัน และ 10 วัน ตามลำดับ ก่อนศาลอาญามีคำพิพากษาในวันนี้ยกฟ้อง 17 ราย, รอลงอาญาวชิรวิชญ์ และปรับจตุภัทร์ โดยไม่มีใครต้องโทษจำคุกเลย

.

คดีนี้ในเวลาต่อมา ผู้ชุมนุม 19 ราย ถูกฟ้องที่ศาลอาญา และคดีของเยาวชน 1 ราย ถูกฟ้องคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัว ส่วนผู้ถูกดำเนินคดีอีก 1 ราย ได้แก่ “หัวหน้าเบน” คนไร้บ้านที่ถูกดำเนินคดีด้วย ได้เสียชีวิตลงเนื่องจากปัญหาสุขภาพ เมื่อช่วงปี 2564 ศาลจึงได้จำหน่ายคดีในส่วนของหัวหน้าเบนออกไป

ในการชุมนุมวันดังกล่าวช่วงเช้า กลุ่มดาวดินและคณะราษฎรภาคอีสาน ที่เดินทางมาจากหลายจังหวัด ได้เริ่มตั้งเต็นท์เพื่อปักหลักรอการชุมนุมใหญ่ของ “คณะราษฎร2563” ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 อยู่บริเวณทางเท้าหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยได้มีการนำรถเครื่องเสียงมาเตรียมปราศรัยดำเนินการชุมนุมในวันรุ่งขึ้น

ตลอดทั้งช่วงเช้าจนถึงบ่ายของวันที่ 13 ต.ค. 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามกดดันให้ยุติการชุมนุมและการตั้งเต็นท์ในบริเวณดังกล่าว โดยระบุเรื่องการไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะและกีดขวางการจราจร แต่ผู้ชุมนุมยืนยันปักหลักบริเวณดังกล่าวต่อไป ก่อนที่ช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. จะมีเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนเข้ามาผลักดันและจับกุมผู้ชุมนุมไปยัง บก.ตชด. ภาค 1 ภายหลัง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 ได้มีคำสั่งฟ้องคดีรวมทั้งหมด 11 ข้อกล่าวหา โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาเรื่อยมา

คดีนี้ ศาลได้ใช้เวลาสืบพยานยาวนานถึง 2 ปี โดยเริ่มสืบพยานตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย. 2565 และได้สืบพยานจนเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2567 และนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้ (18 ก.ย. 2567)

.

ย้อนอ่านบันทึกสืบพยานคดีนี้ >>> เปิดแฟ้มคดีชุมนุม #ม็อบ13ตุลา63 “คณะราษฎรอีสาน” หลังสืบพยานยาวนาน 2 ปี

.

วันนี้ (18 ก.ย. 2567) ที่ห้องพิจารณา 714 เวลา 10.00 น. จำเลยทั้ง 18 ราย ทยอยเดินทางมาที่ห้องพิจารณาเพื่อรอฟังคำพิพากษา โดยมีประชาชนและนักกิจกรรมเข้าร่วมให้กำลังใจและสังเกตการณ์คดีจนเต็มห้องพิจารณาคดี โดยมีตำรวจศาล 4 คน ยืนรักษาความปลอดภัยอยู่บริเวณมุมห้องพิจารณาคดี 

เมื่อผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีได้แจ้งให้ทุกคนในห้องพิจารณาคดีอยู่ในความสงบและปิดเสียงโทรศัพท์ให้เรียบร้อย ก่อนอ่านคำพิพากษา มีใจความสำคัญโดยสรุปดังนี้ 

คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสิบเก้ากระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เห็นว่า ประกาศที่ออกตามข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้นายกรัฐมนตรีสามารถมอบอำนาจให้แก่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกประกาศเพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ โดยให้เพียงอำนาจกำหนดพื้นที่ที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่มีอำนาจในการออกข้อกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะของการชุมนุม

ดังนั้น ประกาศฉบับที่ 1 ข้อ 5 ลงวันที่ 3 เม.ย. 2563 ซึ่งมีการออกข้อกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวประเภทและลักษณะของการชุมนุม การกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะของการชุมนุมดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับ

ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่าช่วงประมาณ 08.30 น. มีการกางเต็นท์ 2 หลัง บริเวณทางเท้าหน้าร้านแมคโดนัลด์ และบริเวณโรงเรียนสตรีวิทยา ต่อมาไผ่ได้ปรากฏตัวให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าจะมาปักหลักรอการชุมนุม ในวันดังกล่าวมีผู้ชุมนุมประมาณ 100 คน ไม่มีจุดคัดกรองโรค จากการสืบพยาน พยานโจทก์เบิกความไปทำนองเดียวกันว่า ผู้ชุมนุมมีทั้งที่สวมหน้ากากอนามัยและไม่สวมหน้ากากอนามัย แต่ตามพยานเอกสารที่จำเลยอ้างส่งปรากฏว่า ในเวลาดังกล่าวประเทศไทยยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิดภายในประเทศ 

รัฐธรรมนูญไทยรับรองสิทธิในการชุมนุม โดยการจำกัดสิทธิจะทำได้ภายใต้กฎหมายและต้องตีความอย่างเคร่งครัด เห็นว่า ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จำกัดสิทธิในการชุมนุมช่วงเดือน มี.ค., พ.ค. และ มิ.ย. ปี 2563 มีการผ่อนคลายมาตรการลงตามลำดับตามสถานการณ์แพร่ระบาด โดยประกาศฉบับที่ใช้ขณะเกิดเหตุมีการกำหนดเงื่อนไขให้มีมาตรการป้องกันโรค 

เห็นว่า ‘คณะราษฎร’ มีการจัดแถลงข่าวนัดชุมนุม ตามหลักฐานที่พยานโจทก์ได้นำสืบและพยานจำเลยได้เบิกความยอมรับว่า มีการจัดแถลงข่าวจริง นอกจากนี้จำเลยที่ 18 (จตุภัทร์) ยังได้มีการโพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนให้ประชาชนไปร่วมชุมนุมอีกด้วย

ตามรายงานการสืบสวน จำเลยที่ 18 โพสต์เฟซบุ๊กว่า ‘คณะราษฎรอีสานมาแล้ว’ และมีการให้สัมภาษณ์ เมื่อฝ่ายจำเลยไม่นำสืบหักล้าง เห็นว่าโพสต์ดังกล่าวจำเลยที่ 18 เป็นผู้โพสต์เองในลักษณะเชิญชวนให้มาร่วมกันเตรียมตัวในวันที่ 13 ต.ค. 2563 และมีคนเข้าร่วมในวันดังกล่าว จึงถือได้ว่า จำเลยที่ 18 เป็นผู้จัดการชุมนุม 

นอกจากนี้ การชุมนุมที่แออัดหมายถึงการชุมนุมที่มีผู้คนหนาแน่นตลอดพื้นที่การชุมนุม จากการสืบพยานโจทก์ได้ความว่า บริเวณหน้าร้านอาหารแมคโดนัลด์เป็นสถานที่ปลอดโปร่ง โล่ง ไม่มีหลังคาคลุม ประกอบกับภาพถ่ายการชุมนุม เห็นว่า ผู้ชุมนุมยังสามารถเดินไปมาได้สะดวก และพยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจหลายนายเบิกความว่า มีผู้ชุมนุมทั้งที่สวมหน้ากากอนามัยและไม่สวมหน้ากากอนามัย 

ศาลฟังโดยให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยว่า ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย ปกติแล้วการชุมนุมไม่แออัด แต่เมื่อตำรวจควมคุมฝูงชนเข้ามากระชับพื้นที่จึงทำให้การชุมนุมแออัด ซึ่งการแออัดดังกล่าวไม่ใช่เจตนาของผู้ชุมนุม ประกอบกับไม่มีหลักฐานว่ามีผู้ติดเชื้อจากการชุมนุม จึงเห็นว่า จำเลยที่ 18 ไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ในข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 3 ถูกยกเว้นไม่บังคับใช้ในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งในขณะเกิดเหตุมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ประกาศดังกล่าวระบุว่าให้ทำตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย การชุมนุมจึงยังต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ 

พยานโจทก์เบิกความว่า ไม่ได้รับแจ้งว่ามีผู้แจ้งจัดการชุมนุม จำเลยที่ 18 จึงมีความผิดฐานจัดการชุมนุมโดยไม่ได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง ถึงแม้การชุมนุมจะจัดวันที่ 14 ต.ค. 2563 ก็จริง แต่เมื่อมีการโพสต์ชักชวนและการให้สัมภาษณ์ให้มาร่วมกันรอการชุมนุมในวันที่ 13 ต.ค. 2563 จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันชุมนุมด้วย

เห็นว่า บริเวณที่จัดการชุมนุมเป็นถนนมีช่องทางจราจร 6 ช่องทาง มีเต็นท์ 2 หลัง บริเวณทางเท้า มีรถกระบะบรรทุกเครื่องขยายเสียง 2 คัน จอดบริเวณไหล่ทางซึ่งไม่ใช่ช่องจราจร จากการสืบพยานโจทก์ได้ความว่า บริเวณไหล่ทางมีพื้นที่กว้าง โดยปกติจะอะลุ่มอล่วยให้ผู้ปกครองโรงเรียนสตรีวิทยาจอดรับ-ส่งบุตรหลานได้ ในวันเกิดเหตุเป็นวันหยุดย่อมมีรถน้อยกว่าวันปกติ 

จากการสืบพยานเห็นว่า ช่วงเช้าที่กลุ่มผู้ชุมนุมกำลังกางเต็นท์ รถสามารถสัญจรได้ตามปกติ ช่วงเวลา 14.00 น. ตำรวจได้เจรจาขอให้ผู้ชุมนุมขึ้นไปอยู่บนทางเท้า ต่อมาเวลา 15.47 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้ากระชับพื้นที่ทำให้รถไม่สามารถสัญจรได้ ประกอบกับการเบิกความของตำรวจจราจรได้ความว่า ในวันเกิดเหตุไม่มีรายงานการจราจรติดขัดในพื้นที่การชุมนุม การชุมนุมจึงไม่ขนาดก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการจราจร

ในประเด็นเรื่องร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะนั้น เห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานชี้ว่า ใครเป็นเจ้าของหรือนำรถบรรทุกเครื่องขยายเสียงทั้งสองคันมา รวมถึงไม่ได้ชี้ว่า ใครเป็นเจ้าของหรือนำป้ายรณรงค์มา

ในข้อหาไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เห็นว่า ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่ามีการเจรจาให้ยุติการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม ต่อมามีการประกาศแจ้งว่าการชุมนุมละเมิดกฎหมาย ไม่ได้รับอนุญาตให้ชุมนุม ให้ยุติการชุมนุมภายใน 5 นาที 

ในการยุติการชุมนุมทางการเมืองโดยสงบ หากมีการชุมนุมไม่ชอบเกิดขึ้น เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ยุติการชุมนุมแล้ว ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม เจ้าพนักงานต้องแจ้งศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดในท้องที่ แต่เจ้าพนักงานไม่ได้มีการร้องต่อศาล พนักงานตำรวจจึงไม่มีอำนาจจับกุม และไม่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงต่อทรัพย์สินหรือสภาพจิตใจของเจ้าพนักงาน ผู้ชุมนุมจึงไม่ได้ขัดขวางการทำงานของเจ้าพนักงาน

ในข้อหามั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 เห็นว่า วันที่ 14 ต.ค. 2563 คือวันที่จะจัดการชุมนุม โดยเป็นการชุมนุมเพื่อแสดงออกด้านแนวคิดทางการเมือง วันเกิดเหตุเกิดจากผู้ชุมนุมมาร่วมกันปักหลักหลับนอนเพื่อรอการชุมนุม และเกิดความวุ่นวายเมื่อเจ้าหน้าที่ใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมก่อน จากการสืบพยานและบันทึกถอดเทปคำปราศรัย ไม่ปรากฏถ้อยคำที่ยุยงส่งเสริมให้มีการทำผิดกฎหมาย ให้ใช้ความรุนแรง และกลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ จึงไม่เห็นว่า การชุมนุมในวันดังกล่าวเป็นการชุมนุมมั่วสุม ยุยงให้ก่อความไม่สงบ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายคำว่า “มั่วสุม” ว่า “ชุมนุมกันเพื่อกระทำการในทางไม่ดี เช่น มั่วสุมเล่นการพนัน” เมื่อข้อเท็จจริงในทางพิจารณาไม่ปรากฏว่า จำเลยทั้งสิบเก้ารวมตัวกันเพื่อกระทำการในทางไม่ดีแก่บ้านเมือง การรวมตัวของจำเลยทั้งสิบเก้าเป็นการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมือง และไม่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ การชุมนุมในวันเกิดเหตุจึงเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ การรวมตัวกันดังกล่าวจึงไม่ใช่การมั่วสุม เหตุวุ่นวายที่เกิดขึ้นกับการชุมนุมเกิดจากการที่ตำรวจเข้ากระชับพื้นที่ ไม่ได้มาจากเจตนาของผู้ชุมนุม

ในข้อหาทำร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้อันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 เห็นว่า มีพยานโจทก์เบิกความว่ามีผู้ชุมนุมเป็นหญิงชราใช้ร่มตี และมีผู้ชุมนุมซึ่งระบุตัวตนไม่ได้สาดสีใส่เจ้าหน้าที่ การทำร้ายจะต้องมีเจตนาในการกระทำผิด มีการวางแผน ศาลรับฟังข้อเท็จจริงยุติว่า การชุมนุมมีเจตนาเพื่อเสนอแนวคิดทางการเมือง แนวคิดที่นำเสนอไม่ผิดกฎหมาย กลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ และการกระทำความผิดเกิดขึ้นภายหลัง ไม่สามารถระบุตัวตนผู้กระทำความผิดได้ เจตนาของการชุมนุมจึงไม่ใช่เจตนาเพื่อทำร้ายเจ้าหน้าที่ 

ในส่วนของจำเลยที่ 1 (วชิรวิชญ์) มีพยานโจทก์เบิกความว่าเป็นผู้สาดสีใส่ และจำเลยที่ 12 (มุสิก ผิวอ่อน) พยายามขัดขืนการจับกุม ถีบพยานบริเวณซี่โครง ในการสืบพยานของจำเลยที่ 1 ได้ยอมรับว่า ตนสาดสีจริง จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่น แต่ไม่ถึงอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ในส่วนจำเลยที่ 12 พยานไม่ได้เบิกความถึงพฤติการณ์ในรายละเอียดอื่น ๆ การเบิกความจึงมีพิรุธ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย

ในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เห็นว่า จำเลยที่ 18 ปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียง และพยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานราชการที่ดูแลเรื่องการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงเบิกความว่า จากการตรวจสอบ วันเกิดเหตุไม่มีผู้ขอใช้เครื่องขยายเสียง พยานดังกล่าวไม่มีเหตุโกรธแค้นเคืองกับจำเลย ไม่มีสาเหตุจะต้องเบิกความปรักปรำ จึงเชื่อว่า จำเลยที่ 18 ในฐานะผู้ปราศรัยไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง มีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 (วชิรวิชญ์) มีความผิดในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ และทำร้ายร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และมาตรา 391 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด คือ ทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี และจำเลยที่ 18 (จตุภัทร์) มีความผิดในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ให้ลงโทษปรับ 10,000 บาท และมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ปรับ 200 บาท รวมปรับ 10,200 บาท ส่วนจำเลยอื่นให้ยกฟ้อง

X