วานนี้ (8 ธ.ค. 64) ที่ ศาลอาญา รัชดาฯ พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 ได้มีคำสั่งฟ้องคดีของ ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา หรือ “แอมป์” นักกิจกรรมทางการเมืองและบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ใน 6 ข้อหา สืบเนื่องจากการปราศรัยในชุมนุม #ม็อบ13กุมภา หรือ #นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน ซึ่งจัดบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 64
อัยการยื่นฟ้องณวรรษในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ, ร่วมกันติดตั้งหรือแขวนสิ่งใดๆ ในที่สาธารณะโดยมิได้รับอนุญาต และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
หลังศาลรับฟ้องเป็นคดีดำหมายเลข อ.3081/2564 ทนายความได้ยื่นประกันด้วยหลักทรัพย์ 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นใด พร้อมกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 14 ก.พ. 65 เวลา 9.00 น.
.
เปิดคำฟ้อง ม.112 และอีก 5 ข้อหา อัยการระบุ การสั่งให้กษัตริย์อยู่ใต้ รธน. ไม่ใช่การแสดงความเห็นโดยสุจริต
คำฟ้องในคดีนี้ พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 กล่าวหาว่า จําเลยกับพวกซึ่งพนักงานสอบสวนได้แยกสํานวนการสอบสวนไปดําเนินการอีกส่วนหนึ่งแล้ว ได้ร่วมกันกระทําความต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 64 เป็นเวลาที่ประกาศและข้อกําหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผลบังคับใช้ จําเลย กับพวก 8 ราย ได้แก่ ภาณุพงศ์ จาดนอก, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒน, อรรถพล บัวพัฒน์, วรรณวลี ธรรมสัตยา, ชนินทร์ วงษ์ศรี, ธนาธร วิทยเบญจางค์, ณัฏฐธิดา มีวังปลา และเกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ ได้ร่วมกันนํารถยนต์บรรทุกติดตั้งเครื่องขยายเสียงใช้เป็นเวทีปราศรัย และมีการนําผ้าสีแดง ยาวประมาณ 30 เมตร มาปูบนพื้นผิวถนนให้กลุ่มผู้ชุมนุมเขียนข้อความ และนําไปคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บนช่องทางเดินรถถนนราชดําเนินกลาง บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
อัยการระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ เป็นเหตุให้รถยนต์และประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้ถนนสัญจรไปมาได้ตามปกติ เป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร และเป็นการร่วมกันติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใดๆ ในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
2. จากนั้นได้ร่วมกันชุมนุมจัดทํากิจกรรม “นับ 1 ถึงล้าน คืนอํานาจให้ประชาชน” ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กําหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีการยกเลิกความกฎหมายอาญา มาตรา 112 และให้นายกรัฐมนตรีลาออก
อัยการระบุว่า เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโรค
3. ขณะที่ทำกิจกรรมดังกล่าว จําเลยได้หมิ่นประมาทกษัตริย์ โดยใช้เครื่องขยายเสียงกล่าวปราศรัยต่อประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง มีเนื้อหาเรียกร้องให้รัชกาลที่ 10 ลงมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และทวงถามเรื่องการใช้เงินภาษีของประชาชน
คำปราศรัยดังกล่าวอัยการระบุว่า ไม่ใช่การกระทําภายใต้ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เป็นการหมิ่นประมาทใส่ร้ายกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ให้เสื่อมเสีย ทําให้ประชาชนที่หลงเชื่อข้อความที่จําเลยได้พูดปราศรัย
4. อีกทั้ง ขณะที่จําเลยกับพวกร่วมกันกิจกรรมดังกล่าว จําเลยกับพวกได้ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ โดยใช้เครื่องขยายเสียงประกาศโฆษณาสั่งการให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมขึ้นไปยังบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นําต้นไม้ที่วางประดับรอบๆ ฐานอนุสาวรีย์ออกไป ทําให้กิ่งก้านต้นไม้ซึ่งเป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร ได้ฉีกขาดหักเสียหาย จํานวน 8 รายการ รวมราคา 5,968,000 บาท
5. การที่จําเลยกับพวกร่วมกันทําการโฆษณาโดยการกล่าวปราศรัย บอกกล่าว และแสดงความคิดเห็นต่อประชาชนที่มารวมกลุ่มชุมนุมทางการเมืองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย โดยการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
ท้ายคำฟ้องพนักงานอัยการยังขอให้ศาลได้พิจารณาพิพากษาลงโทษจําเลยตามกฎหมาย และขอศาลได้สั่ง ริบของกลางเป็นผ้าสีแดงยาวประมาณ 30 เมตร ไว้ด้วย
ต่อมาเวลา 17.08 น. หลังศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นประกันด้วยเงินสด 100,000 บาท ซึ่งเป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นใด พร้อมกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 14 ก.พ. 65 เวลา 9.00 น.
ย้อนกลับไปในวันที่ณวรรษเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ตามหมายเรียก เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 64 เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหามาตรา 112 เพิ่มเติม โดยในหมายเรียกผู้ต้องหาไม่ได้ระบุว่าจะมีการดำเนินคดีข้อหามาตรา 112 ด้วย
ทั้งนี้ ณวรรษ ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองทั้งหมดในมาตรา 112 แล้ว 4 คดี
สำหรับกิจกรรม #นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน กลุ่มราษฎรได้จัดการชุมนุมบริเวณรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันดังกล่าวมีการทำกิจกรรมเขียนความเห็นลงบนป้ายผ้าสีแดง ก่อนเข้ารื้อกระถางต้นไม้รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยออก และนำผ้าแดงที่มีข้อความแสดงความเห็นของผู้ชุมนุมไปคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทั้งยังมีการปราศรัยเรียกร้องให้ปล่อยตัว 4 แกนนำราษฎรที่ถูกคุมขังในขณะนั้น และประเด็น 3 ข้อเรียกร้อง ก่อนยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 20.30 น.
หากแต่หลังยุติการชุมนุม เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้เข้าจับกุมประชาชนที่ตกค้างหลังการชุมนุม ทั้งผู้ชุมนุม พยาบาลอาสา และคนไร้บ้าน รวม 11 ราย นำตัวไปดำเนินคดีและควบคุมที่ บก.ตชด. ภาค 1 ปทุมธานี ทั้งยังมีผู้ชุมนุม 1 ราย ถูกกลุ่มอื่นยิงบริเวณสะพานผ่านฟ้า หลังจับกุมผู้ก่อเหตุได้ ประชาชนได้ไปติดตามที่ สน.นางเลิ้ง กลับถูกตำรวจยิงปืนขึ้นฟ้าข่มขู่ให้ออกจาก สน.
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64
คดี 112 “แอมป์-ณวรรษ” ปราศรัยขอให้ ร.10 อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ #ม็อบ13กุมภา