สลายชุมนุม #ม็อบ13กุมภา จับกุม 11 ราย ส่ง ตชด.ภาค 1 ก่อนปรับ 3 ราย เตรียมส่งฝากขัง 8 ราย รวมพยาบาลอาสา 

หลังยุติการชุมนุม #นับหนึ่งให้ถึงล้าน เรียกร้องให้ปล่อยตัว 4 แกนนำราษฎร คฝ. เข้าจับกุมผู้ชุมนุม-พยาบาลอาสา-คนไร้บ้าน รวม 11 ราย นำตัวไปดำเนินคดีและควบคุมที่ บก.ตชด.ภาค 1 ปทุมธานี ผู้ชุมนุม 1 ราย ถูกกลุ่มอื่นยิงบริเวณสะพานผ่านฟ้า หลังจับกุมผู้ก่อเหตุได้ ประชาชนได้ไปติดตามที่ สน.นางเลิ้ง กลับถูกตำรวจยิงปืนขึ้นฟ้าข่มขู่ให้ออกจาก สน. 

13 ก.พ. 2564 การชุมนุม #นับหนึ่งให้ถึงล้าน เรียกร้องให้ปล่อยตัว 4 แกนนำราษฎร เริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 16.00 น. โดยมีกิจกรรมเขียนความเห็นลงบนป้ายผ้าสีแดง ก่อนเข้ารื้อกระถางต้นไม้รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยออก และนำผ้าแดงที่มีข้อความแสดงความเห็นของผู้ชุมนุมไปคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  

ก่อนที่เวลาประมาณ 18.30 น. แกนนำได้ประกาศเคลื่อนขบวนไปยังศาลหลักเมือง เพื่อสื่อสารให้ศาลหลักเมืองคุ้มครองราษฎร ขบวนประจันหน้ากับแนวกั้นของตำรวจที่บริเวณสะพานผ่านพิภพลีลาศ โดยตำรวจประกาศให้ยุติการชุมนุม เนื่องจากผิดกฎหมาย และอาจมีมือที่สามแทรกแซง แต่ผู้ชุมนุมยืนยันเคลื่อนขบวนฝ่าแนวกั้นของตำรวจต่อไปจนถึงหน้าศาลฎีกา ซึ่งตำรวจตั้งแนวลวดหนาม แผงเหล็ก และแผงสังกะสี พร้อมกำลังชุดควบคุมฝูงชน คาดว่าเป็นแนว 150 เมตร ห่างจากพระบรมมหาราชวัง 

19.00 น. พ.ต.อ.จามร ทองพรรณ ผกก.สน.พระราชวัง อ่านประกาศเรื่อง ห้ามชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากนั้น ตำรวจประกาศขอให้แกนนำเข้าไปเจรจา หลังจากมีผู้ชุมนุมบางคนพยายามรื้อแนวกั้น 

ประมาณ 19.30 น. ตัวแทนผู้ชุมนุมนำโดย “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ เข้าเจรจากับ พ.ต.อ.จามร โดยขอส่งตัวแกนนำไปแสดงออกที่ศาลหลักเมือง 4 คน ยืนยันว่าไม่มีความรุนแรงใดๆ ด้านตำรวจระบุให้ทำกิจกรรมหน้าแนวเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะศาลหลักเมืองปิดแล้ว แต่จะรับเรื่องจะไปปรึกษากับผู้บัญชาการและขอให้สื่ออยู่นอกแนวการชุมนุม 

แต่ปรากฎว่า เวลา 19.40 น. เกิดความสับสนระหว่างรอผลเจรจา ผู้ชุมนุมตะโกนให้ตำรวจปิดไฟสปอตไลท์ที่รบกวนสายตา ก่อนจะมีผู้ขว้างปาขวดน้ำ-สิ่งของ ไปหลังแนวกั้นของตำรวจ รวมทั้งมีเสียงดังปังอย่างน้อย 2 ครั้ง ฝั่งตำรวจได้ประกาศให้ชุดควบคุมฝูงชนเตรียมพร้อมและใส่หน้ากากพร้อมกับมีการขยับรถฉีดน้ำเข้าใกล้แนวกั้น ขณะที่การ์ดผู้ชุมนุมก็ตะโกนให้ผู้ชุมนุมหยุดขว้างปา ก่อนที่สถานการณ์จะสงบลง หลังตำรวจปิดสปอตไลท์และแกนนำประกาศให้ยึดหลักสันติ อยู่ในความสงบ จากนั้น ตำรวจอนุญาตให้ตัวแทนผู้ชุมนุม 4 คน ได้แก่ อรรถพล, ณวรรษ, เบนจา และณัฏฐธิดา เข้าไปหลังแนวกั้นเพื่อทำกิจกรรมที่หน้าศาลหลักเมือง โดยให้ผู้สื่อข่าว VoiceTV และ The Reporters เข้าไปรายงานข่าวด้วย 

ประมาณ 20.00 น. 4 แกนนำราษฎร ทำกิจกรรม “เทน้ำ” หน้าประตูศาลหลักเมือง ขอให้อยู่กับราษฎรและคุ้มครองราษฎร ก่อนร่วมตะโกน “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” และเดินทางออกมาให้สัมภาษณ์สื่อ ครูใหญ่ขอให้ศาลประกันตัว 4 แกนนำ เพื่อจะได้ออกมาต่อสู้ตามสิทธิที่ควรจะเป็น ก่อนขึ้นประกาศย้ำจุดยืน 3 ข้อเรียกร้อง (ประยุทธ์ออกไป, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่, ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมทั้ง #ยกเลิก112) รวมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยตัว 4 แกนนำ หากภายใน 7 วัน ยังไม่ปล่อยตัว จะนัดหมายชุมนุมใหญ่อีกครั้งวันที่ 20 ก.พ. นี้ 

เวลา 20.30 น. แม้แกนนำจะประกาศยุติการชุมนุมแล้ว แต่ผู้ชุมนุมบางส่วนยังรวมตัวกันอยู่ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ แกนนำการ์ด Wevo จึงประกาศให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับ ขณะเดียวกันรถพยาบาลอาสาได้เข้ามารับผู้บาดเจ็บ ซึ่งมีรายงานว่ามีอย่างน้อย 3 ราย ทั้งจากหัวแตก และถูกลวดหนามบาด 

จนกระทั่งเวลา 20.55 น. หลังมีเสียงดังคล้ายประทัดขึ้นหลายครั้งหน้าแนวกั้นและยังมีมวลชนบางส่วนรวมตัวกันอยู่ ตำรวจได้ประกาศให้ชุดควบคุมฝูงชนตั้งแนวอีกครั้ง พร้อมกับให้สื่อมวลชนเข้าไปอยู่ด้านหลังแนว และประกาศให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับภายใน 30 นาที หลังจากนั้นจะใช้มาตรการเข้าควบคุมสถานการณ์

21.05 น. หลังมีเสียงดังปังคล้ายประทัดหลายครั้งด้านหน้าแนวกั้น ตำรวจได้ประกาศเคลื่อนรถฉีดน้ำ และเสริมกำลังชุดควบคุมฝูงชน พร้อมเคลื่อนกำลังเข้าสลายผู้ชุมนุมที่ยังอยู่ถนนหน้าศาลฎีกา และจับกุมผู้ชุมนุมรวมถึงประชาชนที่อยู่บริเวณนั้น โดยมีรายงานข่าวถึงการใช้กำลังเข้าจับกุมอย่างต่อเนื่อง

ภาพโดย Thai PBS World

ภาพโดย REUTERS-Soe Zeya tun

21.40 น. ผู้สื่อข่าว The Reporters รายงานสถานการณ์ว่าเจ้าหน้าที่ได้เคลียร์พื้นที่ถนนหน้าศาลฎีกาแล้วเสร็จ และให้เจ้าหน้าที่หน่วยตรวจสอบวัตถุระเบิด (EOD) เข้าตรวจพิสูจน์หลักฐาน โดยมีรายงานผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 11 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุจะส่งตัวไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด.ภาค 1) ก่อนที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม ได้เข้ามาสับเปลี่ยนกำลังกับเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชน 

 

++ จับกุมผู้ต้องสงสัยยิงใส่ #ม็อบ13กุมภา -เกิดเหตุวุ่นวาย ตร.สน.นางเลิ้งยิงปืนขู่ประชาชน++ 

22.05 น. มีรายงานว่าได้มีเหตุยิงกันบริเวณสะพานผ่านฟ้า โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งพยายามล้อมร้านค้าที่เชื่อว่าผู้ต้องสงสัยก่อเหตุยิงผู้ชุมนุมได้หลบอยู่ภายใน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนล้อมร้านค้าดังกล่าวไว้ ไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปด้านใน จนกระทั่ง พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รอง บก.น.1 และ พ.ต.อ.นิมิตร นูโพนทอง ผกก.สน.นางเลิ้ง เข้าควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย นำตัวไปดำเนินคดีที่ สน.นางเลิ้ง โดยตำรวจได้ขอให้ผู้ชุมนุมที่อยู่ในเหตุการณ์ราว 3 คน เดินทางไปให้ปากคำเป็นพยานจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย

ปรากฎว่าเวลา 22.58 น. ที่ สน.นางเลิ้ง กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปติดตามการดำเนินคดีผู้ก่อเหตุดังกล่าว จนเกิดเหตุชุลมุน ตำรวจ สน.นางเลิ้ง ได้ใช้ปืนพกยิงขึ้นฟ้าหลายนัดเพื่อให้กลุ่มผู้ชุมนุมถอยออกจากพื้นที่ สน.นางเลิ้ง หลังเกตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่ในเหตุการณ์จนมีการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจขอโทษต่อการใช้กำลังอาวุธที่เกิดขึ้น 

จนกระทั่งเวลาประมาณ 00.20 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนมาตั้งแนวบริเวณหน้า สน.นางเลิ้ง ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้แยกย้ายเดินทางกลับ 

ล่าสุดมีรายงานจากศูนย์เอราวัณว่า จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมและเหตุการณ์ต่อเนื่อง รวมทั้งที่หน้า สน.นางเลิ้ง มีประชาชนได้รับบาดเจ็บรวม 8 ราย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลกลาง, วชิรพยาบาล, มิชชั่น และแพทย์ปัญญา รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ถูกนำส่งโรงพยาบาลตำรวจรวม 20 ราย

 

++ แจ้ง 6 ข้อกล่าวหา ผู้ถูกจับกุม 8 ราย อีก 3 ราย เปรียบเทียบปรับ ++ 

เวลา 00.28 น. ของวันที่ 14 ก.พ. 2564 ทนายความเดินทางไปถึง บก.ตชด.ภาค 1 เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับผู้ถูกจับกุมจากการสลายการชุมนุม #ม็อบ13กุมภา แต่ยังไม่สามารถเดินทางเข้าไปภายใน บก.ตชด.ภาค 1 ได้ โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า ต้องรอให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลอนุมัติก่อน  

กระทั่งเวลา 01.14 น. ทนายความจึงสามารถเข้าไปภายใน บก.ตชด.ภาค 1 ได้  พบว่ามีผู้ถูกควบคุมตัวจาก #ม็อบ13กุมภา ทั้งหมด 11 ราย ในจำนวนนี้มีพยาบาลอาสาในทีมแพทย์อาสา DNA 1 ราย และคนไร้บ้านที่รอรถเมล์อยู่ในบริเวณนั้น 1 ราย เบื้องต้นพบว่า ทุกรายถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายในขณะจับกุม 

รายชื่อผู้ถูกจับกุม

  1. ปัฏกรณ์ อายุ 18 ปี การ์ด WeVo
  2. พรพรหม อายุ 34 ปี การ์ด WeVo
  3. ทองนพเก้า อายุ 19 ปี การ์ด WeVo
  4. ปุรพล อายุ 19 ปี ทีมพยาบาลอาสา 
  5. อดิศักดิ์ อายุ 28 ปี เข้าไปช่วยผู้บาดเจ็บล้างตา
  6. ธนเดช อายุ 44 ปี คนไร้บ้าน
  7. ชัยณรงค์ อายุ 41 ปี ผู้ชุมนุม
  8. จิตรกร อายุ 21 ปี ผู้ชุมนุม
  9. ธนิสร อายุ 32 ปี ผู้ชุมนุม 
  10. ณัฎนันท์ อายุ 41 ปี
  11. ธนพร อายุ 45 ปี

เวลา 02.30 น. เจ้าหน้าที่ได้จัดทำบันทึกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหา ผู้ถูกจับกุมรวม 8 ราย ใน 6 ข้อหา ส่วนผู้ถูกจับกุมอีก 3 ราย ได้แก่ ธนิสร, ณัฎนันท์ และธนพร พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา ก่อความเดือดร้อนรำคาญ และเปรียบเทียบปรับคนละ 100 บาท 

โดยก่อนหน้านั้น ผู้ถูกจับกุม 7 ราย ได้ยื่นหนังสือถึงพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ที่ทำการจับกุม ขอให้นำตัวไปสอบสวนและควบคุมในท้องที่ที่รับผิดชอบ อันเป็นสถานที่ที่อ้างว่าได้มีการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83  เนื่องจากผู้ถูกจับกุมไม่ได้ยินยอมให้นำตัวมาที่ บก.ตชด.ภาค 1 จ.ปทุมธานี แต่อย่างใด ทั้งเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้แจ้งว่าจะนำตนไปที่ใด เจ้าหน้าที่จึงไม่มีอำนาจจับตัวและสอบสวนที่ บก.ตชด.ภาค 1 หากยังคงยืนยันจับและควบคุมตัวที่ บก.ตชด.ภาค 1 ต่อไป ย่อมทำให้ผู้ถูกจับกุมทั้งเจ็ดเสียหาย ทั้งยังเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงแจ้งข้อกล่าวหาผู้ถูกจับกุม 8 ราย ซึ่งรวมถึง ธนเดช คนไร้บ้าน และปุรพล พยาบาลอาสา หลังพยายามเจรจากับปุรพลไม่ให้เอาเรื่องตำรวจ กรณีที่ถูกทำร้ายระหว่างการจับกุม แต่ปุรพลไม่ยอม ข้อกล่าวหาทั้งหมด ได้แก่ 

  1. ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อกําหนด รวมถึงประกาศที่ออกความในมาตรา 9 โดยชุมนุม ทํากิจกรรม อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 
  2. ร่วมกันกระทําการซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายระบาดออกไป ฝ่าฝืนคําสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ 
  3. ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 ขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือกระทําการอย่างหนึ่ง อย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215  
  4. เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทําความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป แล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216
  5. ร่วมกันต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลัง ประทุษร้าย โดยได้กระทําโดยมีหรือใช้อาวุธ หรือโดยร่วมการกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140
  6. ร่วมกันทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทําตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296

บันทึกการจับกุมบรรยายพฤติการณ์ที่ถูกจับกุมว่า เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564 เวลาประมาณ 15.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมชื่อกลุ่มราษฎร ได้จัดกิจกรรมชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีมวลชนมาเข้าร่วมชุมนุมประมาณ 500 คน และเมื่อเวลา 17.30 น.กลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินขบวนจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อมายังบริเวณหน้าศาลหลักเมือง ขณะเดินทางมาถึงบริเวณแยกผ่านพิภพ เวลาประมาณ 19.00 น. พ.ต.ท.เอกภณ พุทธิกุล รอง ผกก.ป.สน.ชนะสงคราม ได้ประกาศให้ยุติการชุมนุมเนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอาญา และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรค Covid-19 แต่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ฝ่าฝืนคําสั่งเจ้าหน้าที่และได้เดินฝ่าแนวกั้นของตํารวจเพื่อไปยังศาลหลักเมือง 

จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุม ได้มาหยุดเผชิญหน้ากับแนวกั้นของตํารวจบริเวณหน้าศาลฎีกา และได้ร่วมจัดกิจกรรมชุมนุมบริเวณหน้าศาลฎีกา จนเมื่อเวลา 20.20 น. ทางแกนนํากลุ่มคณะราษฎร ได้ประกาศยุติการชุมนุมและได้ขอให้มวลชนทยอยเดินทางกลับบ้าน แต่ได้มีมวลชนบางส่วนยังคงปักหลักอยู่ เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงประกาศให้มวลชนที่ยังปักหลักอยู่เดินทางกลับบ้าน แต่กลุ่มมวลชนมีทีท่าไม่พอใจ และเริ่มขว้างปาสิ่งของและระเบิดปิงปองใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจ ทําให้เจ้าหน้าที่ตํารวจได้รับบาดเจ็บจํานวนหลายนาย และเจ้าหน้าที่ตํารวจได้สั่งให้เลิกมั่วสุมแต่ไม่ยอมเลิก เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงเข้าทําการจับกุม แจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิให้ทราบ จัดทํา บันทึกจับกุม นําตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินคดีต่อไป 

บันทึกการจับกุมระบุในตอนท้ายด้วยว่า ในการจับกุมผู้ต้องหาครั้งนี้ เจ้าพนักงานตํารวจผู้จับกุมได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย มิได้ทําให้ทรัพย์สิน ของผู้หนึ่งผู้ใดเสียหาย สูญหาย เสื่อมค่าหรือทําให้ไร้ประโยชน์ มิได้บังคับขู่เข็ญ หรือใช้กําลังทําร้ายร่างกายผู้ใดให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแต่อย่างใด.. 

ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งแปด ให้การปฏิเสธทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวน และไม่ยินยอมลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมดังกล่าว เนื่องจากมีข้อความไม่ตรงกับข้อเท็จจริง 

หลังสอบปากคำ พนักงานสอบสวนปฏิเสธให้ประกันตัวในชั้นตำรวจ แจ้งว่า จะควบคุมตัวที่ บก.ตชด.ภาค 1 และส่งศาลอาญา รัชดา เพื่อขอฝากขังในวันจันทร์ที่ 15 ก.พ. 2564 ทำให้ผู้ถูกจับกุมทั้งแปดจะต้องถูกควบคุมตัวอยู่ที่ บก.ตชด.ภาค 1 รวม 2 คืน 

เหตุที่ต้องส่งศาลอาญา รัชดา เพื่อขอฝากขัง เนื่องจากข้อหา ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย โดยได้กระทําโดยมีหรือใช้อาวุธ หรือโดยร่วมการกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

++พยาบาลอาสาเผย ถูกรุมฟาดจนสลบ++

“นิว” ปุรพล ให้ข้อมูลว่า มาถึงที่ชุมนุมตั้งแต่ประมาณบ่ายสอง ประจำอยู่ที่เต็นท์พยาบาล หน้าแมคโดนัลด์ และเคลื่อนไปท้ายขบวน ขณะผู้ชุมนุมเดินไปหน้าศาลฎีกา หลังแกนนำประกาศยุติการชุมนุม ทีมพยาบาลอาสา กําลังเก็บของขึ้นรถ ได้เห็นผู้ชุมนุมคนหนึ่งรถเสียและโดนแก๊สน้ำตา หัวหน้าทีมเลยเข้าไปช่วย โดยนิวคร่อมรถมอเตอร์ไซค์รออยู่ ขณะนั้นเองได้มีชุด คฝ.ประมาณ 10 กว่าคน เข้ามาฟาดที่หัวจนเขาล้มลง จากนั้นก็รุมใช้เท้าและกระบองรุมฟาด จนเขาสลบไป 

ขณะสอบข้อเท็จจริงในเวลา 02.00 น. นิวยังมีอาการมึนหัว ปวดต้นคอ ไหล่ซ้าย และท้ายทอย มีบาดแผลที่หลังเป็นรอยกระบอง ต้นแขนซ้าย และข้อเท้าข้างซ้ายมีรอยฟกช้ำ และมือทั้งสองข้างบวมช้ำจากกระบอง

 

X