ตร.ควบคุมตัวนักกิจกรรม-ประชาชน 6 รายที่ บก.ตชด. 2 คืน แม้ไม่ชอบด้วย กม. ส่งฝากขังพรุ่งนี้ 

17 ม.ค. 2564 กรณีการจับกุมนักกิจกรรมวัย 20 ปี 2 ราย ได้แก่ ภานุพงษ์ (สงวนนามสกุล) และใบบุญ (สงวนนามสกุล) ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรม “เขียนป้ายผ้า 112 เมตร” เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวของรัฐบาลและรณรงค์ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จัดโดย “การ์ดปลดแอก” บริเวณเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อช่วงเที่ยงวานนี้ (16 ม.ค. 2564) ควบคุมตัวไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด.ภาค1) จ.ปทุมธานี และมีการจับกุมตัวประชาชนอีก 4 ราย เป็นหญิง 2 คน ชาย 2 คน จากบริเวณสามย่านในช่วงค่ำ ขณะประชาชนมีการรวมตัวกันเรียกร้องให้ปล่อยตัว 2 คน ที่ บก.ตชด.ภาค 1 โดยประชาชน 4 รายหลังถูกยึดโทรศัพท์และควบคุมตัวไป บก.ตชด.ภาค 1 เช่นกัน

ทั้ง 6 ราย ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ หลังจากพนักงานสอบสวนทั้งสองคดีเสนอ ผกก.สน.พญาไท และ สน.ปทุมวัน พิจารณาคำร้องขอประกันประกันตัวชั้นตำรวจ ล่าสุด วันนี้ ผกก.ทั้งสอง สน.มีคำสั่งไม่ให้ประกัน เตรียมนำตัวภาณุพงศ์และใบบุญส่งศาลแขวงดุสิต ส่วนอีก 4 ราย ส่งศาลแขวงปทุมวัน เพื่อขออำนาจฝากขังไว้ระหว่างสอบสวน ในวันพรุ่งนี้ (18 ม.ค. 2564)  

สำหรับผู้ถูกจับกุมที่เกาะพญาไทคือ ภานุพงษ์และใบบุญ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งพฤติการณ์ที่ถูกจับกุมว่า เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2564 เวลาประมาณ 12.30 น. ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมมารวมตัวกันบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ฝั่งเกาะพญาไทเป็นจํานวนมากรวมถึงนายใบบุญและนายภานุพงศ์ ทํากิจกรรมเขียนข้อความบนผืนผ้า ในลักษณะที่มั่วสุมเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค เจ้าหน้าที่ตํารวจ และเจ้าพนักงานควบคุมโรคได้เข้าเจรจาแจ้งให้ยกเลิกการทํากิจกรรม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิก เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงได้เข้าทําการจับกุมผู้ชุมนุมที่ทํากิจกรรม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมได้แยกย้ายหลบหนีออกจากพื้นที่เกิดเหตุทุกทิศทาง เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงได้จับกุมผู้ชุมนุม 2 ราย จากนั้น จึงยึดป้ายผ้า 3 ผืน และอุปกรณ์ไว้เป็นของกลาง แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบ นําส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินคดี

พนักงานสอบสวน สน.พญาไท แจ้งข้อกล่าวหาว่า ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกําหนดออกตามความ ในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ข้อ 3 โดยร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมาก ชุมนุมทํากิจกรรมในสถานที่แออัด หรือกระทําการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบ เรียบร้อย หรือเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค,  ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34(6)

ภานุพงษ์และใบบุญให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ลงชื่อในบันทึกการจับกุม หลังสอบปากคำเบื้องต้น พนักงานสอบสวนปฏิเสธให้ประกันตัวในชั้นตำรวจ ด้าน ส.ส. พรรคก้าวไกลได้พยายามติดต่อ ผกก.สน.พญาไท เพื่อขอประกันตัว และได้ไปยื่นคำร้องขอประกันตัวที่ สน.พญาไท ในช่วงกลางดึก โดยได้รับแจ้งจากร้อยเวรว่า ผู้กำกับจะมารับคำร้อง แต่ไม่พบ  พ.ต.ต.วิศรุต หยกนิธิภัทร พนักงานสอบสวน รับคำร้องไว้ แจ้งว่าจะเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณา โดยอ้างว่า เป็นการยื่นนอกเวลาทำการปกติ ประกอบกับเป็นช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งกลุ่มผู้ต้องหาการกระทำผิดหลายครั้งในลักษณะเกี่ยวเนื่องกันหลายท้องที่จำเป็นที่จะต้องตรวจสอบประวัติการกระทำของผู้ต้องหาครั้งอื่นๆ ประกอบการพิจารณา  

ล่าสุด เวลา 16.14 น. ส.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล แจ้งทางทวิตเตอร์ว่า ผกก.สน.พญาไท มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวชั้นตำรวจ เนื่องจากเกรงจะออกไปชุมนุมแพร่เชื้อโควิด 

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ใช้กำลังเข้าจับกุมซึ่งปรากฏเป็นคลิปเผยแพร่ทั่วไป มีข้อมูลว่า ค่ำวานนี้ภานุพงษ์ยังมีอาการเคล็ดที่แขนด้านขวา คาดว่าเกิดจากการถูกตำรวจชุดจับกุมล็อคแขนไปด้านหลัง ส่วนใบบุญมีแผลถลอกเล็กน้อยที่ข้อมือ ศอก และเข่า เนื่องจากล้มลงกระแทกพื้นขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4-5 นาย เข้าจับกุม  

ภาพโดย BBC Thai

ส่วนประชาชนอีก 4 ราย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งพฤติการณ์ที่ถูกจับกุมว่า วันที่ 16 ม.ค. 2564 เวลาประมาณ 17.00 น. ผู้ถูกจับทั้งสี่ได้มารวมตัวกับกลุ่มผู้ชุมนุม ประมาณ 100 คน ชุมนุมกันที่บริเวณแยกสามย่าน เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมในท้องที่ สน.พญาไท ผกก.สน.ปทุมวัน ได้ประกาศแจ้งเตือนให้กลุ่มผู้ชุมนุม เลิกการชุมนุมภายในเวลาที่กําหนด ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมฝ่าฝืน ไม่ยอมเลิกการชุมนุมในเวลาที่กําหนด เจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชนจึงได้ทําการกระชับพื้นที่ทําให้กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนแยกย้ายกันกลับไป แต่ผู้ถูกจับทั้งสี่ยังคงฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชนจึงเข้าจับกุม 

พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน แจ้งข้อกล่าวหาว่า ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกําหนดออกตามความ ในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34(6) เช่นเดียวกัน

ประชาชนทั้งสี่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และยื่นคำร้องขอประกันตัว พนักงานสอบสวนรับเรื่องไว้เสนอ ผกก.สน.ปทุมวัน พิจารณาในวันนี้ 

ล่าสุด ผกก.สน.ปทุมวัน มีคำสั่งไม่ให้ประกันทั้ง 4 ราย อ้างมีเหตุระเบิด เกรงจะไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน 

ภาพโดย iLaw

ข้อสังเกตการควบคุมตัวบุคคลไว้ที่ บก.ตชด.ภาค1 จ.ปทุมธานี และการยึดโทรศัพท์ผู้ถูกจับกุม

1.สถานที่ควบคุมตัวไม่ชอบ 

กรณีการจับกุมผู้ชุมนุมทั้งหกจากที่ชุมนุมในท้องที่เขตพญาไทและเขตปทุมวัน แต่นำตัวไปทำบันทึกจับกุม แจ้งข้อกล่าวหา สอบปากคำ และควบคุมตัวที่ บก.ตชด.ภาค 1 จ.ปทุมธานี นั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีอำนาจควบคุมตัวบุคคลไว้ที่ บก.ตชด.ภาค1 โดยพลการ เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำการจับบุคคลได้ต้องนำตัวบุคคลนั้นไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนในสถานที่ ๆ เหตุการณ์ที่ได้อ้างว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 83 ซึ่งเหตุการณ์ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจะต้องพาไปที่ สน. พญาไท และเหตุการณ์จับกุมที่ห้างสามย่านมิตรทาวน์จะต้องพาไปที่ สน. ปทุมวัน การนำตัวไปควบคุมไว้ที่ บก.ตชด.ภาค 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

ทั้งนี้ ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 1/2563 เรื่อง กำหนดสถานที่ควบคุม ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 หลังจากมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้ส่งคนไปควบคุมไว้ที่ บก.ตชด.ภาค1 นั้น สิ้นผลไปแล้ว เนื่องจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงได้ยกเลิกไปแล้วเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 จึงไม่สามารถนำมาอ้างได้

ผู้ถูกจับกุมทั้งหกได้ทำหนังสือถึงพนักงานสอบสวนในเวลา 22.00 น.ของคืนวันที่ 16 ม.ค. ขอให้ปล่อยตัวเนื่องจากการควบคุมตัวในสถานที่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และพาตัวกลับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับ เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจจับตัวและสอบสวนที่ บก.ตชด.ภาค 1 หากยังคงยืนยันจับและควบคุมตัวที่ บก.ตชด.ภาค 1 ต่อไป ย่อมทำให้ผู้ถูกจับกุมทั้งหกเสียหายอย่างมากและเป็นการจับและสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  

2.การยึดโทรศัพท์ยากแก่การติดต่อสื่อสารภายนอก บก.ตชด.ภาค1 ประหนึ่งแดนสนธยา

กรณีที่ประชาชน 4 ราย ซึ่งถูกจับกุมที่แยกสามย่าน พร้อมทั้งถูกยึดโทรศัพท์มือถือ ศูนย์ทนายฯ เห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีอำนาจในการยึดโทรศัพท์มือถือของบุคคลที่ไปร่วมทำกิจกรรมเขียนป้ายผ้าและเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวเพื่อนร่วมกิจกรรมได้โดยไม่มีคำสั่งศาล เพราะโทรศัพท์ไม่ใช่สิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาจากการกระทำความผิด และโทรศัพท์ถือเป็นอุปกรณ์เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์อีกด้วย 

การยึดโทรศัพท์มือถือของบุคคลที่ถูกจับกุมและพาไปควบคุมตัวไว้ในบริเวณ บก.ตชด.ภาค 1 ย่อมทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวไม่สามารถติดต่อญาติหรือทนายความได้ทันท่วงที ไม่ทราบชะตากรรมของตนเองว่าจะถูกนำตัวไปที่ไหนและจะถูกปฏิบัติอย่างไร จะต้องผ่านกระบวนการทางอาญาอย่างไรบ้าง ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ตามมา ที่ร้ายแรงที่สุดคือการบังคับให้บุคคลสูญหาย  

ในส่วนของทนายความที่ไม่ได้รับอนุญาตให้พกโทรศัพท์มือถือติดตัวในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ภายใน บก.ตชด.ภาค 1 ต้องให้เจ้าหน้าที่เก็บโทรศัพท์ไว้ก่อนเข้าไปในบริเวณที่ผู้ถูกจับถูกควบคุมอยู่ ซึ่งในระหว่างนั้นหากใครติดต่อเทนายความเพื่อติดตามหาญาติ/เพื่อนตัวเองที่ถูกจับ หรือทนายจะติดต่อประสานงานต่างๆ จะต้องเดินออกมาตรงจุดที่เจ้าหน้าที่เก็บโทรศัพท์ไว้ ก็เป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นและขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความเพื่อให้ลูกความเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอย่างทันท่วงที

การขาดการสื่อสารจากภายในสถานที่ควบคุมตัวที่ไม่ให้บุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเข้า รวมไปถึงการติดป้ายข้อความงดใช้เครื่องมือสื่อสารภายในตัวอาคารควบคุมตัว ในขณะที่เจ้าหน้าที่สามารถใช้เครื่องมือสื่อสารได้ ทำให้ บก.ตชด.ภาค 1 เป็นเหมือนแดนสนธยาที่อาจส่งผลให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นและเชื่อใจในความปลอดภัย ความโปร่งใส และความยุติธรรมของกระบวนการได้ 

 

ลำดับเหตุการณ์ไล่จับการ์ดปลดแอก จากการชุมนุมป้ายความยาว 112 เมตร ยกเลิก #มาตรา112 

16 ม.ค. 2564 #ม็อบ16มกรา เวลา 12.00 น. มีการชุมนุมบริเวณ เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดย “การ์ดปลดแอก” จัดกิจกรรม “เขียนป้ายผ้า 112 เมตร” เพื่อสื่อสารถึงรัฐบาลและรณรงค์ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  ก่อน นักศึกษาผู้ร่วมกิจกรรมวัย 20 ปี 2 ราย ภานุพงษ์ (สงวนนามสกุล) และใบบุญ (สงวนนามสกุล) จะถูกคุมตัวไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด.ภาค1) จ.ปทุมธานี เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ขณะนี้ยังถูกควบคุมตัวอยู่ที่ บก.ตชด.ภาค1

ตั้งแต่เวลา 11.40 น. เริ่มมีสื่อมวลชนและประชาชนกลุ่มหนึ่งที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเดินทางมาถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  บริเวณโดยรอบมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามาสังเกตการณ์  รวมถึงเจ้าหน้าที่เทศกิจของกรุงเทพมหานครเข้ามาถ่ายภาพกิจกรรม และสังเกตการณ์อีกด้วย

ในขณะที่ผู้จัดกิจกรรมเริ่มใช้ป้ายผ้าสีขาว วางเรียงยาวกับพื้น  ชวนให้ประชาชนร่วมกันใช้ปากกาเมจิกเขียนข้อความบนป้ายผ้าอันปรากฏข้อความเช่น  บุกรุกป่าไม่โดนจับ จับกระดาษเปล่า, นายกเงินกู้,  มีการเขียนถึงรัฐบาลในการบริหารงานภายใต้สถานการณ์โควิด 19 และวิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ภาพโดย BBC Thai

เวลาราว 12.15 น. มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าพื้นที่ ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า การชุมนุมวันนี้ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 15 ข้อ 3 เรื่องห้ามชุมนุมทํากิจกรรม หรือมั่วสุมกัน อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และมีความผิดตามมาตรา 18 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ  

จากนั้นประกาศให้สื่อมวลชนออกนอกพื้นที่  เจ้าหน้าที่ตำรวจเอ่ยชื่อ ‘กลุ่มวีโว่’ ว่า ไม่คิดถึงชาติบ้านเมือง จัดกิจกรรมทั้งที่มีการแพร่ระบาดของโควิด ขณะเดียวกับที่เกิดความชุลมุน เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบราว 30 นายเข้าวิ่งไล่ และใช้กำลังเข้าจับกุมผู้ร่วมกิจกรรม มีการบิดแขนและลากตัวผู้ถูกจับกุมคนหนึ่ง ขณะที่เขาพยายามขัดขืนการจับกุม ทำให้ประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมตะโกนตำหนิการกระทำของตำรวจที่กินเงินเดือนภาษีของประชาชน แต่ทำร้ายประชาชน ก่อนที่ตำรวจจะนำตัวผู้ถูกจับขึ้นรถตู้ ที่แม้ประชาชนพยายามเข้าขัดขวาง แต่ไม่เป็นผล โดยตำรวจไม่แจ้งด้วยว่าจะนำตัวผู้ถูกจับไปที่ใด

จากนั้น  พ.ต.อ.บวรภพ สุนทรเรขา ผกก.สน.พญาไท ประกาศว่า ให้เวลา 5 นาที ทั้งประชาชนและสื่อมวลชน ออกจากพื้นที่ให้หมด โดยผู้ถูกจับกุม 2 ราย ถูกนำตัวไปที่บก.ตชด.ภาค1 จังหวัดปทุมธานี  มีรายงานเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ มีรถตำรวจจาก สน.ต่างๆ จอดประจำการในพื้นที่ อาทิ สน.ชนะสงคราม, สน.ห้วยขวาง, บก.น.6, สน.มักกะสัน, สน.ดุสิต, สน.ดินแดง และ สน.นางเลิ้ง

ภาพโดย BBC Thai

เวลา 14.15 น. ประชาชนบางส่วนเริ่มรวมตัวกันโดยฉับพลันที่หน้า สน.พญาไท เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ทำกิจกรรม ก่อนที่ตำรวจควบคุมฝูงชนจะแจ้งว่าหากใครไม่ออกจากพื้นที่จะโดนจับเพิ่ม จากนั้นตัวแทนการ์ดปลดแอกให้ประชาชนถอนกำลังออกจากพื้นที่เพื่อตั้งหลัก และจะกลับมารวมตัวกันใหม่

14.30 น. ทนายความเดินทางถึง บก.ตชด.ภาค1 แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่อนุญาตให้เข้าไปด้านในเพื่อพบผู้ถูกจับกุมทั้งสองคน โดยอ้างว่าพนักงานสอบสวนยังมาไม่ถึง ขณะที่จากการติดต่อทางโทรศัพท์ทราบว่า ด้านในเจ้าหน้าที่กำลังจัดทำบันทึกการจับกุม ทั้งนี้ ทนายต้องรออยู่ด้านหน้าทางเข้ากว่า 1 ชั่วโมง จึงได้เข้าพบผู้ถูกจับกุม  

15.30 น. มีรายงานว่า ประชาชนนัดรวมตัวกันโดยฉับพลันที่สามย่านมิตรทาวน์ โดยมีการประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ให้ข้อมูลว่า การประกาศรวมตัวที่สามย่านที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากกลุ่ม “ราษฎร” หรือแกนนำคนใด แต่ยืนยันว่า การชุมนุมการทางเมืองโดยสงบเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหยุดใช้ความรุนแรงกับประชาชนโดยทันที

จากนั้นช่วง 16.30 น. ผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวไปที่แยกสามย่าน หลังเมื่อเวลา 16.15 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจให้อยู่ที่ ซอยจุฬา 42 ได้เพียง 15 นาที โดยมีตำรวจเดินแถวติดตามผู้ชุมนุมไปด้วย ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว การ์ดปลดแอก 2 คน ก่อนที่แกนนำการ์ดปลดแอกจะประกาศให้ทุกคนแยกย้ายกันกลับ โดยระบุว่า ตำรวจรับปากว่าจะให้ประกันตัวเพื่อน 2 คน ที่ถูกจับไปที่ บก.ตชด.ภาค 1 แต่มีเงื่อนไขให้ผู้ชุมนุมที่สามย่านยุติการชุมนุม

17.40 น. ตำรวจควบคุมฝูงชนราว 200 นาย เข้าควบคุมพื้นที่ ผกก.สน.ปทุมวัน ประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม จากนั้นกำลังตำรวจได้ตั้งแถวหน้ากระดานเดินไปตามถนน ทำให้ผู้ชุมนุมต้องหลบออกจากถนนเข้าไปในห้างสามย่านมิตรทาวน์ ระหว่างนี้มีผู้ถูกจับกุมอีก 4 ราย เป็นหญิง 2 คน ชาย 2 คน ทั้งสี่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวขณะอยู่ในรถผู้ต้องขังว่า  ถูกตำรวจยึดโทรศัพท์โดยยังไม่ได้ติดต่อแจ้งญาติหรือทนายความ และมีบางคนถูกยึดกุญแจรถด้วย จนถึงเวลา 20.00 น. ยังไม่ได้รับรายงานว่าผู้ถูกจับกุมทั้ง 4 รายเดินทางไปถึง บก.ตชด.ภาค1 

ภาพโดย iLaw

มีรายงานว่า ขณะตำรวจกำลังเดินบนถนนเพื่อเข้าควบคุมพื้นที่มีเสียงคล้ายระเบิดดังขึ้นหน้าจตุรัสจามจุรี เกิดควันและประกายไฟแว่บหนึ่ง ผู้ร่วมชุมนุมและผู้สื่อข่าวต่างวิ่งเข้าหาที่ปลอดภัย ต่อมาทราบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 2 ราย 1 ในนั้นคือ ธนกร วงษ์ปัญญา ผู้สื่อข่าว The Standard ซึ่งโพสต์เฟซบุ๊กว่า ตนถูกวัตถุคล้ายสะเก็ดระเบิดบริเวณที่ชุมนุม ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 

18.45 น. ขณะผู้ชุมนุมกำลังแยกย้ายกลับออกจากหน้าห้างสามย่านมิตรทาวน์ ชุดควบคุมฝูงชนยังพยายามเข้าจับกุมตัว ทั้งที่ผู้บังคับบัญชาสั่งให้เปิดทางให้ประชาชนกลับ ทำให้ประชาชนไม่พอใจ และเดินเข้าเผชิญหน้าตำรวจ จนเป็นเหตุชุลมุนสักพัก ก่อนแกนนำการ์ดปลดแอกขอให้ประชาชนแยกย้ายกันกลับ

19.00 น. เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเดินทางมาถึงที่หน้าห้างสามย่านมิตรทาวน์ เพื่อตรวจสอบเขม่าควัน ขณะที่ยังมีบางคนรออยู่หน้าห้างและประกาศ “เราจะรอจนกว่าจะทราบว่าเพื่อนได้รับการปล่อยตัว” สุดท้ายทั้งหมดได้แยกย้ายออกจากพื้นที่ในเวลาต่อมา ผู้สื่อข่าวรายงานต่อมาว่า สะเก็ดระเบิดกระจายตัวโดยรอบหน้าห้างกว่า 30 จุด

 

X