3 ปชช.-นศ.มธ. ชุมนุมต้านรปห.สถานทูตเมียนมา ถูกแจ้งข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ต่อสู้ขัดขวางจนท.

วานนี้ (1 ก.พ. 64) เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมตัวประชาชน 4 ราย ที่ร่วมชุมนุม #StandWithMyanmar หน้าสถานเอกอัครทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย ถนนสาธรเหนือ เพื่อต่อต้านการรัฐประหารของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หลาย ในประเทศเมียนมาร์ 

ทั้งหมดถูกควบคุมตัวไปที่ สน.ยานนาวา สามรายแรกถูกนำตัวมาถึง สน. ตั้งแต่เวลา 18.30 น. และถูกแจ้งข้อหาร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยสองรายยังถูกตั้งข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมีอาวุธ ร่วมกันมากกว่าสามคน ต่อมาประชาชนอีก 1 รายถูกควบคุมตัวมาที่ สน. ใน ราว 20.20 น. และถูกเปรียบเทียบปรับข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.จราจรฯ จากการแจกจ่ายน้ำดื่มในที่ชุมนุม 

 

ภาพจากเพจ นพ.ทศพร เสรีรักษ์
ภาพจากเพจ นพ.ทศพร เสรีรักษ์

 

ลำดับเหตุการณ์การสลายการชุมนุม และการจับกุมผู้ชุมนุม #ม็อบ1กุมภา

เวลา 15.30 น. กลุ่ม We Volunteer หรือ WeVo นัดชุมนุมหน้าสถานทูตเมียนมาเพื่อแสดงเจตจำนงต่อต้านการรัฐประหารของพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หลาย โดยเริ่มทยอยปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ตั้งแต่เวลา 15.00 น. ในระหว่างนี้มีการเจรจาให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมภายใน 30 นาที จนต่อมา พ.ต.อ.ธนโชติ ฤกษ์ดี ผู้กำกับสน.ยานนาวา ได้ประกาศให้ยุติการชุมนุมในเวลา 16.16 น. ผู้ชุมนุมได้ทยอยแยกย้าย แต่ยังมีกลุ่มการ์ดเหลืออยู่บางส่วน 

ราว 17.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนพร้อมโล่และกระบอง ได้นำกำลังเข้าสลายการชุมนุม โดยเดินตั้งแถวเข้าไปยังพื้นที่ที่ผู้ชุมนุมที่เหลืออยู่รวมตัวกัน ผู้ชุมนุมแนวหน้าและกลุ่มการ์ดกับเจ้าหน้าที่เกิดการผลักดันกัน มีรายงานว่าตำรวจใช้กระบองตีผู้ชุมนุม ในขณะที่ผู้ชุมนุมก็มีการขว้างปาสิ่งของใส่ตำรวจเพื่อให้หยุดการเดินแถวรุกเข้ามายึดพื้นที่

17.20 น. ผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม 2 ราย รายหนึ่งเป็นทีมการ์ดของกลุ่ม Wevo ส่วนอีกรายหนึ่งเป็นประชาชนที่มาร่วมชุมนุม ทั้งสองคนถูกคุมตัวขึ้นบนรถควบคุมผู้ต้องหาของ สน.ยานนาวาที่จอดอยู่ ต่อมา เฟซบุ๊กของโตโต้ ปิยรัฐ จงเทพ ระบุว่ามีทีมการ์ดของกลุ่ม Wevo ถูกตำรวจจับกุมและมัดมือไพล่หลังอยู่อีก 1 ราย ทำให้มีผู้ถูกจับกุมทั้งหมดรวม 3 ราย โดยหนึ่งในผู้ถูกจับเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย  

17.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนยังคงตรึงกำลังอยู่ที่บริเวณหน้าสถานทูตเมียนมา ขณะมีมวลชนแสดงความไม่พอใจต่อการจับกุมครั้งนี้

17.40 น. เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอยู่ร่วมกับนักศึกษาในที่ชุมนุมด้วย ระบุว่ามีผู้ถูกจับกุมในรถผู้ต้องขังรวม 3 ราย โดยทั้งหมดจะถูกนำตัวไปที่ บก.ตชด. ภาค 1 จังหวัดปทุมธานี ทั้งยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บขณะถูกจับกุม มือบวม และมีการใช้อุปกรณ์คล้ายกุญแจมือพลาสติกมัดมือผู้ถูกจับกุมด้วย โดยเคทขอขึ้นรถเจ้าหน้าที่ติดตามไปผู้ถูกจับกุมไปด้วย

19.40 น. คณะทนายความเดินทางไปถึงที่ สน.ยานนาวา แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยอมให้พบผู้ถูกจับกุม อ้างว่าเลยเวลาเยี่ยมแล้ว และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำบันทึกจับกุม โดยได้มีการนำตัวทั้งสามคนไปควบคุมตัวในห้องควบคุมผู้ต้องขัง

กว่า 4 ชั่วโมงตั้งแต่จับกุม จนเวลา 22.00 น. ผู้ถูกจับกุมทั้ง 3 รายจึงได้พบทนายความและญาติ โดยทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำบันทึกจับกุม แจ้งข้อกล่าวหา สอบคำให้การ และควบคุมตัวไว้ที่ สน. ยานนาวา โดยไม่ถูกพาไปที่ บก. ตชด. ภาค 1 ตามที่มีรายงานในช่วงแรก 

ขณะเดียวกัน ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์จำนวน 9 นาย แบ่งเป็นสังกัด บก.อคฝ. รวม 8 นาย และสังกัด สน.ยานนาวา อีก 1 นาย

 >>> ไทม์ไลน์เหตุการณ์ประท้วงต้านรัฐประหาร หน้าสถานทูตเมียนมา การสลายชุมนุมครั้งที่ 6 ของปี 2564 

 

ภาพจาก Kath Khangpiboon

 

แจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แก่ 3 ประชาชน  สองรายถูกตั้งข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและใช้อาวุธ 

ตามบันทึกจับกุม ภายใต้การอำนวยการของพ.ต.อ.ธนโชติ ฤกษ์ดี ผู้กำกับสน.ยานนาวา และ พ.ต.ท.ประวิทย์ วงษ์เกษม รองผู้กำกับสน.ยานนาวา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน นำโดย พ.ต.ท.วงศพัทธ์ สารพร สว.ผบ.ร้อย (สบ2) ร้อยที่ 3 กก.1 บก.อคฝ. ได้จับกุมผู้ชุมนุมจำนวน 3 ราย ได้แก่ นายวิชพรรษ ศรีกสิพันธุ์ อายุ 20 ปี, นายปัณณพัทธ์ จันทนางกูล อายุ 19 ปี และนายเกียรติศักดิ์ พันธุ์เรณู อายุ 19 ปี 

เจ้าหน้าที่ตำรวจบรรยายพฤติการณ์โดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 สืบเนื่องจากประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เกิดเหตุรัฐประหาร ต่อมา 14.45 น. ประชาชนชาวเมียนมาในไทยกลุ่มหนึ่ง และกลุ่มผู้ชุมนุมอีกราว 50-60 คน มาชุมนุม ปราศรัย และทำการเรียกร้องและต่อต้านการรัฐประหาร ที่บริเวณหน้าสถานทูตเมียนมา ถนนสาธรเหนือ ผู้ถูกจับกุมที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และผู้ร่วมชุมนุมฝ่าฝืนไม่ยอมเลิกมั่วสุมตามเวลาที่ ผู้กำกับสน.ยานนาวา ได้ประกาศแจ้งเตือนไว้ 

ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนจึงทำการกระชับพื้นที่ผลักดันให้กลุ่มผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม ขณะที่ตำรวจกระชับพื้นที่ กลุ่มผู้ชุมนุม และผู้ถูกจับกุมที่ 2 และที่ 3 ฝ่าฝืนคําสั่ง ผลักดัน ขวางปาสิ่งของ และทำร้ายเจ้าหน้าที่ตํารวจ เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงได้เข้าจับกุมผู้ถูกจับที่กระทำความผิดซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา 

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงแจ้งข้อกล่าวหาร่วม 2 ข้อหา แก่ผู้ถูกจับกุมทั้ง 3 ราย ได้แก่

  1. ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9  แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 25 ธ.ค. 2563 ข้อ 3 “ร่วมกันชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุม ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่ที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ” มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
  2. ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 “ร่วมกันกระทําการ หรือดําเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ” มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท 

ส่วนผู้ถูกจับกุมคนที่ 2 และที่ 3 ยังถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่

  1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสอง “มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้กระทำผิดคนใดคนหนึ่งมีอาวุธ” มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 ประกอบมาตรา 140 “ร่วมกันต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีหรือใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป” มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 “ร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ    

ทั้งสามคนให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยจะขอยื่นคำให้การเพิ่มเติมต่อไป และทั้งหมดไม่ประสงค์จะลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม โดยกระบวนการบันทึกการจับกุม สอบคำให้การ พิมพ์ลายนิ้วมือ และลงบันทึกประจำวันเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 24.00 น. 

ผู้ถูกจับกุมทั้ง 3 ราย ยังถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน. ยาวนาวา ตลอดคืนวันที่ 1 ก.พ. 64 ก่อนในวันนี้ (2 ก.พ. 2564) พนักงานสอบสวนสน.ยานนาวา จะนำผู้ต้องหาที่ 1 ไปขออำนาจศาลฝากขังที่ศาลแขวงพระนครใต้ ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 และที่ 3 ที่ถูกแจ้งข้อหาซึ่งมีโทษสูงกว่า จะถูกนำตัวไปขอฝากขังที่ศาลอาญากรุงเทพใต้    

 

ภาพจาก Kath Khangpiboon

 

เปรียบเทียบปรับข้อหากีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ ผู้แจกจ่ายน้ำดื่มให้กับผู้ชุมนุม 

ขณะเดียวกัน ในช่วงเวลาประมาณ  20.20 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ควบคุมตัวประชาชนอีก 1 ราย และนำตัวมาที่ สน.ยานนาวา เพื่อดำเนินคดีในข้อกล่าวหากระทำการใดในลักษณะกีดขวางการจราจร มาตรา 114 ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ จากการนำน้ำดื่มมาแจกในที่ชุมนุมหน้าสถานทูตเมียนมา ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เปรียบเทียบปรับในชั้นสอบสวนเป็นเงิน 500 บาท และปล่อยตัวประชาชนที่ถูกจับกุมรายดังกล่าวไป  

 

X