แจ้ง 5 ข้อหา 6 นักกิจกรรม คดี #ม็อบ13กุมภา พร้อมแจ้ง ม.112- ทำลายทรัพย์ “ณวรรษ” เพิ่ม เหตุปราศรัยให้ร.10 อยู่ใต้รธน.

วันนี้ (4 มี.ค. 64) เวลา 10.30 น. “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์, “ตี้-พะเยา” วรรณวลี ธรรมสัตยา, “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา  และผู้ต้องหาอื่น รวม 7 คน เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ที่สถานีตำรวจนครบาลสําราญราษฎร์ จากกรณีกิจกรรม #ม็อบ13กุมภา หรือ #นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน ซึ่งจัดบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 64

ผู้ถูกดำเนินคดีนี้มีทั้งหมด 9 ราย ได้แก่ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์, “ตี้-พะเยา” วรรณวลี ธรรมสัตยา, “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, ชนินทร์ วงษ์ศรี นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, “แหวน”​ ณัฏฐธิดา มีวังปลา, ธนาธร วิทยเบญจางค์ นักศีกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล โดยในวันนี้มีผู้มารับทราบข้อกล่าวหาทั้งหมด 7 ราย ส่วนภาณุพงศ์และปนัสยาได้ส่งหนังสือผ่านตัวแทนเพื่อเลื่อนนัดรับทราบข้อกล่าวหาออกไป โดยภาณุพงศ์เลื่อนเป็น 10 มี.ค. 64 เวลา 13.00 น. ส่วน ปนัสยาเลื่อนเป็น 7 มี.ค. 64 เวลา 13.00 น.

ที่มาของคดีนี้เกิดจากการชุมนุม #ม็อบ13กุมภา หรือ กิจกรรมนับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งผู้ต้องหาได้นัดรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว 4 แกนนำราษฎรซึ่งถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร โดยมีกิจกรรมห่มผืนผ้าสีแดงขนาดใหญ่ที่มีข้อความจากประชาชนถึงรัฐบาลคลุมรอบอนุสาวรีย์ฯ ต่อมามีการเคลื่อนขบวนไปยังศาลหลักเมือง และทำกิจกรรม “เทน้ำ” หน้าประตูศาลหลักเมือง ขอให้คุ้มครองราษฎร ก่อนยุติการชุมนุมเวลา 20.30 น. 

ภาพการชุมนุม #ม็อบ13กุมภา เมื่อค่ำวันที่ 13 ก.พ. 64

อย่างไรก็ตาม หลังยุติการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้เข้าสลายการชุมนุม โดยมีผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 11 ราย ทั้งหมดถูกควบคุมตัวไปดำเนินคดีที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด.ภาค1) ก่อน 3 รายถูกเปรียบเทียบปรับและได้รับการปล่อยตัวในคืนเดียวกัน ส่วนอีก 8 รายถูกดำเนินคดี 6 ข้อหา รวมข้อหา “ร่วมต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน” และถูกควบคุมตัวอยู่ที่บก.ตชด.ภาค 1 เป็นเวลา 2 คืน 

>> สลายชุมนุม #ม็อบ13กุมภา จับกุม 11 ราย ส่ง ตชด.ภาค 1 ก่อนปรับ 3 ราย เตรียมส่งฝากขัง 8 ราย รวมพยาบาลอาสา 

>>อนุญาตฝากขัง 8 ผู้ต้องหา #ม็อบ13กุมภา แต่ให้ประกันตัว หลังทนายคัดค้านการฝากขัง ชี้ ตร.จับกุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ตร.แจ้ง 5 ข้อหาแก่ 6 ราษฎร ฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ – พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

ในส่วนคดี #ม็อบ13กุมภา ร.ต.ท. รณกร วัฒนกุล รองสารวัตร (สอบสวน) สน.สำราญราษฎร์ บรรยายพฤติการณ์คดีแก่ 7 ผู้ต้องหาในลักษณะคล้ายคลึงกัน ดังนี้ 

ผู้ต้องหาทุกคนในคดีได้เข้าร่วมการชุมนุม และมีการขึ้นปราศัย โดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต  กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการนำผ้าแดงขนาดใหญ่ลงไปปูพื้นถนนผิวการจราจร เพื่อร่วมกันเขียนข้อความ และกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากลงไปทำกิจกรรมบนถนน มีการปิดเส้นทางการจราจรโดยไม่รับอนุญาต 

ในวันเดียวกัน ภาณุพงศ์ และณวรรษ ได้ร่วมกันปราศรัยและสั่งให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปรื้อกระถางต้นไม้ที่วางประดับรอบอนุสาวรีย์ฯ ซึ่ง ปนัสยา และกลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้าไปรื้อ ได้รับความเสียมูลค่า 5,968,000 บาท 

รวมถึงมีการตั้งสิ่งกีดขวางการจราจร เจ้าหน้าที่ได้พยายามแจ้งและประกาศเตือนให้เลิกกระทำ แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิก จากนั้นเวลาประมาณ 20.30 น. ได้มีการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมมุ่งหน้าไปยังศาลหลักเมือง ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวมีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมกันชุมนุม อาจเป็นต้นเหตุให้โรคแพร่ระบาด ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมาย  

จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ อรรถพล บัวพัฒน์, วรรณวลี ธรรมสัตยา, ณัฏฐธิดา มีวังปลา, เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ, ชนินทร์ วงษ์ศรี และธนาธร วิทยเบญจางค์  ทั้งหมด 5 ข้อหา ได้แก่

  1. ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) กระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
  3. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวางหรือทอดทิ้งสิ่งของ หรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
  4. พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 39 ร่วมกันติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใด ๆ ในที่สาธารณะโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ โทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
  5. พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4 ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โทษปรับไม่เกิน 200 บาท

 

“ณวรรษ” ถูกแจ้งเพิ่ม ม. 112 และ ทำลายทรัพย์ฯ เหตุปราศรัยขอให้ร.10 อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

พร้อมกันนี้ ร.ต.ท. รณกร แจ้งข้อกล่าวหา มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา และข้อหาทำให้เสียทรัพย์ เพิ่มเติมกับ ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นอกเหนือจาก 5 ข้อหาหลัก 

โดยบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาบรรยายพฤติการณ์ส่วนของณวรรษว่า นอกจากการปราศรัยให้รื้อกระถางต้นไม้บริเวณอนุสาวรีย์ฯ ณวรรษยังกล่าว 2 ข้อความ เรียกร้องให้กษัตริย์รัชกาลที่ 10 อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งข้อความดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ 

ดังนั้นพนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหากับณวรรษ​รวม 7 ข้อหา  ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6),ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์, เดินขบวนกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ และกีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385

อนึ่ง ณวรรษเผยว่า ในหมายเรียกผู้ต้องหาไม่ได้ระบุว่าจะมีการดำเนินคดีข้อหามาตรา 112 แต่เมื่อมาถึง สน. พนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีมาตรานี้เพิ่มด้วย

ผู้ต้องหาทั้ง 7 คน ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ด้าน 6 นักกิจกรรมจะขอยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 22 มี.ค. 64 และพนักงานสอบสวนนัดส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการในวันที่ 22 มี.ค. 64 ด้านณวรรษจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 5 เม.ย. 64 และส่งตัวอัยการ 9 เม.ย. 64 ที่สำนักอัยการสูงสุด รัชดา

ทั้งนี้ วรรณวลี, ณวรรษ และเกียรติชัย ไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา แต่เขียนข้อความว่า “จีโน่ ระวังน้ำตาลนะ”, “ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมไม่ขอเดชะ นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนา” และ “ไม่ยอมรับกฎหมา” แทนตามลำดับ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่า บรรยากาศการรับทราบข้อกล่าวหาวันนี้ มีการจัดวางกำลังเจ้าหน้าที่ ล้อมรั้วเหล็ก และตั้งจุดคัดกรอง และให้บุคคลภายนอกแลกบัตรประจำตัวประชาชนและบัตรผู้ติดต่อ และมีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบประมาณ 4-5 นายตรึงกำลังอยู่บริเวณหน้าสน. นอกจากนี้ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเก็บภาพขณะที่ณวรรษเดินเข้าสน. และมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนั่งอยู่ในห้องสอบสวนตลอดกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา

นับตั้งแต่การกลับมาดำเนินคดีมาตรา 112 เมื่อปี 2563 จนถึงปัจจุบัน (4 มี.ค. 64) มีผู้ถูกดำเนินคดีในมาตรานี้อย่างน้อย 62 ราย ใน 50 คดี สำหรับ ณวรรษ คดีนี้ถือเป็นคดีที่ 3 แล้ว ก่อนหน้านี้ เขาถูกดำเนินคดีจากการอ่านแถลงการณ์ในการชุมนุม #ม็อบ26ตุลา หน้าสถานทูตเยอรมนี และการปราศรัยในชุมนุม #ม็อบ25พฤศจิกาไปscb 

สำหรับหมายเรียกคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม #ม็อบ25พฤศจิกา ของณวรรษ เพิ่งออกเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 64 หลัง 7 ผู้ต้องหาคนอื่นรับทราบข้อหาไปแล้วเมื่อ 22 ธ.ค. 63 และ 4 ม.ค. 64 

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

X