อนุญาตฝากขัง 8 ผู้ต้องหา #ม็อบ13กุมภา แต่ให้ประกันตัว หลังทนายคัดค้านการฝากขัง ชี้ ตร.จับกุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

15 ก.พ. 2564 กรณีการจับกุมประชาชน ผู้ชุมนุม และพยาบาลอาสา รวม 8 ราย จากการสลายการชุมนุม #ม็อบ13กุมภา ซึ่งหลังการแจ้งข้อกล่าวหารวม 8 ข้อหา ได้แก่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อ, มั่วสุมเกิน 10 คน, ไม่เลิกมั่วสุมเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก, ต่อสู้ขัดขวาง และทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน และปฏิเสธให้ประกันตัวในชั้นตำรวจ พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้แจ้งทนายความและผู้ต้องหาว่า จะควบคุมตัวที่ บก.ตชด.ภาค 1 และจะนำตัวส่งศาลอาญา รัชดา เพื่อขอฝากขังในวันจันทร์ที่ 15 ก.พ. 2564 นั้น

>> สลายชุมนุม #ม็อบ13กุมภา จับกุม 11 ราย ส่ง ตชด.ภาค 1 ก่อนปรับ 3 ราย เตรียมส่งฝากขัง 8 ราย รวมพยาบาลอาสา

 

ภาพเหตุการณ์ชุมนุมวันที่ 13 ก.พ. 64

ช่วงเช้าทีมทนายความจึงเตรียมคำร้องคัดค้านการฝากขังและใบแต่งทนายความไปรอที่ศาลอาญา แต่ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนว่า ศาลไม่อนุญาตให้ยื่นคำร้องขอฝากขังกรณีพิเศษ (ในช่วงโควิด) ที่ต้องนำตัวผู้ต้องหาไปศาล เนื่องจากอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด แต่ให้ยื่นคำร้องผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์และไต่สวนผ่านจอภาพ หรือวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ พนักงานสอบสวนจึงไม่นำผู้ต้องหามาศาลอาญา และจะไต่สวนผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ในเวลา 10.30 น.

อย่างไรก็ตาม เมื่อทนายความผู้ต้องหาสอบถามเจ้าหน้าที่งานฝากขัง ศาลอาญา ได้แจ้งว่า พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 แบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์มาตั้งแต่เมื่อวาน (14 ก.พ. 2564) ไม่ได้ยื่นแบบกรณีพิเศษตามที่พนักงานสอบสวนแจ้ง ศาลจึงให้ฝากขังวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน

เนื่องจากผู้ต้องหาต้องการคัดค้านการฝากขังในครั้งนี้ โดยจะใช้วีดีโอที่บันทึกการถูกทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในการไต่สวนคัดค้านการฝากขัง และต้องการให้ทนายความเข้าร่วม ทนายความผู้ต้องหาจึงต้องรีบเดินทางจากศาลอาญาไปที่ บก.ตชด.ภาค 1 จ.ปทุมธานี ให้ทันการไต่สวนผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ แต่เมื่อเดินทางถึง บก.ตชด.ภาค 1 ตำรวจกลับไม่ให้ทนายความเข้าไปพบผู้ต้องหาข้างใน และแจ้งว่าต้องรอให้ผู้ต้องหาวีดิโอคอนเฟอเรนซ์เสร็จก่อน ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า ผู้ต้องหาทั้งแปดจะไม่มีทนายความและพยานหลักฐานในการคัดค้านการขอฝากขังของพนักงานสอบสวน

 

ทางด้านศาลอาญา ทนายความผู้ต้องหายื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำร้องคัดค้านฝากขังครั้งที่ 1 และขอผลัดส่งใบแต่งทนายความ เนื่องจากการที่พนักงานสอบสวนไม่นำตัวผู้ต้องหามาฝากขังที่ศาลตามที่แจ้งไว้ ทำให้ผู้ต้องหาไม่ได้เซ็นชื่อในคำร้องคัดค้านฝากขัง และเซ็นใบแต่งทนายความ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากผู้ต้องหาไม่มีทนายความเข้าร่วมคัดค้านการฝากขัง ตามสิทธิของผู้ต้องหา

คำร้องดังกล่าวระบุรายละเอียดด้วยว่า คดีนี้ผู้ต้องหาหลายคนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ มีร่องรอยบาดแผล การบาดเจ็บที่อวัยวะ ซึ่งหากศาลได้ทำการไต่สวนโดยมีตัวผู้ต้องหาทั้งแปด จะเห็นถึงร่องรอยดังกล่าว การที่พนักงานสอบสวนไม่ขอฝากขังเป็นกรณีพิเศษตามที่ผู้ต้องหาทั้งแปดประสงค์ มีประการที่น่าห่วงกังวลในการให้รายละเอียดพฤติการณ์และการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายที่พนักงานสอบสวนไม่รายงานต่อศาลให้ครบถ้วน และเป็นการจำกัดสิทธิในการต่อสู้คดีหรือคัดค้านฝากขังผู้ต้องหา จึงขออนุญาตยื่นคำร้องคัดค้านฝากขังครั้งที่ 1 และให้มีการไต่สวนพนักงานสอบสวนโดยทนายความของผู้ต้องหาทั้งแปด โดยจะนำส่งใบแต่งทนายความของผู้ต้องหาต่อศาลให้ครบถ้วนต่อไป เพื่อประกันสิทธิของผู้ต้องหาทั้งแปด

โดยในเวลาประมาณ 11.30 น. พ่อของทองนพเก้า หนึ่งในผู้ต้องหาเดินทางมาที่ศาลอาญา และเซ็นแต่งตั้งทนายความ เพื่อให้ทนายความคัดค้านการฝากขังลูก โดยพ่อของทองนพเก้าแสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับการฝากขังทางจอภาพ เนื่องจาก บก.ตชด.ภาค 1 อยู่ไกล และได้รับแจ้งจากทนายความว่า ตำรวจบอกว่า ลูกจะถูกนำตัวมาฝากขังที่ศาลอาญาในวันนี้ แต่ตนกลับไม่ได้พบลูก

12.00 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ไต่สวนคัดค้านการขอฝากขังผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ โดยให้ทนายความเข้าร่วม และที่ บก.ตชด.ภาค 1 ทนายความได้รับอนุญาตให้เข้าพบผู้ต้องหาทั้งแปด

12.30 น. นายประสาท เสริมศรี นายจักรพรรดิ์ ไชยพรรค และนายนราธร วันใจ องค์คณะผู้พิพากษาเริ่มไต่สวนคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีทนายความและพ่อของทองนพเก้าเข้าร่วมจากห้องประชุมในศาลอาญาที่เจ้าหน้าที่จัดให้ รวมทั้งมีทนายความที่เข้าร่วมรับทราบข้อกล่าวหาและอยู่กับผู้ต้องหาที่ บก.ตชด.ภาค 1 เข้าร่วมเป็นพยานการไต่สวนด้วย

 

ไต่สวนคำร้องขอฝากขัง พนักงานสอบสวนอ้างยังสอบสวนไม่เสร็จ ขณะทนายชี้ผู้ต้องหาทั้งแปดไม่มีพฤติการณ์ร้ายแรงและไม่หลบหนี

ศาลไต่สวน พ.ต.ท.ประเสริฐ จันทร์แดง พนักงานสอบสวนผู้ยื่นคำร้องขอฝากขัง จากนั้นอนุญาตให้ทนายผู้ต้องหาถามค้าน รวมถึงให้ผู้ต้องหาแถลงถึงพฤติการณ์การจับกุม และเปิดให้ศาลดูบาดแผลของผู้ต้องหา รายละเอียดดังนี้

พ.ต.ท.ประเสริฐ เบิกความถึงเหตุจำเป็นที่ต้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งแปดต่อศาลว่า คณะพนักงานสอบสวนได้ทําการสอบสวนแล้ว จะครบกําหนดควบคุมตัว 48 ชั่วโมง ในวันที่ 19 ก.พ. 2564 เวลา 03.00 น. แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากจะต้องทําการสอบสวนพยานอีก 11 ปาก รอผลการตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร รอผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของเจ้าพนักงานตํารวจ และสอบพยานที่ได้รับบาดเจ็บมาประกอบสํานวนเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณา จึงขอฝากขัง ผู้ต้องหาทั้งแปด มีกําหนด 12 วัน นับแต่วันนี้ที่ 15-26 ก.พ. 2564

 

ต่อมา พ.ต.ท.ประเสริฐ ได้ตอบคำถามค้านของทนายผู้ต้องหาทั้งแปดว่า เหตุในคดีนี้มีการจับกุมหลังช่วงแกนนําประกาศยุติการชุมนุมแล้ว ในบันทึกการจับกุมไม่มีการตรวจยึดของกลาง ไม่มีพฤติการณ์ว่าผู้ต้องหาทั้งแปดเกี่ยวข้องกับการขว้างปาระเบิดปิงปองหรือสิ่งของ ขณะถูกจับกุมผู้ต้องหาที่ 8(ปุรพล) ใส่ชุดมีสัญลักษณ์คล้ายกับทีมแพทย์อาสา อีกทั้งผู้ต้องหาที่ 8 ได้แจ้งพนักงานสวบสวนว่าไม่ได้เป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุม แต่เป็นทีมอาสาสมัครทางการแพทย์ พ.ต.ท.ประเสริฐ ยืนยันกับศาลว่า ผู้ต้องหาที่ 8 มีรอยฟกช้ำที่บริเวณกลางหลังจริง และยืนยันว่าภาพผู้ต้องหาที่ 5(ธนเดช) มีรอยฟกช้ำบริเวณดวงตา

พ.ต.ท.ประเสริฐ ปฏิเสธว่า ไม่ได้เข้าร่วมจับกุมผู้ต้องหาทั้งแปด และไม่ทราบถึงการแจ้งข้อกล่าวหา แจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาทั้งแปดทราบ แต่รับว่าพยานหลักฐานในคดีนี้ส่วนมากจะเป็นภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว และเป็นพยานบุคคลที่เป็นเจ้าพนักงานตํารวจ ซึ่งผู้ต้องหาไม่ทราบว่าเป็นใคร การดําเนินการเกี่ยวกับตรวจหาลายพิมพ์นิ้วมือ พนักงานสอบสวนสามารถดําเนินการไปได้เองโดยที่ไม่ต้องนําตัวผู้ต้องหาทั้งแปดไว้

หลังทนายผู้ต้องหาหมดคําถามได้เปิดคลิปวิดีโอในวันที่เกิดเหตุขณะจับกุมผู้ต้องหาทั้งแปดให้ศาลและพนักงานสอบสวนดู พ.ต.ท.ประเสริฐ ยืนยันว่าเป็นคลิปขณะเกิดเหตุ แต่ไม่ทราบว่าขั้นตอนการจับกุมหรือสลายผู้ชุมนุม

เสร็จการไต่สวนเวลาประมาณ 13.40 น.

 

คำร้องคัดค้านฝากขัง ชี้เจ้าหน้าที่จับกุมโดยใช้อาวุธและกำลังเกินจำเป็น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ คำร้องคัดค้านการขอฝากขังครั้งที่ 1 ที่ทนายความยื่นต่อศาล ระบุเหตุผลว่า คดีนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ในระหว่างสอบสวน ดังนี้

(1) คดีนี้มีข้อเท็จจริงลักษณะเดียวกันกับคดีหมายเลขดำที่ พ.716/2561 ของศาลอาญา (คดีคนอยากเลือกตั้ง) ซึ่งศาลอาญาได้มีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน

(2) พฤติการณ์ที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาเป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ  ซึ่งได้รับการรับรองไว้ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีเหตุความวุ่นวาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือร่างกายของผู้ใดอันเกิดจากการกระทำของผู้ต้องหาอย่างชัดเจน ทั้งนี้ การชุมนุมดังกล่าวถือเป็นการชุมนุมสาธารณะ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมีหน้าที่ดูแลการชุมนุม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับใช้กำลังและอาวุธเข้าสลายการชุมนุม จนทำให้ผู้ต้องหาหลายรายได้รับบาดเจ็บ และจับกุมผู้ต้องหาโดยมิได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา แจ้งสิทธิ หรือแจ้งว่าจะพาไปยังสถานที่ใด อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ประการสำคัญไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการตรวจยึดอาวุธใดๆ จากผู้ต้องหา และไม่ปรากฏพฤติการณ์คดีว่าผู้ต้องหากระทำการขว้างปาสิ่งของและระเบิดปิงปองแต่อย่างใด โดยเฉพาะผู้ต้องหาที่ 8 ซึ่งเป็นอาสาสมัครทางการแพทย์ของ “กลุ่ม DNA บุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัคร” ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม ปฏิบัติหน้าที่ให้ความช่วยเหลือด้านการปฐมพยาบาลร่วมกับทีมเท่านั้น โดยได้ใส่ชุดอาสาสมัครชัดเจน แต่ระหว่างที่กำลังการเดินทางกลับ ผู้ต้องหาที่ 8 ได้รอหัวหน้าทีมอาสาสมัครซึ่งให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกแก๊สน้ำตา กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนประมาณ 10 นาย เข้ามาฟาดที่หัวจนผู้ต้องหาล้มลง ทั้งยังรุมใช้เท้าและกระบองฟาดจนผู้ต้องหาที่ 8 สลบไป การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเป็นการกระทำที่เกินจำเป็นและไม่ได้สัดส่วน และเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(3) ผู้ต้องหาที่ 1- ที่ 7 ประกอบสัมมาชีพสุจริต และผู้ต้องหาที่ 8 เตรียมกลับไปศึกษาต่อด้านการแพทย์ฉุกเฉินในภาคการศึกษาต่อไป ไม่มีเจตนาที่จะหลบหนี นอกจากนี้ ผู้ต้องหาหลายรายได้รับบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายขณะจับกุม และถูกควบคุมตัวมาตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ. 2564 มีอาการอ่อนเพลีย โดยเฉพาะผู้ต้องหาที่ 5 ที่ถูกต่อยตีบริเวณใบหน้า และดวงตา และผู้ต้องหาที่ 8 ถูกรุมใช้เท้าและกระบองฟาด มีอาการมึนหัว ปวดต้นคอ ไหล่ซ้าย และท้ายทอย มีบาดแผลที่หลัง จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง

 

กระทั่งเวลา 16.20 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง ระบุในคำสั่งว่า มีเหตุผลและความจําเป็นต้องฝากขังผู้ต้องหาทั้งแปดระหว่างสอบสวน แม้ผู้ต้องหาทั้งแปดจะคัดค้าน แต่เมื่อพนักงานสอบสวนอ้างว่าคดีมีเหตุจําเป็นที่จะต้องฝากขังเนื่องจากเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี และมีเหตุจําเป็นต้องสอบสวนเพิ่มเติม อีกทั้งผู้ต้องหาทั้งแปดก็มีสิทธิที่จะยื่นคําร้องขอปล่อยชั่วคราวอยู่แล้ว จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งแปดได้ตามขอ

ทนายความจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งแปด โดยเสนอหลักประกันเป็นเงินสดคนละ 38,000 บาท และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว ในวงเงินประกันคนละ 35,000 บาท โดยไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ และนัดรายงานตัวในวันที่ 5 เม.ย. 2564 เวลา 08.30 น.

 

X