เปิดแฟ้มคดีชุมนุม #ม็อบ13ตุลา63 “คณะราษฎรอีสาน” หลังสืบพยานยาวนาน 2 ปี 

ในวันที่ 18 ก.ย. 2567 เวลา 10.00 น. ศาลอาญารัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาคดีของนักกิจกรรม 19 คน เหตุจากการชุมนุมของ “คณะราษฎรอีสาน” ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 ก่อนการนัดชุมนุมใหญ่ของ “คณะราษฎร2563” ในวันที่ 14 ต.ค. 2563  ทั้งหมดถูกฟ้องใน 11 ข้อกล่าวหา อาทิ มาตรา 215 มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานตั้งแต่สามคนขึ้นไป

ในวันเกิดเหตุ มีผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดีทั้งหมด 21 ราย นำโดย จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่”  อัยการได้สั่งฟ้องในช่วงปลายเดือนกันยายน 2564 โดยแบ่งคดีเป็นคดีของผู้ชุมนุม 19 ราย ถูกสั่งฟ้องที่ศาลอาญา และคดีของเยาวชน 1 ราย ถูกฟ้องคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัว ส่วนผู้ถูกดำเนินคดีอีก 1 ราย ได้แก่ “หัวหน้าเบน” คนไร้บ้านที่ถูกดำเนินคดีด้วย ได้เสียชีวิตลงเนื่องจากปัญหาสุขภาพ เมื่อช่วงปี 2564

ในการชุมนุมวันดังกล่าวช่วงเช้า กลุ่มดาวดินและคณะราษฎรภาคอีสาน ที่เดินทางมาจากหลายจังหวัด ได้เริ่มตั้งเต็นท์เพื่อปักหลักรอการชุมนุมใหญ่ ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 อยู่บริเวณทางเท้าหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยได้มีการนำรถเครื่องเสียงมาเตรียมปราศรัยดำเนินการชุมนุมในวันรุ่งขึ้น

ตลอดทั้งช่วงเช้าจนถึงบ่ายของวันที่ 13 ต.ค. 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามกดดันให้ยุติการชุมนุมและการตั้งเต็นท์ในบริเวณดังกล่าว โดยระบุเรื่องการไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะและกีดขวางการจราจร แต่ผู้ชุมนุมยืนยันปักหลักบริเวณดังกล่าวต่อไป ก่อนที่ช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. จะมีเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนเข้ามาผลักดันและจับกุมผู้ชุมนุมไปยัง บก.ตชด. ภาค 1 ภายหลัง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 ได้มีคำสั่งฟ้องคดีรวมทั้งหมด 11 ข้อกล่าวหา โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาเรื่อยมา

.

ภาพรวมการสืบพยาน ผู้กล่าวหาระบุว่าการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนจำเลยสู้การชุมนุมใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแล้ว

คดีนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาลเป็นเวลานานกว่า 2 ปี โดยเริ่มสืบพยานคดีครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2565 จนถึงวันที่ 18 ก.ค. 2567 รวมสืบพยานโจทก์และจำเลยกว่า 34 นัด

ในคดีนี้พยานโจทก์ที่เป็นตำรวจทุกปากต่างเบิกความไปในลักษณะเดียวกันว่า การชุมนุมในวันดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และช่วงเวลาดังกล่าวมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และออกข้อกำหนดห้ามทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค

ส่วนพยานฝ่ายจำเลยยืนยันว่าการชุมนุมในวันดังกล่าว เป็นการใช้สิทธิโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ การกระทำของจำเลยเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่ได้มีการปิดการจราจรทั้งหมด รถและผู้คนยังสัญจรไปมาได้ การใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมของเจ้าหน้าที่เป็นไปเกินกว่าเหตุ ทำให้เกิดเหตุชุลมุน และผู้ชุมนุมไม่พอใจการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ทั้งเจ้าหน้าที่ไม่มีการไปขอคำสั่งศาลในการให้ยุติการชุมนุม อีกทั้งการชุมนุมดังกล่าว ยังไม่ใช่การชุมนุมในสถานที่แออัด อากาศถ่ายเทสะดวก และในช่วงเวลานั้น ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศแต่อย่างใด

.

ตำรวจผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ “ไผ่ จตุภัทร์” รับว่าการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่เห็นผู้ชุมนุมทำร้ายเจ้าหน้าที่

พ.ต.ท.กฤติเดช เข็มเพชร์ ผู้กล่าวหา เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุรับราชการตำแหน่งรองผู้กำกับการสืบสวน สน.สำราญราษฎร์ โดยคดีนี้พื้นที่ชุมนุมคาบเกี่ยว 2 สถานีตำรวจ คือ สน.ชนะสงคราม และ สน.สำราญราษฎร์

คดีนี้ ได้มีนัดทำกิจกรรมวันที่ 14 ต.ค. 2563 หน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีกลุ่มคณะราษฎรเป็นผู้จัดกิจกรรม โดยแกนนำ เช่น ไผ่ จตุภัทร์ ได้โพสต์เชิญชวนมาชุมนุมทางเฟซบุ๊ก วัตถุประสงค์เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

เหตุในคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อ 13 ต.ค. 2563 เวลาประมาณ 8.30 น. จตุภัทร์ปรากฏตัวที่ทางเท้าหน้าแมคโดนัลด์ แต่พยานจำไม่ได้ว่าจำเลยมากับใครบ้าง เนื่องจากเป็นพื้นที่รับผิดชอบของ สน.ชนะสงคราม และขณะนั้นพยานไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ ต่อมา 9.30 น. จตุภัทร์ให้สัมภาษณ์ว่าจะปักหลักค้างคืน เพื่อรอการชุมนุมวันที่ 14 ต.ค. 2563

พยานเบิกความต่อว่า สถานที่เกิดเหตุมี 6 ช่องทางจราจร เดินรถทางเดียว โดยช่วงเย็นวันเกิดเหตุจะมีขบวนเสด็จผ่านใกล้ที่เกิดเหตุ 

พยานเบิกความว่า ประมาณ 9.00 น. เริ่มมีการกางเต็นท์ขนาดใหญ่สีขาว 2 หลัง หน้าร้านแมคโดนัลด์และหน้าป้ายโรงเรียนสตรีวิทยา ใต้เต็นท์ใหญ่ยังมีเต็นท์สำหรับพักค้างแรม พยานทราบภายหลังว่า เทศกิจเข้าไปเจรจาและตรวจยึดเต็นท์นอนดังกล่าว

ผู้บัญชาการสั่งการให้พยานเข้าดูแลความปลอดภัย เนื่องจากจตุภัทร์โพสต์เฟซบุ๊กแจ้งว่า คณะราษฎรได้มาปักหลักหน้าแมคโดนัลด์แล้ว พร้อมภาพยืนรวมกลุ่ม 20 – 30 คน ชูสามนิ้ว ซึ่งพยานเห็นว่าเป็นการแจ้งให้ผู้ร่วมอุดมการณ์ทราบ และเชิญชวนให้มาชุมนุม

ประมาณ 13.00 น. มีรถกระบะขนเครื่องขยายเสียงที่สามารถยืนได้คล้ายเวทีชั่วคราวมาจอดหน้าร้านแมคโดนัลด์ ใช้ช่องจราจรที่ 1 และ 2 จากซ้ายมือ ทำให้การจราจรถูกปิดสองช่องทางโดยปริยาย จากนั้นเริ่มมีการปราศรัยและมีรถของผู้ชุมนุมเข้ามาสมทบ เมื่อมากขึ้นประมาณ 100 คน ผู้ชุมนุมนำแผงเหล็กของเจ้าหน้าที่มากั้นล้อมรถของผู้ชุมนุมและรถเครื่องเสียง ป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่อายัดรถหรือควบคุมตัวบุคคลที่ปราศรัย และติดป้ายผ้าที่มีข้อความ เช่น มิได้เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง, ยกเลิกมาตรา 112 และ ยกเลิกการบริจาคเป็นพระราชกุศล 

ผู้ชุมนุมทำกิจกรรมบนผิวถนนหน้าร้านแมคโดนัลด์ โดยไม่ได้รับอนุญาต  ไม่มีจุดคัดกรองโรคโควิด-19 ไม่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือการแพทย์ บางคนสวมหน้ากาก บางคนไม่สวม และไม่เว้นระยะห่าง โดย พ.ต.อ.อิทธิพล พงษ์ธร ผกก.สน.ชนะสงคราม เป็นผู้ใช้รถติดเครื่องขยายเสียงประกาศให้ยุติการชุมนุม เนื่องจากฝ่าฝืนกฎหมาย อยู่ในระยะไม่เกิน 10 เมตร จากจุดที่จตุภัทร์ปราศรัยอยู่ 

พยานให้การว่า พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 เข้าไปพูดคุยกับจตุภัทร์ในช่วงบ่ายหลังเริ่มทำกิจกรรม เจรจาขอให้ยุติการทำกิจกรรม ขอให้เปิดเส้นทางการจราจร และเก็บของที่เตรียมนำมาค้างแรมให้เรียบร้อย แต่ไม่เป็นผล ผู้ชุมนุมยังคงทำกิจกรรมต่อ โดยพยานเป็นผู้ช่วยของ พล.ต.ต.เมธี ไม่ได้เจรจากับจตุภัทร์โดยตรง 

พยานทำหน้าที่บันทึกรายละเอียดทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ทราบว่าจะมีการควบคุมตัวแกนนำเพื่อยุติการชุมนุม โดยให้กองสืบสวนควบคุมตัวแกนนำและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ส่วน คฝ. ช่วยควบคุมฝูงชน โดยยืนตามแนวหันหน้าหาผู้ชุมนุม ส่วนผู้ชุมนุมยืนล้อมรอบรถและเวทีหันหน้าไปทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยลักษณะเผชิญหน้า ใช้แขนคล้องแขนในลักษณะเป็นเกราะให้รถและแกนนำ 

เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าประชิดมากขึ้น เริ่มมีการสาดสีน้ำหรือสีน้ำมันมาทางเจ้าหน้าที่โดยไม่ได้เจาะจง เกิดเหตุชุลมุน พยานเห็นตำรวจชุดหนึ่งเข้าไปควบคุมตัวจตุภัทร์ลงจากเวที แต่ไม่เห็นผู้ชุมนุมทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ โดยได้รับแจ้งจากฝ่ายสืบสวนว่ามีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บเล็กน้อย 7 ราย ส่วนการสาดสีทำให้ชุดเครื่องแบบตำรวจเสียหาย เสื้อสีเหลืองของพยานก็เปื้อนสีซักไม่ออก แต่พยานไม่ติดใจ

เมื่อมีเหตุวุ่นวาย คฝ. และ ฝ่ายสืบสวนที่มีหน้าที่ควบคุมแกนนำ ได้เข้าควบคุมตัวขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหา มีผู้ชุมนุมบางคนพยายามเข้ามาฉุดรั้งเพื่อจะช่วยผู้ถูกจับกุม จึงถูกควบคุมตัวไปด้วย และนำตัวทั้งหมดไปที่ บก.ตชด. ภาค 1 รวมผู้ถูกควบคุมตัว 21 คน 

สำหรับพฤติการณ์ของจำเลยแต่ละคน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในที่เกิดเหตุ ผู้กล่าวหาให้การว่า จตุภัทร์เป็นแกนนำผู้จัดการชุมนุม เป็นผู้โพสต์เชิญชวน และดำเนินรายการบนเวทีเป็นหลักอยู่คนเดียว

วชิรวิชญ์ ทำหน้าที่เตรียมสถานที่พักค้างแรมเพื่อรอชุมนุมในวันถัดไป จำเลยเป็นคนตัวใหญ่ พยานคาดว่าได้รับมอบหมายให้เป็นแนวหน้าทางการปฎิบัติหน้าที่ของตำรวจ ขณะกระชับพื้นที่ พยานอ้างว่าจำเลยรายนี้สาดสีใส่เจ้าหน้าที่

ปริญญ์ เป็นคนรูปร่างใหญ่ น่าจะได้รับมอบหมายให้ขัดขวางการปฎิบัติหน้าที่ของตำรวจ

ปวริศ ทำหน้าที่ผูกผ้าตามแนวรั้วแผงกั้น ชูสามนิ้ว ขัดขวางการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่

วันชัย ทำหน้าที่ยืนขัดขวางการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่

วรางคณา นั่งและยืนขวางการปฎิบัติหน้าที่

นันทพงศ์ ทำหน้าที่เป็นการ์ดให้แกนนำป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวจตุภัทร์ และโพสต์เชิญชวนมาค้างคืนวันที่ 13 ต.ค. 2563

ทวีชัย, เมยาวัฒน์, ธนกฤต, เพ็ญศรี, อภิชญา, มุสิก, และภักดี คอยขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ 

นวพล ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และระดมมวลชนมาขัดขวางการปฎิบัติงานของเจ้าพนักงาน เจรจาเรื่องกางเต็นท์กับเทศกิจที่มาสั่งให้เก็บ 

กิตติภูมิ ขัดขวางการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ 

ทรงพล เป็นผู้ดำเนินรายการ ร้องเพลง และขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน 

จิรวัฒน์ เตรียมอุปกรณ์สาดสี และใช้มือจุ่มสีสะบัดใส่เจ้าหน้าที่ 

ไชยอมร ชูสามนิ้วและขัดขวางการปฎิบัติงานของเจ้าพนักงาน ยืนกีดขวางรถของเจ้าหน้าที่ ไม่ให้ขับเคลื่อนออกไป 

พยานเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจตุภัทร์ และเป็นผู้ควบคุมการจัดทำบันทึกการสืบสวน ประมวลข้อเท็จจริงตามลำดับเวลา โดยเปรียบเทียบกับหน่วยต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนเสนอผู้บังคับบัญชา และรวบรวมข้อเท็จจริงพยานหลักฐานส่งพนักงานสอบสวน 

ช่วงทนายความจำเลยถามค้าน

พยานตอบว่า วันที่ 14 ต.ค. เป็นวันครบรอบเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย เคยมีการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา ประชาชน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในปี 2561 เพื่อคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มาจากการยึดอำนาจเมื่อปี 2557 

พยานรับว่า การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ  บัญญัติมาเพื่อให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมและคุ้มครองการชุมนุม ซึ่งการแจ้งการชุมนุมเป็นการแจ้งให้ทราบ ไม่ใช่การขออนุญาต เจตนารมณ์ของกฎหมายสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ไทยเป็นภาคี แต่พยานจำไม่ได้ว่าจตุภัทร์ปราศรัยว่าตำรวจอย่าออกมาสลายการชุมนุมเพราะเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

พยานไม่ทราบว่า มีการร้องต่อศาลแพ่งให้เลิกการชุมนุมหรือไม่ แต่ขณะเจ้าหน้าที่ประกาศให้เลิกการชุมนุม พยานได้ยินว่าศาลมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม

ต่อมารถเครื่องเสียงมาถึงประมาณ 13.00 น. และมีรถของผู้ชุมนุมขับตามมาสมทบจากหลายกลุ่ม เพื่อเตรียมพักค้างคืน มีการเจรจาให้เก็บเต็นท์ แต่จตุภัทร์ยืนยันว่าเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่จะพักค้างคืน มีป้ายผ้าข้อความว่า “หยุดคุกคามประชาชน” “ขี้ข้าเผด็จการ” “ยุบสภาภายใต้กติกาใหม่” สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การชุมนุมที่แถลงข่าว

พยานรับว่า ส่วนรถเครื่องเสียงไม่ได้จอดอยู่ใน 6 ช่องการจราจรของถนนราชดำเนิน การกางเต็นท์บนทางเท้าการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ เช่นเดียวกับการจอดรถชิดขอบทาง เกี่ยวกับ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ พยานไม่ทราบว่าศาลมีคำพิพากษาหลายคดีแล้วว่าพฤติการณ์เช่นคดีนี้ไม่เป็นความผิด

พยานเบิกความว่า ในขณะนั้น รถยังสัญจรได้ เสียไปเพียงสองช่องทางจราจรทางซ้าย พยานไม่มั่นใจว่า พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ห้ามการชุมนุมบนผิวถนนหรือไม่ แต่ต้องเป็นพื้นที่การชุมนุมที่เจ้าหน้าที่จัดให้ การชุมนุมที่มีการเคลื่อนขบวน หากมีความจำเป็นต้องใช้ช่องทางจราจรจะมีเจ้าพนักงานจราจรดูแล และไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น

ทั้งนี้ พยานไม่มีส่วนร่วมในการจับกุม ส่วนเหตุชุลมุน เนื่องจากมีผู้ชุมนุมถูกจับไปก่อน 2 คน ทำให้ผู้ชุมนุมไม่พอใจ แต่จากนั้น พยานขอเบิกความใหม่ในส่วนนี้ว่า พยานไม่เห็นเหตุการณ์ แต่เกิดเหตุชุลมุนเพราะมีประกาศให้เลิกการชุมนุม แล้วเจ้าหน้าที่กระชับแนวเข้าหาผู้ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมโกรธเคือง 

พยานไม่ทราบว่า ในการควบคุมตัวมีผู้ชุมนุมเป็นลมและบาดเจ็บหรือไม่ จำไม่ได้ว่าในช่วงชุลมุน จตุภัทร์จะบอกผู้ชุมนุมให้สาดสีหรือไม่ แต่ตามหลักฐานการถอดเทปปราศรัย จตุภัทร์ไม่มีคำพูดบอกให้ผู้ชุมนุมสาดสีใส่เจ้าหน้าที่ พยานไม่ทราบว่าสีถูกเตรียมมาเขียนป้ายผ้าหรือไม่ แต่ทราบว่าถูกใช้สาดใส่เจ้าหน้าที่ขณะมีเหตุชุลมุน โดยก่อนหน้านี้พยานเคยพบข่าวที่ผู้ชุมนุมใช้สีในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

พยานไม่ทราบว่า ชุด คฝ. ที่เป็นสีกรมท่าเข้มจะสามารถซักจนไม่เห็นรอยสีได้หรือไม่ พยานรับว่าสีอะคริลิคใช้น้ำล้างออกได้ โดย กทม. ใช้รถน้ำฉีดสีออกจากผิวถนน แต่พยานยืนยันว่าล้างออกยาก 

พยานยืนยันเอกสารของกรมควบคุมโรคที่ระบุว่า ช่วงวันที่ 6 – 20 ต.ค. 2563 ศบค. รายงานว่า ไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศ พร้อมยอมรับว่า พื้นที่ชุมนุมเป็นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่เป็นที่แออัด 

หลังควบคุมตัวจตุภัทร์ไป มีผู้ชุมนุมคนอื่นพูดบนรถเครื่องขยายเสียงต่อ ตั้งแต่ 16.00 – 17.00 น. หน้าร้านแมคโดนัลด์ โดยไม่มีการควบคุมตัวหรือดำเนินคดี และพยานไม่ได้เป็นผู้กล่าวหาผู้ชุมนุมกลุ่มนี้ เพราะเจ้าหน้าที่เจรจาและกลุ่มดังกล่าวยอมเคลื่อนย้ายไปที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครต่อ พยานไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ต้องการควบคุมตัวจตุภัทร์เป็นหลักหรือไม่

ผู้กล่าวหาตอบคำถามค้านอีกว่า พยานไม่เห็นว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ ไม่ปรากฏว่าคนใดมีพฤติการณ์ปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรงหรือก่อเหตุวุ่นวายบ้านเมือง ยกเว้นจตุภัทร์ และไม่ให้ความเห็นต่อคำถามว่า กษัตริย์ควรอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยพยานยืนยันความหมายของคำว่า “มั่วสุม” ตามพจนานุกรม

พยานทราบว่า จะมีขบวนเสด็จในวันเกิดเหตุ แต่ไม่ทราบว่าสาเหตุที่สลายการชุมนุมเพื่ออำนวยความสะดวกให้ขบวนเสด็จหรือไม่ ต่อมาขบวนเสด็จผ่านที่เกิดเหตุประมาณ 17.00 น. โดยยังมีผู้ชุมนุมอีกกลุ่มอยู่บริเวณดังกล่าว และพยานไม่ทราบว่ารัชกาลที่ 10 มีพระราชประสงค์ไม่ให้ปิดถนนเพื่อรบกวนการจราจรให้น้อยที่สุด 

การเจรจากับผู้ชุมนุมมีหลายรอบ รอบที่พยานอยู่ด้วย คือ รอบที่ พล.ต.ต.เมธี ขอร้องให้ยุติกิจกรรม แต่ผู้ชุมนุมยังยืนยันใช้สิทธิที่จะชุมนุม พยานจำไม่ได้ว่าผู้ชุมนุมจะแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าหากมีขบวนเสด็จ ผู้ชุมนุมจะอยู่ในเต็นท์หรือไม่ และจำไม่ได้ว่า พล.ต.ต.เมธี เกี่ยวข้องกับขบวนเสด็จหรือไม่ 

พยานเบิกความว่า จำนวนผู้ชุมนุม 100 คนเป็นการประเมินด้วยสายตา โดยแยกสื่อมวลชนออกไปแล้ว แต่อาจจะมีเจ้าหน้าที่ปนอยู่บ้างก็ไม่มาก ส่วนนักข่าวมีสัญลักษณ์บอกฝ่ายแยกได้ชัดเจน มีการจัดกำลัง คฝ. 2 กองร้อย แต่ไม่ทราบว่ากี่คน

พยานไม่ทราบว่ามีการขอภาพจากสำนักข่าวมาเป็นหลักฐานหรือไม่ โดยยืนยันว่าภาพที่นำมาเป็นหลักฐานไม่มีการตัดต่อ แต่ไม่ทราบว่าภาพที่สถานีโทรทัศน์นำไปเผยแพร่ จะถูกตัดมานำเสนอบางช่วงเวลาหรือไม่

พยานจำไม่ได้ว่าวันเกิดเหตุเป็นวันหยุดราชการหรือไม่ และไม่ทราบว่ามีประชาชนไปร้องทุกข์ว่าได้รับความเดือดร้อนในวันนั้นหรือไม่ พยานไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุตลอดเวลาแต่แวะไปดูเป็นช่วง ๆ ช่วงสุดท้ายคือหลังมีการควบคุมตัวจำเลยไป บก.ตชด. ภาค 1 แล้ว ขณะมีการจับกุม พยานเห็นเหตุการณ์ในมุมกว้าง โดยเห็นการควบคุมแกนนำขึ้นรถ และจับผู้ชุมนุมที่พยายามเข้าช่วยต่อเนื่อง ตำรวจไม่ได้ปิดถนน ขณะ คฝ. เข้าที่เกิดเหตุ ไม่มีการปิดการจราจร แต่พอมีเหตุชุลมุนการจราจรก็ปิดโดยอัตโนมัติ

พยานยืนยันว่า การยืนเฉย ๆ ถือเป็นการขัดขวางเจ้าหน้าที่เพราะสั่งให้ออกแล้วไม่ออกจากพื้นที่ แต่คำเบิกความนี้ ศาลไม่ได้บันทึก

พยานยอมรับว่า ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมสามารถเรียกร้องได้ และไม่มีกฎหมายห้ามว่าการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นความผิด นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญรับรองการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นต่อรัฐ เช่น การเขียนข้อความ โดยข้อความในป้ายผ้าของจำเลยไม่มีข้อความยั่วยุให้กระทำผิดกฎหมาย

พยานเบิกความว่า การจับกุมเป็นการกลุ้มรุมเข้าไปอุ้มตัวหรือฉุดดึงผู้ถูกจับ โดยดึงจตุภัทร์จากรถกระบะ ขณะจับไม่มีการแจ้งข้อหาก่อน และพยานไม่ทราบว่ารถเครื่องเสียงชำระค่าปรับเหตุจอดในที่ห้ามจอดแล้วหรือไม่ 

พยานไม่ทราบว่าขบวนเสด็จจัดการการจราจรอย่างไร แต่สามารถปิดถนนเฉพาะฝั่งที่จะเสด็จได้ ไม่ต้องปิดทั้ง 12 ช่องทาง และไม่ได้ขับไล่ประชาชนออกนอกทางเท้า การชุมนุมรำลึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มีทุกปี อาจจะใช้ผิวการจราจรบ้าง แต่ไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร

สำหรับสีน้ำอะคริลิคที่ถูกยึดเป็นของกลาง ล้างออกได้ง่ายกว่าสีน้ำมัน แต่พยานไม่ทราบว่าชุด คฝ. ที่โดนสี ซักออกหรือไม่ แต่เสื้อสีเหลืองของพยานซักไม่ออก ชุดเครื่องแบบตำรวจถ้าซักคราบสกปรกออกก็นำมาใส่ใหม่ได้ ถ้าซักไม่ออกก็ต้องเปลี่ยน 

ในทางสืบสวน ไม่พบว่าจตุภัทร์ได้ประชุมแบ่งหน้าที่กับจำเลยอื่น การกระทำของผู้ชุมนุมคนหนึ่งเป็นการกระทำของปัจเจกบุคคล ไม่จำเป็นว่าผู้ชุมนุมอื่นจะต้องร่วมรู้เห็นด้วย พยานไม่ทราบว่ามีการนำถ่ายภาพ หรือนำเครื่องแบบที่ซักไม่ออกมาแสดงต่อพนักงานสอบสวน หรือเจ้าหน้าที่จะใส่เสื้อที่ซักไม่ออกซ้ำหรือไม่

พยานทราบว่าจะสลายการชุมนุมต้องไปร้องต่อศาลแพ่งก่อน พยานไม่ได้ทักท้วงผู้บังคับบัญชาว่า ถ้าไม่ปฏิบัติตามกฏหมายอาจไม่ได้รับความร่วมมือ แต่พยานก็ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้บังคับบัญชาเหตุการณ์ของฝ่ายตำรวจ

พยานรับว่า ไชยอมรไม่ได้สาดสีใส่ตำรวจ ไม่ได้กางเต็นท์ หรือขับรถเครื่องเสียงมา และการชูสามนิ้วไม่ถือเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย พยานไม่ทราบมาก่อนว่าการชูสามนิ้ว หมายถึง เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ 

พยานเบิกความว่า ตำรวจที่ทำร้ายผู้ชุมนุม ไม่ได้ถูกดำเนินคดี โดยอ้างว่าไม่มีคลิปที่ตำรวจทำร้ายผู้ชุมนุม ทนายความจำเลยจึงเปิดคลิปที่ตำรวจล็อกคอ ต่อยผู้ถูกจับ และเหยียบซ้ำจนมีคนสลบ พยานให้การว่าไม่เคยเห็นคลิปเหตุการณ์ และไม่เห็นเหตุการณ์

ช่วงพนักงานอัยการถามติง

พยานเบิกความว่า เหตุการณ์ชุลมุนถือเป็นเหตุการชุมนุมที่ไม่สงบ ส่วนเหตุที่มีการควบคุมตัวจำเลย เพราะแจ้งให้เลิกการชุมนุมแล้วไม่เลิก ประชาชนได้รับความเดือดร้อน กีดขวางการจราจร ส่วนเหตุผลในการสลายการชุมนุมนั้น พยานไม่ทราบ 

พยานเบิกความต่อไปว่า ที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ห้ามจอด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ประชาชนใช้สัญจร 

นอกจากนี้ พยานยืนยันคำให้การว่า ไชยอมรถือกระป๋องสี แต่จำไม่ได้ว่าสาดหรือไม่ หลังจากนั้นจึงมีเหตุชุลมุน 

และยืนยันว่าการซักเสื้อปกติ ไม่สามารถล้างสีอะคริลิกออกได้

.

หัวหน้าเทศกิจ เขตพระนคร ยืนยันว่าวันเกิดเหตุ ยังมีถนนให้รถสัญจรได้ ไม่มีการปิดถนน และเห็นว่าตำรวจค่อย ๆ กระชับพื้นที่เพื่อควบคุมตัวผู้ชุมนุม

เจษฎา ประภาสะวัต หัวหน้าฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตพระนคร เบิกความต่อศาลว่า พยานมีหน้าที่ตรวจสอบควบคุมไม่ให้มีการฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยพยานเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ได้รับมอบอำนาจจากผู้อำนวยการเขต

พยานเบิกความว่า 13 ต.ค. 2563 ประมาณ 09.00 น. พยานออกตรวจพื้นที่ตามปกติที่ถนนราชดำเนิน พบผู้ชุมนุมตั้งเต็นท์บนทางเท้า 2 หลัง หน้าร้านแมคโดนัลด์และป้ายโรงเรียนสตรีวิทยา พยานแจ้งแก่ผู้ที่ดำเนินการตั้งเต็นท์ คือ “ไผ่ ดาวดิน” ขอให้รื้อถอนออกไป หลังแจ้งก็ให้เวลาในการแก้ไข

ต่อมา เวลา 12.00 – 13.00 น. พยานได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่เทศกิจที่ประจำอยู่ในพื้นที่ ว่ ยังไม่มีการรื้อถอนเต็นท์ พยานจึงรายงานผู้อำนวยการเขต และได้รับคำสั่งให้ไปดำเนินการ พยานพร้อมเจ้าหน้าที่เทศกิจประมาณ 20 นาย จึงเดินทางไปเจรจากับผู้ตั้งเต็นท์ โดยใช้เครื่องขยายเสียงที่ติดรถตำรวจประชาสัมพันธ์ว่าให้รื้อถอนออก มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่จะเข้ารื้อถอนด้วยตนเอง แต่หลังประกาศผู้ชุมนุมยังไม่ได้เคลื่อนย้ายเต็นท์

พยานเบิกความต่อไปว่า ผิวจราจรมีรถกระบะของผู้ชุมนุมประมาณ 2 – 3 คัน บนทางเท้ามีรถจักรยานยนต์ประมาณ 20 คัน บริเวณดังกล่าวมีรั้วเหล็กและมีผ้าคาดที่มีข้อความรณรงค์ต่าง ๆ พยานไม่เห็นจุดคัดกรองโควิด บางคนไม่สวมหน้ากาก แต่ส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย และไม่มีการเว้นระยะห่าง

พยานเบิกความอีกว่า ตำรวจที่ลงพื้นที่ร่วมกัน ได้แก่ สน.ชนะสงคราม สน.สำราญราษฎร์ และหน่วยปฏิบัติการพิเศษชุดสีน้ำเงิน ที่เขียนว่าปฏิบัติการพิเศษ คาดว่าจะเป็น คฝ. ตำรวจประกาศให้ยุติการชุมนุม พยานแจ้งให้เคลื่อนย้ายเต็นท์ออก แต่ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม เจ้าหน้าที่เทศกิจและพยานจะเข้าไปรื้อถอนเต็นท์ จึงให้ตำรวจป้องกันขณะปฎิบัติหน้าที่ ระหว่างนั้นเกิดเหตุชุลมุน มีการยื้อยุดและปะทะแต่พยานมองไม่เห็นว่าใครทำอะไร 

พยานเห็นการจับกุมผู้ชุมนุม การผลักและสาดสีใส่ตำรวจรวมถึงเทศกิจ พยานให้เทศกิจรื้อถอนเต็นท์หลังที่อยู่หน้าป้ายโรงเรียนสตรีวิทยา และให้เจ้าหน้าที่เทศกิจเข้าไปเก็บของภายในเต็นท์ ซึ่งมีเต็นท์นอน 4-5 เต็นท์ และกองสัมภาระ แล้วนำไปเก็บรักษาที่ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตพระนคร พร้อมทำบัญชีของกลางที่อายัดไว้ โดยต่อมามีผู้ไปแสดงตนเป็นเจ้าของและขอรับคืน

หลังรื้อเต็นท์หลังแรก พยานเห็นผู้ชุมนุมบางส่วนถูกตำรวจจับกุม จึงไปเจรจากับผู้ชุมนุมที่เหลือ ขอให้รื้อเต็นท์หลังที่สองที่หน้าร้านแมคโดนัลด์ ผู้ชุมนุมขอเต็นท์ตั้งไว้ก่อน เพราะมีผู้สูงอายุและเด็กต้องใช้พักอาศัย และมีฝนตกลงมา พยานจึงแจ้งให้ย้ายเข้าไปในซอยข้างร้านแมคโดนัลด์ โดยมีเจ้าหน้าที่เทศกิจช่วยในการเคลื่อนย้าย การเจรจาเป็นผล

ต่อมา 31 ต.ค. 2563 พยานได้รับมอบอำนาจจากผู้อำนวยการเขตพระนครให้ไปแจ้งความตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ และฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าหน้าที่ให้รื้อถอนเต็นท์ พร้อมแนบภาพเหตุการณ์ พยานให้การในชั้นสอบสวนยืนยันผู้กระทำความผิด คือจตุภัทร์

ช่วงทนายความจำเลยถามค้าน 

พยานตอบคำถามค้านว่า ไม่ทราบว่ามีการนัดชุมนุมวันที่ 14 ต.ค 2563 ไว้ล่วงหน้า ตนรู้จักจตุภัทร์จากสื่อ และทราบว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องประชาธิปไตย จึงมีประชาชนมาชุมนุมบ่อยครั้งตั้งแต่อดีต มีกลุ่มชาวบ้านหลากหลายมาชุมนุมและตั้งเต็นท์ค้างคืนบนทางเท้า เช่น กลุ่มบางกลอย เทพา จะนะ สมัชชาคนจน และบางครั้งมีรถสุขาของกรุงเทพมหานครไปอำนวยความสะดวกที่ UN และทำเนียบรัฐบาล และพยานรับว่าการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

พยานเบิกความว่า เต็นท์ตั้งบนทางเท้า ผู้ชุมนุมได้จัดพื้นที่เป็นที่พักเพื่อค้างคืน ทำให้ประชาชนสัญจรผ่านเต็นท์ดังกล่าวไม่ได้ การชุมนุมกลุ่มอื่น ๆ ก็มีป้ายผ้าเพื่อสื่อสารข้อเรียกร้องเช่นกัน ส่วนของที่ยึดได้ในเต็นท์เป็นของใช้ส่วนตัว เป็นของสะอาด ไม่ได้สร้างความเลอะเทอะให้บ้านเมือง ขณะคืนของนั้น ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตมีการว่ากล่าวตักเตือน แต่ไม่ได้เปรียบเทียบปรับ ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ 

วันเกิดเหตุพยานปฎิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 07.00 – 21.00 น. อยู่ในที่เกิดเหตุขณะมีเหตุชุลมุน ไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่มีจำนวนมากกว่าผู้ชุมนุมหรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่มีจำนวนประมาณ 200 คน ขณะนำตัวผู้ถูกจับขึ้นรถตู้ พยานเห็นตำรวจล็อกแขนฝั่งละคน 

วันเกิดเหตุเป็นวันหยุดราชการหรือไม่ พยานจำไม่ได้ แต่วันหยุดจะมีรถสัญจรน้อยกว่าวันทำการของราชการ ในที่เกิดเหตุรถยังสัญจรได้ แต่มีรถผ่านเส้นทางไม่มาก เพราะมีชุมนุมหลายจุด ประชาชนลงบนผิวถนนประมาณ 2 ช่องทาง แต่ไม่มีการปิดถนน 

พยานเบิกความต่อว่า รถเครื่องเสียงไม่ได้ขวางช่องทางจราจร 6 ช่องทางของถนนราชดำเนิน ปกติบริเวณนั้นเป็นพื้นที่ที่ผู้ปกครองโรงเรียนสตรีวิทยามักจอดรับบุตรหลาน ซึ่งจอดในลักษณะเดียวกันกับรถเครื่องเสียง โดยเป็นพื้นที่ที่เว้าเข้าไป แม้จะมีเส้นขาวแดง บนทางเท้าหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาอาจมีพ่อค้าแม่ค้าขายของ แต่เทศกิจก็ผ่อนผันตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ให้ และจัดระเบียบไม่ให้ขวางทางเท้า ถ้าไม่สร้างความเดือดร้อนเกินสมควร 

เหตุการณ์วันเกิดเหตุ ตำรวจกระชับพื้นที่ล้อมรถเครื่องเสียงใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ จนควบคุมตัวจตุภัทร์ได้ พยานไม่ได้เห็นเหตุการณ์โดยตลอด เพราะต้องเตรียมเจ้าหน้าที่เพื่อไล่รื้อ ไม่เห็นตำรวจกลุ้มรุม ฉุด แล้วดึงผู้ถูกจับขึ้นรถ แต่ตำรวจเป็นฝ่ายเคลื่อนเข้าหาผู้ชุมนุมก่อน ขณะตำรวจกระชับเข้าไป ผู้ชุมนุมก็คล้องแขนอยู่กับที่ พยานไม่เห็นผู้ชุมนุมมีอาวุธ เพียงแต่สาดสีใส่เจ้าหน้าที่เท่านั้น

เท่าที่พยานเห็น จตุภัทร์ไม่ได้ยั่วยุให้ใช้ความรุนแรง ก่อความวุ่นวาย หรือทำลายทรัพย์สินราชการ ส่วนรถจักรยานยนต์บนทางเท้าไม่ทราบว่าเป็นของใคร เพราะไม่ได้ยึดไป หลังเก็บเต็นท์รถจักรยานยนต์ก็เคลื่อนย้ายออกไป การเขียนป้ายผ้าเพื่อสื่อความหมาย สำนักงานเขตไม่ได้ยึดไว้ ส่งมอบคืนหมด

พยานตอบคำถามค้านอีกว่า ไม่มีตำรวจขอให้พยานเป็นผู้ร่วมจับกุมตามมาตรา 215 และพยานไม่มีอำนาจจับกุม ซึ่งถ้าผู้จับไม่มีอำนาจจับ ผู้ถูกจับมีสิทธิไม่ปฏิบัติตาม ทนายจำเลยให้พยานดูคำให้การในชั้นสอบสวน มีข้อความว่า พยานเป็นผู้ร่วมจับกุมในข้อหาตามฟ้อง พยานเบิกความว่า เข้าใจว่าเป็นข้อหาตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ เท่านั้น ขณะจับกุม พยานไม่ได้พูดว่าจะจับเฉพาะผู้กางเต็นท์ เนื่องจากพยานไม่มีอำนาจจับกุม และในคำให้การ พยานไม่ได้ประกาศว่าให้รื้อถอนภายในกำหนดเวลาเท่าใด พยานเบิกความเพิ่มในส่วนนี้ว่า หมายความว่าให้รื้อถอนทันที แต่พยานไม่ได้บอกให้พนักงานสอบสวนให้แก้ไขคำให้การให้ตรงกับความจริง

นอกจากนี้ พยานไม่ทราบเกี่ยวกับการฉีดน้ำล้างถนนที่เกิดเหตุ ตัวพยานไม่เปื้อนสี แต่มีเทศกิจ 3 – 4 คน ที่เครื่องแบบเปื้อนสี แต่ไม่ได้แจ้งความข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ทราบว่าซักไม่ออก และไม่ได้แนะนำวิธีซัก รวมถึงไม่ได้พาไปแจ้งความ พยานไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่เทศกิจนำชุดที่ซักไม่ออกไปมอบให้พนักงานสอบสวนหรือไม่ 

ช่วงตอบพนักงานอัยการถามติง

พยานตอบว่า มีหน้าที่ดูแลทางเท้าและผิวจราจรตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ การผ่อนผันใช้เกณฑ์ว่า ไม่กีดขวางการสัญจร มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย รักษาความสะอาดได้ โดยผู้มีอำนาจ คือ ผู้อำนวยการเขต ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต และหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ ซึ่งเหตุในคดีนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้มีอำนาจ 

ส่วนที่ไม่ถูกต้องในคำให้การชั้นสอบสวน ได้แก่ การร่วมจับกุมในข้อหาอื่น และพยานไปถึงที่เกิดเหตุตั้งแต่ช่วงเช้าไม่ได้เข้าไปตอนเที่ยง พยานไม่มีอำนาจจับกุม และลำดับเวลาไม่ถูกต้อง

.

ตำรวจสันติบาล เบิกความไม่ได้ติดตามใครพิเศษ สืบสวนหาข่าวในพื้นที่ชุมนุมทั่วไปเท่านั้น และยืนยันว่าเหตุการณ์ชุลมุนเริ่มจาก คฝ. เดินกระชับพื้นที่ก่อน

ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ อังหนะ  ตำรวจสันติบาล เบิกความว่า พยานมีหน้าที่สืบสวนหาข่าวประจำกองตำรวจสันติบาล 1 คดีนี้ผู้บังคับบัญชามอบหมายตั้งแต่ต้นปี 2563 ให้สืบสวนหาข่าวการชุมนุมทางการเมืองของทุกเรื่อง ทุกกลุ่ม ในกรุงเทพมหานคร 

ในวันเกิดเหตุ พยานไปถึงที่เกิดเหตุประมาณ 10.00 น. เดินไปมาโดยรอบเพื่อดูจุดที่สำคัญ พยานเห็นรถกระบะติดตั้งเครื่องเสียงจอดอยู่หน้าร้านแมคโดนัลด์บนผิวจราจร มีกลุ่มมวลชนมาเต็มพื้นที่หลักร้อยคนบนทางเท้าและพื้นถนน 2 ช่องจราจร ผู้อื่นสามารถใช้ช่องทางจราจรได้ในช่องที่ 3 – 6  พยานจำไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ปราศรัยและมีเนื้อหาอย่างไร 

พยานให้การว่า ในที่ชุมนุมไม่มีมาตรการป้องกันโรค ไม่มีจุดคัดกรอง ไม่เว้นระยะห่าง มีทั้งผู้ที่ใส่และไม่ใส่หน้ากาก มีเจ้าหน้าที่มาประกาศให้เลิกชุมนุมโดยรถเครื่องเสียง โดยตำรวจเจ้าของท้องที่เข้าไปเจรจา แต่ผู้ชุมนุมยังคงชุมนุมต่อ พยานอยู่ในขณะเกิดเหตุชุลมุน เป็นการจับแกนนำที่อยู่บนรถ ส่วนด้านล่างมีการสาดสีใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ พยานจำไม่ได้ว่ามีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหรือไม่ แต่มีชุดเจ้าหน้าที่เสียหายโดนสีเต็ม ๆ 3 ชุด ต้องตัดชุดใหม่ แต่เจ้าหน้าที่อีกประมาณ 20 นาย เปื้อนสีเล็กน้อย

หลังจับแกนนำไปแล้ว พยานให้การต่อว่า มวลชนที่เหลือประกาศยุติการชุมนุมเอง จำไม่ได้ว่ามีคนถูกควบคุมตัวกี่คน แต่ถูกจับหลายคน หลังจบกิจกรรม พยานรวบรวมข้อมูลในนามของหน่วยงาน โดยมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ 10 คน นำข้อมูลมารวมกัน และบันทึกว่าแต่ละคนเก็บข้อมูลอะไรมาได้ เพื่อทำรายงานสืบสวนเสนอผู้บังคับบัญชา พยานไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน

ช่วงตอบทนายความจำเลยถามค้าน

พยานตอบว่า ข้อเรียกร้องต่าง ๆ ที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องเป็นข้อเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญ กลุ่มเยาวชนออกมาชุมนุมอย่างสันติ แกนนำไม่ได้ประกาศให้ใช้ความรุนแรง เพียงแต่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์

พยานแต่งกายนอกเครื่องแบบปะปนกับมวลชน แต่ไม่พบอาวุธหรือสิ่งอันตรายในกลุ่มผู้ชุมนุม จำไม่ได้ว่ามีการตั้งเต็นท์หรือไม่ แต่มีซุ้มเล็ก ๆ ตั้งอยู่บนทางเท้าเป็นจุดกระจาย พยานจำไม่ได้ว่ามีการเขียนป้ายผ้าหรือไม่ 

ปกติการควบคุมตัวจะใช้เจ้าหน้าที่ประมาณ 4-5 นาย ต่อผู้ถูกควบคุมตัวหนึ่งคน การจับกุมเป็นลักษณะเจ้าหน้าที่เดินกระชับเข้าหาผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมยืนคล้องแขนป้องกันการจับกุมแกนนำ ในนั้นมีผู้หญิงด้วย พยานเห็นผู้ถูกจับไปก่อนสองคนแรกในพื้นที่ชุมนุมหน้าร้านแมคโดนัลด์ ทำให้ผู้ชุมนุมอารมณ์ร้อนขึ้น แต่พยานจำไม่ได้ว่าผู้ถูกจับคือใคร เมื่อมีคนถูกจับไปแล้ว จึงมีการสาดสี พยานคาดว่ามีการเตรียมการมาก่อน เพราะการใช้เขียนป้ายผ้า ไม่จำเป็นต้องนำมามากขนาดนี้ และรับว่ามีคนเป็นลมล้มไป แต่ไม่ได้เกิดจากการทำร้ายของเจ้าหน้าที่

หลังจับจตุภัทร์ได้แล้ว คฝ. ก็ล่าถอยไป ไม่ได้จับกุมผู้ใดเพิ่ม พยานอยู่ในที่เกิดเหตุจนมวลชนกลับ ไม่มีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้น โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมปราศรัยต่อ แต่จำระยะเวลาไม่ได้ หลังเสร็จสิ้น พยานพบเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครมาทำความสะอาด โดยฉีดน้ำล้างสีที่เกิดเหตุ

พยานทำงานสืบสวนหาข่าวตั้งแต่ 2562 – ปัจจุบัน วันเกิดเหตุ พยานและหน่วยงานลงพื้นที่ประมาณ 10 คน แต่งกายนอกเครื่องแบบปะปนกับกลุ่มมวลชน และมีเจ้าหน้าที่หน่วยอื่นด้วยทั้งในและนอกเครื่องแบบ เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบประมาณ 50 – 100 นาย รวมถึง คฝ.  พยานไม่รู้จัก ไม่สามารถแยกตำรวจหน่วยอื่น ๆ ที่แฝงตัวปะปนกับผู้ชุมนุมได้ 

พยานรับว่า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นพื้นที่เปิดโล่ง แต่ผู้ชุมนุมยืนติดกัน ตัวอักษรที่เขียนบนป้ายผ้าเป็นสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีเดียวกันกับที่ถูกสาดใส่เจ้าหน้าที่ ขณะจับกลุ่มมีฝนตกทำให้สีที่สาดไปยังไม่แห้ง แห้งยาก 

พยานรับว่า เหตุการณ์เริ่มจากเจ้าหน้าที่ คฝ. เดินโอบล้อมกระชับพื้นที่ ประชาชนยืนคล้องแขนป้องกันแกนนำ ระหว่างนั้น เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ชุมนุมคนอื่นไปก่อน และจับจตุภัทร์เป็นคนสุดท้าย การจับกุมผู้ชุมนุมไม่ได้กระชากลากถู แต่ผู้ถูกจับขัดขืนและล้มลง แต่เมื่อทนายจำเลยเปิดคลิปเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมถูกทำร้าย พยานไม่ยืนยันว่าคนที่ทำร้ายเป็นเจ้าหน้าที่หรือไม่

พยานไม่ได้รับคำสั่งให้ติดตามใครเป็นพิเศษ แต่ทำหน้าที่สืบสวนหาข่าวในภาพรวม ในการลงพื้นที่ต่างคนต่างไป หน่วยสันติบาลมีไลน์กลุ่ม โดยพยานเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในกลุ่ม ทำหน้าที่หาข่าวทั่วไปในที่ชุมนุม โดยมีอุปกรณ์ คือ โทรศัพท์มือถือบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว รายงานการสืบสวนเป็นการรวบรวมข้อมูลจากทีมของพยานทั้ง 10 คน ไม่ใช่ข้อเท็จจริงจากพยานเพียงคนเดียว และรายงานดังกล่าวทำก่อนที่พยานจะไปให้การในชั้นสอบสวน แต่พยานไม่ได้บอกพนักงานสอบสวนว่าข้อมูลในรายงานได้มาจากการประมวลในหน่วยงานของพยาน

ข้อมูลเกี่ยวกับไชยอมร พยานไม่สามารถระบุได้ว่ามาจากเจ้าหน้าที่คนใด แต่มาจากการรวบรวมข้อมูลของคณะทำงาน ไชยอมรแต่งกายในวันเกิดเหตุอย่างไร พยานจำไม่ได้ แต่ยืนยันว่าเห็นไชยอมรในวันเกิดเหตุ ขณะถูกจับ มือไชยอมรเปื้อนสี สวมเสื้อกันฝน  ในส่วนที่คำให้การชั้นสอบสวนของพยานในส่วนที่เกี่ยวกับไชยอมร เหมือนคำให้การชั้นสอบสวนของพยานคนอื่นทุกตัวอักษร แต่พนักงานสอบสวนจะคัดลอกมาหรือไม่ พยานไม่ทราบ 

ช่วงพนักงานอัยการถามติง

พยานตอบว่า เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจะไม่อยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม แต่จะอยู่กลุ่มนักข่าว ใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพและทำตัวใกล้เคียงกับนักข่าว ไม่ได้ไปยืนคล้องแขนกับผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ทยอยควบคุมตัวบุคคล แต่จับจตุภัทร์เป็นคนสุดท้ายเพราะอยู่กลางวงด้านในสุด การจับกุมใช้เวลาพอสมควร โดยจับครั้งละ 2 – 4 คน ไม่ได้จับทีเดียว 20 คน

.

คฝ. เบิกความทำนองเดียวกันว่า ตำรวจกระชับพื้นที่เข้าหาผู้ชุมนุมก่อน หลังไม่ยุติการชุมนุม และยอมรับว่าการชุมนุมไม่ได้มีวัตถุประสงค์สร้างความรุนแรง  แต่รวบรวมตัวเรียกร้องทางการเมือง

ในคดีนี้มีการเรียกกองกำลังควบคุมฝูงชนจากจังหวัดชลบุรีเข้ามา รวมกับกำลังพลพนักงานตำรวจในกรุงเทพฯ โดยพยานซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็น คฝ. ที่ขึ้นเบิกความในคดีนี้มีทั้งสิ้น 11 นาย ได้แก่ ส.ต.อ.สุประดิษฐ์ เมืองสอง  ตำรวจควบคุมฝูงชน สภ.แหลมฉบัง, ส.ต.อ.ชาย อินทร์เมือง ตำรวจควบคุมฝูงชน สภ.เมืองพัทยา, ส.ต.อ.นันปพัฒน์ ถำวาปี ตำรวจควบคุมฝูงชน สภ.เมืองพัทยา, ส.ต.ท.ไกรวิทย์ พวงบุตร ตำรวจควบคุมฝูงชน สภ.เมืองชลบุรี, ส.ต.อ.วิศรุต บุญเกิด และ ส.ต.อ.พงษ์เดช ยกยอดี ตำรวจควบคุมฝูงชนจาก สภ.สัตหีบ,
ส.ต.อ.อภิรักษ์ บุญมี, ส.ต.ท.ชัยยันต์ พงษ์สระวัง, ส.ต.ท.ชัยณรงค์ คล่องดี และ ส.ต.ต.ณัฐพล แซ่เฮ็ง

พยานกลุ่มนี้เบิกความไปทำนองเดียวกันว่า ผู้บังคับบัญชา คือ พ.ต.ท.กฤษณ์ มาสุข และ พ.ต.ท.มาโนช เพ็ชรประกอบ ได้สั่งการให้มาปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชน พร้อมกับเจ้าพนักงานตำรวจอีกรวม 150 คน โดยมาถึงกรุงเทพฯ วันที่ 12 ต.ค. 2563 พักอยู่ที่วัดมหรรณพาราม และเริ่มปฏิบัติหน้าที่วันที่ 13 ต.ค. 2563 เวลาประมาณ 15.00 น. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

พยานทุกคนเบิกความไปในทำนองเดียวกันว่า ผู้ชุมนุมไม่มีมาตรการป้องกันโรค ไม่มีจุดคัดกรองโรค ผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัย บางส่วนไม่ใส่ แต่พยานจำไม่ได้ว่าสวมทุกคนหรือไม่ และไม่มีการเว้นระยะห่าง 

ต่อมาตำรวจ คฝ. เข้าล้อมกลุ่มผู้ชุมนุม และกระชับพื้นที่ในลักษณะหันหน้าเข้าหากลุ่มผู้ชุมนุม ล้อมรอบรถบรรทุกเครื่องเสียงและกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อเจ้าพนักงานกระชับพื้นที่เข้าไปใกล้ กลุ่มผู้ชุมนุมยืนเรียงแถวกันไม่ให้เจ้าพนักงานเข้าไปถึงรถเครื่องขยายเสียงและแกนนำ มีการดันตำรวจไว้ โดยใช้มือเปล่าและแผงเหล็ก ระหว่างนั้นมีการยื้อยุดระหว่างตำรวจควบคุมฝูงชนและกลุ่มผู้ชุมนุม ต่อมาผู้ชุมนุมใช้สีน้ำเงินสาดใส่ คฝ. ทำให้สีเลอะชุดและเข้าตาตำรวจ

ส.ต.อ.สุประดิษฐ์ เบิกความว่า พยานและพวกเดินคล้องแขนกันเข้าไปกระชับพื้นที่ เมื่อเข้าใกล้รถเครื่องขยายเสียง มีตำรวจส่วนหนึ่งเข้าควบคุมตัวแกนนำที่ปราศรัยอยู่บนรถ ขณะนั้นเกิดความวุ่นวายขึ้น มีหญิงสูงอายุคนหนึ่งรูปร่างผอม สูงประมาณ 160 เซนติเมตร ยืนอยู่บนถนนบริเวณหน้ารถเครื่องเสียง ห่างจากรถไม่เกิน 10 เมตร ขณะกระชับพื้นที่ พยานหันหน้าไปทางรถ ส่วนหญิงคนดังกล่าวเข้ามาทางด้านหลังใช้โครงร่มกันฝนตีพยาน ถูกบริเวณหูข้างซ้ายและมือข้างซ้าย ทำให้โคนนิ้วกลางข้างซ้ายของพยานได้รับบาดเจ็บเป็นแผลฉีกขาดขนาดประมาณครึ่งเซนติเมตร หลังจากที่พยานถูกตี ได้หันไปมองจึงทราบว่าหญิงคนดังกล่าวเป็นผู้ตี

หลังจากพยานถูกทำร้าย เมื่อเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพดูแผลแล้วแจ้งว่าต้องมีการเย็บแผล จึงส่งตัวพยานไปที่โรงพยาบาลกลาง แพทย์เย็บแผลบริเวณนิ้วกลางข้างซ้ายของพยานจำนวนสอง 2 เข็ม ส่วนหูมีอาการเจ็บเล็กน้อยแต่ไม่มีแผลฉีกขาด หลักฐานปรากฏตามรายงานความเห็นการตรวจบาดแผลของแพทย์ ใช้เวลารักษาประมาณหนึ่งสัปดาห์ ในวันเดียวกันนั้น พยานเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษที่ สน.สำราญราษฎร์ จากกรณีถูกทำร้ายร่างกาย 

ส.ต.ท.ชาย เบิกความว่า ระหว่างที่พยานยืนดันรั้วเหล็กก็โดนถีบขา ทำให้กระดุมรองเท้าหลุด พยานไม่ทราบชื่อและจำหน้าผู้ชุมนุมไม่ได้ หลังกระชับพื้นที่ ผู้ชุมนุมบางส่วนถอยไป บางส่วนเดินหน้าเข้ามา สลับไปมาอย่างนั้นหลายนาที กลุ่มผู้ชุมนุมทนไม่ไหวถอยไปหลังเวที 

หลังจากนั้นพยานถูกชกบริเวณใบหน้าด้านซ้ายหนึ่งครั้งแล้วก็ล้มลง พยานรู้สึกปวดแก้มตอนล้มเข่ากระแทกพื้น และแก้มเป็นรอยช้ำเพราะต่อยแรง พยานไม่ได้ไปรักษาเพราะเป็นแค่อาการช้ำธรรมดา มีการปะทะกันทั่วไป พยานโดนร่มตีบริเวณหลัง แต่ไม่ได้หันไปสังเกต หลังจากนั้นผู้บังคับบัญชาจึงสั่งให้ถอย

ส.ต.ท.ชาย เบิกความอีกว่า เห็นตำรวจควบคุมฝูงชนถูกบีบคอ หลังจากได้รับคำสั่งให้ถอย ก็ได้รับคำสั่งให้เข้าไปอีกครั้งเพื่อจับกุมผู้ปราศรัย ตำรวจควบคุมฝูงชนได้รับคำสั่งให้เข้าไปปิดล้อมเพื่อจับกุมแกนนำ พยานไม่ทราบว่าชุดที่เข้าไปควบคุมตัวแกนนำเป็นชุดใด แต่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าไปล้อมรถไว้เหมือนกัน ทั้งนี้ ตำแหน่งการยืนของตำรวจควบคุมฝูงชนไม่ตายตัว สามารถสลับหน้าที่กันได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่จะประสานงานกันด้วยการตะโกนต่อกัน เมื่อได้ยินจะทราบเลยว่าเป็นคำสั่ง

ส.ต.อ.นันปวัฒน์  เบิกความว่า ชุด คฝ. ที่เป็นชุดจับกุม ต้องแทรกตัวจากแถวที่ 3 – 4 เข้าไปอยู่แถวหน้าเพื่อจับกุม ทำให้พยานอยู่ตรงกลางระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจควบคุมฝูงชน พยานได้รับคำสั่งจากผู้บังคับกองร้อยให้ควบคุมตัวผู้ปราศรัยด้านบน 

ในภาพหลักฐานของโจทก์ มีภาพของพยานขณะเข้าไปประชิดจตุภัทร์เพื่อควบคุมตัว แต่ยังไม่ได้ควบคุมตัว พยานถูกบีบคอก่อน ไม่ทราบว่าเป็นใคร แต่อยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม มีผู้ชุมนุมอื่นช่วยห้ามว่าอย่าไปทำเจ้าหน้าที่ เมื่อมีคนเข้ามาห้ามจึงหยุด แต่ก็เอามือที่เปื้อนสีมาป้ายที่ชุดพยาน เหตุการณ์นี้น่าจะมีภาพและคลิปเป็นหลักฐาน ตอนนั้นพยานคล้องแขนกับเพื่อนจึงป้องกันตัวไม่ได้

พยานเคลื่อนตัวไปข้างหน้าเข้าประชิดรถ ตำรวจพูดผ่านเครื่องขยายเสียงให้หยุดปราศรัย แต่จตุภัทร์ไม่หยุด พอมีเจ้าหน้าที่ดึงตัวจตุภัทร์ลงจากรถ พยานเป็นชุดที่รอรับอยู่ด้านล่างจึงพาตัวไปที่รถควบคุมตัว ระหว่างทางถูกผู้ชุมนุมทำร้ายร่างกายเตะต่อยในลักษณะเพื่อจะช่วยเพื่อน แต่ศาลไม่ได้เบันทึกว่า ทำในลักษณะเพื่อจะช่วยเพื่อน

หลังจากนั้น พยานไปที่ สน.สำราญราษฎร์ แจ้งความว่า ชุดเปื้อนสีและถูกทำร้าย พร้อมมอบภาพถ่ายหลักฐานให้พนักงานสอบสวน โดยที่คอของพยานเปื้อนสีเป็นรอยมือที่บีบคอ โดยเป็นภาพที่ถ่ายหลังจากควบคุมตัวจตุภัทร์ไปแล้ว

ส.ต.ท.ไกรวิทย์ เบิกความ ได้ปฏิบัติหน้าที่กับพวกบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยแบ่งกำลังเป็น 2 ส่วน กองร้อยที่ 1 อยู่บริเวณถนนราชดำเนินกลาง ส่วนกองร้อยที่ 2 อยู่รอบนอก พยานเห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีจำนวนประมาณ 100 คนอยู่บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ บนพื้นผิวจราจร ซึ่งประชาชนใช้สัญจรผ่านไปมา 

พนักงานตำรวจได้มีการเจรจาต่อรองให้ยุติการชุมนุม เนื่องจากมีการรุกล้ำพื้นผิวจราจร แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยุติ ผู้บังคับบัญชาเลยสั่งการให้พยานและพวกกระชับพื้นที่ชุมนุม ในขณะนั้นก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมตะโกนด่าทอพนักงานตำรวจ แต่จะด่าว่าอย่างไรบ้าง พยานจำไม่ได้

การสาดสีใส่พนักงานตำรวจ เกิดขึ้นตอนที่กลุ่ม คฝ. ได้เข้าไปเจรจากับแกนนำ แต่มีกลุ่มผู้ชุมนุมสาดสีน้ำเงินใส่กลับมา โดยได้มีการจับผู้สาดสีไว้ได้ในพื้นที่การชุมนุม ซึ่งตัวของพยานเองก็เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่ถูกสาดสีใส่ตรงบริเวณด้านหลังของพยาน

ชุดที่ใส่ออกปฏิบัติการของพยานได้รับความเสียหาย รวมเป็นมูลค่ากว่า 5,000 บาท จากการเปื้อนสีที่กลุ่มผู้ชุมนุมสาดใส่ 

ส.ต.อ.วิศรุต เบิกความ พยานได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ให้ดูแลพื้นที่การชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนินกลาง หน้าร้านแมคโดนัลด์ ในกองร้อยของพยานมีประมาณ 150 นาย โดยแบ่งเป็นหมู่ละ 2 ชุด รวม 24 ชุดเข้าไปกระชับพื้นที่การชุมนุม 

ในขณะที่มีการกระชับพื้นที่การชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุมได้สาดสี โดยพยานเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่โดนสาดสีใส่ที่บริเวณศีรษะ และลำตัว แต่ไม่ได้รับบาดเจ็บทางร่างกายใด ๆ ทั้งพยานได้รับทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บแต่พยานไม่ทราบว่าเป็นใคร ทั้งคนที่กระทำและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ 

ส.ต.อ.พงษ์เดช เบิกความ ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนบริเวณถนนราชดำเนินการเช่นเดียวกับ ส.ต.อ.วิศรุต พบกลุ่มผู้ชุมนุมกว่า 100 คนปักหลักอยู่บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ใช้เครื่องขยายเสียงประกาศให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมในทันที แต่ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม ทำให้พยานและพวกถูกสั่งให้เข้ากระชับพื้นที่

เมื่อเริ่มเข้าไปใกล้กลุ่มผู้ชุมนุม ก็ได้มีการปาขวดน้ำใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีการสาดสีน้ำเงินใส่เจ้าหน้าที่เกิดขึ้น แต่พยานไม่เห็นว่ามีบุคคลใดบ้างที่กระทำการดังกล่าว และพยานไม่ได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย มีเพียงชุดปฏิบัติงานที่เปื้อนสี ในวันเดียวกันพยานได้ไปเข้าร้องทุกข์ไว้ที่ สน.สำราญราษฎร์ เพื่อให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ 

ส.ต.ท.ระพีพัฒน์ ปฏิบัติหน้าที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยพยานเห็นว่ารถบรรทุกเครื่องขยายเสียงของผู้ชุมนุมมีการตั้งแผงเหล็กกั้นเอาไว้ โดยมีไผ่ จตุภัทร์ ปราศรัยอยู่บนรถบรรทุกดังกล่าว ส่วนข้อเรียกของกลุ่มผู้ชุมนุมคืออะไร พยานจำไม่ได้ 

ในการปิดล้อมกลุ่มผู้ชุมนุม พยานไม่ได้รับบาดเจ็บมีเพียงชุดที่เปื้อนสีที่ถูกสาดมาจากผู้ชุมนุมเท่านั้น และพยานไม่ได้มีส่วนในการเข้าไปจับกุมผู้ชุมนุมแต่อย่างใด 

ส่วน ส.ต.อ. อภิรักษ์ ส.ต.ท.ชัยยันต์ และส.ต.ต. ณัฐพล ทั้ง 3 นายได้เบิกความทำนองเดียวกันว่าได้รับคำสั่งให้ไปดูแลการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชิปไตย และทั้ง 3 นาย อยู่กองร้อยที่ 1 

ช่วงทนายความจำเลยถามค้าน

ส.ต.อ.สุประดิษฐ์ ตอบคำถามค้านว่า โดยหลักแล้วการควบคุมฝูงชนจะต้องไม่ใช้กำลังและต้องดูแลความปลอดภัย อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและผู้ที่ใช้เส้นทางแถวนั้น ป้องกันมือที่สามมาก่อความวุ่นวาย ตำรวจควบคุมฝูงชนจากจังหวัดชลบุรีที่ปฏิบัติหน้าที่วันที่ 13 ต.ค. 2563 มีอยู่ 2 กองร้อย ออกเดินทางมาพร้อมกันวันที่ 12 ต.ค. 2563 กองร้อยของพยานมีประมาณ 150 นาย และอีกกองร้อยมี 150 นาย รวมแล้วมีประมาณ 300 นาย

พยานเห็นว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ใช่กองร้อยของพยานดึงตัวจตุภัทร์ลงมาจากรถเครื่องเสียง บริเวณนั้นมีกลุ่มผู้ชุมนุมไม่มากแล้ว ส่วนใหญ่เป็น คฝ. หลังควบคุมตัวจตุภัทร์ได้ พยานและพวกถอยจากรถเครื่องเสียงมาตั้งแถวห่างประมาณ 5 เมตร โดยไม่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ควบคุมตัวผู้ชุมนุม 

หลังพยานและพวกถอยออกมาแล้ว พยานจึงถูกหญิงสูงอายุทำร้ายร่างกาย พยานไม่ได้ยินว่าหญิงคนดังกล่าวด่าว่าตำรวจหรือไม่ และไม่ทราบสาเหตุที่หญิงคนดังกล่าวตีพยานเป็นเพราะโกรธแค้นตำรวจที่ควบคุมตัวแกนนำหรือไม่  และไม่ทราบสาเหตุที่ผู้ชุมนุมสาดสีใส่ตำรวจ เป็นไปเพื่อระบายอารมณ์หรือไม่

ตามรายงานความเห็นการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ไม่มีรายงานบาดแผลหลังหูด้านซ้ายของพยาน เพราะหลังหูด้านซ้ายของพยานไม่มีบาดแผล และพยานไม่ได้แจ้งให้แพทย์ทราบ พยานไม่ได้ถ่ายรูปแผลที่มือซ้ายส่งให้พนักงานสอบสวน และวันที่ไปให้การต่อพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้แจ้งบาดแผลหลังหูด้านซ้ายให้ทราบ 

ส่วน ส.ต.ท.ชาย เบิกความว่า พยานอยู่รอบนอกและถูกทำร้ายร่างกายจากด้านหลัง เนื่องจากหันหลังให้รถเครื่องเสียง ไม่ได้แจ้งหน่วยพยาบาลและไม่ได้ถ่ายรูปไว้ แต่เล่าให้เพื่อนร่วมงานฟัง และไม่ได้นำชุดที่เปื้อนสีส่งให้พนักงานสอบสวน 

ส.ต.อ.สุประดิษฐ์ เบิกความว่า ออกจากที่เกิดเหตุประมาณ 16.00 น. หลังควบคุมตัวแกนนำผู้ชุมนุมประมาณ 30 นาที ขณะนั้นผู้ชุมนุมจะร้องตะโกนว่าให้ปล่อยเพื่อนเราหรือไม่ พยานจำไม่ได้ พยานไม่เห็นผู้ชุมนุมมีอาวุธ แต่เห็นป้ายของกลุ่มผู้ชุมนุมมีข้อความขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้ยุบสภา

พยานเคยไปดูแลกลุ่มชุมนุมอื่น เช่น กลุ่มสมัชชาคนจน กลุ่มเรียกร้องที่ทำกินในจังหวัดชลบุรี ซึ่งในจังหวัดชลบุรีก็มีการชุมนุมกันทั่วไป โดยเจ้าพนักงานไม่มีการควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุม หลังจากควบคุมตัวแกนนำแล้ว จนถึงตอนที่พยานถอนกำลังออกมา ก็ไม่ปรากฏว่ามีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นอีก

พยานไม่ทราบว่านอกจากกองร้อยควบคุมชุมชนจากจังหวัดชลบุรีแล้วจะมีตำรวจจากจังหวัดอื่นมาร่วมปฎิบัติหน้าที่ด้วยหรือไม่ พยานรับว่า ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ตำรวจควบคุมฝูงชนต้องมีความเข้าใจและมีความอดทนต่อสถานการณ์การชุมนุม ที่ตำรวจควบคุมฝูงชนยืนล้อมผู้ชุมนุม เนื่องจากต้องการทวงคืนพื้นผิวจราจร เมื่อมีการกระชับพื้นพื้นที่ให้แคบลง จึงทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจควบคุมฝูงชน สถานการณ์เริ่มตึงเครียด

พยานถูกทำร้ายร่างกายหลังจากเหตุชุลมุนสงบแล้ว การชุมนุมวันดังกล่าวมีผู้สูงอายุหลายคน บาดแผลที่มือข้างซ้ายของพยานใช้เวลารักษาประมาณหนึ่งสัปดาห์ แต่ระหว่างนั้นยังสามารถใช้มือข้างดังกล่าวได้ตามปกติ

ส.ต.ท.ไกรวิทย์ ยอมรับว่าการจะให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม จะต้องมีการขอให้ศาลแพ่งออกคำสั่ง ในวันเกิดเหตุ พยานเพียงแต่ได้รับคำสั่งให้เข้ากระชับพื้นที่เท่านั้น 

ส.ต.อ.วิศรุต เบิกความว่าในขณะเกิดเหตุ พยานไม่เห็นว่าในการชุมนุมมีการร้องเพลง อ่านกลอนหรือทำกิจกรรมอื่นใด เนื่องจากเมื่อไปถึงพื้นที่การชุมนุม ก็ได้เข้ากระชับพื้นที่ในทันที แต่ยืนยันว่าในการกระชับพื้นที่ รถก็ยังสัญจรในท้องถนนที่ถูกเปิดไว้ได้อย่างปกติ 

พยานทั้งหมดเบิกความในทำนองเดียวกันว่า หลังเกิดเหตุประมาณ 7 วัน จึงเดินทางกลับจังหวัดชลบุรี  พยานทั้งหมดเบิกความในประเด็นภารกิจของเจ้าหน้าที่ คฝ. คือผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมให้ออกจากผิวจราจร ไม่ใช่การกระชับพื้นที่เพื่อให้ตำรวจฝ่ายอื่นเข้าจับกลุ่มแกนนำ หลังออกจากที่เกิดเหตุแล้วไม่ทราบว่ายังมีกลุ่มผู้ชุมนุมยืนอยู่บนผิวจราจรหรือไม่ 

ส.ต.อ.สุประดิษฐ์ เห็นว่า การชุมนุมวันดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุมเพื่อจะก่อความรุนแรง แต่เป็นการรวมตัวเพื่อเรียกร้องทางการเมือง วันเกิดเหตุนอกจากแกนนำจากปราศรัยแล้ว ผู้ชุมนุมยังร้องเพลงเป็นระยะ พยานทราบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งมาจากต่างจังหวัด จึงต้องมาพักแรมกางเต็นท์เพื่อร่วมกิจกรรมวันรุ่งขึ้น บรรยากาศที่พยานเห็นเมื่อถึงจุดเกิดเหตุยังไม่มีความวุ่นวาย รถเครื่องเสียงทั้งสองคันจอดชิดทางเท้าหน้าร้านแมคโดนัลด์ ไม่ได้กีดขวางการจราจรทั้งหกช่องทาง ขณะที่พยานไปถึงที่เกิดเหตุไม่มีพ่อค้าแม่ค้ารถเข็นขายอยู่บริเวณทางเท้า

ส.ต.อ.สุประดิษฐ์ เบิกความตอบว่า ผู้ชุมนุมไม่ได้เป็นฝ่ายเดินเข้าหาเจ้าหน้าที่ แต่ตำรวจควบคุมฝูงชนเป็นฝ่ายดันผู้ชุมนุมเข้าไปจนประชิดเครื่องขยายเสียง ก่อนตำรวจส่วนหนึ่งจะควบคุมตัวผู้ชุมนุม ขณะจับกุมจตุภัทร์ พยานเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจน ตำรวจหน่วยอื่นเข้าไปประชิดรถเครื่องเสียง และดึงแขนจตุภัทร์ลงมาลงมา ทำให้เสียการทรงตัว และตกลงมาใส่กลุ่มตำรวจโดยไม่ได้กระแทกพื้น ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้น

พยานทั้งหมดเบิกความตอบในทำนองเดียวกันว่า ปกติหากจะมีการสลายการชุมนุม ตำรวจควบคุมฝูงชนจะต้องแต่งกายโดยสวมหมวกนิรภัย มีกระจกใสกำบังที่ด้านหน้า โล่ ชุดป้องกันการกระแทก รองเท้าคอมแบต แต่วันดังกล่าวผู้บังคับบัญชาไม่ได้แจ้งว่าจะต้องเตรียมไปสลายการชุมนุม จึงไม่มีการเตรียมชุดควบคุมควบคุมฝูงชนที่สมบูรณ์

พยานยังไม่ทราบว่าจะมีการชุมนุมใหญ่วันที่ 14 ต.ค. 2563 เมื่อมาถึงวันที่ 13 ต.ค. 2563 ยังไม่มีคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ แค่ให้มาเตรียมที่พัก และได้รับแจ้งแค่ให้เตรียมพร้อม แต่คาดไว้ว่าจะมีการชุมนุม

การเคลื่อนกำลังของกองร้อยควบคุมฝูงชนจะต้องได้รับคำสั่งจากผู้บังคับกองร้อยควบคุมฝูงชน แต่วันเกิดเหตุมีนายตำรวจยศนายพลเป็นผู้คอยสั่งการ และ ส.ต.อ.สุประดิษฐ์ และ ส.ต.ท.ชาย เบิกความในทำนองเดียวกันว่า ไม่เห็นหน้าผู้บังคับบัญชา ไม่ทราบว่าผู้บังคับบัญชาที่ให้สัญญาณคือใคร

ส.ต.อ.พงษ์เดช  และ ส.ต.อ.สุประดิษฐ์ รับว่า หากวันนั้นผู้บังคับบัญชาระดับสูงไม่ได้สั่งให้ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้ากระชับพื้นที่ จนเข้าประชิดกลุ่มผู้ชุมนุม ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายชุลมุนเกิดขึ้น โดย ส.ต.อ.พงษ์เดช เบิกความเพิ่มในประเด็นดังกล่าวว่า เนื่องจากมีการควบคุมตัวผู้ชุมนุม 2 รายเกิดขึ้น ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนไม่พอใจ เลยมีการปะทะกัน ส่วน ส.ต.ท.ชาย รับว่า จตุภัทร์ไม่ได้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทำแค่ปราศรัยแต่ไม่ได้ห้ามปรามผู้ชุมนุม พูดแค่ให้ออกไป 

พยานทั้งหมดเบิกความในทำนองเดียวกันว่า ชุด คฝ. ที่เลอะสี ซักแล้วสามารถชำระล้างสีออกได้ แต่ยังเป็นคราบอยู่บนชุด 

นอกจากนี้ พยานทั้งหมดยังเบิกความว่า ไม่สามารถยืนยันตัวบุคคลที่ทำร้ายเจ้าหน้าที่ได้ พยานไม่มีหลักฐานมาให้ศาลเห็น ไม่ทราบว่า คฝ. คนใดถูกผู้ชุมนุมทำร้าย ไม่เห็นเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมนำขวดน้ำมาให้เจ้าหน้าที่ล้างสีออก การสาดสีเกิดขึ้นขณะที่เจ้าหน้าที่เข้าไปประชิดผู้ชุมนุมมาก ส่วนราคาตามบัญชีเอกสารทรัพย์ถูกประทุษร้าย เป็นราคาตอนซื้ออุปกรณ์ ไม่ใช่มูลค่าความเสียหายของทรัพย์สิน ซึ่งผู้บังคับบัญชาออกเงินช่วยเหลือเป็นสินน้ำใจให้ไปซื้อใหม่แล้ว

ช่วงตอบพนักงานอัยการถามติง 

ส.ต.อ.สุประดิษฐ์ เบิกความตอบว่า  ช่องทางเดินรถเหลือช่องทางด้านในติดวงเวียนประมาณสองช่องนับจากวงเวียนออกมา และพยานให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าถูกตีทั้งที่หูและที่แขน ส่วนเหตุการณ์ชุลมุนเกิดขึ้นไม่นาน 10 นาที การรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชานั้น พยานไม่เห็นใคร ไม่ได้ยินใคร แต่เพื่อนตำรวจควบคุมฝูงชนด้วยกันจะช่วยตะโกนบอกคำสั่ง หรือส่งสัญญาณมือ

ส.ต.อ.พงษ์เดช เบิกความในประเด็นรถที่สัญจรไปมา พบว่ายังสามารถสัญจรได้ 4 ช่องทาง แต่ที่เบิกความว่ามีการจับกุมผู้ชุมนุม 2 คน จนทำให้เกิดการปะทะกันนั้น เป็นการคาดคะเนของพยานเอง พยานไม่ได้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าว 

ส.ต.ท.ระพีพัฒน์ เบิกความตอบอัยการว่า พยานไม่เห็นว่าจตุภัทร์มีการใช้กำลังทำร้ายเจ้าหน้าที่ และสาดสีใส่ผู้ชุมนุมหรือไม่อย่างไร 

.

ตำรวจดูแลการจราจร – เส้นทางขบวนเสด็จ เบิกความชี้รถยนต์สัญจรได้ปกติ แม้มีการชุมนุม 

ในคดีนี้ พยานโจทก์ที่ขึ้นเบิกความในฐานะเจ้าพนักงานที่ดูแลเส้นทางขบวนเสด็จมีทั้งหมด 6 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.รัฐธนนท์ เอกฐิติกุลพันธ์ ผู้กำกับการจราจร สน.ชนะสงคราม, พ.ต.อ.ศิริอ ราชรักษา รองผู้กำกับการจราจร สน.สำราญราษฎร์, ร.ต.อ.ชัชวาล กิตติภัทรสกุล รองสารวัตรสืบสวน สน.สำราญราษฎร์, ส.ต.ต.คณัสนันท์ วรรณวิจิตร พนักงานรับส่งหนังสือราชการ สน.สำราญราษฎร์, ร.ต.อ.ปิยะกรณ์ ยามดี ตำรวจจราจร กองบังคับการตำรวจจราจร และ ร.ต.อ ศิววงศ์ ผลกมลวิทย์ รองสารวัตร สน.สำราญราษฎร์ 

พ.ต.ท.รัฐธนนท์ เบิกความว่ามีหน้าที่ถวายความปลอดภัยของขบวนเสด็จ และอำนวยความสะดวกในการจราจรให้กับประชาชน โดยปฏิบัติหน้าที่นี้มา 8 ปี

ในวันที่ 13 ต.ค. 2563 พยานปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ตั้งแต่เวลา 05.00 – 13.00 น. จุดประจำอยู่ที่สี่แยกคอกวัว และได้รับแจ้งว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาปักหลักที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยระยะห่างจากบริเวณที่พยานอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุม มีระยะห่างกว่า 300 เมตร ทำให้ไม่สามารถมองเห็นพื้นที่เกิดเหตุได้

ต่อมาเวลา 15.00 น. พยานได้ขยับไปประจำการที่รอยต่อของพื้นที่ สน.สำราญราษฎร์ และ สน.ชนะสงคราม ทำให้เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมบนพื้นผิวจราจร แต่ในขณะนั้นรถยนต์ก็ยังสามารถสัญจรผ่านไปมาได้ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมมีรถบรรทุกมา 2 คัน พร้อมเครื่องขยายเสียง แต่ผู้ชุมนุมจะมีการปราศรัยเรื่องอะไร พยานไม่ทราบเนื้อหา 

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการเจรจาให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม เนื่องจากในวันดังกล่าวจะมีขบวนเสด็จ ซึ่งจะใช้พื้นที่เกิดเหตุเป็นเส้นทางที่เสด็จไปและเสด็จกลับไปที่พระบรมราชวัง 

พยานประเมินสถานการณ์แล้วเห็นว่าผู้ชุมนุมไม่ยุติการชุมนุม จึงได้แจ้งต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับ โดยได้ทำการปิดการจราจรที่สี่แยกคอกวัว รถที่มุ่งหน้าลงมาจากสะพานพระปิ่นเกล้าก็จะไปยังถนนราชดำเนินในแทน ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้มีรถยนต์ติดค้างในเหตุการณ์ชุมนุม และไม่ให้กระทบต่อขบวนเสด็จ ตลอดจนเพื่อถวายความปลอดภัยในขบวนเสด็จด้วย 

เหตุการณ์ชุมนุมเริ่มมีความรุนแรงขึ้น ก่อนจะยุติลงในเวลาประมาณ 16.30 น. ซึ่งหลังจากยุติลงก็ได้มีการประสานเจ้าพนักงานเทศกิจของกรุงเทพฯ ลงพื้นที่ทำความสะอาด ต่อมาถนนราชดำเนินกลางก็สามาถใช้สัญจรได้เป็นปกติ 

ในวันเกิดเหตุ พยานเบิกความว่าขบวนเสด็จได้เสด็จผ่านถนนราชดำเนินกลาง โดยใช้เส้นทางปกติตามแผนทั้งขาไปและขากลับ

ส่วน ร.ต.อ.ปิยะกรณ์ และ ร.ต.อ.ศิววงศ์  ได้รับแจ้งว่าในวันชุมนุมจะมีขบวนเสด็จผ่านบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยได้รับมอบหมายให้ไปอำนวยความสะดวกพื้นที่และถวายความปลอดภัยให้กับขบวนเสด็จ ซึ่งขบวนสามารถเดินทางไป – กลับได้อย่างราบรื่น ไม่มีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้น 

ร.ต.อ.ชัชวาล เบิกความว่าในวันที่ 12 ต.ค. 2563 พยานได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เตรียมเส้นทางขบวนเสด็จ และดูแลความเรียบร้อยของกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่ในเส้นทางขบวนเสด็จบริเวณถนนราชดำเนินกลาง 

วันที่ 13 ต.ค. 2563 พยานได้ลงพื้นที่พบกลุ่มผู้ชุมนุมใช้พื้นผิวจราจร 2 ช่องทาง โดยไม่มีจุดคัดกรองอุณหภูมิ และบางส่วนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ตลอดจนในการชุมนุมมีกิจกรรมเกิดขึ้น โดยพยานได้เห็นว่าไผ่ จตุภัทร์ มีการร้องเพลง ปราศรัยบนรถบรรทุกพร้อมเครื่องขยายเสียง 

พยานเบิกความสอดคล้องกับ พ.ต.ท.รัฐธนนท์ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงและเจรจาให้มีการยุติการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมกลับไม่ยุติการชุมนุม แต่พยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ชุลมุน เนื่องจากอยู่ในรถควบคุมตัวผู้ต้องหา มาทราบภายหลังว่ามีการจับกุมผู้ชุมนุมอย่างทุลักทุเล และมีการสาดสีใส่ตำรวจ

นอกจากนี้ พยานยังได้รับหน้าที่ให้ถอดเทปคำปราศรัยร่วมกับ ส.ต.ท.รุ่งโรจน์ และ ส.ต.ต.ณรงค์เดช โดยรับหน้าที่ให้ถอดคำปราศรัยของไผ่ จตุภัทร์ โดยส่วนหนึ่งของคำปราศรัยกล่าวว่า ให้กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงร่วมกันชุมนุมต่อไปไม่ว่าฝนจะตกหรือเจ้าหน้าที่จะมากระชับพื้นที่ คำถอดเทปทั้งหมดพยานได้ส่งให้กับพนักงานสอบสวนเพื่อเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้แล้ว 

ส.ต.ต.คณัสนันท์ เบิกความว่าในคดีนี้ พยานมีหน้าที่รับส่งหนังสือของราชการ และมีหน้าที่จัดทำพาวเวอร์พอยต์เกี่ยวกับเส้นทางขบวนเสด็จ 

เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 พยานได้รับแจ้งว่าจะมีการชุมนุมในพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และในวันที่ 16 ต.ค. 2563 พยานได้รับคำสั่งจาก ร.ต.อ.เลิศชาย ให้ตรวจสอบอีเมล และหนังสือแจ้งการชุมนุมว่ามีการแจ้งเข้ามาเป็นเอกสารหรืออีเมลหรือไม่ และผลการตรวจสอบพบว่าไม่มีการแจ้งชุมนุมสาธารณะที่บริเวณดังกล่าวแต่อย่างใด 

หลังตรวจสอบพยานคัดลอกรายงานหนังสือวันที่ 13 ต.ค. 2563 และข้อความทางอีเมล์ของวันดังกล่าวทั้งหมดส่งให้พนักงานสอบสวนในคดีนี้ 

พ.ต.อ.ศิริ เบิกความ ในช่วงเกิดเหตุของคดีนี้ พยานเป็นรองผู้กำกับการจราจร สน.สำราญราษฎร์ ได้รับมอบหมายให้ดูแลการจราจร เนื่องจากจะมีขบวนเสด็จผ่านในเวลา 17.00 น. โดยเบิกความสอดคล้องกับพยานคนอื่น ๆ ว่าได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาว่ามีการชุมนุมเกิดขึ้นที่บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และการเจรจาให้ยุติการชุมนุมไม่เป็นผล จึงทำให้เกิดการชุลมุนเกิดขึ้นที่บริเวณดังกล่าว ทำให้พยานถูกเรียกตัวให้มาดูแลการจราจรในบริเวณพื้นที่การชุมนุม

ในวันเกิดเหตุ พยานอยู่ในเหตุการณ์ที่ ชลธิชา แจ้งเร็ว ได้เข้ามาเจรจากับผู้บัญชาการตำรวจ และได้มีการนำกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนไปที่หอศิลป์กรุงเทพฯ และยังมีผู้ชุมนุมอีกส่วนหนึ่งอยู่บริเวณที่เกิดเหตุ 

ช่วงตอบทนายความจำเลยถามค้าน 

พ.ต.ท.รัฐธนนท์ เบิกความตอบทนายว่า จบปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ และยินยันว่าพื้นที่ของ สน.ชนะสงคราม เป็นพื้นที่ที่มีการชุมนุมเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และยอมรับว่าในปี 2557 ในช่วงที่มีการรัฐประหาร มีการเรียกร้องของกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยใช้พื้นที่ผิวจราจรเคลื่อนขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านถนนราชดำเนินกลาง เพื่อไปที่ทำเนียบรัฐบาล

พยานเข้าใจว่า ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุม และดูแลพื้นที่การสัญจร เพื่อไม่ให้ประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาเดือดร้อน

พยานไม่ทราบว่าในการมาปักหลังของกลุ่มผู้ชุมนุมในวันที่ 13 ต.ค. 2563 จะเป็นการพักค้างแรมเพื่อรอการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 แต่ยืนยันว่าในการปักหลักของกลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ เป็นการชุมนุมโดยสงบ 

ทั้งนี้ ก่อนมีการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 มีการเรียกประชุมผู้บังคับบัญชาการระดับสูง เพื่อวางแผนเตรียมความพร้อมในการรักษาความสงบเรียบร้อยของการชุมนุมในวันดังกล่าว และยอมรับว่าในที่ประชุมได้มีการแจ้งเรื่องที่กลุ่มผู้ชุมนุมแถลงข่าวเพื่อจัดกิจกรรมชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 แล้ว

ในขณะที่มีการชุมนุม มีการแฝงตัวของตำรวจชุดสืบสวน ซึ่งพยานไม่ทราบว่าเป็นใครบ้าง เนื่องจากไม่สามารถแยกออกได้  และกรณีที่มีขบวนเสด็จผ่าน ตำรวจมีหน้าที่ถวายความปลอดภัย ระมัดระวังไม่ให้ประชาชนเข้าไปในเส้นทางเสด็จ โดยมีการประชาสัมพันธ์มิให้มีการกระทำอันไม่เหมาะสมที่อาจกระทบต่อการถวายความปลอดภัย ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องผลักดันให้ประชาชนออกไปจากบริเวณนั้นแต่อย่างใด 

นอกจากนี้ ทนายได้ถามต่อว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงมีความห่วงใยต่อประชาชน ไม่ให้ปิดถนนขบวนเสด็จส่วนพระองค์ที่อาจกระทบต่อการจราจร โดยไม่ให้ปิดการจราจรไว้อีกด้วย ซึ่งพยานได้ยืนยันว่าใช่ 

ในขณะเกิดเหตุการณ์ชุมนุม และมีการสาดสีใส่เจ้าพนักงานตำรวจ พยานได้สั่งปิดช่องทางการจราจรก่อนที่จะมีการยกระดับของกลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว และยืนยันว่าผู้ปราศรัยชุมนุมไม่ได้มีการยั่วยุให้ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงกับพนักงานควบคุมฝูงชน จนกระทั่งตำรวจได้เดินเข้าไปประชิดกับแนวแผงเหล็กของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ล้อมรถบรรทุกเครื่องขยายเสียง พร้อมเข้าควบคุมแกนนำและผู้ชุมนุมทีละคน 

ภายหลังการชุมนุมยุติลง มีเจ้าหน้าที่เทศกิจได้เข้ามารื้อเต็นท์ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์  ก่อนที่จะมีขบวนเสด็จผ่าน พยานก็ได้เข้ามาตรวจดูความเรียบร้อยที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วยตัวเอง 

ร.ต.อ.ชัชวาล ตอบทนายว่า พยานไม่ทราบว่ามีกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลแฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยหรือไม่ และไม่ทราบว่าตำรวจจาก สน.สำราญราษฎร์ จะแต่งกายด้วยเสื้อกันฝนสีส้มหรือไม่ และไม่ทราบจำนวนเจ้าหน้าที่สืบสวนจาก สน.อื่น และไม่สามารถแยกแยะได้ว่าบุคคลใดเป็นตำรวจ หรือบุคคลใดเป็นผู้ชุมนุม มีเพียงบางคนเท่านั้นที่แยกได้ เพราะเคยเจอกันมาก่อน  แต่ชุดสืบสวนของ สน.สำราญราษฎร์ทั้ง 8 นาย พยานจำชื่อและใบหน้าได้ทั้งหมด 

ขณะเกิดเหตุการณ์ชุมนุม พยานยืนยันว่าผิวถนนยังสามารถใช้สัญจรผ่านไปมาได้ และสามารถใช้เส้นทางบนทางเท้าได้ปกติ นอกจากนี้พื้นที่ชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยังเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ไม่แออัด อากาศถ่ายเทสะดวก 

นอกจากนี้ พยานเคยได้รับหน้าที่ถวายความปลอดภัยในขบวนเสด็จมาก่อน แต่ในวันเกิดเหตุจะมีการทำแผนที่เส้นทางขบวนเสด็จทั้งเส้นทางหลักและเส้นทางสำรองหรือไม่ พยานไม่ทราบ ส่วนที่เจ้าหน้าที่ที่ถวายความปลอดภัยของขบวนเสด็จ ไม่มีการเสนอให้เปลี่ยนเส้นทาง และยังคงให้เสด็จผ่านเส้นถนนราชดำเนิน เนื่องจากมีการประเมินว่าการชุมนุมจะยุติก่อนหรือไม่ พยานไม่ทราบ แต่สุดท้ายขบวนเสด็จก็ได้ผ่านพื้นที่การชุมนุมดังกล่าวไปได้ 

พยานอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุจนกระทั่งตำรวจ คฝ. ได้จับกุมผู้ชุมนุม 2 คนขึ้นมาบนรถควบคุมตัว แต่ไม่เห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะมีการต่อสู้ขัดขวางหรือกระทำผิดอย่างไรบ้าง 

ส.ต.ต.คณัสนันท์ ได้ตรวจสอบหนังสือในช่วงระหว่างวันที่ 9 – 15 ต.ค. 2563 และอีเมลในระหว่างวันที่ 1 ก.ย. – 16 ต.ค. 2563 และพบว่ามีเอกสารการชุมนุมที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร แต่การแจ้งการชุมนุมดังกล่าว พยานไม่ได้ลงรับไว้ และไม่ทราบว่าเป็นการชุมนุมของกลุ่มปกป้องสถาบันฯ หรือกลุ่มไทยภักดีหรือไม่ 

นอกจากนี้ ในวันที่ 6 – 8 ต.ค. 2563  พยานได้ตรวจสอบการลงรับหนังสือ แต่ไม่พบว่ามีหนังสือแจ้งการชุมนุม และไม่ได้ส่งผลตรวจสอบในช่วงเวลาดังกล่าวให้พนักงานสอบสวน และพยานไม่ทราบว่าผู้จัดชุมนุมจะต้องมีการแจ้งการชุมนุมให้เจ้าพนักงานก่อนกี่วัน แต่ทราบว่าการแจ้งการชุมนุม สามารถแจ้งต่อตัวผู้กำกับสถานีตำรวจในท้องที่ที่จะจัดการชุมนุมได้ 

พ.ต.อ.ศิริ พยานเบิกความตอบทนายว่า ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ ได้มีการจัดประชุมของพนักงานตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ โดยมีการแจ้งให้ทราบว่าจะมีการชุมนุมเกิดขึ้นในวันที่ 14 ต.ค. 2563 แต่พยานจำไม่ได้ว่าวันไหน และพยานไม่ได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาให้ทราบว่าจะมีการชุมนุมเกิดขึ้นในวันที่ 13 ต.ค. 2563

พยานเบิกความต่อไปว่าในรายละเอียดของการชุมนุม จะมีการตั้งเต็นท์สวัสดิการ ทำอาหาร และพยาบาลหรือไม่พยานไม่ทราบ และไม่ทราบว่าผู้ชุมนุมได้มีการแจ้งการชุมนุมในวันที่ 13 ต.ค. ด้วยหรือไม่ 

ตลอดจนพยานไม่ทราบว่าในวันที่ 13 – 14 ต.ค. 2563 จะมีขบวนเสด็นผ่านที่ถนนราชดำเนินกลางทั้งสองวันเลยหรือไม่ แต่ขณะเกิดเหตุการณ์ชุมนุมพยานยังอยู่ในพื้นที่ชุมนุม และการชุมนุมก็ยังมีรถสัญจรผ่านไปมาได้ปกติ  แต่จำไม่ได้แล้วว่าขณะที่ขบวนเสด็จผ่านไป รถบรรทุกพร้อมเครื่องขยายเสียงของผู้ชุมนุมยังอยู่ในที่เกิดเหตุหรือไม่ 

พยานทราบว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงมีความห่วงใยประชาชนที่ใช้ท้องถนน โดยไม่ให้ปิดเส้นทางการจราจรในขณะที่มีขบวนเสด็จ และทราบว่าถนนราชดำเนินมักใช้เป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินหลายครั้ง บางครั้งก็มีคนไร้บ้านมาอาศัยอยู่ที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นพื้นที่ทางเท้าอยู่ในส่วนการดูแลของสน.ชนะสงคราม

ช่วงตอบอัยการถามติง

พ.ต.ท.รัฐธนนท์ เบิกความตอบอัยการว่าในการประเมินสั่งปิดถนน จะประเมินจากการวัดระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในการชุมนุม ส่วนในการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ไม่ได้มีหลักว่าจะปิดช้าหรือเร็ว แต่เพียงดูตามเส้นทางขบวนเสด็จ โดยตำรวจจะสื่อสารผ่านวิทยุ เพื่อดูว่าปัจจุบันขบวนเสด็จถึงไหนแล้ว หากเสด็จผ่านไปแล้วก็จะเปิดการจราจรให้สัญจรได้ปกติทันที 

นอกจากจะมีการเจรจาให้ยุติการชุมนุมต่อหน้าแล้ว ยังมีการประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม เพื่อถวายความปลอดภัยให้กับขบวนเสด็จอีกด้วย และพยานเห็นว่าในขณะเกิดเหตุการณ์ชุมนุม พยานไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้สาดสีใส่พนักงานตำรวจบ้าง 

ร.ต.อ.ชัชชาล ตอบอัยการถามติง ในวันเกิดเหตุชุดสืบสวนของพยานมี 8 นาย โดยอยู่ในพื้นที่การชุมนุม และส่วนหนึ่งอยู่บริเวณร้านกาแฟชาวดอย โดยห่างจากรถบรรทุกเครื่องขยายเสียงของผู้ชุมนุม 50 เมตร 

ในการถวายความปลอดภัยของขบวนเสด็จ จะต้องไม่ให้มีการชุมนุมทั้งขาไป – กลับ กรณีประชาชนที่ต้องการมารอรับเสด็จจะต้องอยู่ในอาการสงบและสุภาพ และปกติการเสด็จ จะต้องไม่มีกลุ่มผู้ชุมนุมหรือส่งเสียงรบกวนขบวนเสด็จอยู่แล้ว

ในขณะที่พยานไปถึงพื้นที่ชุมนุม ยังไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น และสาเหตุที่เจ้าหน้าที่ต้องกระชับพื้นที่ เนื่องจากว่ามีการประกาศให้ยุติการชุมนุมแล้ว แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยุติการชุมนุมเอง 

ส.ต.ต.คณัสนันท์ ตอบอัยการถามติง ในการลงรับหนังสือราชการ มีเจ้าหน้าที่หลายคนที่ลงรับหนังสือได้ บางคนลงวันที่ซึ่งมีการนำหนังสือมาส่ง แต่บางคนลงวันที่ตามระบุไว้ในหนังสือ แต่เมื่อมีการส่งหนังสือแล้วจะมีการบันทึกในทะเบียนรับหนังสือทุกฉบับ 

พ.ต.ท.ศิริ ตอบอัยการถามติง แม้การชุมนุมจะมีการสัญจรของรถได้ตามปกติ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้มีการจอดรถบรรทุกพร้อมเครื่องขยายเสียง และนำแผงเหล็กมาปิดล้อมรถบรรทุกไว้ จุดดังกล่าวเป็นพื้นผิวถนนจราจร ซึ่งถือว่าเป็นการกีดความทางจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ 

.

ผู้บัญชาการควบคุมฝูงชน ประเมินสถานการณ์ผู้ชุมนุมในวันที่ 14 ตุลา ร่วมหลักพัน-หมื่น การจัดกำลังตำรวจให้มีมากกว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพื่อความปลอดภัย

ในคดีนี้มีผู้บังคับบัญชากองร้อยตำรวจควบคุมฝูงชนจำนวน 2 ปากที่ขึ้นเบิกความ ได้แก่ พ.ต.ท.กฤษณ์ มาสุข รองผู้กำกับการ สภ.หนองปรือ และ พ.ต.ท.มาโนช เพ็ชรประกอบ สารวัตรสืบสวน สภ.พนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

พ.ต.ท.กฤษณ์ เบิกความ ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ พยานมีตำแหน่งเป็นรองผู้กำกับการป้องกันและปราบปราม ได้รับมอบหมายเป็นผู้บังคับกองร้อยตำรวจควบคุมฝูงชน กองร้อยที่ 1 ของตำรวจภูธร จังหวัดชลบุรี 

อัตรากำลังของสถานีตำรวจในพื้นที่ใน 1 กองร้อยจะมีจำนวน 155 นาย ซึ่งพยานได้จัดแบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน UN (ชุดที่ฝึกรูปแบบการควบคุมโดยเฉพาะ) ไว้สำหรับเข้าควบคุมตัวผู้ชุมนุมด้วย ส่วนตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรีจะมีอยู่ 2 กองร้อย โดยอีก 1 กองร้อยมี พ.ต.ท.มาโนช เพ็ชรประกอบ เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 2 

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2563 พยานทั้งสองคนได้รับคำสั่งจากตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรีให้นำเจ้าพนักงานตำรวจ คฝ. ไปสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจนครบาลในเหตุการชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยตามแผนได้รับแจ้งว่าจะมีการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ขณะที่ได้รับคำสั่งมีการแจ้งว่าจะต้องปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างวันที่ 13 – 15 ต.ค. 2563 โดยให้เดินทางในวันที่ 12 ต.ค. 2563 

พยานทั้งสองคนได้นำกองร้อย คฝ. มาตั้งฐานอยู่ที่วัดมหรรณพาราม ในการออกปฏิบัติหน้าที่ พยานได้เข้าร่วมประชุมกับตำรวจนครบาลเกี่ยวกับแผนการปฏิบัติงานในวันที่ 14 ต.ค. 2563 โดยที่ประชุมได้มีการกำหนดว่าแต่ละกองร้อยจะต้องประจำอยู่ที่จุดใดบ้าง 

พ.ต.ท.มาโนช เบิกความในขณะเกิดเหตุ พยานมีตำแหน่งเป็นสารวัตรสืบสวนที่ สภ.พนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ได้เดินทางมาพร้อมกับกองร้อยที่ 1 ของ พ.ต.ท.กฤษณ์ โดยในวันที่ 13 ต.ค. พยานได้รับคำสั่งจากรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ให้พยานทั้งสองคน นำกำลัง คฝ. ไปควบคุมผู้ชุมนุม โดยไม่ต้องนำอุปกรณ์ไป แต่มีคนสั่งจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลว่าให้ตำรวจ คฝ. เตรียมเสื้อเหลือง กางเกงยาวขาดำ รองเท้า และของใช้ส่วนตัวสำหรับปฏิบัติภารกิจใน 4 วันนี้ด้วย 

และเมื่อมีผู้ชุมนุมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ พยานได้สั่งให้เจ้าพนักงาน คฝ. ยืนตั้งแถวเตรียมความพร้อมอยู่ห่างจากผู้ชุมนุม 100 เมตร ขณะเกิดเหตุตำรวจนครบาล 1 ได้ใช้รถบรรทุกเครื่องขยายเสียงประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม 

พยานทั้งสองคนเบิกความสอดคล้องกันว่าในขณะเกิดเหตุมี พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผู้บังคับบัญชาการตำรวจนครบาล 6 และ พล.ต.ต.ปราศรัย ผู้บังคับบัญชาการตำรวจนครบาล 1 เป็นผู้คอยสั่งการ ซึ่งทั้งสองคนได้สั่งการให้ตำรวจ คฝ. กองร้อยที่ 2  เข้ากระชับพื้นที่ โดย คฝ. กองร้อยที่ 1 คอยสนับสนุนอยู่ด้านหลัง ซึ่งในขณะที่เกิดเหตุชุลมุน โดยมีการสาดสีใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ใช้เวลาในการเข้ากระชับพื้นที่อยู่ราว 30 นาที – 1 ชั่วโมง

แต่ผู้ชุมนุมยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จึงได้รับคำสั่งให้กองร้อย คฝ. ทั้งสองกองเข้าบีบพื้นที่ไปประชิดกับรถบรรทุกเครื่องขยายเสียง โดยมีเป้าหมายในการควบคุมตัวแกนนำ 3 คน ซึ่งเป็นคนที่ขึ้นปราศรัยในการชุมนุม ซึ่งมีไผ่ จตุภัทร์ รวมอยู่ในนั้นด้วย 

นอกจากจะควบคุมตัวกลุ่มแกนนำทั้ง 3 คนแล้ว มีการควบคุมตัวผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ ด้วย เนื่องจากมีการทำร้ายตำรวจ คฝ. ซึ่งมีความผิดซึ่งหน้า

พยานทั้งสองคนเบิกความสอดคล้องกันว่าชุดควบคุมฝูงชนของพยาน ได้รับความเสียหายจากการถูกสาดสีใส่ประมาณ 20 คน ซึ่งพยานทั้งสองคนไม่ได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากคอยสั่งการอยู่ด้านหลัง โดยพยานได้ให้ตำรวจ คฝ. ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกสาดสีใส่เข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่ สน.สำราญราษฎร์ ทั้งหมด

ช่วงตอบทนายความจำเลยถามค้าน 

พยานทั้งสองคนทราบจากการประชุมที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 ในช่วงเช้าว่าการชุมนุมในวันดังกล่าวเป็นการรวมตัวกันเพื่อชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ซึ่งมีข้อเรียกร้องทางการเมืองให้นายกรัฐมนตรีลาออก ซึ่งการประเมินสถานการณ์จากการประชุม พบว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมมารวมตัวกันหลักพันถึงหนึ่งหมื่นคน 

ทั้งนี้ พ.ต.ท.กฤษณ์ ได้เบิกความว่า ในวันดังกล่าว ไม่ได้มีการประเมินสถานการณ์ว่าอาจมีกลุ่มคนเสื้อเหลือง หรือกลุ่มคนรักสถาบันฯ เข้าร่วมชุมนุมที่บริเวณศาลาว่าการกรุงเทพมหานครด้วยหรือไม่ 

ในการปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ พ.ต.ท.มาโนช ได้เบิกความว่าใช้ระยะเวลารวมกว่า 7 วัน ในระหว่างนั้นเจ้าพนักงานตำรวจได้เตรียมชุด คฝ. ไปด้วย 2 ชุด แต่บางคนก็เตรียมไปชุดเดียว แต่ทั้งนี้ไม่มีการใส่เสื้อเหลืองแต่อย่างใด 

ภายหลังเกิดเหตุ พ.ต.ท.มาโนช ได้เบิกความว่า พยานไม่ทราบว่าพนักงานตำรวจ คฝ. ที่ถูกสาดสีใส่ชุดปฏิบัติการ จะมีการนำชุดไปซักรีดแล้วนำมาใส่ใหม่ในวันถัดไปหรือไม่ แต่ทราบว่าชุดที่เปื้อนสี ไม่สามารถนำกลับมาใส่ใหม่ได้ เนื่องจากซักแล้วสีไม่ออกทั้งหมด แต่เจ้าพนักงาน คฝ. ก็ไม่ได้นำมาให้พยานดู แต่มีการถ่ายภาพชุดไว้ ซึ่งพยานไม่ได้นำส่งพนักงานสอบสวน

นอกจากนี้ พ.ต.ท.มาโนช ได้เบิกความเพิ่มเติมในส่วนของหลักการของตำรวจควบคุมฝูงชนว่า ตามหลักการแล้วตำรวจจะต้องมีจำนวนมากกว่าผู้ชุมนุมเสมอ เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่เอง และในวันดังกล่าวได้มีการประเมินแล้วว่าหากมีการเจรจาและค่อย ๆ กระชับพื้นที่เข้าไป ก็จะสามารถผลักดันให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่เกิดเหตุได้ 

ทั้งนี้ในเหตุการณ์ชุมนุม ตำรวจควบคุมฝูงชนได้มีการรุมฉุดกระชากลากดึงผู้ชุมนุมที่เป็นผู้หญิงด้วย พยานตอบว่าตามคลิปหลักฐานได้มีการควบคุมตัวผู้ชุมนุมผู้หญิงโดยการหิ้วปีกทั้งสองข้าง และการควบคุมตัวผู้ชุมนุมผู้หญิง จะเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาการตำรวจนครบาล 6 หรือเป็นคำสั่งหัวหน้าชุดเจ้าหน้าที่หน่วย UN พยานไม่ทราบ เนื่องจากในคลิปดังกล่าว พยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ 

ช่วงตอบอัยการถามติง

พ.ต.ท.กฤษณ์ ตอบอัยการว่าในการจัดชุดกำลังควบคุมฝูงชนในกองร้อยที่ 1 ได้มีการจัดชุดเจ้าหน้าที่ UN ไว้ด้วย ซึ่งมีหน้าที่หลักในการควบคุมตัวผู้ชุมนุม และสาเหตุที่ใช้ชุดเจ้าหน้าที่ UN มากกว่า 5 คน ก็เพื่อควบคุมตัวผู้ชุมนุมที่มีการต่อสู้ขัดขวางการจับกุม

ส่วนกองร้อยที่ 2 ของ พ.ต.ท.มาโนช เป็นเพียงชุดสนับสนุนเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่จับกุมผู้ชุมนุมโดยตรง และภายหลังจากการยุติการชุมนุมแล้ว ตำรวจ คฝ. ได้กระจายกำลังเพื่อรักษาพื้นที่ ต่อมาเจ้าหน้าที่ของ กทม. ก็ได้เข้ามาทำความสะอาดที่เกิดจากการเปื้อนสี 

.

ตำรวจสืบสวน / หน่วยป้องกันและปราบปราม ลงพื้นที่ชุมนุม เบิกความไม่สอดคล้องกัน บางส่วนเห็นว่าคำปราศรัยของไผ่โจมตีกษัตริย์ บางคนเห็นว่าไม่

ในการเบิกความมีพนักงานตำรวจสืบสวนที่แฝงตัวเข้าไปสืบหาข้อมูลข่าวในพื้นที่ชุมนุมขึ้นเบิกความทั้งหมด 8 ปาก ได้แก่ พ.ต.อ.นิวัตน์ พึ่งอุทัยศรี, ส.ต.ท.ณรงค์เดช บัวจันทร์, ส.ต.ท.รุ่งโรจน์ สมบูรณ์พงษ์, ร.ต.ต.สุรพงษ์ มีเมตตา, พ.ต.ต.ทนง เพียรสะอาด, พ.ต.ท.สิบทิศ วรรณสิทธิ์, ร.ต.อ.ประภาส ครุฑนาค และ พ.ต.อ.ปิติพันธ์ กฤดากร ณ อยุธยา 

พ.ต.อ.นิวัฒน์ เบิกความว่าตัวเองได้สืบข่าวทราบมาก่อนว่าจะมีการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และมีการประเมินว่าจะมีกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก ซึ่งในการเตรียมกำลังตำรวจควบคุมฝูงชนได้มีการประสานไปที่พนักงานควบคุมฝูงชนจากจังหวัดชลบุรี 2 กองร้อย และเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมฝูงชนตำรวจจากจังหวัดอื่น ๆ อีกหลายกองร้อยร่วมปฏิบัติหน้าที่

นอกจากนี้ พยานยังได้ทราบข่าวว่ากลุ่มปกป้องสถาบัน และกลุ่มไทยภักดี ได้รวมตัวกันชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครอีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม ในวันเกิดเหตุ พยานได้รับแจ้งว่ามีกลุ่มบุคคลที่มีความคิดและแนวทางการเมืองมาสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรอีสาน รวมแล้วประมาณ 200 คน ซึ่งมีกลุ่มเสื้อแดงนนทบุรี นำโดยไบรท์ ชินวัตร  แต่พยานไม่ทราบมาก่อนว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะปักหลักค้างแรมกันในวันที่ 13 ต.ค. 2563 

พ.ต.อ.ปิติพันธ์  รองผู้กำกับการฝ่ายป้องกันและปราบปราม สน.ชนะสงคราม เบิกความว่ามีกำหนดการดูแลขบวนเสด็จตอน 16.00 น. พยานมีหน้าที่ในการรับกำลังและชี้แจงภารกิจเส้นทางขบวนเสด็จแบ่งเป็น 2 เส้นทาง คือเส้นทางหลักและเส้นทางรอง โดยปกติแล้วพื้นที่บริเวณที่ผู้ชุมนุมปักหลักอยู่จะมีคนไร้บ้าน ซึ่งหากมีขบวนเสด็จผ่านบริเวณนั้น ก็ไม่ได้มีการไล่คนไร้บ้านออก แต่ในการตอบคำถามถามติงของอัยการ พยานตอบว่า การรับขบวนเสด็จนั้น ประชาชนโดยรอบต้องอยู่ในอาการสงบ แต่การชุมนุมนั้นเป็นอากัปกิริยาที่ไม่เหมาะสมเนื่องจากมีเครื่องขยายเสียง

ส่วน ร.ต.อ.ประภาส สารวัตรป้องกันและปราบปราม สน.สำราญราษฎร์  ได้รับแจ้งว่าจะมีขบวนเสด็จเวลา 17.00 น. ซึ่งพยานจำได้ว่าการเสด็จเกิดขึ้นหลังจากที่แกนนำถูกจับกุม และผู้ชุมนุมย้ายออกไปแล้ว

ส.ต.ท.ณรงค์เดช  และพ.ต.ต.สิบทิศ สารวัตรสืบสวน กองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาล 6 เบิกความสอดคล้องกันว่าได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ไปบันทึกภาพวิดีโอในพื้นที่การชุมนุม ในขณะที่พยานกำลังลงพื้นที่ “ไผ่ จตุภัทร์” กำลังปราศรัยอยู่ มีการพูดและอ่านกลอนสื่อสารกับผู้ชุมนุม

ในการลงพื้นที่  ได้มีการแต่งกายให้กลมกลืนกับผู้ชุมนุม ติดกล้องที่หน้าอก โดยการสาดสีเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 15.30 น. มีผู้กำกับการ สน.สำราญราษฎร์ ได้เข้าเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมผ่านเครื่องขยายเสียงให้ยุติการชุมนุม แต่ไม่เป็นผล การกระชับพื้นที่ของตำรวจ คฝ. จึงเกิดขึ้น  

ส.ต.ท.รุ่งโรจน์ พยานเป็นผู้บังคับหมู่สืบสวน สน.สำราญราษฎร์ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เข้าบันทึกเหตุการณ์ โดยมีไผ่ขึ้นปราศรัยและปลุกระดมผู้ชุมนุมให้ทำกิจกรรมด้วยกัน

นอกจากนี้ พยานยังได้มีหน้าที่ในการถอดเทปของอรรถพล บัวพัฒน์ ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังทางการเมือง ชูสามนิ้ว และถอดเทปของชาติชาย แกดำ ซึ่งได้ปราศรัยมีใจความว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีสิทธิจับกุมผู้ชุมนุม 

ร.ต.ต.สุรพงษ์ รองสารวัตรป้องกันและปราบปราม สน.ชนะสงคราม และ พ.ต.ต.ทนง ให้การสอดคล้องกัน โดยกล่าวว่าคำปราศรัยของไผ่ มีเนื้อหาโจมตีสถาบันฯ แต่พยานจำไม่ได้แล้วว่ามีเนื้อหาอย่างไรบ้าง โดยที่กล่าวว่ามีการปราศรัยโจมตีสถาบันฯ เพราะประเมินเอาจากการดูป้ายรณรงค์ที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุมด้วย 

ช่วงตอบทนายความจำเลยถามค้าน 

พยานทั้งหมดให้การไม่สอดคล้องกันในเรื่องเนื้อหาคำปราศรัย โดยทนายความได้ตามต่อ ส.ต.ท.ณรงค์เดช ว่ากิจกรรมของผู้ชุมนุมมีเนื้อหาใดที่โจมตีสถาบันกษัตริย์หรือไม่ พยานได้ตอบว่ามีการยืนอ่านกลอน แต่ไม่มีความหมายที่ยั่วยุหรือหมิ่นกษัตริย์ และข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมก็อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ในขณะที่ ร.ต.ต.สุรพงษ์ และ พ.ต.ต.ทนง และ พ.ต.อ.นิวัฒน์ เบิกความสอดคล้องกันเรื่องการปราศรัยของไผ่ที่โจมตีสถาบัน โดยในวันเกิดเหตุกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งเป็นกลุ่มที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน และต่อต้านพระมหากษัตริย์ ทำให้มีการประเมินสถานการณ์เห็นว่าไม่ปลอดภัยต่อขบวนเสด็จด้วย 

ทนายได้ถามต่อ พ.ต.ต.ทนงว่า สิ่งที่ทำให้พยานเห็นว่าไผ่ปราศรัยโจมตีสถาบันกษัตริย์คืออะไร พยานกล่าวว่าตีความจากป้ายสัญลักษณ์ และป้ายรณรงค์ในพื้นที่การชุมนุม นอกจากนี้ พยานยังกล่าวว่าไม่ได้ให้ปากคำเรื่องเนื้อหาคำปราศรัยกับพนักงานสอบสวนไว้ในชั้นสอบสวนอีกด้วย 

.

พนักงานสอบสวน บันทึกถอดเทปถ้อยคำตรงกับที่จำเลยปราศรัยจริง 

ในคดีนี้มีพนักงานสอบสวนขึ้นเบิกความเป็นจำนวน 4 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.ปวีร์ กตัญญู, ร.ต.อ.ญ.ทิพย์วรรณ ภู่ประดิษฐ์, พ.ต.ต.โยธี เสริมสุขต่อ, ร.ต.อ.เลิศชาย ผื่อลองชัย ขึ้นเบิกความในฐานะคณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ 

พ.ต.ท.ปวีร์ คณะพนักงานสอบสวนได้ได้สอบปากคำ ส.ต.ท. รุ่งโรจน์ เป็นตำรวจที่ถอดเทปคำปราศรัยและบันทึกภาพการชุมนุมและส่งบันทึกถอดเทปให้ เห็นว่าถ้อยคำปราศรัยในบันทึกถอดเทปไม่มีคำยั่วยุ ปลุกระดม สั่งให้ทำร้ายหรือใช้กำลัง

ร.ต.อ.ญ.ทิพย์วรรณ คณะพนักงานสอบสวน เบิกความยืนยันว่าถ้อยคำปราศรัยถูกต้องตรงกับถ้อยคำที่ชุดสืบสวนหาหลักฐานมา พยานเห็นว่าไม่มีถ้อยคำยั่วยุให้ใช้กำลัง และข้อเรียกร้องที่ปราศรัยสามารถทำได้

พ.ต.ต.โยธี ·สอบสวน พ.ต.ท.ศิริ รองผู้กำกับจราจร สน.สำราญราษฎร์ เบิกความว่าเจ้าหน้าที่ได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนย้าย บางส่วนทำตามและบางส่วนไม่ทำ หลังจากนั้น พล.ต.ต.เมธี รักพันธุ์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 และ พ.ต.อ.อิทธิพล ผู้กำกับ สน.สำราญราษฎร์ แจ้งให้ยุติการชุมนุม โดยไม่มีข้อความกล่าวถึงขบวนเสด็จ แต่ผู้ชุมนุมไม่เชื่อฟังและสาดสีใส่เจ้าหน้าที่ มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บและชุดปฏิบัติหน้าที่เสียหาย

ร.ต.อ.เลิศชาย พนักงานสอบสวน  เบิกความว่าผู้กำกับ สน.สำราญราษฎร์ แจ้งว่าการชุมนุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายให้สลายการชุมนุม มีการประกาศให้ยุติการชุมนุมผ่านเครื่องขยายเสียง แต่ในประกาศไม่ได้แจ้งว่าจะมีขบวนเสด็จ การกระชับพื้นที่เกิดหลังจากการประกาศเนื่องจากผู้ชุมนุมไม่ทำตามคำสั่ง ตำรวจจึงเดินเรียงแถวคล้องแขนไปหาผู้ชุมนุมและในคำให้การของ พ.ต.อ.อิทธิพล  มีคำสั่งให้จับกุมตัว “ไผ่ จตุภัทร์” นอกจากนี้วรางคณา จำเลยที่ 7 ให้การว่าไปช่วยคนชราจึงทำให้ถูกตำรวจดึงจนเสื้อขาด เมื่อเทียบกับภาพตามพยานหลักฐานก็ได้เห็นว่าจำเลยที่ 7 ไม่ได้สวมเสื้อ และมีผ้าห่มคลุมตัวอยู่จริง

.

ตำรวจพิสูจน์หลักฐานอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ รับหลักฐานวิดีโอหลายชิ้นในคดีนี้ไม่ได้ผ่านการตรวจ

โจทก์อ้างส่งพยานตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 2 ปาก ได้แก่ พ.ต.ต.ธัญญสิทธิ เกิดโภคทรัพย์ และ พ.ต.ท.นิติ อิทลักษณ์ 

พ.ต.ต.ธัญญสิทธิ  เบิกความว่า สน.สำราญราษฎร์ได้ส่งดีวีดีมา 5 แผ่น และแฟลชไดรฟ์ 1 ชิ้น ให้พิสูจน์ร่องรอยการตัดต่อ 

การตรวจของพยานจะดูความต่อเนื่องของภาพในวิดีโอผ่านโปรแกรม ดูสเปกตรัมของเสียงและความต่อเนื่องและใช้สายตาของพยานประกอบการตรวจสอบ นอกจากนี้ยังส่งหลักฐานจากสำนักข่าวให้พยานตรวจสอบด้วย จากการตรวจสอบไม่พบการตัดต่อ 

พยานตอบทนายจำเลยว่า พยานเคยเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในการตรวจซีดีในหลายคดี การตรวจจากต้นฉบับกล้องที่บันทึกภาพจะมีความแม่นยำมากที่สุด กรณีถ้าตำรวจเป็นผู้บันทึกภาพเอง ต้องส่งกล้องที่บันทึกให้มาตรวจสอบด้วย พยานทราบว่ากล้องที่ถ่ายสามารถตั้งค่าเวลาและวันที่ให้แตกต่างจากวันที่ถ่ายวิดีโอได้ แผ่นซีดีที่ทนายให้ดูไม่ใช่แผ่นที่พยานตรวจเนื่องจากไม่มีรหัสกำกับ

พ.ต.ท. นิติ เบิกความว่า ได้รับหนังสือขอให้ตรวจพิสูจน์ร่องรอยการตัดต่อ จาก สน.สำราญราษฎร์ 4 รายการ แฟลชไดรฟ์ 1 ชิ้น และซีดี 3 ชิ้น ตรวจหาการตัดต่อโดยใช้โปรแกรม ค้นหาว่าบันทึกจากอุปกรณ์ใด และตรวจโดยใช้สายตาจากผู้ตรวจว่ามีการตัดต่อหรือไม่

ดูจากลักษณะกายภาพ เช่น แสงสี หลังการตรวจสอบไม่พบร่องรอยการตัดต่อ และรายการที่ได้ตรวจเป็นไฟล์วิดีโออื่น ๆ ไม่ได้อยู่ในสำนวนคดีนี้ และทุกคลิปจะมีระยะเวลา 5 นาที คลิปที่พยานได้ตรวจไม่มีคลิปที่บันทึกเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าคลิปจะถูกตัดโดยมีเหตุการณ์ก่อนหรือหลังหรือไม่ และจากการดูคลิปที่ทนายให้ดู สันนิษฐานว่าไฟล์วิดีโอดังกล่าว เป็นไฟล์ยาว แต่ถูกนำมาตัดเหลือ 5 นาที หรือคลิปถูกถ่ายเสร็จแล้วเริ่มคลิปใหม่ คลิปละ 5 นาที 

พยานเห็นว่าการนำคลิปที่มีระยะเวลานานมาตัดทอนแบ่งช่วงเป็นการตัดต่อ แต่ถ้าคลิปถูกตัดทอนแล้วบันทึกเก็บแยกไว้ จะไม่เป็นการตัด พยานไม่ทราบว่าวิดีโอที่ตนตรวจ มาจากไฟล์ใหญ่หรือไม่ และแผ่นซีดีในพยานหลักฐาน ไม่ใช่แผ่นเดียวกับที่พยานตรวจเช่นเดียวกับแฟลชไดรฟ์ และจำนวนวิดีโอก็ไม่ตรงกับที่พยานตรวจ สิ่งที่พยานตรวจไม่ได้ส่งให้ศาล พยานดูได้จากปกติการทำงานของพยานจะเขียนรหัสวัตถุที่ตรวจสอบไว้และบันทึกลงทะเบียน

.

พยานประชาชนที่เห็นเหตุการณ์ ได้มาเบิกความเนื่องจากรู้จักกับพนักงานสอบสวน 

จิตราภรณ์ ปานทอง ขึ้นเบิกความว่า เป็นคนไร้บ้านซึ่งได้ไปรับข้าวและน้ำบริเวณที่มีการชุมนุม ในขณะที่กำลังใช้ห้องน้ำของสถานีตำรวจได้พบกับตำรวจท่านหนึ่ง และถูกสอบถามว่าได้เห็นเหตุการณ์การชุมนุมหรือไม่ พยานตอบว่าเห็นเหตุการณ์ จึงได้เข้ามาเป็นพยานในคดีนี้

สร้อยสุวรรณ แคะนาค เบิกความมีอาชีพรับจ้าง ในวันเกิดเหตุได้ขับรถจักรยานยนต์เพื่อไปดูว่ามีการชุมนุมจริงหรือไม่ และพบนายตำรวจที่รู้จักชื่อ “กร” จำชื่อจริงไม่ได้ อายุประมาณ 40 – 50 ปี พยานเคยไปช่วยเหลือเล็กน้อย เช่น ซื้อของ ทำความสะอาดบ้านให้

ภายหลังตำรวจนายดังกล่าวเรียกพยานไปสอบสวน นอกจากคดีนี้ ตำรวจที่ชื่อ “กร” ได้เรียกมาเป็นพยานในคดีชุมนุมอื่นด้วย ตำรวจได้เรียกให้การเพิ่มเติม พยานไม่ทราบว่าคือการให้การเพิ่มเติมเนื่องจากตำรวจบอกเพียงว่ามีการลงลายมือชื่อ และพยานได้ลงลายมือชื่อเอกสารโดยไม่ได้อ่าน

.

ไผ่ จตุภัทร์ ขึ้นเบิกความเป็นพยานจำเลย ชี้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ 

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา  อายุ 33 ปี เบิกความถึงคดีนี้ว่า ช่วงปลายเดือน ก.ย. ปี 2563 พยานพร้อมกลุ่มกิจกรรมอื่น ๆ รวมตัวกันเรียกว่า “กลุ่มราษฎร” แถลงข่าวจัดการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 วันดังกล่าวในอดีตเป็นวันที่นิสิตนักศึกษาออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย มีประชาชนมาชุมนุมประมาณ 1 แสนคน รัฐบาลทหารในขณะนั้นใช้ความรุนแรงในการปราบปราม ทำให้มีผู้เสียชีวิต

ในวันที่ 13 ต.ค. 2563 ช่วงเวลานั้นประเทศไทยถูกปกครองแบบเผด็จการ โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นักศึกษาจึงออกมาร่วมกันขับไล่เผด็จการทหาร ในวันดังกล่าวพยานอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ  จึงได้เดินทางไปรับกลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมที่มาจากต่างหวัด ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยช่วงเช้า เพื่อจัดเตรียมและต้อนรับคณะราษฎรจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

พยานกับเพื่อนประมาณ 20 คน ช่วยกันจัดเตรียมสถานที่บริเวณทางเท้าหน้าร้านแมคโดนัลด์ กลุ่มของพยานตั้งเต็นท์ขนาดใหญ่สีขาว จำนวน 2 หลัง และมีเสื่อ มุ้ง สำหรับการหลับนอน มีการเขียนป้ายทำจากผ้าดิบขาวและใช้สีน้ำอคริลอกสีน้ำเงินเขียนข้อความ โดยข้อความบนป้ายคือข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม

พยานให้การว่าไม่ทราบว่าช่องทางถนนที่รถจอดจะเป็นที่จอดรถสำหรับลูกค้าร้านแมคโดนัลด์หรือเป็นพื้นที่สำหรับผู้ปกครองโรงเรียนสตรีวิทยาไว้จอดรับ-ส่งนักเรียนหรือไม่ พื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่พื้นที่สัญจร มีลักษณะเป็นไหล่ทางกว้าง 4 เมตร มีการเปิดเพลงบนรถและมีการนำรั้วแผงเหล็กบริเวณหน้าร้าน มาล้อมรถ แผงเหล็กวางใกล้ชิดกับรถ ไม่ได้ล้ำช่องจราจร

ต่อมามีเจ้าหน้าที่เทศกิจของกรุงเทพฯ แจ้งให้เก็บเต็นท์ มีตำรวจเข้ามาพูดคุยเจรจาให้เก็บของ พยานเลยพูดคุยว่าในวันนี้ยังไม่มีการชุมนุม เป็นวันมาเตรียมตัวสำหรับการชุมนุมในวันรุ่งขึ้น จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเดินทางกลับ 

ช่วงบ่ายมีตำรวจมาหลายนาย พยานทราบภายหลังว่าในวันดังกล่าวจะมีขบวนเสด็จผ่านเส้นทางถนนราชดำเนิน ถึงแม้จะมีขบวนเสด็จ พยานเห็นว่าประชาชนก็ยังคงมีสิทธิใช้ถนน ทางเท้าร่วมกัน

จนเวลา 15.00 น. มีรถบรรทุกเครื่องขยายเสียงอีกหนึ่งคันมาจอดในลักษณะเดียวกันกับรถคันแรก ต่อมามีเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศให้เก็บของภายใน 5 นาที มีการพูดถึง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 กลุ่มผู้ชุมนุมจึงตอบว่าในวันนี้ยังไม่มีการชุมนุม การชุมนุมจะมีขึ้นในวันรุ่งขึ้น ขณะนั้นพยานยืนอยู่บนรถบรรทุกเครื่องขยายเสียงคันแรก มีเจ้าหน้าที่เทศกิจรื้อของบนทางเท้า ต่อมามีตำรวจเพิ่มจำนวนมากขึ้น ลักษณะเป็นกองร้อยเข้ามาควบคุมผู้ชุมนุม เดินเข้ามาใกล้บริเวณที่พยานอยู่

ในขณะนั้นพยานกำลังชี้แจงกับตำรวจผ่านไม่โครโฟน แต่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้ามากระชับพื้นที่ เมื่อเข้ามาประชิดกลุ่มผู้ชุมนุม ได้เริ่มมีการจับกุม โดยกระชากดึงตัวผู้ชุมนุมออกไป ลากลงกับพื้นไปยังรถควบคุมตัว ตำรวจใช้วิธีล็อกคอ ใช้หมัดต่อยใบหน้าผู้ชุมนุม มีผู้ชุมนุมหญิงโดนลากลงไป มีผู้ชุมนุมที่สลบ ประชาชนโต้ตอบตำรวจด้วยการเปิดเพลงเต้น เป็นเพลงพื้นบ้านอีกสานชื่อว่า “ทุ่งลุยลาย” ร้องเพลงและอ่านบทกลอนตอบโต้

ในจังหวะชุลมุน ประชาชนได้หยิบสีมาสาด ปาขวดน้ำตอบโต้ตำรวจ พยานไม่ได้เป็นผู้สาดสี ขณะนั้นพยานยังคงอยู่บนรถบรรทุกเครื่องขยายเสียงและอ่านบทกวีอยู่ เนื้อหาในบทกวีไม่มีการสั่งหรือยุยงให้ใช้ความรุนแรง ตำรวจควบคุมฝูงชนจับกุมผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไป จนกระชับพื้นที่เข้ามาใกล้พยาน 

จากนั้นเจ้าหน้าที่ดึงตัวพยานลงไปด้านล่างของรถ โดยมีการดึงอวัยวะเพศของพยานด้วย ก่อนนำตัวไปยังรถควบคุมตัว ในรถนั้นมีผู้ถูกจับกุมประมาณ 20 คน พยานมีอาการบาดเจ็บและฟกช้ำ ส่วนผู้อื่นที่ถูกจับกุมมีร่องรอยการบาดเจ็บที่เห็นได้ เช่น มีเลือดออก เสื้อผ้าขาด

ในตอนที่ตำรวจจับกุม ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่พยาน แต่นำรถควบคุมตัวมุ่งหน้าไปยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 จังหวัดปทุมธานี ทันที ไปถึงประมาณ 16.00 – 17.00 น. โดยในตอนแรกยังคงไม่มีการแจ้งข้อหา จนประมาณช่วง 22.00 – 23.00 น. ได้พบทนายความ พยานไม่ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมเนื่องจากข้อเท็จจริงในบันทึกไม่ถูกต้อง พยานยืนยันว่าพยานไม่ได้สาดสีหรือสั่งการให้สาดสี

ตามรายงานการสืบสวนพยานยืนยันว่าได้มีการแถลงข่าวในวันที่ 8 ต.ค. 2563 ว่าจะมีการชุมนุม นอกจากการเคลื่อนไหวด้านการเมือง พยานยังได้เคลื่อนไหวในเรื่องประเด็นของสิ่งแวดล้อม เช่น การคัดค้านการสร้างเหมืองแร่เหมืองโปแตช คัดค้านการสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูง คัดค้านโครงการเขื่อนผ่าลำน้ำมูล

พยานเห็นว่าในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประชาชนคัดค้านโครงการของรัฐบาลไม่ได้ พยานจึงคัดค้านการรัฐประหารด้วย เหตุที่กลุ่มผู้ชุมนุมต้องการให้พลเอกประยุทธ์ลาออกแเนื่องจากไม่ได้เป็นนายกฯ จากการเลือกตั้ง และมาจากการรัฐประหาร ที่ฉีกรัฐธรรมนูญปี 2550  นำสิทธิมนุษยชนออกจากรัฐธรรมนูญและพยานไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ตัดเรื่องสิทธิมนุษยชนออก การเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ในระบอบประชาธิปไตย รวมถึงข้อเรียกร้องอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้มีการปรับปรุงสถาบันพระมหากษัตริย์ไปในทางที่ดีขึ้น

พยานเบิกความว่าคดีจากเหตุในวันดังกล่าว มีคดีที่ถูกแยกไปอีกคดีหนึ่งด้วย โดยเป็นคดีของผู้ที่มาติดตามสถานการณ์การชุมนุมและถูกออกหมายเรียกในภายหลัง นำโดย ชลธิชา แจ้งเร็ว พบว่าอัยการได้สั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว โดยทำความเห็นว่าการชุมนุมไม่ได้ชุมนุมในสถานที่แออัด ไม่มีการปราศรัยยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และเหตุกระทบกระทั่งเกิดจากเหตุเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมตัว “ไผ่ จตุภัทร์”

ช่วงตอบอัยการถามค้าน

พยานรับว่าชื่อ “ดาวดิน” คือชื่อเรียกกลุ่มนักศึกษานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พยานได้ชื่อว่า “ไผ่ ดาวดิน” เนื่องจากศึกษาในคณะดังกล่าว พยานมีความโกรธเคืองกับพยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งห้ามไม่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น และมีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน พยานไม่รู้จักจำเลยหมดทั้ง 18 คน และก่อนที่จะชุมนุม พยานได้มีการโพสต์เชิญชวนประชาชนในเฟซบุ๊กด้วยจริง

ในวันที่ 13 ต.ค. 2563 เหตุที่ไม่ได้แจ้งจัดการชุมนุม เนื่องจากวันดังกล่าวไม่ใช่วันชุมนุม พยานรับว่าการชุมนุมไม่ได้จำกัดจำนวนคน แม้ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  และเหตุที่ไม่มีจุดคัดกรองโรคเนื่องจากวันที่ชุมนุมจริง ๆ คือวันที่ 14 ต.ค. 2563

ตามที่พยานเบิกความว่ามีตำรวจสั่งให้พยานเก็บของให้หมด ตำรวจไม่ได้ให้เหตุผลไว้ พยานจึงต่อรองขอใช้ทางเท้า แต่การเจรจาไม่เป็นผล โดยในตอนแรกมีกลุ่มที่จะปักหลักรอผู้ชุมนุม ประมาณ 20 คนเท่านั้น หลังจากนั้นจึงมีประชาชนมาเพิ่มประมาณ 40 คน ในตอนที่เกิดเหตุชุลมุน พยานได้ห้ามเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าใกล้ผู้ชุมนุม

พยานตอบคำถามว่าสาเหตุที่ไม่มีรูปถ่ายร่องรอยบนร่างกายพยานแ ละไม่มีใบรับรองแพทย์ เนื่องจากบาดแผลเป็นบริเวณอวัยวะเพศจึงไม่มีภาพถ่าย

พยานเคยได้รับรางวัลจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รางวัลนักศึกษาดีเด่น แต่ไม่ได้มีเอกสารมายืนยันในวันนี้ จะนำมายื่นในภายหลัง

พยานรับว่าเคยเข้าร่วมการชุมนุมก่อนหน้าเหตุในคดีนี้หลายครั้ง เช่น การคัดค้านการสร้างเขื่อนในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  การสร้างวังสระหมอที่จังหวัดชัยภูมิในสมัยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 

การสอบสวนเพิ่มเติมพยานไม่ลงลายมือชื่อ ไม่รับรองว่าพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว แต่รับว่าในการสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหา มีทนายความเข้าร่วมด้วย

ตามภาพมีรถบรรทุกเครื่องขยายเสียง 2 คัน พยานยืนอยู่บนรถคันที่ 1 ไม่ทราบว่าใครอยู่บนรถคันที่ 2 บ้าง  รถที่พยานอยู่มีลักษณะจอดแช่ไม่มีการเคลื่อนย้าย พยานไม่ทราบว่าใครคือเจ้าของรถ รวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ได้มาจากการสนับสนุนของพรรคการเมือง แต่มาจากประชาชนช่วยกันบริจาค

ช่วงตอบทนายความจำเลยถามติง 

พยานเบิกความว่าหลังจับกุม ตำรวจพาพยานไปยัง บก.ตชด. ภาค 1 และนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำในวันถัดมา ไม่ได้มีการให้พบแพทย์ แม้ที่ บก.ตชด. จะมีพยาบาลมาตรวจร่างกายผู้ถูกจับกุม แต่ไม่สามารถออกใบรับรองแพทย์ให้ได้

พยานเคยได้รับรางวัลด้านสิทธิมนุษยชน เช่น รางวัลนักสู้เพื่อประชาธิปไตย, รางวัลนักสิทธิมนุษยชนกวางจู, รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น เป็นต้น

พยานตอบคำถามว่านโยบายพื้นที่การชุมนุมสาธารณะนั้น เกิดขึ้นสมัยผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ขณะเกิดเหตุเป็นสมัยของผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง พยานทราบว่าหลักการใช้ถนนเป็นพื้นที่ชุมนุม จะไม่ปิดถนนทั้งหมด จะมีช่องทางให้รถผ่านได้

.

หนึ่งในจำเลยขึ้นเบิกความ ชี้ได้รับบาดเจ็บจากการเข้ากระชับพื้นที่ของตำรวจ

วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์ อายุ 26 ปี ขณะเกิดเหตุพยานกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต ด้านดิจิตัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์

ในวันที่ 13 ต.ค. 2563 พยานทราบจากเฟซบุ๊กว่าจะมีการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 และเห็นว่าเป็นวันเตรียมตัว พยานชอบถ่ายภาพจึงขับรถยนต์ไปยังบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ช่วง 9.00 – 10.00 น. โดยนำรถไปจอดบริเวณถนนข้าวสาร พยานพกกล้องและเต็นท์สำหรับค้างคืนมา

ช่วงเวลา 12.00 น. มีเจ้าหน้าที่แต่งกายด้วยเครื่องแบบสีน้ำเงินตั้งแถวบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยก่อนหน้านี้มีรถเครื่องเสียงจากเจ้าหน้าที่ประกาศ แต่พยานไม่สามารถจับใจความได้ เนื่องจากเครื่องเสียงคุณภาพไม่ค่อยดี พยานไม่ทราบว่าตำรวจตั้งแถวเพื่ออะไร ต่อมาตำรวจได้เพิ่มกำลังกระชับมาทางผู้ชุมนุม และมีเทศกิจมารื้อถอนเต็นท์

ในระหว่างนั้นก็มีฝนตกลงมา พยานได้นำของไปเก็บไว้ในเต็นท์ และเห็นว่าผู้ชุมนุมตั้งแถวคล้องแขนกันบริเวณรถบรรทุก จึงไปร่วมยืนคล้องแขนด้วย มีการตะโกนไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าใกล้ แต่ไม่เป็นผล ผู้ชุมนุมจึงสาดสีใส่ และพยานร่วมสาดสีด้วยเนื่องจากเห็นถังสีอยู่ด้านหลัง

พยานสาดสีใส่เนื่องจากวิตกกังวลรู้สึกกดดันจึงหาทางที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ถอยออกไป พยานเห็นผู้ชุมนุมถูกจับกุมโดยใช้ความรุนแรง ถูกล็อกคอลากไปกับพื้น ไม่มีการแจ้งสิทธิหรือข้อกล่าวหา พยานถูกนำตัวไปที่ บก.ตชด. ภาค 1 จังหวัดปทุมธานี นำตัวเข้าไปยังห้องประชุม ไม่มีการรักษาพยาบาลผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุม หรือการตรวจร่างกายและการแจ้งข้อกล่าวหา 

จนเวลา 23.00 น. มีการตั้งโต๊ะสอบสวน มีพยาบาลตรวจร่างกาย และเริ่มแจ้งข้อกล่าวหา พยานให้การปฏิเสธไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม เนื่องจากไม่ตรงกับความจริง วันต่อมาตำรวจจึงพาไปขอฝากขังที่ศาลอาญา

ช่วงตอบอัยการถามค้าน

พยานตอบอัยการว่าตนชื่อเล่นพีค ไม่ได้เป็นแกนนำ ไม่รู้จักพยานโจทก์ และไม่มีเหตุโกรธเคืองกัน พยานไม่เคยไปร่วมการชุมนุมกับจตุภัทร์มาก่อน แต่เคยร่วมการชุมนุมในมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาจัดกันเอง เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหตุที่พยานเข้าร่วมการชุมนุมในคดีนี้ เนื่องจากต้องการร่วมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พยานจำได้ว่ามีเจ้าหน้าที่ประกาศให้ออกจากพื้นที่ พยานเป็นผู้สาดสีด้วย แต่พยานไม่ได้ร่วมเขียนป้าย และรับว่าไม่มีจุดคัดกรองโรคโควิด-19 ในวันเกิดเหตุจริง

พยานเข้าใจว่าผู้จัดกำลังเตรียมอุปกรณ์ พยานเองไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยในวันนั้น ผู้ชุมนุมน่าจะไม่เกิน 50 คน พยานยืนยันว่าเหตุในวันที่ 13 ต.ค. 2563 นั้น ยังไม่มีการชุมนุม

เมื่ออัยการนำภาพถ่ายของพยานหลังถูกจับกุม ภาพพยานจมูกบวม พยานได้ยืนยันว่าเป็นภาพในวันเกิดเหตุจริง พยานจำได้ว่าก่อนตำรวจจะกระชับพื้นที่ ตนได้ยินเสียงประกาศ แต่จับใจความไม่ได้ พยานไม่ตัดสินใจกลับเนื่องจากจะค้างคืนรอการชุมนุมวันที่ 14 ต.ค. 2563 

ในวันชุมนุม พยานถือกล้องเดินถ่ายภาพไปเรื่อย ๆ นอกจากพยานยังมีสื่อสำนักข่าวต่าง ๆ ที่ถ่ายภาพด้วย พยานเตรียมของมาแค่เต็นท์และกล้องถ่ายภาพ และคิดว่าขณะที่ผู้ชุมนุมกำลังยืนคล้องแขนป้องกันตำรวจ การจราจรยังคงสามารถสัญจรได้

ช่วงตอบทนายความจำเลยถามค้าน  

พยานยืนยันว่าบริเวณที่เกิดเหตุเป็นที่พื้นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเท คนที่มาร่วมสามารถเดินไปไหนมาไหนได้ ไม่แออัด  นอกจากนี้ยังมีภาพการกระชับแนวใกล้ที่จะเกิดการชุลมุน พยานเห็นว่าตนไม่ได้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากไม่ทราบว่าตำรวจกำลังจะทำอะไร

.

ลูกเกด ชลธิชา ขึ้นเบิกความ พยายามเจรจาให้ตำรวจหยุดใช้ความรุนแรง แต่ไม่เป็นผล

ชลธิชา แจ้งเร็ว ปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปทุมธานี เบิกความเป็นพยานจำเลยถึงเหตุการณ์ในคดีนี้ว่า ตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. 2563 คณะราษฎรได้แถลงว่าจะมีการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

หนึ่งวันก่อนวันชุมนุม พยานมีนัดสัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับการชุมนุมใหญ่วันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานเดินทางด้วยรถแท็กซี่ไปถึงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลาประมาณ 15.00 น. 

เมื่อไปถึง พบประชาชนตั้งเต็นท์บริเวณทางเท้าหน้าร้านแมคโดนัลด์ พบตำรวจควบคุมฝูงชนจำนวนมากประมาณ 200 – 300 นาย พร้อมรถเครื่องเสียงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการประกาศข้อความซึ่งพยานได้ยินไม่ชัดเจน เนื่องจากยืนห่างจากรถประมาณ 1 กิโลเมตร ต่อมาพยานเดินเท้าเข้ามายังบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ชลธิชาเข้าใจว่าประชาชนที่รวมตัวกันในวันที่ 13 ต.ค. 2563 ไม่ได้มาเพื่อชุมนุม แต่มาเพื่อค้างคืนเตรียมตัวสำหรับการชุมนุมวันที่ 14 ต.ค. 2563 ต่อให้เจ้าหน้าที่ประกาศให้ย้ายออก ก็ยังคงรวมตัวกัน เนื่องจากจะมาค้างในบริเวณที่เกิดเหตุ เมื่อตำรวจควบคุมฝูงชนเดินแถวกระชับและจับประชาชนไปยังรถผู้ต้องขังโดยใช้กำลัง โดยมีการฉุดกระชากลากไปกับพื้น จึงทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน แล้วเกิดเหตุการณ์สาดสีตามมา

พยานพยายามเข้าไปพูดคุยเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ควบคุมสถานการณ์ ขอให้ไม่ใช้ความรุนแรงในการจับกุม และให้แจ้งข้อกล่าวหาให้ชัดเจน พร้อมให้ปล่อยผู้ที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ การเจรจาไม่เป็นผล ตำรวจแจ้งกับพยานว่าต้องจับกุมจตุภัทร์ และไม่ได้บอกว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาใด

เหตุการณ์ที่ตำรวจควบคุมฝูงชนกระชับพื้นที่จนจับกุมจตุภัทร์  ในขณะกำลังปราศรัยบนรถที่มีเครื่องขยายเสียงจอดอยู่บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ โดยตำรวจควบคุมฝูงชนดึงไผ่ลงจากรถและลากไปกับพื้น พยานจำรายละเอียดคำปราศรัยไม่ได้ แต่จับใจความได้ว่าไผ่ บอกให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบ หลังจากจับกุมตัวจตุภัทร์ ตำรวจควบคุมฝูงชนก็ถอยออกจากที่เกิดเหตุ

หลังจากนั้น ยังคงมีผู้ชุมนุมอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ มีผู้ปราศรัยให้ตำรวจปล่อยผู้ชุมนุมที่โดนจับ ทั้งในวันที่ 13 ต.ค. 2563 มีขบวนเสด็จผ่านถนนราชดำเนิน มีการประกาศให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบ ขบวนเสด็จใช้ช่องทางฝั่งตรงข้าม ก็สามารถเสด็จผ่านไปได้ ต่อมาผู้ชุมนุมได้เดินทางไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม โดยพยานได้ร่วมไปกับผู้ชุมนุมด้วย หลังจากนั้นจึงค่อยกลับที่พัก

พยานเคยถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แต่อัยการสั่งไม่ฟ้องในคดีดังกล่าว เนื่องจากขณะนั้นมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  พนักงานอัยการเห็นว่ายังไม่มีความรุนแรงและพื้นที่เป็นชุมนุมเป็นพื้นที่เปิดโล่ง

ช่วงตอบอัยการถามค้าน

พยานสังกัดพรรคก้าวไกล และไม่รู้จักจำเลยทั้งหมด รู้จักแต่จตุภัทร์ เพราะเคยเข้าร่วมการชุมนุมด้วยกันและเคยถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมพร้อมกัน ทราบว่าไชยอมรเป็นนักร้อง แต่ไม่ทราบว่าเคยร่วมการชุมนุมด้วยกันหรือไม่  สำหรับคณะราษฎรมาจากการรวมกันของกลุ่มย่อยประมาณ 5-6 กลุ่ม แต่ไม่มีกลุ่มย่อยตามภาคต่าง ๆ 

ก่อนหน้าคดีนี้ ในวันที่ 8 ต.ค. 2563 มีการแถลงข่าวเรื่องการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค. 2563  พยานเป็นผู้ร่วมแถลงข่าว แต่พยานไม่ได้รู้จักทุกคนที่ร่วม ในการแถลงข่าวมีการแจ้งว่าจะจัดการชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน ไม่จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม 

พยานเคยเข้าร่วมการชุมนุมที่ถนนราชดำเนินมาก่อน แต่จำไม่ได้ว่าเป็นการชุมนุมครั้งใดบ้าง พยานไม่ได้เป็นผู้จัดเตรียมเต็นท์ รถบรรทุกเครื่องขยายเสียง สี ป้าย ทั้งการชุมนุมวันที่ 13 และ 14 ต.ค. 2563 

วันที่ 13 ต.ค. 2563 เวลา 15.00 น. พยานไปถึงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยังไม่พบจตุภัทร์ จำไม่ได้ว่ารถบรรทุกเครื่องขยายเสียงมาบริเวณที่ชุมนุมเมื่อเวลาใด แต่จำได้ว่าตอนแรก ยังไม่มีการปราศรัย พยานจำไม่ได้ว่าเริ่มปราศรัยกี่โมง แต่เมื่อมีการปราศรัยได้ไม่นาน ก็มีตำรวจมาควบคุมตัวไผ่ ขณะนั้นมีประชาชนยืนกระจัดกระจายอยู่หน้าร้านแมคโดนัลด์ บริเวณช่องทางสำหรับจอดรถ พยานจำจำนวนผู้ชุมนุมไม่ได้

ชลธิชาไม่ทราบว่ามีการขออนุญาตให้ใช้เครื่องขยายเสียงหรือไม่ ตนไม่ได้มีหน้าที่ขออนุญาต และไม่ทราบว่าจะมีการชุมนุมด้วย มาทราบตอนที่ใกล้ถึงที่เกิดเหตุ  เนื่องจากพยานไปที่เกิดเหตุเพื่อให้สัมภาษณ์ตามที่เบิกความไปข้างต้น จึงนัดกับผู้สื่อข่าวที่ร้านแมคโดนัลด์ เนื่องจากต้องถ่ายภาพคู่กับอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยประกอบข่าว 

ส่วนเหตุที่พยานไปช่วยเจรจากับตำรวจ เนื่องจากเห็นการใช้ความรุนแรง และพยานพอจะรู้จักกับนายตำรวจอยู่บ้าง จึงเข้าไปเจรจา พยานไม่ได้ร่วมปราศรัยในวันดังกล่าวด้วย

พยานจำได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ประเทศไทยไม่มีการระบาดของโรคโควิด-19  ภายในประเทศ พื้นที่ชุมนุมเป็นพื้นที่โล่ง พยานเคยถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาก่อน และศาลมักจะยกฟ้องเนื่องจากการชุมนุมในพื้นที่เปิด ไม่ถือว่าเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในวันดังกล่าวพยานจำไม่ได้ว่ามีจุดคัดกรองหรือไม่ เนื่องจากเมื่อพยานไปถึงก็เริ่มมีเหตุชุลมุน และในวันที่ 14 ต.ค. 2563 พยานได้เข้าร่วมการชุมนุมด้วย

ช่วงตอบทนายความจำเลยถามติง

พยานตอบคำถามว่าเหตุที่เคยโดนดำเนินคดีร่วมกับจตุภัทร์ คือเรื่องคดีฝ่าฝืน คสช. ในการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยช่วงรัฐประหาร ซึ่งคดีลักษณะดังกล่าว ศาลก็ได้ยกฟ้องไปแล้ว

.

อดีตผอ.สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ชี้การชุมนุมในวันที่ 13 ต.ค. เป็นการชุมนุมโดยสงบ ตามกติการะหว่างประเทศ-พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิจัยที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ รับราชการเป็นผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล พยานทำวิจัยด้านความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย ความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

วันที่ 13 ต.ค. 2563 พยานทราบจากสื่อว่ามีเหตุการณ์ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พยานไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมวันดังกล่าว แต่พยานรู้จักกับ “ไผ่ จตุภัทร์” เนื่องจากจำเลยรายนี้ศึกษาอยู่ในระดับปริญญาโทในสถาบันฯ ที่พยานทำงานอยู่ข้างต้น

พยานทราบว่าจตุภัทร์ได้รับรางวัลนักปกป้องสิทธิฯ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, รางวัลกวางจูเพื่อประชาธิปไตย ของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมอบให้ผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติ หรือรางวัลฅนค้นคนเยาวชนต้นแบบ

พยานเบิกความถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งไทยได้ให้สัตยาบันไว้ เนื้อหารับรองถึงสิทธิในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และหลักการดังกล่าวถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 44

สำหรับการชุมนุมโดยสงบสันติ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท 1. แบบเชิญชวน เช่น การนำเสนอให้แก้ไขกฎหมาย เช่น การ “ไฮด์ปาร์ค” 2. แบบไม่ให้ความร่วมมือ เช่น ปิดถนน 3. แบบแทรกแซง เช่น นัดหยุดงาน

พยานทราบถึงข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อของผู้ชุมนุม คือ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การชุมนุมในวันดังกล่าวเป็นประเภทที่ 1 ผสม 2 พยานทราบว่าวันชุมนุมจริงคือวันที่ 14 ต.ค. 2563 ส่วนวันเกิดเหตุคดีนี้ คือวันปักหลักเพื่อที่จะค้างคืนรอ

พยานไม่ทราบเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ แต่ทราบว่าปกติหากจะสลายการชุมนุม จะต้องมีการเจรจากับผู้ชุมนุมก่อนเสมอ การแยกการชุมนุมที่สงบปราศจากอาวุธกับชุมนุมที่ไม่สงบ คือหากแกนนำสั่งให้ไปเผา ทำร้าย เป็นการชุมนุมที่รุนแรงไม่สงบ ลักษณะการชุมนุมมีบัญญัติไว้ในความเห็นทั่วไปที่ 37 ของสหประชาชาติ ว่าถ้าการชุมนุมสงบมาตั้งแต่ต้น แต่เกิดเหตุแทรกแซงให้ไม่สงบ ไม่ควรเหมารวมว่าการชุมนุมไม่สงบทันที โดยที่การชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิพลเมือง การสลายการชุมนุมต้องมีเหตุผลเพียงพอ หากเจ้าหน้าที่ไปสลายการชุมนุมโดยไม่มีเหตุ จะสุ่มเสี่ยงกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ

พยานทราบว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่พยานมีความเห็นว่า พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก. ไม่มีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่ารัฐธรรมนูญ และต้องดูองค์ประกอบอื่น ๆ ประกอบ เช่น สถานที่การจัดการชุมนุม ดูว่ามีการแพร่ระบาดหลังการชุมนุมหรือไม่ ถ้าไม่มีการระบาด รวมถึงมีความระมัดระวังเพียงพอ ก็ถือว่าเป็นการชุมนุมที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ตามความเห็นทั่วไปที่ 7 การชุมนุมบนท้องถนนสามารถกีดขวางการจราจรได้ แต่ต้องคำนึงว่ากระทบประชาชนมากเกินไปหรือไม่ ส่วนถ้าหากมีขบวนเสด็จจะมีการเจรจาขอให้เปิดทางให้ ในอดีตอาจมีการขอให้ผู้ชุมนุมรวมตัวฝั่งตรงข้ามกับเส้นทางที่เสด็จ เพื่อให้ขบวนเสด็จผ่านไปได้

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองนั้น มีเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง การสื่อความหมายด้วยป้ายข้อความ สัญลักษณ์สามารถทำได้ การชุมนุมแบบไม่ให้ความร่วมมือ เช่น เมื่อพืชผลตกต่ำก็จะมีการชุมนุม รัฐต้องดูแลผู้ชุมนุม จัดหารถห้องน้ำเคลื่อนที่ สิ่งของดำรงชีพ เจ้าหน้าที่ต้องมีความยับยั้งชั่งใจในการดูแลการชุมนุม ในบางครั้งการชุมนุมที่กีดขวางการจราจร ต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแลการจราจร ดูแลความปลอดภัยให้ผู้ชุมนุมและให้ประชาชนทั่วไปสัญจรได้

ช่วงตอบอัยการถามค้าน

พยานตอบคำถามค้านว่า ไม่เคยไปจัดการชุมนุมร่วมกับจำเลยมาก่อน แต่เคยไปร่วมการชุมนุมเดียวกัน พยานไม่มีกลุ่มสังกัด พยานทราบว่าจำเลยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุม และรับว่าเคยขึ้นเบิกความเป็นพยานคดีอื่นที่จตุภัทร์เป็นจำเลย

พยานไม่เห็นเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ พยานรับว่าการชุมนุมต้องอยู่ภายใต้กฎหมายภายในประเทศ การชุมนุมต้องมีการแจ้งหัวหน้าสถานีตำรวจ แต่พยานไม่ทราบว่าวันที่เกิดเหตุจะมีการแจ้งหรือไม่ การจัดการชุมนุมต้องไม่ขวางทางเข้าออกหน่วยงานราชการ สถานศึกษา แต่ไม่ได้หมายถึงการขวางทางเข้าออกเฉพาะรถ แม้การชุมนุมกีดขวาง ทำให้รถเข้าออกไม่ได้ แต่หากเดินเข้าไปได้ ก็ถือว่าการชุมนุมนั้นสามารถกระทำได้

พยานเคยไปบริเวณอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณดังกล่าวมีโรงเรียนสตรีวิทยา หากในการชุมนุมมีความไม่สงบเจ้าหน้าที่สามารถเข้าควบคุมได้ และการชุมนุมช่วงโควิด-19 พยานรับว่าหากไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่มีมาตรการในการชุมนุม มีคนเยอะ อาจเสี่ยงต่อการแพร่โรค

ช่วงตอบทนายความจำเลยถามติง

พยานไปในการชุมนุมเพื่อไปเก็บข้อมูลวิจัยพูดคุยกับแกนนำ ในบางครั้งไปในฐานะมีอุดมการณ์คล้ายกัน หรือไปสังเกตการณ์ พยานจำไม่ได้ว่าเป็นการชุมนุมใดบ้าง แต่พยานจำได้ว่าช่วงปี 2563 พบจตุภัทร์ในการชุมนุมบ่อย 

ส่วนที่พยานเบิกความตอบคำถามค้านว่า เจ้าหน้าที่สามารถเข้าควบคุมได้ คือในกรณีเกิดความไม่สงบเจ้าหน้าที่สามารถเข้าระงับเหตุได้ แต่ไม่ใช่เข้าไปสลายการชุมนุม อีกทั้งบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้น เป็นถนนเปิดโล่ง มีลักษณะเป็นวงเวียน อากาศถ่ายเท

X