เปิดคำฟ้องคดี “ภูมิ หัวลำโพง” กรณีร่วม #ม็อบราษฎรอีสาน 13ตุลา63 ก่อนศาลเยาวชนฯ นัดตรวจพยาน มี.ค. 65 

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 เวลา 08.30 น. ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มีนัดสอบคำให้การคดีของ “ภูมิ หัวลำโพง” (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 18 ปี ซึ่งถูกสั่งฟ้องในฐานความผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุร่วมชุมนุมกับ #คณะราษฎรอีสาน ใน #ม็อบ13ตุลา ที่ อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 

>>คุมตัว #คณะราษฎรภาคอีสาน 21 ราย พาตัวไปตชด.ภาค 1 ก่อนส่งศาลฝากขัง ไม่ให้ประกัน  

ต่อมา หลังภูมิยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ศาลได้กำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานเป็นวันที่ 14 มีนาคม 2565 เวลา 09.00 น. 

.

จำเลยให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมขอยื่นคัดค้านรายงานสถานพินิจฯ

ช่วงเช้า เวลา 09.00 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์นัดสอบคำให้การ ภายในห้องพิจารณาคดีประกอบไปด้วยจำเลย ผู้ปกครองของจำเลย และที่ปรึกษาทางกฎหมาย (ทนายความ) 

หลังศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยได้ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมกันนี้ภูมิได้ยอมรับต่อศาลว่า ตนเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยใน คดีชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน สี่แยกปทุมวัน และ คดีชุมนุม#ตามหานาย หน้าประตูทางเข้า ม.พัน 4 พล.1 รอ. ของศาลเยาวชนฯ นี้ด้วย 

ต่อมา หลังได้อ่านรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนของสถานพินิจฯ แล้ว จำเลยได้ขอแถลงข้อคัดค้านบางประการ ที่ปรึกษาทางกฎหมายจึงจะขอยื่นคำคัดค้าน

ศาลอนุญาตให้คัดค้านภายใน 20 วัน พร้อมทั้งกำหนดนัดวันตรวจพยานหลักฐานครั้งต่อไปในวันที่ 14 มี.ค. 65 เวลา 09.00 น. 

.

ย้อนดูคำฟ้องคดี ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ #คณะราษฎรอีสาน ชุมนุมรอการชุมนุมใหญ่ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ได้ยื่นฟ้องคดีนี้ คำฟ้องระบุโดยสรุปไว้ว่า 

ก่อนเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563 บรรดาแกนนํานักจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองหลากหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่ม “เยาวชนปลดแอก”, กลุ่ม “สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย” (สนท.), กลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม”, กลุ่ม “ฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG)” และกลุ่มดาวดิน ได้รวมกันเป็นแนวร่วม จัดการชุมนุมภายใต้ชื่อกลุ่ม “คณะราษฎร 2563” และแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนประกาศจัดการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งตรงกับวันสําคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป ณ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภายใต้ ชื่อกิจกรรมว่า “เพราะเราทุกคนคือคณะราษฎร และคณะราษฎรยังไม่ตาย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตําแหน่ง, ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ต่อมา เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 จำเลยกับพวกซึ่งเป็นแกนนําจัดกิจกรรม รวมกลุ่มชุมนุมทางการเมืองดังกล่าว ได้ร่วมกันจัดตั้งเวทีปราศรัยชั่วคราว นำรถกระบะมาจอดขวางช่องทางเดินรถ บนถนนราชดำเนิน และร่วมกันเคลื่อนย้ายแผงเหล็กกั้นที่เจ้าหน้าที่ตํารวจได้นํามาใช้กั้นบริเวณทางเท้าหน้าร้านแม็คโดนัลด์ เพื่อป้องกันมิให้ผู้ชุมนุมลงไปรวมกลุ่มชุมนุมกันบนพื้นผิวจราจรบนถนนราชดําเนินกลาง พร้อมกับขึงป้ายผ้าที่แผงเหล็กที่มีข้อความว่า “หยุดคุกคามประชาชน” “มิได้เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง” “ยกเลิก ม.112” และ “ยกเลิกรับบริจาคโดยราชกุศล” อันเป็นการร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น ทอดทิ้งสิ่งของ กองวัตถุใดๆ บนถนน อันมีลักษณะเป็นการกีดขวางทางสาธารณะและกีดขวางการจราจร จนเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร

ต่อมา จําเลยกับพวก และประชาชนประมาณ 100 คน ได้เข้าร่วมรวมกลุ่มชุมนุมมั่วสุมกัน เพื่อฟังนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา กับแกนนํา ปราศรัยบนเวทีชั่วคราวดังกล่าว โดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า ร่วมกันเต้น ร้องเพลง โห่ร้องตะโกนอยู่บนถนนราชดําเนินกลาง ซึ่งเป็นสถานที่แออัดและเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ทําให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้ถนนราชดําเนินกลางสัญจรผ่านไปมาได้ครบทุกช่องทางเดินรถ อันเป็นการร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทําการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และเป็นการร่วมกันชุมนุมทํากิจกรรมหรือร่วมกันมั่วสุมในสถานที่แออัดและในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

ยิ่งไปกว่านั้น จําเลยกับพวกไม่ได้แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า ต่อ พ.ต.อ.อิทธิพล พงษ์ธร ผู้กํากับ สน.สําราญราษฎร์ หัวหน้าสถานีตํารวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ การชุมนุมสาธารณะนี้จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และเป็นการฝ่าฝืนข้อกําหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

พ.ต.อ.อิทธิพล พงษ์ธร ได้ประกาศแจ้งเตือนผ่านเครื่องขยายเสียงให้ทราบว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย จึงให้เลิกหรือยุติการชุมนุม และให้เคลื่อนย้ายสิ่งของและ รถกระบะที่จอดกีดขวางการจราจรออกไปจากช่องทางเดินรถดังกล่าว เพื่ออํานวยความสะดวก การจราจรแก่ประชาชน และเพื่อจัดมาตรการถวายความปลอดภัยเส้นทางขบวนเสด็จพระราชดําเนินตามหมายกําหนดการในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งจะเสด็จผ่านบริเวณที่เกิดเหตุดังกล่าว 

ทว่า จําเลยกับพวกซึ่งทราบคําสั่งของเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว ได้ร่วมกันไม่ปฏิบัติตามคําสั่ง ยังคงฝ่าฝืนร่วมกันชุมนุมทํากิจกรรมมั่วสุมยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยทําให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง 

ต่อมา พ.ต.อ.อิทธิพล พงษ์ธร ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด 17 นาย เข้าร่วมกันจับกุมนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ที่กําลังยืนปราศรัยอยู่บนรถยนต์กระบะบรรทุก ปรากฏว่าจําเลยกับพวกที่มาร่วมชุมนุรวมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ได้ร่วมกันต่อสู้ ขัดขวางการปฏิบัติการตามหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชน ไม่ให้เข้าทําการจับกุมตัวนายจตุภัทร์ โดยใช้กําลังประทุษร้าย และโดยร่วมกันกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป, ร่วมกันใช้กําลังทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงานที่กระทําการตามหน้าที่ ด้วยการใช้แผงเหล็กกั้นที่เจ้าหน้าที่ตํารวจนํามาตั้งเป็นแนวกั้นบนทางเท้าไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมลงมารวมกลุ่มชุมนุมบนถนนราชดําเนินกลาง ผลักดัน ขว้างสิ่งของ ใช้มือชกต่อยทําร้ายร่างกาย สาดและป้ายสีอะคริลิค เข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 17 นาย เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ เป็นอันตรายแก่ร่างกาย และทำให้เครื่องแบบควบคุมฝูงชนเปรอะเปื้อนด้วยสีอะคริลิค อันเป็นการทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้เสื่อมค่าและทําให้ไร้ประโยชน์ 

อัยการฟ้องภูมิทั้งหมด 8 ข้อหาด้วยกัน ได้แก่

  1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลัง ประทุษร้าย หรือกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง 
  2. ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกันในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค
  3. พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 114 ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร 
  4. พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19 ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน 
  5. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ทำให้เสียทรัพย์
  6. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเจ้าพนักงาน 
  7. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ 
  8. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140 ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายโดยร่วมกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป

สำหรับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี พนักงานอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวแต่อย่างใด โดยให้อยู่ดุลพินิจของศาล

ทั้งนี้ ในท้ายคำฟ้องยังระบุว่า ขอให้ศาลได้สั่งริบกระป๋องสีอะคริลิกซึ่งเป็นของกลาง และขอให้นับโทษจำคุกหรือระยะเวลาฝึกอบรมของจำเลย ในคดีนี้เรียงติดต่อกับโทษจำคุกหรือระยะเวลาฝึกอบรมของจำเลย คือคดีชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน สี่แยกปทุมวัน และ ชุมนุม #ตามหานาย หน้าประตูทางเข้า ม.พัน 4 พล.1 รอ. ของศาลนี้ด้วย 

.

X