ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานว่าช่วงดึกวันที่ 1 ต.ค. 64 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน สน.เตาปูน ได้เข้าจับกุม นายฉัตรมงคล วัลลีย์ ตามหมายจับของศาลอาญาลงวันที่ 23 ก.ย. 64 ในข้อกล่าวหา “ร่วมกันบุกรุก, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม, ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันกระทำการใดให้ของโสโครกเปรอะเปื้อนทรัพย์หรือแกล้งทำให้โสโครกเป็นที่เดือดร้อนรำคาญ” จากคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาทำความเห็นทางคดีของอัยการ เหตุจากกิจกรรม “ปาไข่-สาดสี” ที่หน้า ม.พัน 4 รอ. ทวงถามการลงโทษทหารล็อกคอผู้ชุมนุมเมื่อ 28 ก.ย. 63 โดยมีการนำตัวเขาไปที่ สน.เตาปูน
ด้านทนายความที่ติดตามไปให้ความช่วยเหลือแก่นายฉัตรมงคล ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.เตาปูน ถึงเหตุที่ต้องออกหมายจับ ทางตำรวจระบุว่าเป็นการออกหมายจับ เพื่อนำตัวมาส่งให้อัยการ และอัยการจะส่งฟ้องคดีที่ศาลต่อไป แต่กลับมีการจับกุมในช่วงกลางคืนของวันศุกร์ที่ผ่านมา พ.ต.ท.สมเกียรติ อนันตรัตน์ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนคดี ยังระบุว่าในช่วงเช้าวันที่ 2 ต.ค. 64 เวลาประมาณ 9.00 น. จะทำการสอบถามคำให้การและแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้ทราบ ทำให้คืนที่ผ่านมาฉัตรมงคลถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.เตาปูน
ปรากฎว่าเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พ.ต.ท.สมเกียรติ ได้แจ้งกับทนายความว่าได้นำตัวฉัตรมงคล ไปยังศาลอาญาเพื่อส่งตัวให้กับศาลตามหมายจับแล้ว แต่ได้พาตัวกลับมาควบคุมไว้ที่ สน.เตาปูน อีกครั้งก่อน และจะทำการส่งตัวต่อให้อัยการเพื่อส่งฟ้องในวันจันทร์
ด้านทนายความได้โต้แย้งว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำการควบคุมตัวฉัตรมงคลไว้จนถึงวันจันทร์ได้ เนื่องจากการควบคุมตัวจะเกินระยะเวลา 48 ชั่วโมง ตามอำนาจของพนักงานสอบสวน แต่พนักงานสอบสวนระบุว่าสามารถกระทำได้ เนื่องจากศาลอาญาให้นำตัวกลับมาควบคุมไว้ที่ สน.เตาปูน และเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่ทำให้ควบคุมตัวเกินกว่า 48 ชั่วโมงได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 แต่ไม่มีการแสดงหมายขังของศาลหรือเอกสารใดๆ ที่ให้อำนาจควบคุมตัวเกินกว่า 48 ชั่วโมง ตามกฎหมายดังกล่าวไว้ได้เลย
ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ในข้อยกเว้นเรื่องการควบคุมตัว 48 ชั่วโมงของพนักงานสอบสวนนั้นระบุไว้ว่า “เว้นแต่ มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ โดยให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ยื่นคำร้องต่อศาล ขอหมายขังผู้ต้องหานั้นไว้ ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ และศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาชี้แจงเหตุจำเป็น หรืออาจเรียกพยานหลักฐาน มาเพื่อประกอบพิจารณาก็ได้” หมายความว่าจะต้องเป็นกรณีที่ศาลได้ออกหมายขังให้ควบคุมตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมไว้ได้เกินกว่า 48 ชั่วโมง แต่กรณีนายฉัตรมงคล ไม่ปรากฏว่ามีหมายขังจากศาลแต่อย่างใด มีเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ ของพนักงานสอบสวนเท่านั้น
ด้านทนายความได้แจ้งขอประกันตัวในชั้นของพนักงานสอบสวน และจะมารายงานตัวเพื่อส่งฟ้องคดีในเช้าวันจันทร์ต่อไป เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาควบคุมตัวอยู่ที่ สน.เตาปูน แต่ พ.ต.ท.สมเกียรติ ปฏิเสธการให้ประกันตัว ทำให้เขาจะถูกควบคุมตัวจนถึงวันจันทร์ที่ 4 ต.ค.
มูลเหตุคดีกิจกรรม “ตามหานาย”
สำหรับการชุมนุมบริเวณหน้าทางประตูทางเข้า ม.พัน 4 พล.1 รอ. เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2563 ซึ่งตำรวจและทหารเข้าแจ้งเป็นคดีนั้น สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 63 ขณะประชาชนแยกย้ายกลับจากการเดินเท้าไปที่รัฐสภา เพื่อนำส่งรายชื่อประชาชนจำนวน 100,732 รายชื่อ ที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ได้มีประชาชนรายหนึ่งที่ร่วมกิจกรรมได้เข้าถ่ายภาพบริเวณป้าย ม.พัน 4 พล.1 รอ. และถูกทหารนอกเครื่องแบบสั่งให้ลบภาพออก แต่เขายืนยันไม่ลบ ทหารนอกเครื่องแบบ 3 นาย จึงพยายามเข้าล็อคแขนและคอ พร้อมทั้งแย่งโทรศัพท์ แต่มีผู้ชุมนุมเข้าช่วยเหลือ ทหารทั้งสามนายอ้างว่า ได้รับคำสั่งมาจาก “นาย” หลังตำรวจ สน.บางโพ เข้าระงับเหตุ ผู้เสียหายยืนยันที่จะเข้าแจ้งความ ตำรวจจึงพาตัวทหารทั้งสามนายไปสอบสวนที่ สน.บางโพ ทหาร 3 นายให้การว่าไม่มีใครสั่งให้กระทำลักษณะดังกล่าว และกล่าวขอโทษผู้เสียหาย
ต่อมา วันที่ 28 ก.ย. 2563 ภาณุพงศ์ จาดนอก พร้อมด้วยแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้จัดกิจกรรม “ตามหานาย” เพื่อทวงถามความคืบหน้าจากผู้บังคับบัญชาในการลงโทษพลทหารนอกเครื่องแบบ 3 นาย โดยหลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมได้ปักหลักหน้า พัน ม.4 พล.1 รอ. ประมาณเกือบ 2 ชั่วโมง แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารออกมาพบ ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจ และได้ปาไข่ พร้อมสาดสีใส่ป้ายกองพัน และพื้นที่บริเวณด้านหน้ากองพัน ก่อนแยกย้ายกันเดินทางกลับ
กรณีดังกล่าว ทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 6 คน นอกจากฉัตรมงคลแล้ว ยังมีธนชัย เอื้อฤาชา, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, ณัฐชนน ไพโรจน์, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง และ “ภูมิ” เยาวชนอายุ 17 ปี
โดยแยกกล่าวหาเป็น 3 คดี ได้แก่ คดีของฉัตรมงคล, ธนชัย, ภาณุพงศ์ ซึ่งมีข้อกล่าวหาที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญา กับคดีของณัฐชนน, ปนัสยา และชินวัตร ที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง โดยส่วนของปนัสยาและชินวัตร ได้ถูกอัยการสั่งฟ้องคดีที่ศาลแขวงดุสิตไปแล้ว เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 64 และคดีของภูมิ ที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนฯ ก็ได้ถูกสั่งฟ้องคดีไปถึงชั้นศาลแล้วเช่นกัน