เปิดคำแก้ข้อกล่าวหาคดีศาล รธน. การปราศรัย “อานนท์-รุ้ง-ไมค์” ไม่ได้ล้มล้างการปกครองฯ ข้อกล่าวหาผู้ร้องคลุมเคลือเลื่อนลอย ยกความเห็น/ความรู้สึกข้างเดียว

ในวันที่ 10 พ.ย. 2564 เวลา 15.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี ชั้น 3 ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดวันนัดฟังคำวินิจฉัยคำร้องของนายณฐพร โตประยูร ขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการปราศรัยของอานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เมื่อวันที่ 3 และ 10 ส.ค. 2563 ในการชุมนุม  #เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในประเด็นว่าการปราศรัยในที่ชุมนุมของทั้งสามคนเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หรือไม่ และขอให้กลุ่มผู้ถูกร้องเลิกการกระทำดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญเพียงพิจารณาจากเอกสารคำร้อง คำคัดค้านคำร้อง และเอกสารที่ทางศาลเรียกจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ก่อนมีคำสั่งยุติการไต่สวน โดยระบุว่าพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้

>> 10 พ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย อานนท์-ไมค์-รุ้ง ปราศรัยล้มล้างการปกครองหรือไม่ โดยไม่นัดไต่สวนทั้งสามคนก่อน

>> เปิดคำร้อง “ณฐพร โตประยูร” คดีร้องศาล รธน. ‘อานนท์-รุ้ง-ไมค์’ ใช้ ‘สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ’ หรือไม่

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนอ่านสรุปคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้องทั้งสามคน ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 พร้อมกับได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีการไต่สวนคดี โดยมีการยื่นบัญชีพยานบุคคลและพยานเอกสารที่ต้องการให้ศาลไต่สวนประกอบ แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุติการไต่สวนในที่สุด

.

.

1. ข้อกล่าวหาของนายณฐพร ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 เนื่องจากคำร้องมีความคลุมเคลือ ไม่ชัดแจ้ง และไม่มีการบรรยายคำร้องตามองค์ประกอบของมาตรา 49

คำร้องที่คลุมเคลือกล่าวหาอย่างเลื่อนลอย ยกความคิดและความรู้สึกของผู้ร้องมากล่าวอ้างข้างเดียว

ข้อ 1.1  มาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญ บัญญัติถึงการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่คำร้องของผู้ร้องไม่ปรากฏสภาพแห่งข้อหาที่ชัดเจน ว่าผู้ถูกร้องทั้งสามใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ อย่างไร กล่าวคือ จากเนื้อหาคําร้องที่ผู้ร้องได้บรรยายในคําร้องนั้น มิได้บรรยายว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความหมาย สาระสำคัญ และองค์ประกอบอย่างไร และข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหาที่ผู้ร้องบรรยายในคําร้องนั้นเป็นข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอย โดยมิได้บ่งชี้ว่าผู้ถูกร้องทั้งสามได้ใช้สิทธิหรือเสรีภาพประการใด หรือกระทำการประการใดอันเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ยกตัวอย่างเช่น ที่ผู้ร้องการบรรยายข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับงานชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ในลักษณะเล่าเหตุการณ์ แต่มิได้บรรยายข้อเท็จจริงอย่างชี้ชัดว่าการกระทําใด หรือถ้อยคําใดของผู้ถูกร้องทั้งสามเป็นการล้มล้างการปกครองฯ อีกทั้งผู้ร้องได้บรรยายถึงคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 ที่ให้ความหมายของคําว่า “ล้มล้าง” และ “ปฏิปักษ์” ซึ่งมีความหมายแตกต่างกัน และจากนั้นผู้ร้องได้กล่าวไปถึงการแสดงความคิดเห็นของปิยบุตร แสงกนกกุล, พริษฐ์ ชีวารักษ์ และจตุพร พรหมพันธุ์ ว่าเป็นการพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งไม่ใช่การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสาม และไม่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกร้องทั้งสามแต่อย่างใด

นอกจากนี้ผู้ร้องก็มิได้บรรยายว่า ข้อเสนอ 10 ข้อที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างไร ผู้ร้องได้แต่เพียงบรรยายความรู้สึกและความคิดเห็นของผู้ร้องเอง ยกตัวอย่างเช่น ผู้ร้องในฐานะประชาชนคนไทย ก็รู้สึกเสียใจและไม่สบายใจอย่างยิ่งต่อการแสดงออกของคณะบุคคล หรือ รู้สึกเสียใจอย่างยิ่งที่เป็นข้อเสนอมาจากคนที่อ้างว่าตนเป็นคนรุ่นใหม่ ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ แต่กลับเชื่อข้อมูลข่าวลือ เป็นต้น

ผู้ถูกร้องทั้งสามเห็นว่าข้อกล่าวหาของผู้ร้อง เป็นเพียงการแสดงถึงความห่วงใยต่อสถาบันกษัตริย์และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น โดยไม่มีข้อโต้แย้งที่ปรากฏอย่างแจ้งชัดว่าการกระทําของผู้ถูกร้องทั้งสามเป็นการล้มล้างการปกครองฯ อย่างไร

การที่ผู้ร้องมิได้บรรยายสภาพแห่งข้อหาที่ชัดเจนว่าผู้ถูกร้องทั้งสามใช้สิทธิหรือเสรีภาพในการล้มล้างการปกครองฯ อย่างไร ทําให้ผู้ถูกร้องทั้งสามไม่อาจเข้าใจถึงสภาพแห่งการกระทําที่เป็นข้อกล่าวหา อันเป็นการขัดกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ได้ และไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่

.

คำร้องไม่เข้าองค์ประกอบ รธน. ม.49 – คำบรรยายอื่นๆ เป็นคนละประเด็นกับคำร้อง ศาลไม่อาจรับไว้พิจารณาได้

ข้อ 1.2 คําร้องของผู้ร้องไม่เข้าตามองค์ประกอบของมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก ไม่ได้มีการกล่าวหาว่าผู้ถูกร้องทั้งสาม “ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ศาลจึงไม่มีอำนาจรับคําร้องของผู้ร้องไว้วินิจฉัยได้

กล่าวคือ บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 เป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะให้อํานาจศาลจํากัดสิทธิทางรัฐธรรมนูญของปัจเจกชน ดังนั้นการตีความบทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องตีความโดยแคบ หาใช่ตีความกว้างขวางตามที่ผู้ร้องได้กล่าวหาไม่ หากพิจารณาตามหลักกฎหมายมาตรา 49 ได้บัญญัติให้อํานาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งให้เลิกการกระทําที่เป็น “การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งหัวใจสำคัญของการพิจารณาคดี คือการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล โดยต้องพิจารณาว่าบุคคลนั้นใช้สิทธิหรือเสรีภาพเป็นไปเพื่อเจตนา “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือไม่

แต่คําร้องของผู้ร้องมิได้กล่าวหาว่าผู้ถูกร้องทั้งสาม “ล้มล้าง” ระบอบการปกครองฯ อย่างไร อีกทั้งตามความหมายที่ผู้ร้องได้อ้างอิงคําวินิจฉัยที่ 3/2562 ของศาลรัฐธรรมนูญที่นํามาอ้าง ผู้ร้องเพียงแต่กล่าวหาว่า ผู้ถูกร้องทั้งสามไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 6 และมาตรา 50 และกล่าวหาว่าผู้ร้องกระทําความผิดทางอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 รวมไปถึงการโต้แย้งกับเหตุผลในข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ ซึ่งเป็นการบรรยายคําร้องที่นอกเหนือไปจากองค์ประกอบมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ โดยสิ้นเชิง และข้อโต้แย้งของผู้ร้องต่อข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้ง 10 ข้อของผู้ถูกร้องทั้งสาม ก็เป็นข้อโต้แย้งที่เลื่อนลอย ผิดพลาด ปราศจากหลักการทางวิชาการ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และด้านอื่นที่เกี่ยวข้องสนับสนุนทั้งสิ้น

ประการแรก ผู้ร้องกล่าวหาว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องทั้งสาม ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติอื่นในรัฐธรรมนูญ โดยผู้ร้อง อ้างอิงว่าการกระทําของผู้ถูกร้องทั้งสามขัดต่อมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยการล่วงละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญ, ขัดต่อมาตรา 50 บทบัญญัติเรื่องหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ที่ว่าบุคคลมีหน้าที่พิทักษ์ไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, ขัดต่อบทบัญญัติเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมตามมาตรา 34 และ มาตรา 25 บทบัญญัติว่าด้วยเสรีภาพทั่วไป

ข้อกล่าวหาทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เป็นสภาพแห่งข้อหาที่อยู่นอกเหนือเจตนารมณ์ของมาตรา 49 และเป็นคนละประเด็นกับการวินิจฉัยว่าการใช้เสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้ถูกร้องทั้งสาม ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่  

ขอบเขตของบทบัญญัติมาตรา 49 ให้อํานาจศาลไว้เพียงแค่การวินิจฉัยในเรื่อง “การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ททรงเป็นประมุข” เท่านั้น ดังนั้นคํากล่าวหาของผู้ร้องที่ว่าการใช้เสรีภาพของผู้ถูกร้องทั้งสาม ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในมาตราอื่นๆ ศาลจึงไม่อาจรับไว้พิจารณาได้

.

กฎหมายรัฐธรรมนูญ กับกฎหมายอาญาต้องแยกพิจารณาคนละส่วน ทั้งผู้ถูกร้องทั้งสามยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่เคยถูกตัดสินว่าผิดทางอาญา

ประการที่สอง การที่ผู้ร้องกล่าวหาว่า ผู้ถูกร้องทั้งสามกระทําความผิดอาญาตามมาตรา 112 และ มาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญานั้น การพิจารณาว่าการกระทําใดเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญานั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เป็น คนละประเด็นกับการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การกระทําที่เป็นความผิดตามมาตรา 112 หรือมาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ไม่ใช่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ตามหลักกฎหมายผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทั้งหลายในคดีอาญา ต้องแยกวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงและองค์ประกอบความผิดที่ปรากฏในคดีอาญาเป็นกรณีไป และกระบวนการพิจารณาคดีอาญานั้นแตกต่างจากกระบวนการพิจารณาตามมาตรา 49 และมีองค์ประกอบของข้อกล่าวหาแตกต่างกัน มาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีความสัมพันธ์ในทางกฎหมายกับมาตรา 112 หรือมาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญาแต่อย่างใด

นอกจากนี้ผู้ถูกร้องทั้งสามยังไม่เคยถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทําความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 จึงถือว่าผู้ถูกร้องทั้งสามยังเป็นผู้บริสุทธิ์ คํากล่าวหาของผู้ร้องที่ว่าการใช้เสรีภาพของผู้ถูกร้องทั้งสามเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาจึงไม่อาจรับฟังได้ และยังเป็นการบรรยายคําร้องที่อยู่นอกเหนือสภาพแห่งข้อหาตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับมาตรา 49 แต่อย่างใด ศาลจึงไม่อาจรับไว้พิจารณาได้

.

การโต้แย้งจากความรู้สึกส่วนตัว ศาลไม่มีอํานาจพิจารณา ขัดเจตนารมณ์และองค์ประกอบของรัฐธรรมนูญ

ประการสุดท้าย จากคําร้องทั้งหมด ผู้ร้องได้บรรยายสภาพแห่งข้อหาโดยโต้แย้งกับข้อเสนอ 10 ประการ ในเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยชี้ให้เห็นเพียงว่า การกระทําของผู้ถูกร้องทั้งสามมีความไม่เข้าใจในเรื่องการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ อ้างอิงความคิดที่ปราศจากหลักกาลามสูตร ผู้ถูกร้องทั้งสามเต็มไปด้วยโมหาคติหรือโทสาคติในใจ หรือแม้กระทั่งกล่าวอ้างว่าข้อเสนอบางข้อ ขัดต่อหลักการสากลในเรื่องพระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์นั้น เป็นการบรรยายสภาพแห่งข้อหาที่อยู่นอกเหนือไปจากบทบัญญัติของมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญ เป็นการโต้แย้งที่เกิดจากความรู้สึกส่วนตัวและขาดเหตุผลทางวิชาการสนับสนุนของผู้ร้องทั้งสิ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้แก่ ข้อโต้แย้งของผู้ร้องในเรื่องการคุ้มครองสถาบันและพระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเท่านั้น ดังนั้น คําร้องของผู้ร้องจึงไม่เข้าองค์ประกอบของมาตรา 49 อันศาลรัฐธรรมนูญจะมีอํานาจรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้

.

การแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง เช่นการเรียกร้องรัฐประหาร อีกทั้งการกระทำยุติลงแล้ว ศาลไม่มีอํานาจในการสั่งยุติหรือเลิกการกระทําดังกล่าว

ข้อ 2. ศาลไม่มีอํานาจสั่งให้ผู้ร้องทั้งสามยุติหรือสั่งให้เลิกการกระทําได้ เนื่องจากการกระทําได้ยุติสิ้นสุดลงไปแล้ว กล่าวคือ

ข้อ 2.1 การกระทําของผู้ถูกร้องทั้งสามตามคําร้องของผู้ร้องได้ยุติสิ้นสุดลงไปแล้ว และเป็นการกระทําที่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ (too remote) ศาลมิอาจมีคําวินิจฉัยสั่งให้ยุติหรือเลิกการกระทําตามมาตรา 49 ได้ ผู้ถูกร้องทั้งสามเห็นว่า ตามหลักการมาตรา 49 นั้น จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการกระทําที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพในการล้มล้างการปกครองฯ และการกระทํานั้นจะต้องกําลังดําเนินอยู่ ซึ่งจากคําวินิจฉัยที่ 1/2563 ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วางหลักการไว้ว่า การกระทําที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น จะต้องเป็นการกระทําที่กําลังดําเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ

ในคําวินิจฉัยส่วนตนของนายจรัญ ภักดีธนากุล ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “การพิจารณาว่าบุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง จะต้องปรากฏการกระทําที่ชัดเจนเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายหรือความประสงค์นั้น ถึงระดับที่วิญญชนจักควรอาจคาดเห็นได้ (reasonably foreseeable) ว่าน่าจะเกิดผลเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการกระทํานั้นจะต้องกําลังดําเนินอยู่และไม่ไกลเกินกว่าเหตุ”

พิจารณาจากคําร้องของผู้ร้องแล้ว การใช้เสรีภาพของผู้ถูกร้องทั้งสามในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ดี หรือการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นการกระทําที่ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างการใช้เสรีภาพ และการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่อย่างใด

ในการชุมนุมแต่ละคราว การแสดงความคิดเห็นในแต่ละครั้ง รวมถึงข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้ง 10 ข้อนั้น การกระทําดังกล่าววิญญูชนไม่อาจคาดเห็นได้ว่า มีความมุ่งหมายหรือความประสงค์ในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ กลับกันข้อเสนอและการแสดงความคิดเห็นของผู้ถูกร้องทั้งสามเป็นไปเพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั่นเอง

บรรดาข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องอ้างเพื่อให้ศาลมีคําสั่งให้เลิกการกระทํา ทั้งการแสดงความคิดเห็นก็ดี การชุมนุมสาธารณะก็ดีล้วนแล้วแต่ยุติสิ้นสุดลงไปแล้ว การชุมนุมดังกล่าวมิได้เป็นการชุมนุมต่อเนื่องจนกระทั่งบังเกิดผลหรือดําเนินอยู่แต่อย่างใด หากพิจารณาตามหลักการการใช้สิทธิในการชุมนุมหรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันศาลอาจจะสั่งให้ยุติหรือเลิกการกระทําได้จะต้องดําเนินอยู่ ยกตัวอย่างเช่น การชุมนุมยืดเยื้อและมีการปราศรัยด้วยความมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนระบอบการปกครองจากประชาธิปไตยเป็นเผด็จการ หรือการชุมนุมปักหลักกดดันให้มีการรัฐประหาร เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อสภาพของการกระทํายุติสิ้นสุด มิได้ดําเนินต่อแล้ว ศาลจึงไม่มีอํานาจในการสั่งยุติหรือเลิกการกระทําดังกล่าว ตามมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญได้อีก

ข้อ 2.2 ตามคําร้องของผู้ร้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอถึงความมุ่งหมาย และแนวทางที่จะเป็นไปได้ในการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อการล้มล้างการปกครองฯ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยไว้ในคําวินิจฉัยที่ 1/2563 นั้น ศาลจะมีอํานาจในการสั่งให้ยุติหรือเลิกการกระทําตามมาตรา 49 จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอ ที่จะฟังได้ว่าการกระทําของผู้ถูกร้องทั้งสามเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ได้อธิบายเพิ่มเติมในคําวินิจฉัยส่วนตนว่าจะต้องเป็นกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจน เพียงพอถึงความมุ่งหมายและแนวทางที่จะเป็นไปได้ในการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ซึ่งข้อเท็จจริงตามคําร้องของผู้ร้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงทั้งสองประการนี้

ประการแรก ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการใช้เสรีภาพของผู้ถูกร้องทั้งสามเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอันมีความมุ่งหมายในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยจากเนื้อหาการแสดงความคิดเห็นก็ดี หรือจากการรวมตัวชุมนุมเพื่อเรียกร้องทางการเมืองก็ดี มีมูลเหตุมาจากการไม่ไว้วางใจการบริหารราชการของรัฐบาล และการเสนอข้อเสนอเพื่อปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้ ผู้ถูกร้องทั้งสามไม่ได้มีความมุ่งหมายในการใช้สิทธิหรือเสรีภาพในการล้มล้างการปกครองฯ เช่น การเรียกร้องให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร เป็นต้น

ประการที่สอง ข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องได้กล่าวหาตามคําร้องนั้น ไม่ได้มีความชัดเจนเพียงพอ ถึงแนวทางที่จะเป็นไปได้ในการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงตามคําร้องเป็นเพียงแต่การกล่าวอ้าง โดยอาศัยข้อมูลข่าวสารจากเว็บไซต์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออินเตอร์เน็ต ตลอดจนเอกสารมหาชนที่ประชาชนทั้งหลายที่สนใจใคร่รู้สามารถค้นคว้าหาอ่านได้ โดยมิได้ระบุว่าผู้ถูกร้องทั้งสามมีความเป็นไปได้ หรือแนวทางในการล้มล้างระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างไร

อีกทั้งหากพิจารณาจากคําปราศรัย (Speech) ของผู้ถูกร้องทั้งสามแล้ว ผู้ถูกร้องทั้งสามได้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตและมุ่งหวังให้ระบอบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและระบบการเมืองในประเทศชาติพัฒนาอย่างสุจริตใจ

.

การใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและแสดงความเห็นที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครองฯ

ข้อ 3. การกระทําของผู้ถูกร้องทั้งสามไม่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ “เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตาม มาตรา 49 การกระทําของผู้ถูกร้องเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมหรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 และมาตรา 44 และได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย 

ข้อ 3.1  การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องทั้งสาม มีมูลเหตุสืบเนื่องมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล และรัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องทั้งสาม เป็นการเรียกร้องที่มีมูลเหตุมาจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และเป็นการแสดงพลังด้วยการสนับสนุนของประชาชนจํานวนมาก การกระทําของผู้ถูกร้องทั้งสามเป็นเพียงการเรียกร้องทางการเมืองให้รัฐบาลยุบสภา การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามคําสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 59/2556, คําสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 61/2556 และ 63/2556 ได้ตัดสินวินิจฉัยมาตลอดว่า การกระทําในลักษณะนี้ย่อมไม่ถือเป็นการ “ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” โดยศาลได้ใช้บรรทัดฐานดังกล่าวในการวินิจฉัยคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแก่ประชาชนเสมอมา

ผู้ถูกร้องทั้งสามขอเรียนว่าผู้ถูกร้องทั้งสามได้ใช้สิทธิหรือเสรีภาพโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือการชุมนุมวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต การชุมนุมได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการชุมนุมที่สงบปราศจากอาวุธ และการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของผู้ถูกร้องทั้งสามบนเวทีปราศรัยนั้น ล้วนแล้วแต่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญ  

ทั้งการเสนอข้อเสนอต่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ไม่มีถ้อยคําที่มีลักษณะเป็นการดูหมิ่นหรือจาบจ้วงต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่อย่างใด และเมื่อการใช้สิทธิของผู้ถูกร้องทั้งสามเป็นการแสดง ความคิดเห็นทางการเมืองโดยสุจริต และมีมูลเหตุสืบเนื่องมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลและรัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทําดังกล่าวจึงไม่ใช่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามแนวทางการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ข้อ 3.2 การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องทั้งสามไม่ใช่การใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ

คําว่า “ล้มล้าง” นั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้วางหลักไว้จากคําวินิจฉัยที่ 3/2562 ว่า เป็นการกระทําที่มีเจตนาเพื่อล้างผลาญให้สูญ สลายหมดสิ้นไป ซึ่งการใช้เสรีภาพของผู้ถูกร้องทั้งสามดังกล่าว ไม่มีเจตนาในการ “ล้มล้าง” การปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแต่อย่างใด ซึ่งการกระทําอันต้องห้ามตามมาตรา 49 จะต้องเป็น การกระทําที่มีเจตนาเพื่อให้องค์ประกอบของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสูญสลายหมดสิ้นไป กล่าวคือ ต้องเป็นการกระทําโดยมีเจตนาหรือความมุ่งหมายในการทําลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และทําลายหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตย เช่น มุ่งเปลี่ยนแปลงจากระบอบประชาธิปไตย (Democracy) เป็นเผด็จการ (Dictatorship) ทุกรูปแบบ รวมทั้งการย้อนกลับไปสู่การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นต้น

.

10 ข้อเสนอ ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ “ไม่ใช่การล้มล้าง” สามารถดําเนินการได้ตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ

ข้อ 4. ข้อเรียกร้องทางการเมืองทั้ง 3 ข้อ ของผู้ถูกร้องทั้งสาม และข้อเสนอทั้ง 10 ข้อในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ “ไม่ใช่การล้มล้าง” การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่เป็นไปเพื่อ “ส่งเสริม” ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ข้อ 4.1 วิธีการดําเนินการตามข้อเรียกร้องทางการเมืองทั้ง 3 ประการของผู้ถูกร้องทั้งสามก็ดี หรื วิธีการดําเนินการตามข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ดี สามารถดําเนินการได้ตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญกําหนดไว้ทั้งสิ้น

ข้อเรียกร้องทางการเมืองทั้งสาม ไม่ว่าจะเป็นการยุบสภา การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการหยุดคุกคามประชาชน ล้วนแล้วแต่เป็นข้อเรียกร้องทางการเมืองที่มีวิธีดําเนินการอันสามารถกระทําได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายทั้งสิ้น ประการแรก การยุบสภานั้น เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายบริหาร ซึ่งใช้ในการถ่วงดุลอํานาจกับฝ่ายนิติบัญญัติในกลไกระบบการเมืองแบบรัฐสภา  ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญย่อมมีวิธีการในการดําเนินการตามหมวด 15 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และในส่วนของข้อเรียกร้องเรื่องการหยุดคุกคามประชาชน เช่น การยุติการดําเนินคดีอาญากับผู้ที่ใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ย่อมสามารถกระทําได้โดยกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถใช้ดุลพินิจอย่างพอสมควรแก่เหตุและไม่กระทําการที่ล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนโดยไม่จําเป็น

ส่วนวิธีการที่จะดําเนินการตามข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้ง 10 ประการนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามวิถีทางตามกลไกที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งหมด เช่น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และใช้กระบวนการหรือกลไกขององค์กรนิติบัญญัติ เช่น ข้อเสนอเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ต่างๆ ย่อมเป็นไปได้โดยกระบวนการนิติบัญญัติ เช่น การแก้ไขพระราชบัญญัติทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ การปรับลดงบประมาณผ่านพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปี เป็นต้น

ด้วยเหตุดังกล่าว ข้อเสนอทั้งหมดของผู้ถูกร้องทั้งสามไม่ใช่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เนื่องจากเป็นข้อเสนอที่สามารถกระทําได้โดยชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น

ข้อ 4.2 ข้อเสนอทั้ง 10 ข้อ เรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ มีความมุ่งหมายและเป็นไปเพื่อส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้มั่นคง ดังเหตุผลต่อไปนี้

ข้อเสนอข้อ 1 เรื่องการยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ แล้วเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้นั้น เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ

ในเชิงหลักการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ โดยทั่วไปความรับผิดของประมุขของรัฐนั้นย่อมไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่าย การกระทําของพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐในทางรัฐธรรมนูญ ย่อมต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการซึ่งไม่มีใคร สามารถฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้อยู่แล้ว หากแต่ผู้รับสนองพระบรมราชโองการต้องรับผิดชอบ ส่วนการกระทําในทางส่วนตัวที่เป็นความผิดทางอาญานั้น การจะนําคดีมาฟ้องร้องต่อประมุขของรัฐ โดยการดําเนินกระบวนพิจารณาอาญาตามปกติย่อมเป็นเรื่องไม่เหมาะสม

ผู้ถูกร้องทั้งสามจึงเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์หากกระทําความผิดทางอาญาต้องสามารถถูกพิจารณาคดีได้โดยรัฐสภาซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่าย่อมไม่มีผู้ใดอยู่เหนือกฎหมาย ซึ่งหลักการเช่นนี้เป็นที่ยอมรับและดํารงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยนานาอารยประเทศ นอกจากนี้หากพิจารณาเชิงประวัติศาสตร์ ข้อเสนอดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎรซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่สถาปนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขขึ้นมา

ข้อเสนอข้อ 2 เรื่องการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดําเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคนนั้น มิใช่ข้อเสนอที่ล้มล้างการปกครองฯ โดยสิ้นเชิง

ทั้งนี้ตามหลักการระบอบประชาธิปไตยฯ นั้น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่สําคัญอย่างยิ่งยวดในการพัฒนาสังคมและระบบการเมือง ดังนั้นโดยหลักการแล้ว บุคคลทางการเมือง (Political figure) หรือประมุขของรัฐ (Head of state) ย่อมต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยฯ แม้ในบางประเทศจะมีการคุ้มครองชื่อเสียงของประมุขของรัฐที่เป็นกษัตริย์ไว้เป็นพิเศษ โดยบัญญัติเป็นความผิดทางอาญา แต่กฎหมายเหล่านั้นก็ไม่ได้ลงโทษบุคคลอย่างเกินสมควรแก่เหตุ เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของไทยที่บัญญัติโทษจําคุกไว้สูงสุดถึง 15 ปี ซึ่งเป็นโทษที่สร้างภาระหรือจํากัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญเกินสมควรแก่เหตุ  ดังนั้นข้อเสนอข้อ 2 นั้นเป็นไปเพื่อส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นแก่นของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ข้อเสนอข้อ 3 เรื่องการยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และ ให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจนนั้น การปฏิรูปทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ย่อมไม่มีผลเป็นการลบล้างหรือทําลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่ตราขึ้นในปี พ.ศ. 2561 เพื่อกลับไปใช้กฎหมายเดิม ที่เป็นการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมากกว่ากฎหมายฉบับปัจจุบัน

การยกเลิกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินที่ให้เป็นของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยแท้นั้น เป็นหลักเกณฑ์ที่สอดคล้องกับมาตรฐานของนานาอารยประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้เพื่อแบ่งความรับผิดชอบในทางทรัพย์สินดังกล่าวออกอย่างชัดแจ้ง และไม่ให้มีความคลุมเครือในเรื่องสาธารณสมบัติของแผ่นดินกับทรัพย์สินที่พระองค์ทรงใช้ประโยชน์ได้ตามพระราชอัธยาศัย

ข้อเสนอข้อ 4 เรื่องการปรับลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เป็นข้อเสนอที่ไม่มีความมุ่งหมายใดๆ ที่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ แต่อย่างใด การกําหนดงบประมาณรายจ่ายประจําปีนั้น เป็นดุลยพินิจของรัฐสภาโดยแท้ ทั้งนี้สถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐย่อมได้รับงบประมาณนี้เพื่อใช้จ่ายในกิจการต่างๆ ซึ่งการปรับลดงบประมาณ ไม่ว่าจะองค์กรใดของรัฐ ให้เข้ากับสภาพทางเศรษฐกิจนั้น เป็นเรื่องปกติในการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้เงินแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชนนั้น สามารถนําไปใช้ในการบริหารประเทศได้อย่างสัมฤทธิ์ผล

ในปัจจุบันงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นงบที่มหาศาล และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ ข้อเสนอนี้จึงเป็นไปเพื่อให้สามารถนํางบประมาณ มาบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อเสนอข้อ 5 เรื่องการยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจําเป็น เช่น คณะองคมนตรี ให้ยกเลิก ย่อมไม่มีผลเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งหมดเป็นข้อเสนอในการจัดระเบียบหน่วยงานของรัฐและองคาพยพต่างๆ ของรัฐเท่านั้น

ทั้งนี้ผู้ถูกร้องทั้งสาม มีความมุ่งหวังเพื่อให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ และเป็นการป้องกันการดึงหน่วยงานดังกล่าวมาเป็น เครื่องมือในการหาประโยชน์โดยมิชอบ

ข้อเสนอข้อ 6 เรื่องการยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกํากับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมดนั้น เป็นไปเพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยฯ และผู้ถูกร้องทั้งสามเสนอด้วยความปรารถนาดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อป้องกันมิให้บุคคลแอบอ้างหาผลประโยชน์ ในการรับบริจาคเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และเป็นการป้องกันการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์โดยมิชอบ

ข้อเสนอข้อ 7 เรื่องการยกเลิกพระราชอํานาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะนั้น สถาบันกษัตริย์ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญย่อมต้องเป็นกลางทางการเมือง ดังนั้นจึงไม่อาจมีพระบรมราโชวาทโดยปราศจากผู้ลงนามรับสนองฯ เพราะอาจจะทําให้เสียความเป็นกลางทางการเมืองไป ข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปด้วยความปรารถนาดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้กษัตริย์ทรงปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง อย่างแท้จริง

ข้อเสนอข้อ 8 เรื่องการยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด ผู้ถูกร้องทั้งสามยื่นข้อเสนอดังกล่าวโดยปรารถนาดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หากสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นหากถูกประชาสัมพันธ์แต่เพียงด้านเดียวจนดีงามเกินจริง อาจก่อให้เกิดการดึงสถาบันกษัตริย์เข้ามาเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ อันเป็นข้อเสนอเพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์มิชอบจากสถาบันพระมหากษัตริย์

ข้อเสนอข้อ 9 การสืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์นั้น เนื่องจากในปัจจุบันมีการกล่าวถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวมาก การแสวงหาความจริงนั้น ผู้ถูกร้องทั้งสามขอเรียนว่าเป็นไปเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์มิให้มีมลทินมัวหมอง และชําระล้างเรื่องราวต่างๆ ที่กระแสสังคมกล่าวหาสถาบันพระมหากษัตริย์

ข้อเสนอข้อ 10 เรื่องการห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก เนื่องจากการรัฐประหารเป็นการกระทําที่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ อันเป็นการต้องห้ามตามบทบัญญัติมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ และในเชิงหลักการพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ย่อมเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่ในการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารย่อมเป็นไปเพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสอดคล้องกับหลักการทางรัฐธรรมนูญทุกประการ

 คำชี้แจงยืนยันว่าข้อเสนอทั้ง 10 ข้อ เป็นไปด้วยความปรารถนาดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีความมุ่งหมายในการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้มั่นคง อันมิใช่การล้มล้างการปกครองฯ ตามความหมายของมาตรา 49 แต่อย่างใด

หากศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงในคําชี้แจงข้อกล่าวหาไม่เพียงพอ ประกอบกับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่ ชัดเจนเพียงพอถึงความมุ่งหมายของผู้ถูกร้องทั้งสาม และแนวทางที่จะเป็นไปได้ในการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อการ ล้มล้างการปกครอง ขอให้มีการไต่สวนพยานบุคคลเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงจากผู้ถูกร้องทั้งสามเพิ่มเติม และวินิจฉัยยก คําร้องของผู้ร้อง

คำชี้แจงสรุปว่า คําขอของผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประการแรกว่า การกระทําของผู้ถูกร้องทั้งสามกับพวกไม่ชอบด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ผู้ถูกร้องทั้งสามเห็นว่าตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ให้อํานาจศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอํานาจพิจารณาวินิจฉัยคดีตาม มาตรา 7 (1) ถึง (13) เท่านั้น ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอํานาจวินิจฉัยว่าการกระทําของผู้ถูกร้องทั้งสามกับพวกชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่

และคําขอของผู้ร้องประการที่ 2 ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เลิกการกระทําตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญนั้น ผู้ถูกร้องทั้งสามยืนยันว่าการกระทําที่ผู้ร้องระบุในคําร้องนั้น ได้ยุติสิ้นสุดไปแล้ว ศาลจึงไม่อาจจะสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสามเลิกการกระทําตามคําร้องได้อีก เห็นได้ว่าคําร้องของผู้ร้องไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 49 ศาลมิอาจมีคําวินิจฉัยให้ยุติหรือเลิกการกระทําได้ เนื่องจากห่างไกลเกินกว่าเหตุ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอถึงความมุ่งหมายและแนวทางที่จะเป็นไปได้ในการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อการล้มล้างการปกครอง และการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องทั้งสามสิ้นสุดยุติแล้วไม่ได้ดําเนินอยู่

รวมไปถึงการกระทําของผู้ถูกร้องทั้งสามไม่ใช่การกระทําอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขอศาลใช้และตีความบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามหลักนิติรัฐและประชาธิปไตย

.

X