10 พ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย อานนท์-ไมค์-รุ้ง ปราศรัยล้มล้างการปกครองหรือไม่ โดยไม่นัดไต่สวนทั้งสามคนก่อน

ในวันที่ 10 พ.ย. 2564 เวลา 15.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี ชั้น 3 ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดวันนัดฟังคำวินิจฉัยคำร้องของนายณฐพร โตประยูร ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการปราศรัยของอานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เมื่อวันที่ 3 และ 10 ส.ค. 2563 ในการชุมนุม  #เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในประเด็นว่าการปราศรัยในที่ชุมนุมของทั้งสามคนเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หรือไม่ และขอให้กลุ่มผู้ถูกร้องเลิกการกระทำดังกล่าว

ยุติการไต่สวนผู้ร้องและนักวิชาการเพื่อค้นหาความจริงรอบด้าน ฟังเพียงพยานเอกสารจากรัฐ

การกำหนดวันอ่านคำวินิจฉัยนี้ เกิดขึ้นโดยไม่มีการเรียกไต่สวนทั้ง 3 คน ทั้งที่ทางทนายความของผู้ถูกร้องได้ยื่นคำร้องขอให้มีการไต่สวนพยาน เพื่อให้โอกาสแก่ผู้ถูกร้องทั้งสามนำสืบพยานหลักฐานหักล้างคำร้อง และเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและครบถ้วน  ได้แก่ ตัวผู้ถูกร้อง อานนท์ นำภา, ภานุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล รวมถึงพยานบุคคลภายนอก ได้แก่ 

  • ศาตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในประเด็นประวัติศาสตร์การเมืองไทย ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย 
  • ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในประเด็นประวัติศาสตร์การเมืองไทยเกี่ยวกับการรัฐประหาร 
  • นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ในประเด็นประวัติศาสตร์การเมืองไทย และบทบาทพระมหากษัตริย์กับการเมืองไทย 
  • นายอุทัย พิมพ์ใจชน ในประเด็นเจตนารมณ์ของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 49 ในฐานะประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นต้นแบบของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 49 
  • ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง ในประเด็นการใช้สิทธิเสรีภาพของผู้ถูกร้องทั้งสามว่าไม่ใช่การใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามความหมายของมาตรา 49 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และเปรียบเทียบบทบัญญัติดังกล่าวกับรัฐธรรมนูญเยอรมัน 

แต่ศาลรัฐธรรมนูญเพียงพิจารณาจากเอกสารคำร้อง คำคัดค้านคำร้อง และเอกสารที่ทางศาลเรียกจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเท่านั้น คือ อัยการสูงสุด สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานข่าวกรอง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนมีคำสั่งยุติการไต่สวน โดยระบุว่าพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ และกำหนดวันนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในวันที่ 10 พ.ย. 2564 นี้ 

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุดและผูกพันหน่วยงานอื่นของรัฐ

ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้จะถือเป็นที่สุด และมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 211 วรรคสี่

คดีนี้ ณัฐพล โตประยูร บุคคลผู้เคยยื่นยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อปี 2562 ได้เข้ายื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2563 ให้วินิจฉัยถึงการปราศรัยของนักศึกษา นักกิจกรรม และทนายความด้านสิทธิมนุษยชนรวม 8 คน เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ว่ามีเนื้อหาที่มีเจตนาเป็นการล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ผู้ถูกร้องทั้ง 8 คนรวมถึง อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, พริษฐ์ ชิวารักษ์, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, สิริพัชระ จึงธีรพานิช, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ อาทิตยา พรพรม รวม 8 คน ต่อมาศาลรับคำร้องเพียง 3 คนเท่านั้น   

ในคำร้องได้กล่าวถึงการปราศรัยของทั้ง 3 คน ในประเด็น ดังนี้   

อานนท์ นำภา ปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 ถึงการขยายพระราชอำนาจผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560, การออกกฎหมายพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดิน และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์  และปราศรัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ถึงเหตุผลเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามประชาชนอานนท์ถึงต้องออกมาพูดเรื่องการขยายพระราชอำนาจในที่สาธารณะอย่างมีหลักการ และคำมั่นสัญญากับประชาชนที่ออกมาต่อสู้ร่วมกันในประเด็นสถาบัน

ภาณุพงศ์ จาดนอก ปราศรัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ยืนยันถึงการแสดงความคิดเห็นเรื่องสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่ทำได้, ประวัติศาสตร์ของระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทย และบทบาทของกษัตริย์กับสังคมไทยในปัจจุบัน  

และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ปราศรัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เช่นกัน เสนอข้อเรียกร้อง 10 ประการ ฉบับที่ 1 ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เหมาะสมกับสังคมไทย เช่น การยกเลิกมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา, การปรับลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดให้กับสถาบันให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และสืบหาความจริงการสังหารเข่นฆ่าประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ 

ลำดับเหตุการณ์คดีปราศรัยล้มล้างการปกครอง 

วันที่ 3 ก.ย. 2563 ณัฐพล โตประยูร ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 49 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560  

วันที่ 13 ก.ย. 2563 ปนัสยา ได้รับสำเนาคำร้องและหนังสือแจ้งให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 

วันที่ 2 พ.ย. 2563 อานนท์ ภาณุพงศ์ ปนัสยา มอบหมายให้ทนายความยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คำร้องขอยื่นบัญชีพยานบุคคล บัญชีพยานบุคคล และคำร้องขอให้ศาลทำการไต่สวน

วันที่ 4 พ.ย. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือแจ้งถึงผู้รับมอบฉันทะผู้ถูกร้องทั้งสาม ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พร้อมบัญชีระบุพยานดังกล่าวรวมไว้ในสำนวน ส่วนคำร้องขอให้ทำการไต่สวนนั้น เมื่อศาลสั่งแล้วจะแจ้งให้ทราบต่อไป

วันที่ 27 ก.ย. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือแจ้งถึงผู้ถูกร้องทั้งสามและผู้รับมอบฉันทะผู้ถูกร้องทั้งสาม ว่าตามที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีของผู้ถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญสั่งรับคำร้องไว้วินิจฉัยนั้น ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 10 พ.ย. 2564 

วันที่ 1 ต.ค. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือแจ้งถึงผู้รับมอบฉันทะผู้ถูกร้องทั้งสาม ว่าตามที่ผู้ถูกร้องทั้งสามยื่นคำร้องขอให้ทำการไต่สวน ฉบับลงวันที่ 2 พ.ย. 2563 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อศาลยุติการไต่สวนแล้วไม่มีเหตุที่จะพิจารณาคำร้องขอฉบับดังกล่าว

อ่านเพิ่มเติม: 

เปิดคำฟ้องอัยการคดี ม.112 ‘อานนท์’ ปราศรัยม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ ก่อนศาลอาญาไม่ให้ประกันตัว

จับ ‘อานนท์ – ไมค์ ภาณุพงศ์’ อีกรอบ เหตุชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ก่อนได้รับการประกันตัว ยันใช้เสรีภาพตามรธน.

ตัวแทน “ประยุทธ์” อีกหนึ่งกลไกรัฐบาลในการคุกคามประชาชนผู้เห็นต่าง 

.

X