หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีการชุมนุมปราศรัยและเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของ 3 แกนนำราษฎร ได้แก่ อานนท์ นำภา, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในการชุมนุม #เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 และการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ว่า “เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อ ‘ล้มล้าง’ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560”
ไม่นานหลังจากนั้น ผู้ต้องขังทางการเมืองโดยเฉพาะผู้ที่ถูกกล่าวหาด้วยคดีมาตรา 112 ซึ่งขณะนี้อยู่ในเรือนจำอย่างน้อย 5 ราย ได้รับรู้ถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว พวกเขาได้ฝากถ้อยแถลงออกมาถึงพี่น้องประชาชนผู้ร่วมเดินทางเคียงข้างในขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยทั้งหลายให้ได้รับรู้ถึงเจตนารมณ์ที่ยังยึดมั่นไม่คลอนแคลน
.
อานนท์ นำภา – ผู้ถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 จำนวน 14 คดี
.
จดหมายเปิดผนึกถึง บรรดาพี่น้องกบฏทั้งหลาย
.
วันนี้พวกเขาได้ใส่ร้ายและพิพากษาให้เราเป็นกบฏโดยสมบูรณ์แบบแล้ว เท่ากับขณะนี้มีกบฏเกิดขึ้นในประเทศไทยนับแสนคน ทั้งที่ความจริงพวกเราเพียงแค่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีเสรีภาพ มีความเสมอภาค และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น
ทุกข้อเสนอล้วนแต่มุ่งหมายให้ประเทศและสถาบันอยู่ในร่องในรอย ปกครองด้วยรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย หากจะเรียกเราว่าเป็น “กบฏ” ก็คงเป็นเพราะเราต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ถูกสถาปนาขึ้นมาใหม่ คือ “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซ่อนรูป” กลับไปเป็นระบอบประชาธิปไตยมีสถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หรือที่เราเรียกกันใหม่ว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”
ความจริงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริงหลายอย่าง ซึ่งคงมีนักวิชาการออกมาแสดงความคิดเห็นต่อไป และหากเกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ กับประเทศนี้ ก็ถือว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของเชื้อไฟที่ทำให้เกิดขึ้น
ผมภูมิใจที่ได้ร่วมต่อสู้กับพี่น้องทุกคนตั้งแต่วันแรกๆ จนถึงวันที่ผมอยู่ในคุก ความตั้งใจเดิมเป็นเช่นไร ก็ยังคงเป็นเช่นนั้น และหากมีผู้ใดบังอาจจะหมุนเข็มนาฬิกาให้ประเทศไทยกลับไปปกครองด้วยระบอบที่ผู้หนึ่งผู้ใดมีสิทธิ์ขาดในการปกครอง ไม่ฟังเสียงของราษฎร ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ผมเองยินดีประกาศตนเป็นกบฏต่อระบอบนั้น ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า
.
ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก – ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 จำนวน 9 คดี
.
“ศาล 9 คนวินิจฉัยว่า ‘ประชาชนเรือนแสนล้มล้างการปกครอง’
“ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นฉันทามติของประชา
ชนที่เห็นพ้องต้องกัน มิใช่ของเราทั้ง 3 คน และศาลไม่ได้มีการเบิกตัวไปไต่สวน ทั้งๆ ที่ทนายของผมเรียกร้องเพื่อความบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ตอนนี้ผมอยู่ในคุก แม้แต่จะพูดกับศาลสักครั้ง ยังไม่เคยได้รับโอกาส แล้วจะตัดสินพวกผมเป็นกบฏได้อย่างไร?”
.
ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา – ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 จำนวน 2 คดี
.
ฝากถึงนักนิติศาสตร์ทุกคน
.
“ถ้าได้ฟังคำวินิจฉัยของศาลแล้วรู้สึกโกรธ ‘เราคือเพื่อนกัน’
และจงแสดงจุดยืนต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตอบโต้
และปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
อย่าให้กฎหมายถูกทำลายด้วยอำนาจของตุลาการเพียงไม่กี่คน
ศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ปกป้องรัฐธรรมนูญก็เป็นเพียงศาลเจ้าเท่านั้น”
.
เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ – ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 จำนวน 21 คดี
.
แถลงการณ์ 5 ข้อจากเรือนจำถึงศาลรัฐธรรมนูญ
เนื่องจากเมื่อวันพุธที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้การเคลื่อนไหวเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นการล้มล้างการปกครอง ข้าพเจ้าจึงขอแถลงจุดยืน 5 ข้อถึงศาลรัฐธรรมนูญดังต่อไปนี้
- คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ไม่มีความชอบธรรมที่จะวินิจฉัยคำร้องนี้ตั้งแต่แรก เพราะไม่มีความยึดโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ทั้งยังได้รับการแต่งตั้งโดยเครือข่ายเผด็จการ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงของประชาชนผู้เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จึงถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่อาจเป็นคนกลางที่ชี้ขาดคำร้องได้
- การที่ศาลรัฐธรรมนูญขมีขมันวินิจฉัยให้การชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์โดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ เป็นการล้มล้างการปกครอง แต่กลับเพิกเฉยต่อการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและพรรคพวกใช้กำลังล้มเลิกรัฐธรรมนูญ และยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ. 2557 นั้น เป็นเรื่องย้อนแย้งอย่างน่าสังเวช ทั้งยังเป็นข้อพิสูจน์ว่าศาลรัฐธรรมนูญปราศจากความเป็นกลาง ไร้ซึ่งความน่าเชื่อถือและประพฤติตนเป็นเพียงสุนัขรับใช้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพวกเท่านั้น
- การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง เพราะข้อเรียกร้อง 10 ข้อนั้นล้วนเป็นไปเพื่อให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสง่างามยิ่งขึ้น และหลายข้อก็เคยได้ใช้จริง และถือเป็นธรรมเนียมประเพณีการปกครองด้วยซ้ำ เช่นข้อที่ 10 ที่เรียกร้องให้ไม่มีการลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก ควรต้องถือว่าเป็นการปกป้องการปกครอง มิใช่การล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด
- คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เต็มไปด้วยตรรกะวิบัติ ให้เหตุผลจับแพะชนแกะและใช้ข้อมูลที่บิดเบือน คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง อาทิ การอ้างถึงเจตนารมณ์ของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 นั้น สะท้อนให้เห็นว่าคณะตุลาการมิได้มีความเข้าใจในเจตนารมณ์ของคณะราษฎรเลยแม้แต่น้อย หรือไม่เช่นนั้นก็จงใจบิดเบือนเจตนารมณ์เพื่อทางการเมืองของตน
- การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากจะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรงแล้ว ยังเป็นการละเมิดหลักการของรัฐธรรมนูญที่ว่า “ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย” เมื่อประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยแล้ว หากประชาชนมีมติ จะให้มีการแก้ไขสิ่งใดในประเทศ สิ่งนั้นย่อมต้องถูกแก้ไข ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสถาบัน องค์กร หรือโครงสร้างใดๆ การวินิจฉัยที่เกิดขึ้นจึงเรียกได้ว่า เป็นการไม่ให้ความเคารพต่ออำนาจของประชาชน
คำวินิจฉัยที่ศาลได้อ่านเมื่อวันพุธที่ผ่านมาเป็นคำวินิจฉัย “อัปยศ” กระบวนการทั้งหมดเป็นเสมือนปาหี่การเมือง และข้าพเจ้าขอประณามคณะตุลาการที่ได้ร่วมกันพลีตนเป็นเครื่องมือในปาหี่ที่เกิดขึ้น
ข้าพเจ้าเชื่อว่าประชาชนจะร่วมกันจดจำชื่อของคณะตุลาการเหล่านี้คือ
- นายวรวิทย์ กังศศิเทียม (ประธานศาลรัฐธรรมนูญ)
- นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ
- นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์
- นายปัญญา อุดชาชน
- นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม
- นายวิรุฬห์ แสงเทียน
- นายจิรนิติ หะวานนท์
- นายนภดล เทพพิทักษ์
- นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
และประชาชน จะร่วมกันตัดสินพวกเขาในวันที่ชัยชนะเป็นของประชาชน
พริษฐ์ ชิวารักษ์
เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
12 พฤศจิกายน 2564
5. เบนจา อะปัญ – ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 จำนวน 6 คดี
.
“ตั้งแต่เกิดมาคิดว่าเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่เพิ่งรู้วันนี้ว่าแท้จริงแล้วถึงวันนี้เรายังอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
“เรายืนยันว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน จะเป็นของผู้หนึ่งผู้ใดนั้นเป็นไปไม่ได้ โปรดอย่าลืมว่าพวกเราเป็นปีศาจแห่งกาลเวลาที่นับวันพวกเราจะยิ่งมีมากขึ้น ขณะเดียวกันพวกเขามีแต่จะลดลง ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ แต่สิ่งที่อยู่คู่กับแผ่นดินไทยมาแต่แรกคือประชาชน
“มิใช่คนที่สถาปนาตนเองให้อยู่เหนือผู้อื่นและบังคับให้ผู้อื่นรักและศรัทธา หากวันนี้ไม่มีการตั้งคำถาม ไม่หาคำตอบ และไม่พูดความจริง สังคมเราอยู่พัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างไร”
.