ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2564 พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการสูงสุด (สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7) ได้สั่งฟ้อง ‘อานนท์ นำภา’ ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112, ยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ จากกรณีร่วมปราศรัยในการชุมนุม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย” หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 โดยการฟ้องดังกล่าวเป็นการฟ้องโดยไม่มีตัวผู้ต้องหา
คดีนี้มี พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ พิริยะภิญโญ รองผู้กำกับสืบสวน สน.ชนะสงคราม เป็นผู้กล่าวหา สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และ กลุ่มมอกะเสด ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’ โดยมีการสลับสับเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัย ทางแกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมแต่งกายเป็นพ่อมด แม่มด เหมือนตัวละครในภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์ นำหุ่นฟางใส่ชุดพ่อมดติดภาพโวลเดอร์มอร์ ซึ่งเป็นตัวร้ายในภาพยนตร์ และมีการแจกไม้วิเศษ ก่อนที่อานนท์ นำภา จะเป็นผู้ปราศรัยปิดท้าย ในประเด็นปัญหาเรื่องสถานะของสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบัน พร้อมประกาศข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถานะของสถาบันกษัตริย์
อานนท์ นำภา ถูกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2563 บริเวณหน้าศาลอาญาหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจรอเวลาให้ศาลปิดทำการเพื่อทำการจับกุม เขายังถูกแจ้งข้อหาม.112 เพิ่มเติมครั้งที่ 2 ขณะที่เขาถูกขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงวันที่ 24 ก.พ. 2564
นายพิทยา วีระพงศ์ พนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า ระหว่างวันที่ 1-3 ส.ค. 2563 อานนท์ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อบัญชี “อานนท์ นําภา” ในลักษณะเชิญชวนให้มาร่วมการชุมนุม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’ ซึ่งจะมีขึ้นบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 3 ส.ค. 63 จำนวน 3 โพสต์ ประกอบด้วย
1. “ได้รับเชิญจากผู้จัดให้ไปปราศรัยเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในมุมของนักกฎหมาย นี่อาจเป็นการพูดสาธารณะครั้งแรกเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ บนเวทีชุมนุม อันจะพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและแก้ปัญหา คงไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยน ให้ฝ่ายคลั่งเจ้าเอาไปโจมตี นี้จะเป็นการอภิปรายอย่างตรงๆ” พร้อมภาพโปสเตอร์เชิญร่วมกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’
2. “มีลางสังหรณ์แปลกๆ ว่าชุมนุมพรุ่งนี้เย็นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คนจะมากันเยอะ”
3. “สําหรับความมั่นคงไม่ต้องกังวลนะครับ สําหรับเรื่องที่ผมจะปราศรัย ผมใช้เวลาประมาณ 15 นาที ไม่นานไม่เยิ่นเย้อในการปราศรัยเกี่ยวกับบทบาทสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องและยืนยันว่าสิ่งที่จะพูดเป็นเจตนาดีต่อบ้านเมืองและเป็นการพูดแทนทุกคน ที่มีคําถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ทั้งในโลกโซเชียล และที่ชูป้ายในที่ชุมนุมรับรองว่าตรงไปตรงมา และอยู่ในกรอบกฎหมายและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทุกประการท่านใดที่จะมาฟัง เจอกัน 18.00 น. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยครับ”
นอกจากนี้อัยการยังบรรยายฟ้องว่า อานนท์ได้โพสต์สเตตัสเฟซบุ๊กในวันที่ 3 ส.ค. 2563 จำนวน 3 โพสต์ ได้แก่
1. “ความเห็นผม การพูดถึงปัญหาเกี่ยวกับอํานาจสถาบันกษัตริย์ ควรพูดกันแบบตรงไปตรงมา และพูดแบบสาธารณะให้ได้ การแลกเปลี่ยนถกเถียงเป็นเรื่องสําคัญ และจําเป็นไม่ต้องห่วงเรื่องถูกคุกคาม ผมเชื่ออย่างใจจริงว่า การพูดตรงๆ ดีกว่าการด่าทอ
2. “เพื่อการอภิปรายที่กระชับมากขึ้น แนะนําให้ผู้ร่วมชุมนุมเย็นนี้อ่านบทความในหนังสือฟ้าเดียวกัน ฉบับส่งเสด็จ ก่อนฟังอภิปราย เพราะวันนี้อาจไม่ได้เท้าความไปไกลมากนัก อยากอภิปรายในเรื่องปัจจุบันมากกว่าหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีการยื่นฟ้องก็มหากษัตริย์และพระราชินี ในความผิดข้อหาโอนทรัพย์สินฝ่ายจัดหากษัตริย์ไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ซึ่งต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาให้ฝ่ายกษัตริย์เป็นฝ่ายแพ้คดี และต้องถูกอายัดทรัพย์สินรวมทั้งยึดวังสุโขทัยไว้ด้วย” พร้อมโพสต์รูปภาพ
.
3. โพสต์ข้อความ “ข้อเรียกร้อง 3 ข้อวันนี้” พร้อมภาพแถลงการณ์ของกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มมอกะเสด ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2563
อัยการเห็นว่าโพสต์ข้อความทั้งหมดดังกล่าว “มีเจตนาพูดพาดพิงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย อันเป็นการกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวิธีอื่นใด อันมิใช่การกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร
“….ทําให้ประชาชน และบุคคลทั่วไปเกิดความตระหนกตกใจ เกิดความเข้าใจผิด และถูกชักจูงให้ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักและเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ จนอาจนํามาซึ่งความเกลียดชัง หรือความแตกแยกใน สังคม อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย”
นอกจากนี้คำฟ้องยังระบุว่า ในวันที่ 3 สิงหาคม 2564 จำเลยได้ “บังอาจ” หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน ด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีการอื่นใด กล่าวคือได้ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า กล่าวข้อความปราศรัยแก่ประชาชน ผู้เข้าร่วมชุมนุม ประมาณ 100 คน
อัยการได้ระบุเนื้อหาจากการปราศรัยบางส่วนของอานนท์ในวันที่ 3 ส.ค. 2564 มีใจความว่า
“เราต้องยอมรับความจริงว่าที่นิสิตนักศึกษาและประชาชนลุกขึ้นมา ชุมนุม เรียกร้องทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลายคนต้องการจะตั้งคําถามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของพวกเรา ในเวทีชุมนุมมีการชูป้ายกล่าว อ้างถึงบุคคลที่อยู่ในเยอรมัน มีการกล่าวอ้างถึงบุคคลที่เป็นนักบินบินไปบินมา คํากล่าวอ้างเหล่านี้จะหมายถึงใครไป ไม่ได้นอกจากสถาบันพระมหากษัตริย์ของพวกเราครับพี่น้อง”
“พี่น้องครับปัจจุบันนี้เราประสบปัญหาอย่างยิ่งยวดและสําคัญยิ่งคือมีกระบวนการที่ทําให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของพวกเราเนี่ยขยับออกไปไกลห่างจากระบอบ ประชาธิปไตยมากขึ้นทุกทีทุกที”
“การตั้งหน่วยงานในพระองค์ขึ้นมาและบริหารไปตามพระราชอัธยาศัย การที่บอกว่าบริหารไปตามพระราชอัธยาศัยนั้น แปลเป็นภาษาบ้านเราคือบริหารไปตามใจของพระมหากษัตริย์ เหล่านี้เป็นการออกแบบกฎหมายที่ขัดกับระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น”
“… พอมีการผ่านการออกเสียงประชามติมา เกิดการแทรกแทรงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นครั้งแรก คือเมื่อมีการผ่านประชามติออกมา ประยุทธ์ จันทร์โอชา นํารัฐธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้าพระมหากษัตริย์รับสั่งให้แก้รัฐธรรมนูญในสาระสําคัญอยู่หลายประการ ซึ่งถ้าในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เหตุการณ์นี้ไม่มีทางเกิดขึ้น เพราะนี่เป็นการแทรกแซงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ
“การแก้ไขให้พระมหากษัตริย์กรณีที่ไม่อยู่ในประเทศเนี่ยไม่ต้องตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์เราจึงได้เห็นพระมหากษัตริย์ของเราเสด็จไปประทับอยู่ที่ประเทศเยอรมัน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นานๆ ครั้ง จึงจะกลับมาที่ประเทศไทย ข้อเท็จจริงนี้พี่น้องทุกคนทราบ ทหารตํารวจทุกคนทราบ
“ต่อไปนี้ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่พวกเราเป็นเจ้าของรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นสนามหลวงไม่ว่าจะเป็นพระราชวังไม่ว่าจะเป็นหุ้นซึ่งเดิมเป็นของพวกเราทุกคนที่ประเทศของเรารวมกันเนี่ย ต่อไปนี้จะตกเป็นของพระมหากษัตริย์บริหารราชการแผ่นดินไปโดยตามพระราชอัธยาศัยครับพี่น้อง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สําคัญแต่ไม่มีใครกล้าพูดถึง เท่านั้นยังไม่พอการที่แปรสภาพให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตกอยู่ในการบริหารของพระมหากษัตริย์ พระองค์เดียวส่งผลทําให้เกิดโทษทางกฎหมาย
“อีกอย่างหนึ่งคือกรณีที่ในหลวงของพวกเราเนี่ยไปประทับอยู่ที่ประเทศเยอรมัน ตามกําหนดเวลาของแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมัน กฎหมายอาจจะต้องบังคับให้เสียภาษีหลายหมื่นล้าน ถามว่าเงินจํานวนหลายหมื่นล้านนั้น มันเป็นของใครก็เป็นพวกเราทุกคนเนี่ยแหละครับนี่”
“การที่พระมหากษัตริย์ไม่ประทับในประเทศ ถามว่าปัญหาเกิดขึ้นคืออะไร ปัจจุบันนี้ เราถูกฝรั่งมังค้อต่างชาติ นําเอากษัตริย์ของเราไปล้อเล่น ที่เยอรมัน ไปฉายเลเซอร์ ไปให้เด็กใช้ปืนอัดลม ก่อการที่ไม่บังควร เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในประเทศ รวมทั้งกรณีที่จะตั้งรัฐมนตรี เข้าไปถวายสัตย์ปฏิบัติหน้าที่ ทําไม่ได้ ต้องรอให้กษัตริย์กลับมาประเทศก่อน ปัญหานี้ทุกคนรู้ เจ้าหน้าที่ตํารวจทุกคนรู้ แต่ไม่กล้าพูดถึง ทุกคนที่มาชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ที่ชูป้ายเรื่องเหล่านี้ทุกคนรู้ แต่ไม่มีใครพูดถึง พระราชบัญญัติโอนกําลังพลทหาร กรมทหารราบที่ 1 กับกรมทหารราบที่ 11 ไปให้สถาบันพระมหากษัตริย์เนี่ยดูแลปกครองไปตามพระราชอัธยาศัย กรณีนี้สําคัญนะครับ ในประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่มีที่ไหนให้กษัตริย์มีอํานาจดูแลปกครองทหารเป็นจํานวนมากขนาดนี้ ไม่มีครับ การทําเช่นนั้นมันสุ่มเสี่ยง สุ่มเสี่ยงต่อการทําให้สถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์”
“นอกจากนั้นการที่เอาทหารหลายกองพันไปสังกัดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการเปลี่ยนระบอบการปกครอง นอกจากนั้นการที่เอาทหารหลายกองพันไปสังกัดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการเปลี่ยนระบอบการปกครอง”
“เหล่านี้เป็นการพูดเพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในสังคมไทยอย่างถูกต้องชอบธรรม ตามระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนักศึกษาที่ออกมาชุมนุม หลังจากปีใหม่มานี้ ทุกคนรู้เรื่องนี้ นักศึกษาทุกคนที่ชูป้ายข้อความสองแง่สองง่าม กล่าวถึงบุคคลที่ผมกล่าวมาแล้ว”
“การที่สถาบันพระมหากษัตริย์ สํานักพระราชวัง ยังนิ่งเฉยอยู่ทั้งที่รู้อยู่ว่า มีบุคคลมาแอบอ้างแล้วมาทําลายล้างราษฎรเนี่ย ยังนิ่งเฉยอยู่ มันก็อดทําให้เราตั้งคําถามไม่ได้ว่า จริงๆ แล้วสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น คิดกับเรายังไง มันอดไม่ได้จริงๆ ถ้าใครมาเชิญผมขึ้นเวทีให้ปราศรัยแล้วให้ผมพูดบิดเบือน ไม่กล่าวถึงปัญหาของสถาบันพระมหากษัตริย์ผมไม่ขึ้นเวที
“ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังได้ทําให้ประเทศนี้ปกครองด้วยความไม่เป็นประชาธิปไตย โดยอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หนึ่งในนั้นคือการตรากฎหมายพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดินที่ใช้เงิน ส่งเงินให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยไม่ได้ตรวจสอบการใช้เงินของสถาบันพระมหากษัตริย์ครับพี่น้อง (ปรบมือ) เรื่องนี้สําคัญการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินของทุกองค์กรต้องถูกตรวจสอบ ต้องถูกวิจารณ์ได้ แต่สําหรับรัฐบาลนี้ไม่มีเรื่องนี้ มีการตั้งงบประมาณในหลายส่วนที่เกินความจําเป็น เช่น งบประมาณกระทรวงพาณิชย์เอาไปโปรโมทเสื้อผ้าแฟชั่นแบรนด์สิริวัณวรี เอางบประมาณแผ่นดินไปโปรโมทยี่ห้อส่วนพระองค์”
“การสนับสนุนงบประมาณในการเดินทาง ในการเดินทาง โดยใช้เครื่องบิน มากกว่า 5,000 ล้าน ตาม พ.ร.บ.งบประมาณ รัฐบาลโดยรัฐสภา ถ้าเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นว่าพระมหากษัตริย์ของเราอยู่ต่างประเทศนานแล้ว ระบอบประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้สภาผู้แทนราษฎรเปิดอภิปราย ถวายคําแนะนําให้พระองค์กลับมายังประเทศได้ นี่ยังไม่รวมงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไปสร้างซุ้มถวายพระเกียรติมูลค่าเป็นสิบล้านซึ่งไม่มีความจําเป็นเลย คนจะจงรักภักดี จะศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ แต่อยู่ที่การปฏิบัติตนของพระราชวงศ์ทุกพระองค์ใช่ไม่ใช่
“ผมมีข้อเสนอในการแก้ปัญหา ต่อไปนี้ถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง ให้สภาเป็นสภาที่มีผู้แทนราษฎรที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยต้องแก้รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้พระมหากษัตริย์อยู่ในประเทศไทย เพื่อเป็นมิ่งขวัญของพวกเราในประเทศ ไม่ใช่ที่เยอรมัน
“ต่อมาที่ต้องแก้คือการแก้พระราชบัญญัติ ที่ปล่อยให้ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นของพวกเรา ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้มีการถ่ายโอนไปผ่านทางพระราชบัญญัติจัดการบริหารราชการ ส่วนพระมหากษัตริย์ ดึงกลับมาเป็นของพวกเราทุกคน ต้องแก้ พ.ร.บ.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นสนามหลวง ไม่ว่าจะเป็นวัดพระแก้วกลับมาเป็นของพี่น้องประชาชนทุกคน (ปรบมือ)”
“เราทุกคนต้องช่วยกันส่งเสียงการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคไหนมีนโยบายแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันอยู่ที่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง มีนโยบายเอาทรัพย์สินที่เป็นสาธารณะกลับมาเป็นของพวกเรา เลือกพรรคนั้นครับพี่น้อง”
ทั้งนี้อานนท์เคยให้การในชั้นสอบสวนโดยอธิบายถึงความหมายของบางถ้อยคำที่ปรากฎในคำฟ้องไว้แล้ว
>>> เปิดคำให้การ “ทนายอานนท์” คดีแฮรี่ พอตเตอร์ หลังถูกแจ้งเพิ่ม ม.112 ย้ำเจตนารมณ์อยากเห็นสถาบันกษัตริย์ อยู่อย่างสง่างาม
.
.
อัยการได้สรุปความเห็นว่าถ้อยคําปราศรัยของอานนท์ “มีเจตนาพูดพาดพิงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยอันเป็นเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่นใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงอาฆาต มาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยทําให้ประชาชนเสื่อมความศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้
“และเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา อันมิใช่การกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต แต่เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง และปลุกปั่นทําให้ประชาชน และบุคคลทั่วไปเกิดความตระหนกตกใจ เกิดความเข้าใจผิด และถูกชักจูงให้ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลัก และเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนคนไทย ทั้งประเทศ จนอาจนํามาซึ่งความเกลียดชัง หรือความแตกแยกในสังคม ถึงขั้นออกมากระทําความผิดต่อกฎหมาย เพื่อให้เกิดควาามเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ก่อให้เกิดความไม่สงบของประชาชนภายในประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน”
.
อานนท์ถูกฟ้องทั้งสิ้น 6 ข้อหา ประกอบด้วย
1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ
2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน
3. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
4. ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นผู้จัดการชุมนุมไม่แจ้งให้ผู้ชุมนุมปฎิบัติตามหน้าที่ของผู้ชุมนุม มาตรา 16
5. ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมมั่วสุมกันในที่แออัด ไม่มีการเว้นระยะห่าง
6. พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
อัยการยังได้คัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลย โดยอ้างว่า “จำเลยนี้ได้กระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงหลายครั้ง และหากปล่อยตัวไปอาจกระทำความผิดซ้ำอีก”
.
7 ก.ย. 2564 ขณะที่เขาถูกคุมขังอยู่ในสถานบำบัดพิเศษกรุงเทพ ภายใต้อำนาจของศาลอาญากรุงเทพใต้ จากกรณีปราศรัยในงานครบรอบ 1 ปีม็อบแฮรี่ พอตเตอร์ บริเวณลานหน้าหอศิลป์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 และถูกออกหมายจับในวันที่ 9 ก.ย. 2564 ศาลอาญา รัชดา ได้นัดถามคำให้การโดยการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในคดี “เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย” หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ 3 ส.ค. 2563
เนื่องจากการสั่งฟ้องในคดีนี้เป็นการฟ้องแบบไม่มีตัวผู้ต้องหา ทนายความจึงต้องยื่นประกันตัวอีกครั้งในวันดังกล่าว ด้วยหลักทรัพย์ 90,000 บาท
อย่างไรก็ตามในเวลา 17.30 น. ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีศาลอาญา มีคำสั่งไม่อนุญาตประกันตัว
“พิเคราะห์แล้วเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรง หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะไปกระทำการตามที่ถูกฟ้องหรือจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นหรือจะหลบหนีได้จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยให้ยกคำร้อง”