“ในนัดคุ้มครองสิทธิ สิทธิที่มีค่าที่สุดคือการได้ประกันตัว”: ‘อานนท์’ แถลงคดีม็อบ 1 ปีแฮร์รี่พอตเตอร์ หลังถูกขังกว่า 2 เดือน

วานนี้ (20 ต.ค. 2564) ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดคุ้มครองสิทธิในคดีที่อานนท์ นำภา ทนายความและนักกิจกรรม ถูกพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 สั่งฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามมาตรา 112 กรณีปราศรัยในงานครบรอบ 1 ปี ม็อบแฮรี่พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 โดยทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้เบิกตัวอานนท์มาที่ศาล หลังจากตลอดการไต่สวนคัดค้านฝากขังในชั้นสอบสวนกระทำผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์รวม 7 ครั้ง

อัยการได้สั่งฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่านมา รวมใช้เวลาในชั้นสอบสวน ตั้งแต่อานนท์เข้ามอบตัว ถูกแจ้งข้อหา และไม่ได้รับการประกันตัวมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 เป็นระยะเวลา 2 เดือนเศษ

เวลา 13.00 น. แม่ น้องสาว และหลานของอานนท์ พร้อมทนายความ เดินทางมาที่ศาล โดยอานนท์ถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำตั้งแต่ช่วงเที่ยง อย่างไรก็ตาม ณ ห้องคุ้มครองสิทธิ ทนายความและญาติไม่ได้รับอนุญาตให้เดินเข้าไปด้านใน และต้องรอคอยกว่า 1 ชั่วโมง 

จนเวลาล่วงไปถึง 14.30 น. ทนายความและญาติจึงได้รับอนุญาตให้เข้าไปนั่งในห้องดังกล่าว หลังจากนั้นไม่นานเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์พร้อม รปภ. ราว 7-8 คน ได้ควบคุมตัวอานนท์ขึ้นมาบริเวณห้องคุ้มครองสิทธิ

ขณะที่อานนท์กำลังจะเข้าไปทักทายกับญาติพี่น้อง ผู้พิพากษาได้เรียกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มาและแจ้งให้นำตัวอานนท์ไปควบคุมไว้ที่ห้องเวรชี้ โดยแจ้งว่าในนัดวันนี้จะไม่มีการเบิกตัวอานนท์ขึ้นมาบนห้อง แต่จะทำการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แทน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความงุนงงให้ญาติและทนายความเป็นอย่างมาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวอานนท์ขึ้นมาโดยปกติแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างจัดหาที่นั่งในห้องคุ้มครองสิทธิ แม้จะล่าช้าไปจากเวลานัด

เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงได้เข้าห้ามอานนท์ ไม่ให้พูดคุยกับใคร และพยายามจะคุมตัวไปที่ห้องเวรชี้ทันที ทำให้ทนายความต้องพูดคุยกับผู้พิพากษา เพื่อขออนุญาตพูดคุยกับอานนท์ในเรื่องคดีความ โดยผู้พิพากษาอนุญาตให้เฉพาะทนายความได้พูดคุยที่ห้องเวรชี้ เป็นเวลา 15 นาที และกำชับว่าทุกคนต้องขึ้นมายังห้องคุ้มครองสิทธิ 

ภายหลังครบกำหนดเวลา 15 นาที ได้มีการเตือนให้ทนายความกลับมาที่ห้องคุ้มครองสิทธิอีกครั้ง แต่ทนายความแถลงยืนยันว่าอานนท์ประสงค์ให้มีทนายความอยู่ด้วยในระหว่างกระบวนการ เพื่อปรึกษาหารือในเรื่องการต่อสู้คดี

เวลา 15.15 น. ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญากรุงเทพใต้ นายธีร์รัฐ บุนนาค ได้อธิบายคำฟ้องและข้อหาที่ถูกฟ้อง รวมถึงแจ้งสิทธิของจำเลยให้อานนท์ทราบผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีการสอบถามว่าจะสู้คดีอย่างไร จะรับสารภาพหรือไม่ โดยอานนท์ปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา 

ศาลได้ถามเหตุผลที่ปฎิเสธ อานนท์แถลงว่าในส่วนข้อหามาตรา 112 ตนไม่ทราบว่าอัยการฟ้องมาในเนื้อหาอย่างไร จำเป็นต้องตรวจสอบคำปราศรัยที่ถูกถอดเทปออกมาก่อน แต่ตนไม่สามารถตรวจสอบได้ในขณะนี้เพราะถูกคุมขังอยู่  ส่วนข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ตนมั่นใจว่างานดังกล่าวไม่ได้จัดในพื้นที่แออัดและมีการใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ในส่วนของ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ เนื่องจากตนไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม เปรียบเสมือนักร้องที่แค่ประกวดร้องเพลง จึงไม่น่าจะเข้าข่ายความผิดดังกล่าว

อานนท์ยังได้สอบถามผู้พิพากษาถึงเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งไม่อนุญาตประกันตัว เนื่องจากตนยืนยันว่าสิ่งที่ทำเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐ การให้เหตุผลว่าเกรงจะกระทำผิดซ้ำนี้ แปลว่ารัฐไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้หรืออย่างไร ผู้พิพากษาตอบว่า สิ่งนี้เป็นคนละส่วนกัน และยินดีอย่างยิ่งที่จะชี้แจง โดยขอบคุณที่สอบถามเรื่องดังกล่าว

ผู้พิพากษาเริ่มต้นอธิบายว่า อำนาจการปล่อยตัวชั่วคราวไม่ได้อยู่ที่ตน ศาลไม่ใช่พวกของใครคนใดคนหนึ่ง หากสิ่งที่ทุกคนทำไม่เป็นความผิดตามข้อกฎหมาย ตำรวจ อัยการ ศาล ก็คงเอาผิดไ่ม่ได้ แต่เมื่อมีตัวบทกฎหมายอยู่ก็ต้องบังคับใช้ เมื่อมีการสั่งฟ้องมา ศาลก็ต้องดำเนินการไปโดยยังไม่ได้บอกว่าผิดหรือไม่ผิดเพราะขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะพิสูจน์ความจริง เนื่องจากยังไม่มีการสืบพยานเกิดขึ้น

ศาลอธิบายว่า การวางเงื่อนไขห้ามกระทำผิดซ้ำ ไม่ได้หมายความว่าจำเลยกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาว่าผิด โดยการวางเงื่อนไข เป็นข้อตกลงที่ศาลกับจำเลยทำร่วมกัน ซึ่งไม่ใช่และไม่ได้เป็นกฎหมาย หากข้อตกลงใดทำไม่ได้ อาจมีการเสนอขอเปลี่ยนข้อตกลง แต่การกระทำผิดข้อตกลง จนไม่ได้ประกันตัว ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิในการได้รับการประกันตัว แต่ถือว่าจำเลยสละสิทธิ์ สละข้อตกลงโดยสมัครใจ ที่จะไม่ได้รับการประกันตัว หรือถูกถอนประกันเพราะกระทำผิดเงื่อนไข

อานนท์แถลงว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น สมมติว่าตนทราบว่าศาลมีความเห็นทางการเมืองอย่างไร ตนก็แค่ยอมรับเงื่อนไขที่สอดคล้องกับความเห็นทางการเมืองของศาล เพื่อให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็ย่อมได้ แต่นั่นไม่ใช่ความสมัครใจแต่อย่างใด 

ภายหลังเสร็จสิ้นนัดคุ้มครองสิทธิ ศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีต่อไปในวันที่ 13 ธ.ค. 2564 เวลา 9.00 น.

.

อานนท์เขียนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ระบุ “ในนัดคุ้มครองสิทธิ สิทธิที่มีค่าที่สุดคือการได้ประกันตัว”

ภายหลังเสร็จสิ้นนัดคุ้มครองสิทธิ อานนท์ได้ขอแบบฟอร์มคำร้องเพื่อเขียนคำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราวตนเอง โดยมีเนื้อหาว่า

1. ในวันนัดคุ้มครองสิทธิของจำเลย สิทธิที่มีคุณค่ามากที่สุดคือ การได้รับการประกันตัวเพื่อออกไปแสวงหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดี หากศาลประสงค์จะคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ขอศาลได้โปรดมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณาด้วย

2. ในการยื่นขอประกัน หลายครั้งที่ศาลมีคำสั่งว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง” จำเลยประสงค์ขอศาลได้โปรดบอกเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งนั้นแก่จำเลย เพื่อที่จำเลยจะได้ไปขวนขวายเหตุนั้นมาเพื่อให้ศาลพิจารณา

ทั้งนี้ เหตุที่ศาลขังจำเลยดังที่ศาลเคยสั่งไว้ก็ปราศจากข้อเท็จจริง เช่น ที่ศาลบอกว่าโทษสูง ในขณะคดีที่ฆ่าคนตาย ศาลก็ยังให้ประกัน หรือหากเกรงจะหลบหนี หรือหากเกรงจำเลยจะไปกระทำผิดซ้ำ จำเลยขอเรียนต่อศาลว่า การกระทำของจำเลยเป็นการใช้เสรีภาพในทางการเมือง หากศาลมองว่า การใช้เสรีภาพในทางการเมืองเป็นความผิดในรัฐประชาธิปไตย ก็จะเป็นเรื่องประหลาด ขอศาลได้โปรดพิจารณาในประเด็นนี้ด้วย

3. ในการทำคำสั่งครั้งที่แล้ว ศาลที่สั่งโดยเพียงแค่ลงลายมือชื่อไม่บอกชื่อจริงและนามสกุล จำเลยเห็นว่าเป็นการทำคำสั่งโดยไม่ชอบ หากศาลเห็นว่ามีคำสั่งโดยชอบแล้ว ศาลก็ควรบอกชื่อสกุลจริงเพื่อที่จำเลยจะได้ใช้สิทธิตามกฎหมาย เช่น การตั้งข้อรังเกียจ หรือการใช้สิทธิตรวจสอบทางกฎหมายอื่นได้ และในทางสังคมจะได้จารึกเป็นประวัติศาสตร์ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาว่าใครมีบทบาทอย่างไร ในช่วงที่เปลี่ยนผ่าน เช่น หากชนรุ่นหลังเห็นว่าศาลสั่งมีเหตุผล ชนรุ่นหลังจะได้ยกย่องสรรเสริญ แต่หากในทางกลับกัน หากชนรุ่นหลังเห็นว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดจะได้สาปแช่งประณามจำเลยไปชั่วลูกชั่วหลาน ในการทำคำสั่งครั้งนี้ของศาลได้โปรดระบุชื่อจริง นามสกุลจริงด้วย

4. จำเลยประสงค์เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งได้ยกร่างไว้แล้ว คือ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ….


(1) พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ…”

(2) ให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

(3) ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

ซึ่งหากมีการเสนอต่อรัฐสภา เชื่อว่าพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และประชาชนย่อมเห็นชอบ เพราะในวันนี้เราเห็นอย่างชัดแจ้งแล้วว่า มีการใช้กฎหมายนี้เพื่อริดรอนเสรีภาพ กลั่นแกล้ง ผู้เห็นต่างทางการเมือง 

(4) จำเลยขอศาลได้โปรดพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อให้จำเลยออกไปแสวงหาพยานหลักฐาน และให้จำเลยได้ออกไปล่ารายชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 ตามครรลองประชาธิปไตยด้วย

เวลา 16.00 น. ทนายความได้ยื่นคำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราว ต่อมาเวลา 17.10 น. มนัส ภักดิ์ภูวดล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งยกคำร้อง โดยพิเคราะห์แล้วไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

ทั้งนี้การยื่นประกันดังกล่าวของอานนท์ เป็นการยื่นเป็นครั้งที่ 9 หากนับตั้งแต่ในชั้นสอบสวนมาจนถึงชั้นพิจารณาของคดีปราศรัยครอบรอบ 1 ปี แฮร์รี่พอตเตอร์ โดยอานนท์ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมาแล้ว 72 วัน

.

X