อธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้ ไม่ให้ประกัน “อานนท์ นำภา” คดี 112 ปราศรัยย้ำข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 หลังเข้ามอบตัว

11 ส.ค. 64 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจปทุมวัน ขออำนาจศาลอาญากรุงเทพใต้ฝากขัง “อานนท์ นำภา” ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ด้านทนายความยื่นคำร้องขอให้ศาลเบิกตัวอานนท์ เพื่อทำการไต่สวนคำร้องขอฝากขัง ภายหลังเข้ามอบตัวตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 64 หลังถูกออกหมายจับกรณีปราศรัยในการชุมนุม #เสกคาถาปกป้องประชาชน หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา บริเวณลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ต่อมา หลังการไต่สวนคำร้องขอฝากขัง ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอ ทนายความจึงได้ยื่นประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 200,000 บาท 

เวลา 16.40 น. อาคม รุ่งแจ้ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ระหว่างสอบสวน ระบุเหตุผลว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูงและพนักงานสอบสวนคัดค้านว่า หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก และมีการฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวของศาลอาญาด้วย จึงเห็นควรไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว 

หลังมีคำสั่ง เจ้าหน้าที่นำตัวอานนท์ขึ้นรถผู้ต้องขังออกไปในทันที ทั้งนี้ อานนท์จะต้องถูกกักตัวที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางก่อนเป็นเวลา 14 วัน หากยังไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในช่วงนี้ และพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังต่อไป หลังครบ 14 วัน อานนท์จะถูกย้ายไปคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป

ก่อนหน้านี้ อานนท์เพิ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 64 ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร หลังได้รับอิสรภาพเพียง 70 วัน อานนท์ต้องถูกคุมขังในเรือนจำอีกครั้ง ในข้อกล่าวหา 112 เช่นเดิม จากการปราศรัยย้ำข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ครั้งแรกหลังได้รับการประกันตัว แม้คดีจะอยู่เพียงชั้นสอบสวน   

ผกก.สน.ปทุมวัน ปฏิเสธให้ประกันชั้นตำรวจ อ้างอานนท์เป็นแกนนำ มีแนวโน้มจะจับกลุ่มรวมตัวกันเคลื่อนไหวอีก

คดีนี้แม้ว่าตำรวจได้แจ้งข้อหาและทำการสอบสวนอานนท์ นำภา ได้เสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 64 แต่ยังควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจปทุมวันตามอำนาจควบคุมตัว 48 ชั่วโมงโดยไม่ได้นำตัวไปขออำนาจฝากขังในวันที่ 10 ส.ค. 64 

วานนี้อานนท์ยังได้ยื่นประกันตัวในชั้นตำรวจ ด้วยหลักทรัพย์มูลค่า 200,000 บาท แต่ พ.ต.ต.เวียงแก้ว สุภากาญจน์ ปฏิบัติราชการแทน ผกก.สน.ปทุมวัน ไม่อนุญาตให้ประกัน ให้เห็นผลว่า เนื่องจากอานนท์เป็นแกนนําและเข้าร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายครั้ง โดยทุกครั้งที่เคลื่อนไหวมักจะกระทําผิดกฎหมาย และมีแนวโน้มจะจับกลุ่มรวมตัวกันเคลื่อนไหวต่อไปอีก 

ประกอบกับปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นรื่อยๆ อีกทั้งได้ประกาศให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะ กลับไปรวมกลุ่มทําผิดกฎหมาย หรือกระทําการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะไม่ถูกสุขลักษณะ มั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด และอาจจะทําให้ไปก่อความเสียหาย อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือก่อเหตุร้ายประการอื่น ทําให้เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน 

พนักงานสอบสวนยื่นขอฝากขัง พร้อมคัดค้านให้ประกัน อ้างจะทำผิดในลักษณะเดิมอีก เป็นเยี่ยงอย่างให้บุคคลอื่นกระทำตาม

วันนี้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจปทุมวัน ได้ทำการส่งคำร้องฝากขังทางระบบอิเล็คทรอนิคไปยังศาลอาญากรุงเทพใต้ในช่วงเช้า โดยคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนมีใจความโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 64 เวลาประมาณ 17.34 – 18.09 น. ที่ลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ มีกิจกรรมการชุมนุม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน” ในระหว่างดำเนินกิจกรรมการชุมนุมดังกล่าว ผู้ต้องหาได้แสดงถ้อยคำอันมีเจตนาเพื่อทำให้พระมหากษัตริย์ด้อยค่า กล่าวปราศรัยเสื่อมพระเกียรติ โดยกล่าวคำปราศรัยอันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย รัชกาลที่ 10 ต่อประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นบุคคลที่สาม ผ่านเครื่องขยายเสียงบนรถยนต์กระบะ ต่อมาหลังเกิดเหตุ ผู้กล่าวหาได้เข้าร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ดำเนินคดี

ต่อมาพนักงานสอบสวนได้รับตัวผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 64 เวลาประมาณ 20.15 น. และควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ทำการสอบสวนโดยตลอด จะครบ 48 ชั่วโมง ในวันที่ 11 ส.ค. 64 เวลาประมาณ 20.15 น.

แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบสวนปากคำพยานอีก 10 ปาก และรอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนจึงยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ มีกำหนด 12 วัน ตั้งเเต่วันที่ 11 – 22 ส.ค. 64

ท้ายคำร้องขอฝากขังพนักงานสอบสวนระบุว่า หากผู้ต้องหายื่นคำร้องขอประกันตัวพนักงานสอบสวนขอคัดค้าน เนื่องจากผู้ต้องหาจะไปทำการก่อเหตุอันตรายประการอื่น

ซึ่งตามเนื้อหาในการปราศรัยของผู้ต้องหา จากบันทึกการถอดเทปกลุ่มผู้ชุมนุมกิจกรรมเสกคาถาแฮรี่พอตเตอร์ วันที่ 3 ส.ค. 64 (เอกสารจำนวน 7 แผ่น) เป็นการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักของประชาชนไทยในลักษณะที่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อันเป็นการกระทำที่มิบังควรอย่างยิ่ง ในฐานะประชาชนชาวไทยภายใต้พระบรมโพธิสมภารคนหนึ่ง ถือเป็นการกระทำความผิดอันร้ายแรง 

อีกทั้งผู้ต้องหามีความรู้ด้านกฎหมายและประกอบอาชีพทนายความ ยิ่งต้องเข้าใจว่าการกระทำของตนเองเป็นการลบลู่ดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์อันเป็นความผิด

นอกจากนี้ผู้ต้องหาได้กระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ได้ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมืองแต่อย่างใด หากปล่อยชั่วคราวจะสามารถกระทำผิดในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก โดยไม่ได้รับการพิจารณาโทษ และจะยิ่งเป็นเยี่ยงอย่างให้บุคคลอื่นกระทำตาม กระทบถึงพระเกียรติคุณของพระมหากษัตริย์


อีกทั้งยังเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขของศาลอาญาในคดีหมายเลขดำที่ อ.287/2564 (คดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร) ที่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหานี้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 64 โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาไม่ไปกระทำกิจกรรมที่กระทำความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่ร่วมการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิดที่รุนแรงจนไม่อาจวางใจได้

ในการคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ พนักงานสอบสวนยังระบุถึงความพร้อมของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่า

“หากผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครซึ่งจะรับตัวผู้ต้องหาไปทำการคุมขัง มีมาตรการและขั้นตอนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด โดยเรือนจำมีประสานกับสำนักงานสาธารณสุขพื้นที่ เพื่อตรวจสอบมาตรฐานในการเตรียมรองรับกรณีมีผู้ติดเชื้อได้ทันที, มีการตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (ศบค.) ประจำเรือนจำ, มีการคัดกรองและตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดในผู้ต้องขัง

หากพบเชื้อให้ X-ray ปอดทุกรายรวมถึงให้ยาและรักษาให้เร็ว เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดในวงกว้าง, มีการใส่คลอรีนผสมในน้ำสำหรับอาบของผู้ต้องขัง, กรณีผู้ต้องขังป่วยมีการแจ้งให้ญาติทราบเป็นการเฉพาะรายทางโทรศัพท์หรือช่องทางอื่นอีกด้วย” 

รวมทั้งเชื่อว่าถ้าผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้วก็จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1(3)

เวลา 11.10 น.  ศาลได้มีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องขอฝากขัง หลังทนายความยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังและขอให้ศาลเบิกตัวอานนท์ไปสอบถาม โดยพนักงานสอบสวนได้ควบคุมอานนท์ไปยังศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อทำการไต่สวนคำร้องขอฝากขัง ในเวลาประมาณ 11.43 น. 

12.15 น. ศาลได้ไต่สวนด้วยระบบคอนเฟอเรนซ์ (ไม่ออกนั่งในห้องพิจารณา) เสร็จสิ้น โดยมีการไต่สวนพนักงานสอบสวน 1 ปาก และผู้ต้องหา 1 ปาก

“อานนท์” คัดค้านฝากขัง เหตุเกินจำเป็น สร้างภาระ และกระทบต่ออาชีพทนายความ

พ.ต.ต.เวียงแก้ว สุภาการณ์  พนักงานสอบสวนผู้ร้อง เบิกความต่อศาลถึงเหตุที่ขอฝากขังอานนท์ตามคำร้อง จากนั้นได้ตอบคำถามค้านของทนายผู้ต้องหาโดยสรุปว่า คดีนี้ผู้ต้องหามามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ไม่ได้ถูกจับ โดยพยานไม่ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาก่อน เนื่องจากเป็นคดีร้ายแรงและมีอัตราโทษสูง 

ในส่วนพยานบุคคลที่พยานอ้างว่ายังสอบไม่เสร็จ 10 ปาก ส่วนหนึ่งเป็นตำรวจ ส่วนหนึ่งเป็นบุคคลที่ได้ยินได้ฟังการปราศรัย และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของสำนักงานเขต ซึ่งหากศาลไม่รับฝากขังหรือปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหามีโอกาสไปข่มขู่ยุ่งเหยิงพยานหลักฐานได้ อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนระบุว่า พยานภายนอกที่ฟังปราศรัย 4-5 ปากนั้น อยู่ระหว่างการพิสูจน์ทราบว่าพยานดังกล่าวจะเป็นใคร และรับว่า มีพยานวัตถุเป็นคลิปภาพ คลิปเสียง และบันทึกการถอดเทปในการปราศรัยของผู้ต้องหาไว้แล้ว

พ.ต.ต.เวียงแก้ว ยังตอบทนายความว่า แม้จะมีการสอบสวนไว้แล้วแต่ยังมีบางประเด็นที่อาจสอบสวนเพิ่มเติม แต่เมื่อทนายถามว่า คดีนี้ได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 64 ตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ แต่ก็ระบุต่อไปว่า หากไม่รับคำร้องฝากขังหรือปล่อยตัวผู้ต้องหาไป จะกระทบต่อการสอบสวน เนื่องจากผู้ต้องหาแจ้งถิ่นที่อยู่และภูมิลำเนาเพียงจังหวัดร้อยเอ็ด จึงมีอุปสรรคต่อการออกหมายเรียก เพื่อนำตัวมาส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ

ทั้งนี้ ในระหว่างที่ พ.ต.ต.เวียงแก้ว เบิกความตอบทนายผู้ต้องหา คณะพนักงานสอบสวนในคดีพยายามจะเข้ามาตอบคำถามเพิ่มเติมในบางประเด็นแทนด้วย

ต่อมา อานนท์เบิกความตอบทนายว่า ตนประกอบอาชีพทนายความ และเป็นสามัญสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา 

มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง นอกจากที่อยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ดแล้ว ยังมีที่อยู่ในเขตจตุจักร ซึ่งเป็นที่ทำงาน ตนยังมีคดีอยู่ที่ศาลนี้หลายคดี ที่ผ่านมามาศาลตามหมายเรียกทุกครั้ง ไม่เคยมีประวัติการหลบหนีคดีมาก่อน

ทั้งนี้ คำร้องคัดค้านการฝากขังที่ยื่นต่อศาลยังระบุว่า พนักงานสอบสวนไม่มีเหตุจำเป็นที่จะยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา เนื่องจาก

1. ผู้ต้องหามีถิ่นที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน หากพนักงานสอบสวนมีความประสงค์จะติดตามตัวหรือเรียกให้ผู้ต้องหาไปยังสถานีตํารวจก็สามารถทําได้โดยง่าย ติดต่อได้ทันที และผู้ต้องหาเองก็ยินยอมจะไปพบพนักงานสอบสวนเมื่อพนักงานสอบสวนเรียก เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา โดยไม่มีเจตนาจะหลบหนีอย่างแน่นอน


2. ผู้ต้องหาไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ และพยานหลักฐานก็อยู่ในความดูแลของพนักงานสอบสวนแล้วทั้งสิ้น และผู้ต้องหาเองก็ไม่มีพฤติการณ์กระทําความผิดที่เป็นอาชญากรก่อให้เกิดภยันตรายต่อผู้อื่นและสังคม จึงไม่จําเป็นต้องเอาตัวผู้ต้องหาไว้ในอํานาจของศาลแต่อย่างใด

3. ผู้ต้องหายังคงเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาว่า กระทําความผิด ยังมิได้ผ่านการพิจารณาพิพากษาของศาลว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทําความผิด อีกทั้งการถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้เป็นเหตุผลเบ็ดเสร็จเพียงพอว่าผู้ต้องหาซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์จะต้องหลบหนี หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานแต่ประการใด

อนึ่ง ตามมาตรา 24 ของรัฐธรรมนูญ 2560 การควบคุมผู้ต้องหาให้กระทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายข้างต้น หากผู้ต้องหาถูกคุมขังระหว่างการสอบสวนย่อมเป็นการคุมขังที่เกินจำเป็น นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังสร้างภาระและกระทบต่อการประกอบอาชีพทนายความของผู้ต้องหา ทั้งยังกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและโอกาสในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหากปรากฏภายหลังว่าผู้ต้องหาไม่ได้มีความผิด ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงอันมิอาจเยียวยาโดยวิธีการอื่นใดได้

เวลา 14.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังอานนท์ เป็นเวลา 12 วัน ระหว่างวันที่ 11 – 22 ส.ค. 64 ระบุว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พนักงานสอบสวนมีเหตุฝากขังผู้ต้องหาเพราะการสอบสวนไม่แล้วเสร็จ ประกอบกับพนักงานสอบสวนเบิกความว่า ผู้ต้องหาจะไปข่มขู่หรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐานที่เป็นบุคคลภายนอกผู้ฟังปราศรัย แม้ผู้ต้องหายื่นคัดค้านการฝากขัง แต่มีเหตุสมควรตามคำร้อง อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา โดยกำชับพนักงานสอบสวนให้รีบสอบสวนพยานบุคคล

ยื่นประกันชี้ ศาลนี้เคยให้ประกันจำเลยคดี 112 แล้วหลายราย การไม่ให้ประกันอาจเป็นเหตุให้อานนท์มีอันตรายถึงชีวิตจากเหตุติดโควิดในเรือนจำ

ต่อมา ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางหลักทรัพย์ประกันมูลค่า 200,000 บาท ระบุเหตุผลดังนี้

1. ตามฐานความผิดในคดีนี้ ศาลนี้ได้เคยอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลยมาหลายคดี อาทิ สิรภพ พึ่งพุ่มพุทธ และชูเกียรติ แสงวงค์ ในคดี #ม็อบ18 พ.ย. (คดีหมายเลขดําที่ อ.841/2564), พริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวกรวม 5 คน ในคดีแต่งชุดครอปท็อปเดินสยามพารากอน (คดีหมายเลขดําที่ อ.1189/2564), จตุพร แซ่อึง ในคดีเดินแฟชั่นโชว์ที่สีลม (คดีหมายเลขดําที่ อ.1265/2564), ภัสราวลี ธนกิจวิบูรณ์ผล กับพวกรวม 12 คน ในคดีอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน (คดีหมายเลขดําที่ อ.1297/2564) ผู้ต้องหาจึงขอให้ศาลพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในคดีนี้ด้วย

2. พฤติการณ์ที่กล่าวหาในคดีนี้ มีเพียงผู้ต้องหาเข้าร่วมชุมนุม ซึ่งเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมที่รับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ การคุมขังตัวผู้ต้องหาไว้เป็นการกระทําที่เกินสมควรแก่เหตุ และเกินความจําเป็น ผู้ต้องหาได้เดินทางไปพบพนักงานสอบสวนด้วยตัวเอง และให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน เนื่องจากพฤติการณ์ของผู้ต้องหามิได้เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหา ผู้ต้องหาประสงค์จะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน เพราะเชื่อมั่นว่าศาลจะอำนวยความยุติธรรมได้

3. ผู้ต้องหามีภูมิลําเนาเป็นหลักแหล่งแน่นอน และโดยปกติผู้ต้องหาจะต้องเดินทางมาศาลเป็นประจํา เพื่อว่าความให้กับลูกความ จึงสามารถติดตามผู้ต้องหาได้โดยง่าย อีกทั้งผู้ต้องหาไม่มีความสามารถที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ และไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการกระทําความผิดอาชญากรรมหรือต้องโทษในคดีอาญาใด ๆ มาก่อน จึงไม่อาจไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นได้

4. คําร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ของพนักงานสอบสวน ไม่ปรากฏเหตุและพฤติการณ์ใด ๆ ของผู้ต้องหาที่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาแม้แต่น้อย จึงขอให้ศาลใช้ดุลพินิจพิจารณาคําร้องโดยยึดถือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุด บุคคลใดมิได้กระทําความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่กระทบเสรีภาพของผู้ต้องหา หากพบว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือมีแนวโน้มจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ย่อมต้องมีข้อเท็จจริงเป็นฐานรองรับการใช้ดุลพินิจ ซึ่งผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์ดังกล่าว
5. ขณะนี้เป็นที่ปรากฏว่ามีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และยังไม่สามารถคลี่คลายลงได้ นอกจากนี้ยังพบว่าสถานที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวมากที่สุดสถานที่หนึ่ง คือ เรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ หากผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวจะต้องถูกคุมขังในเรือนจําดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ทั้งนี้ผู้ต้องหาเคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จากการถูกคุมขังในสถานที่ดังกล่าวโดยไม่ได้รับสิทธิการปล่อยชั่วคราวมาแล้ว ผู้ต้องหาจึงศาลให้รักษาชีวิตของผู้ต้องหาในครั้งนี้ไว้ด้วย

เวลา 16.40 น. อาคม รุ่งแจ้ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ระหว่างสอบสวน ระบุเหตุผลว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูงและพนักงานสอบสวนคัดค้านว่า หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก และมีการฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวของศาลอาญาด้วย จึงเห็นควรไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว 

ภาพรถผู้ต้องขังที่นำตัว “อานนท์” ออกจากศาลอาญากรุงเทพใต้ทันที หลังศาลไม่ให้ประกัน

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

‘อานนท์ นำภา’ เข้ามอบตัวคดี ม.112 เหตุปราศรัยย้ำข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ชุมนุมครบ 1 ปี #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์

ตร.เข้าแจ้งข้อหา ‘อานนท์’ คดีชุมนุม 24 มิ.ย. แม้ถูกคุมตัว กล่าวหาร่วมอ่าน ‘ประกาศคณะราษฎร’

X