ที่ประชุมผู้บริหารศาลอาญายืนยันไม่ให้ประกัน “อานนท์” ยังเห็นว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

9 พ.ย. 2564 เวลา 10.45 น. ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก ทนายความได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว อานนท์ นำภา ในสองคดี ได้แก่ คดี “เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย” หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 และ #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อของคณะราษฎร และมีการเคลื่อนขบวนไปปักหลักชุมนุมที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ก่อนศาลจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในทั้งสองคดีเช่นเดิม

 

คำร้องยืนยันมีข้อเท็จจริงใหม่ หลังศาลอาญาไม่เพิกถอนประกันคดี 19 กันยา

คำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ ระบุว่าเนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงใหม่ว่า ในคดีหมายเลขดําที่ 287/2564 (คดีการชุมนุม 19-20 กันยายน 2563) ของศาลนี้ อานนท์ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวตลอดมา โดยศาลมีเงื่อนไขห้ามมิให้ไปกระทําการให้เกิดความวุ่นวายหรือกระทําการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และต่อมาโจทก์ในคดีดังกล่าวได้ยื่นคําร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีดังกล่าว

ศาลได้ไต่สวนคําร้องของโจทก์แล้ว และมีคําสั่งไม่เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว แต่มีข้อกําหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม โดยให้อานนท์อยู่ในเคหะสถานตลอดเวลา เว้นแต่มีเหตุ จําเป็นเพื่อการรักษาพยาบาลหรือเหตุอื่น เมื่อได้รับอนุญาตจากศาล และติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) 


ข้อเท็จจริงข้างต้นย่อมเป็นข้อเท็จจริงใหม่ และเป็นการกําหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม ซึ่งย่อมมีผลเพิ่มเติมให้การพิจารณาของศาลในการขอปล่อยตัวชั่วคราวจําเลยในคราวนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคราวก่อนๆ ได้ ประกอบกับข้อหาและฐานความผิดในคดีนี้กับในคดีหมายเลขดําที่ อ.287/2564 ดังกล่าวเป็นข้อหาและฐานความผิดเดียวกัน 

หากศาลเกรงว่าจําเลยจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น จําเลยขอเสนอเงื่อนไขว่าจําเลยจะอยู่ในเคหะสถานตลอดเวลา เว้นแต่มีเหตุจําเป็นเพื่อการรักษาพยาบาล เพื่อการประกอบวิชาชีพทนายความ หรือเหตุอื่น เมื่อได้รับอนุญาตจากศาล และจําเลยยินยอมติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) เหมือนดังที่ศาลนี้ได้กําหนดเงื่อนไขไว้ในคดีหมายเลขดําที่ อ.287/2564

และหากศาลเห็นสมควร กําหนดเงื่อนไขอื่นใดเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จำเลยก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไข


ยันรัฐมีหน้าที่พิสูจน์ว่าการปล่อยตัวจำเลยจะกระทบต่อต่อความปลอดภัยของบุคคลอื่นหรือสังคมอย่างไร

คำร้องยังกล่าวถึง ประเด็นคําว่า “ผู้ต้องหาหรือจําเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น” หมายความว่าอย่างไร ในความเป็นจริงนั้นแนวคิดในการป้องกันเหตุอันตรายที่จะเกิดขึ้นนั้น ประเทศไทยนํามาจาก กฎหมาย Bait Reform Act of 1984 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกําหนดให้มีการคุมขังระหว่างพิจารณาเพื่อป้องกันอันตรายต่อชุมชน (danger to the community) อย่างไรก็ตาม กฎหมายไทยกลับมีหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขแตกต่างจากกฎหมายในประเทศแม่แบบมาก ซึ่งนําไปสู่การตีความที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน และเป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลอย่างร้ายแรง 

ความหมายของคําว่า “อันตราย” กฎหมาย Bait Reform Act ไม่ได้ให้ความหมายของคําว่า Danger to the Community” แต่ได้กําหนดปัจจัย (Factors) หลายประการที่ศาลจะต้องพิจารณาว่าจะให้ประกันหรือไม่ แต่ปัจจัยที่สําคัญที่สุดประการหนึ่งก็คือ การกระทําความผิดที่ถูกกล่าวหา (Offence) นั้นเป็นอาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรง (crime of violence), อาชญากรรมการก่อการร้าย (crime of terrorism), การกระทําความผิดที่เด็กเป็นผู้เสียหาย (crime involving minor victim), การกระทําความผิดเกี่ยวกับสารเคมีควบคุม (Controlled substance) และการใช้อาวุธ ระเบิดหรือการทําลายล้าง (firearm, explosive, or destructive device) หรือไม่ 

ฐานความผิดเหล่านี้ ทั้งหมดล้วนแต่เป็นการกระทําความผิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้กําลังทางกายภาพต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นทั้งสิ้น (physical force against the person or property of another) จึงเห็นได้ว่า เหตุที่กฎหมายจะยกเว้นไม่ให้มีการประกันตัวนั้น ต้องเป็นไปเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อบุคคลหรือทรัพย์เท่านั้น ไม่ใช่ความผิดทางการเมือง หรือความมั่นคงของรัฐ ที่รัฐเป็นผู้เสียหาย ดังนั้น ความหมายของ “อันตรายประการอื่น” จึงไม่ได้หมายความถึงความผิดใดๆ ก็ได้ หรือความผิดที่ได้เคยถูกฟ้องมาแล้ว 

การจะมีคําสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้น ภาระการพิสูจน์ (Burden of proof) ต้องอยู่กับรัฐไม่ใช่อยู่กับผู้ต้องหาหรือจําเลย รัฐมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยผ่านมาตรฐาน 2 ระดับ ในข้อเท็จจริง 2 เรื่อง ได้แก่

ประการแรก ปัญหาว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยได้กระทําความผิดอาญาร้ายแรง หรือมีโอกาสที่จะหลบหนีหรือไม่ รัฐต้องพิสูจน์ตามหลักความเหนือกว่าซึ่งพยานหลักฐาน (preponderance of the evidence) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ รัฐต้องพิสูจน์ได้มากกว่า 50% ว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยนั้น กระทําความผิดร้ายแรงหรือมีโอกาสที่จะหลบหนีหรือจะกระทําการอันเป็นอุปสรรคต่อความยุติธรรม

นอกจากนั้น เมื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวได้แล้ว รัฐยังมีหน้าที่ต้องพิสูจน์โดยชัดแจ้งและน่าเชื่อถือด้วยว่า หากมีการปล่อยตัวชั่วคราวจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของบุคคลอื่นหรือสังคม ซึ่งมาตรฐานในส่วนนี้หมายความว่ารัฐต้องมีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักถึง 80% มาพิสูจน์ ในสหรัฐอเมริกานั้น ศาลจะไม่เข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งกับผู้ต้องหาหรือจําเลย 

การจะคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว รัฐต้องมีหน้าที่ในการนําสืบข้อเท็จจริงว่าหากศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาหรือจําเลยนั้น จะไปก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่นหรือสังคม รัฐต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดแจ้งและน่าเชื่อถือมาแสดง ไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่จะไปคาดหมายเช่นนั้นเอง และไม่ใช่หน้าที่ของผู้ต้องหาหรือจําเลยที่จะต้องมานําสืบให้ศาลเห็นว่า หากตนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ตนจะไม่หลบหนีหรือก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่น เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็ย่อมขัดกับหลักสันนิษฐานความบริสุทธิ์อย่างชัดแจ้ง 

อย่างไรก็ตาม หากศาลเห็นว่ายังไม่ได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนเพียงพอ ขอศาลได้โปรดกําหนดนัดไต่สวนในวันที่ 12 พ.ย. 2564 เวลา 13.00 น. โดยในวันดังกล่าวจําเลยจะต้องถูกเบิกตัวมาที่ศาลอาญาในคดีนี้อยู่แล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้โอกาสจําเลยได้แสดงพยานหลักฐานต่อศาลประกอบการพิจารณาใช้ดุลพินิจสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วย

ที่ประชุมผู้บริหารศาลอาญายืนยันไม่ให้ประกัน ยังเห็นว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

เวลา 15.30 น. ศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวอานนท์ นำภา ในทั้งสองคดี โดยระบุในเช่นเดียวกันในทั้งสองคดีว่า “ที่ประชุมผู้บริหารศาลอาญาพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลนี้เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยตลอดมา จนครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ศกนี้ เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีตามที่ปรากฏแล้ว ยังเห็นว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม คงให้ขังจำเลยไว้ โดยเหตุเกรงว่าจำเลยจะก่อเหตุร้าย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 (3) เช่นเดิม” 

คำสั่งทั้งสองคำสั่ง ลงนามโดยนาย มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์

การยื่นขอประกันตัวอานนท์ในวันนี้ เป็นการยื่นประกันตัวครั้งที่ 7 สำหรับในคดี #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 และเป็นครั้งที่ 8 ในคดี “เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย” หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563

ปัจจุบันอานนท์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมาแล้ว 91 วัน 



ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลอาญาไม่ถอนประกันตัว ‘อานนท์’ คดี 19 กันยา แต่เมื่อยื่นคำร้องว่ามีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง ศาลยังคงไม่ได้ประกันตัวคดีอื่น

เปิดบันทึกไต่สวนถอนประกัน “อานนท์”: ยืนยันออกมาพูด เพราะสังคมไทยไม่ควรเป็นผักชีโรยหน้าในการแก้ไขปัญหา


X