ศาลอุทธรณ์ยืนไม่ให้ประกัน “เบนจา” คดี 112 เหตุปราศรัยหน้าตึกซิโนไทย #คาร์ม็อบ10สิงหาไล่ทรราช

ศาลอุทธรณ์ยืนยันไม่ให้ประกันตัวเบนจา อะปัญ อ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง กระทำความผิดในลักษณะคล้ายเดิม ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการประกันตัวในคดีก่อน หลังถูกจับกุมตามหมายจับ โดยไม่มีหมายเรียก ในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ที่หน้าบริษัทซิโน-ไทย ในระหว่าง #ม็อบ10สิงหา ‘คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช’

.

จับตามหมายจับหลังเข้ารับทราบข้อหาอีกคดีหนึ่ง โดยไม่เคยมีหมายเรียกมาก่อน ก่อนถูกเจ้าหน้าที่อุ้มขึ้นรถ

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 เวลาประมาณ 13.00 น. ที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี เบนจา อะปัญ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้เดินทางรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ และ กลุ่มทะลุฟ้า เปิดเวทีปราศรัย ณ แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 64

ต่อมา เวลาประมาณ 16.00 น. ภายหลังเพิ่งเสร็จสิ้นการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว เบนจาได้ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบจากสถานีนครบาลทองหล่อ เข้าแสดงหมายจับของศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่ 441/2564 ลงวันที่ 3 กันยายน 2564 ในข้อหา “หมิ่นประมาทมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มี พ.ต.ต.ภิชาภัช ศรีคำขวัญ สารวัตรสอบสวน สน.ทองหล่อ เป็นผู้ร้องขอออกหมาย และมีนายพีระศักดิ์ ใจเสงี่ยม เป็นผู้พิพากษาที่ออกหมาย

ต่อมา ทราบว่าเป็นกรณีจากการปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ ที่หน้าบริษัทซิโน-ไทย ในระหว่าง #ม็อบ10สิงหา ‘คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช’ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 โดยเธอไม่เคยได้รับหมายเรียกในคดีนี้มาก่อน แต่ได้ทราบว่ามีการออกหมายจับ และมีรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าจับกุมเป็นระยะ 

ในคดีนี้ พบว่ามีนายจักรพงศ์ กลิ่นแก้ว สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ที่ สน.ทองหล่อ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2564 โดยกล่าวหาจากเนื้อหาคำปราศรัย และเนื้อหาในแถลงการณ์ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 2  เรื่อง ประกาศเป้าหมาย “นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา” และการเมืองหลังระบบประยุทธ์ ราษฎรทั้งหลาย (อ่านเนื้อหาแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ได้ที่ สำนักข่าวประชาไท

หลังถูกแสดงหมายจับ เบนจาได้แสดงออกอารยะขัดขืน โดยนั่งอยู่กับที่หน้า สน.ลุมพินี และทนายความได้เข้าเจรจาให้เจ้าหน้าที่ทำบันทึกจับกุม อย่างไรก็ตาม หลังรออยู่พักหนึ่ง ทางตำรวจได้ให้เจ้าหน้าที่หญิง เข้าอุ้มเบนจาขึ้นรถไป สน.ทองหล่อ เจ้าของคดี  

ในบันทึกจับกุมบรรยายว่า เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย เจ้าพนักงานตำรวจ สน.ทองหล่อ รวม 5 นาย โดยปฎิบัติงานภายใต้การอำนวยการจับกุมของ พ.ต.อ.ดวงโชติ สุวรรณจรัส ผู้กำกับการ และ พ.ต.ท.ณัฐกิตติ์ จอกโคกสูง รองผู้กำกับการ สน.ทองหล่อ 

เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สน.ทองหล่อ อ้างว่า ได้ทราบว่าเบนจา บุคคลตามหมายจับ จะเดินทางเข้ามา ที่ สน.ลุมพินี จึงได้รอสังเกตการณ์ จนกระทั่งพบเบนจา อยู่บริเวณหน้า สน.ลุมพินี จึงแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ ทำการจับกุม

ในชั้นจับกุม เบนจาได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และให้การว่าตนไม่ขอให้การใดๆ โดยจะยื่นคำให้การภายใน 5 พฤศจิกายน 2564 อีกทั้งปฎิเสธไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม

หลังจากการจับกุมเบนจาแล้ว พนักงานสอบสวนไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวในชั้นสอบสวน และได้ยื่นคำร้องขอฝากขังเบนจาต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ แต่ไม่ทัน เนื่องจากได้หมดเวลาทำการของศาลแล้ว ทำให้เบนจาถูกควบคุมตัวไว้ในห้องไกล่เกลี่ยที่ สน.ทองหล่อ 1 คืน ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเตรียมยื่นฝากขังใหม่ในวันที่ 8 ต.ค. 64

.

ศาลไม่ให้ประกัน ‘เบนจา’ ก่อนถูกส่งไปควบคุมตัวไปที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ทนายยื่นคำร้องอุทธรณ์ขอปล่อยตัวชั่วคราว

วานนี้ (8 ต.ค. 64) พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ ได้ยื่นขอฝากขังเบนจา ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ทั้งยังขอคัดค้านการประกันตัว ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ฝากขังตามคำขอเป็นระยะเวลา 12 วัน

ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว และเวลาประมาณ 14.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเบนจา โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงประกอบกับพฤติการณ์ตามคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน ผู้ต้องหาได้ก่อเหตุเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ผู้ต้องหาเคยถูกฟ้องที่ศาลนี้มาแล้ว อีกทั้งพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา ศาลจึงเห็นควรไม่อนุญาต ยกคำร้อง โดยคำสั่งนี้มี นางเนตรดาว มโนธรรมกิจ เป็นผู้พิพากษาลงนาม

ต่อมา 15.15 น. ทนายความได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่ให้ประกันตัวเบนจาต่อศาลอุทธรณ์ โดยระบุ 2 เหตุผลดังต่อไปนี้ 

1. ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาปี 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ (SIIT) โดยผู้ต้องหายังต้องเข้าเรียน จัดทำรายงานต่างๆ และสอบไล่ตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัย หากไม่ได้ประกันย่อมส่งผลกระทบต่อโอกาสทางการศึกษา 

2. คดีของผู้ต้องหายังอยู่ระหว่างการสอบสวน และยังไม่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดแต่อย่างใด ผู้ต้องหาจึงขอให้ศาลอุทธรณ์ปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อได้มีโอกาสต่อสู้คดีได้เต็มที่ 

.

คำร้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลไม่ให้ประกัน 

.

ทั้งนี้ ทนายความได้ขอคัดถ่ายคำร้องขอฝากขังของเบนจาต่อเจ้าหน้าที่ศาล แต่ไม่สามารถขอได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าสามารถเลือกได้เพียงอย่างเดียว ระหว่างขอคัดถ่ายคำร้องขอฝากขัง หรือจะอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลชั้นต้น ทนายความจึงเลือกที่จะอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกัน เพื่อให้ผู้ต้องหาได้เข้าถึงสิทธิการประกันตัว ก่อนที่เบนจาจะถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง 

.

ศาลอุทธรณ์ยืนยันไมให้ประกัน ‘เบนจา’ ระบุไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในคดีก่อน

วันที่ 9 ตุลาคม 2564 เวลาประมาณ 14.30 น. ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อหาที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหานั้นมีอัตราโทษสูง อีกทั้งผู้ต้องหาได้กระทำความผิดในลักษณะคล้ายเดิมโดยการปราศรัยอันมีถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งผู้ต้องหาได้เคยรับการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในข้อหาดังกล่าว และมีเงื่อนไขว่าห้ามมิให้กระทำการใดที่ให้เป็นการเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเข้ากิจกรรมใดที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย แต่ผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ซึ่งหากอนุญาตปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาอาจก่อให้เกิดอันตรายประการอื่น และก่อให้เกิดความเสียหาย และเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี คำสั่งของศาลชั้นต้นชอบแล้ว ยกคำร้อง

จาการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 150 คน ใน 151 คดี 

เบนจาได้ถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 รวมทั้งสิ้น 6 คดี แล้ว จากจำนวนคดีการเมืองรวม 19 คดีที่เธอถูกกล่าวหา โดยทุกคดียังไม่เคยมีคำพิพากษาของศาลว่ามีความผิด นอกจากนี้ เบนจายังเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาตามมาตรา 112 รายล่าสุดที่ไม่ได้ประกันตัวจากทั้งหมด 5 คน (พริษฐ์, อานนท์, ภาณุพงศ์ และจตุภัทร์) 

.

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

‘เบนจา อะปัญ’ ผู้ต้องหา ม.112 รายล่าสุดที่ไม่ได้ประกัน ดันเลขรวมผู้ต้องขังทางการเมืองพุ่งเป็น 20 ราย

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

.

X