วันนี้ (21 ต.ค. 64) เวลาประมาณ 09.00 น. ทนายความและนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้เดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราว “เบนจา อะปัญ” หนึ่งในสมาชิกของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในคดีมาตรา 112 ทั้งสองคดี ทั้งคดีการปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ที่หน้าบริษัทซิโน-ไทย ในระหว่าง #ม็อบ10สิงหา ‘คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช’ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 และคดีอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563
สำหรับเบนจา นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ยื่นขอประกันตัวในคดีปราศรัยหน้าบริษัทซิโน-ไทย หลังจากเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ตำรวจ สน.ทองหล่อ ได้จับกุมเบนจา ขณะไปรับทราบข้อกล่าวหาคดีอื่นที่ สน.ลุมพินี ก่อนพนักงานสอบสวนจะยื่นขอฝากขังต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว รวมไปถึงศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยืนยันไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเช่นกัน โดยอ้างเหตุผลทำนองเดียวว่าผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการประกันตัวในคดีก่อน
สำหรับการยื่นประกันตัวครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 คดี โดยในคดีแรกคือ กรณีหน้าบริษัทซิโน-ไทย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เป็นนายประกันให้กับเบนจา และนำเงินสดของตนเองวางเป็นหลักทรัพย์ประกัน มูลค่า 200,000 บาท ในส่วนคดีที่สอง กรณีหน้าสถานทูตเยอรมนี ทนายความได้ขอวางหลักทรัพย์ประกัน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์
ในส่วนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในคดีแรก ระบุเหตุผลในครั้งนี้ โดยสรุปดังนี้
1. จากคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวของศาลนี้และศาลอุทธรณ์ ที่ระบุว่า “คดีที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง” นั้น มิได้เป็นเหตุที่จะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแต่อย่างใด อีกทั้ง ศาลนี้ได้เคยอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาคนอื่นๆ ในฐานความผิดมาตรา 112 กรณีจึงมิได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับคดีมีอัตราโทษสูง ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแต่อย่างใด
2. ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนีมาตั้งแต่ต้นจนถูกจับกุมในคดีนี้ ในคดีอื่นๆ ผู้ต้องหาก็ไปพบพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการตามนัดหมายทุกนัด มิได้หลบเลี่ยงหรือหลบหนีแต่อย่างใด ผู้ต้องหาเป็นเพียงนักศึกษาและบุคคลธรรมดา มิได้เป็นผู้มีอิทธิพล ผู้ต้องหายังมีภาระหน้าที่ต้องศึกษาเล่าเรียนตามกําหนดหลักสูตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงสามารถติดตามตัวผู้ต้องหาได้โดยง่าย และประกอบกับผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
3. การคุมขังผู้ต้องหาไว้เป็นการกระทําที่เกินสมควรแก่เหตุ และเกินความจําเป็นแก่กรณี ผู้ต้องหาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน เนื่องจากพฤติการณ์ของผู้ต้องหามิได้เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด อีกทั้งคดีของผู้ต้องหามีหนทางจะต่อสู้คดีได้ ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และผู้ต้องหาประสงค์จะนําพยานบุคคลและพยานเอกสารเป็นหลักฐานเพื่อนําเสนอต่อศาลประกอบการต่อสู้คดี
4. ตามคําร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 2 ของพนักงานสอบสวนนั้น ไม่ปรากฎเหตุและพฤติการณ์ใดๆ ของผู้ต้องหาที่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาแม้แต่น้อย
5. ปัจจุบันผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่ในระหว่างการศึกษาตามโครงสร้างหลักสูตรซึ่งมหาวิทยาลัยกําหนด จึงมีหน้าที่จะต้องเข้าเรียน จัดทํารายงานต่างๆ และเข้าสอบไล่ให้ครบ โดยผู้ต้องหามีกําหนดที่จะต้องสอบไล่ปลายภาคการศึกษารวม 6 รายวิชาด้วยกัน หากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวย่อมส่งผลกระทบต่อโอกาสทางการศึกษาของผู้ต้องหาและได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง โดยไม่อาจเยียวยาด้วยหนทางอื่นได้
6. ผู้ต้องหายังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิด ต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิด ตามที่รัฐธรรมนูญไทย และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งไทยเป็นภาคี รับรองไว้
7. ขณะนี้เป็นที่ปรากฏว่ามีการแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัส 2019 ในเรือนจําทั่วประเทศ หากผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จะต้องถูกคุมขังในเรือนจําดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ต้องหาเนื่องจากเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค จากการถูกคุมขังในสถานที่แออัด
อย่างไรก็ตาม เวลาประมาณ 12.35 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเบนจา ในทั้ง 2 คดี
สำหรับคดีปราศรัยหน้าตึกซิโน-ไทย ศาลระบุว่า “พิเคราะห์คำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว เห็นว่าเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเดิม จึงให้ยกคำร้อง”
ในขณะที่คดีปราศัยหน้าสถานทูตเยอรมนี ศาลระบุว่าจำเลยทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวที่จะไม่ทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และเงื่อนไขอื่นๆ ที่ศาลให้จำเลยปฏิบัติโดยเคร่งครัด จึงเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีอื่นในศาลนี้อีก ในการกระทำในทำนองเดียวกัน และหลังจากการกระทำในคดีหน้าสถานทูตฯ ยังปรากฎว่าจำเลยได้ทำผิดเงื่อนไขในลักษณะเดียวกันซ้ำอีกเป็นคดีอื่น จนไม่ได้รับการประกันตัวในศาลนี้ จึงมีเหตุเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยแล้ว จำเลยอาจจะไปก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายประการอื่นได้ จึงไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
คำสั่งดังกล่าวมี นายมนัส ภักดิ์ภูวดล ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งทำงานชั่วคราวในตำแหน่งรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ เป็นผู้ลงนามคำสั่งในทั้ง 2 คดี
ปัจจุบัน เบนจาได้ถูกคุมขังมาแล้ว 14 วัน และคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในวันนี้ทำให้เบนจาจะต้องถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป
ทั้งนี้ เบนจาได้ถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 รวมทั้งสิ้น 6 คดี แล้ว จากจำนวนคดีการเมืองรวม 19 คดีที่เธอถูกกล่าวหา โดยทุกคดียังไม่เคยมีคำพิพากษาของศาลว่ามีความผิด นอกจากนี้ เบนจายังเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาตามมาตรา 112 รายล่าสุดที่ไม่ได้ประกันตัวจากทั้งหมด 5 คน (พริษฐ์, อานนท์, ภาณุพงศ์ และจตุภัทร์)
.
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ศาลอุทธรณ์ยืนไม่ให้ประกัน “เบนจา” คดี 112 เหตุปราศรัยหน้าตึกซิโนไทย #คาร์ม็อบ10สิงหาไล่ทรราช
บันทึกเยี่ยมเบนจา อะปัญ: “แล้วพอสิ่งต่างๆ มันหายไป เลยไม่รู้ว่าต้องทำอะไร”
บันทึกเยี่ยมเบนจา อะปัญ: “สิทธิคัดค้านฝากขังที่ไม่มีจริงในกระบวนการตั้งใจขัง”
.