วานนี้ 19 ตุลาคม 2564 เวลาประมาณ 10.30 น. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อขออำนาจศาลฝากขัง เบนจา อะปัญ นักกิจกรรมทางการเมืองและนักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 และถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2564 หลังศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ครั้งนี้เป็นการขอศาลฝากขังผู้ต้องหาเป็นครั้งที่ 2 โดยใช้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ศาลอนุญาตตามคำขอของพนักงานสอบสวนให้ฝากขังเบนจาต่อได้อีก 12 วัน จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564
“หนูคัดค้านที่ตำรวจขอฝากขังต่อศาลแล้ว แต่ศาลก็ยังให้ฝากขังต่อ ทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุ มีแค่ไม่ให้ออก”
เรื่องเล่าเรื่องแรกที่เบนจารีบเล่าให้ทนายฟังทันทีที่เริ่มเยี่ยมผ่านทางออนไลน์ เธอบอกว่าตำรวจอ้างว่าต้องสอบพยานเพิ่มเติม ศาลก็ถามว่าเป็นพยานปากไหน ตำรวจก็ตอบประมาณว่าถอดคำปราศรัยและวิเคราะห์ว่าหมิ่นประมาทหรือไม่ ซึ่งเธอก็ตั้งคำถามว่ากระบวนการนี้ก็เป็นการตีความไปเองของตำรวจหรือคนอื่นที่กล่าวหาเธอแทนผู้ที่ถูกกล่าวถึงหรือไม่
“หนูก็คิดว่าตำรวจก็สอบพยานไปสิเกี่ยวอะไรกับหนู หนูก็ใช้สิทธิคัดค้านการฝากขัง แต่ก็ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลย เพราะว่าศาลก็บอกว่าต้องรับเรื่องจากตำรวจไว้อยู่ดี หนูคัดค้านแล้วศาลก็บอกว่าให้ทนายทำคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวคู่ขนานไป หนูก็คิดและมีคำถามว่าแล้วหนูคัดค้านได้จริงๆ หรือ”
เบนจาพรั่งพรูถึงความรู้สึกที่ไม่ยุติธรรม “มันไม่แฟร์เลย เหตุผลแค่ว่าตำรวจจะสอบพยานเพิ่มแล้วมันเกี่ยวอะไรกับหนู ยังสอบไม่เสร็จ ก็สอบไปสิ เกี่ยวอะไรกับหนู เหตุไม่สมเหตุสมผล” จนเธอกล่าวว่าเหมือนตั้งใจขัง ตั้งใจไม่ให้ได้ออกอีก เบนจาบอกว่า “นี่แหละคือสิ่งที่ทำให้หนูเจ็บปวดใจ”
แม้ทนายจะไม่เห็นใบหน้าทั้งหมดของเบนจาเนื่องจากใส่หน้ากากและเฟสชิวด์ แววตาของเบนจาที่เจ็บปวดกลับพุ่งทะยานฉายให้เห็นเป็นที่ชัดเจน
ทนายความได้อ่านข้อความที่มีเพื่อนอาจารย์และประชาชนฝากส่งถึงเธอ เบนจาค่อยดูมีแววตาผ่อนคลายลงจากความรู้สึกที่เธออธิบายให้ทนายฟังตั้งแต่เริ่มการสนทนา ถึงความรู้สึกคับข้องใจของกระบวนการฝากขังและการคัดค้านฝากขัง ที่เบนจาย้ำว่ากระบวนการอยุติธรรมเล่นงานเธออย่างเดียวในขณะที่เธอไม่สามารถทำอะไรได้เมื่อต้องอยู่ในคุก “กระบวนการคือตั้งใจขัง ไม่ให้ออก”
ทนายอ่านข้อความทั้งหมดอย่างรวดเร็วแข่งกับเวลาให้เธอฟังจนจบ เธอฝากขอบคุณทุกคนมากๆ และถามว่าข้อความเหล่านี้ส่งมาทางไหน เธออยากเก็บไว้และหวังว่าจะได้อ่านเมื่อได้รับอิสรภาพ ทนายจึงบอกว่าจะพยายามรวบรวมเก็บไว้ให้
นอกจากนั้น ทนายบอกกับเบนจาว่าได้ทำเรื่องขอส่งหนังสือที่เธออยากอ่านให้ 8 เล่ม ได้แก่ “หิมาลัยในความทรงจำ”, “รหัสลับลาสต์ซัปเปอร์”, “ยัญพิธีเชือดแพะ”, “ความรักของวัลยา”, “ไฮเวย์สู่ขอบฟ้า” , “เด็กดีของประเทศไร้อนาคต”, “สามัญสำนึก” และ “ปีศาจ” เบนจามีแววตาดีใจและตื่นเต้น ทนายต้องรีบบอกว่ายังไม่รู้ว่าทางผู้บัญชาการทัณฑสถานจะอนุญาตให้ส่งเข้าไปได้ไหม ต้องติดตามเรื่องต่อไป
.
.
เบนจาเล่าว่า เธอได้อ่านหนังสือบ้างแล้ว เรื่อง สามก๊ก ฉบับการ์ตูน
“หนูขอเจ้าหน้าที่ว่าอยากอ่านหนังสือ บอกว่ารุ้งอ่านสามก๊กจบตอนอยู่ในนี้ บอกว่าขอหนูอ่านหน่อยจะได้คุยกับเพื่อนรู้เรื่อง พี่เจ้าหน้าที่เค้าเลยเอามาให้ แต่เป็นฉบับการ์ตูนก่อน”
ทนายเล่าต่อว่าอาจารย์หลายท่านฝากความคิดถึงและกำลังใจ และฝากบอกว่า อาจารย์ประมาณ 10 คน รวมกลุ่มกันไปยืนหยุดขังที่หน้าศาลฎีกา เบนจาจึงฝากขอบคุณคณาจารย์ทุกท่านที่ไปยืนหยุดขัง “วันนั้น วันที่ 8 ตุลา ตอนเช้า ยังไม่ค่อยได้คุยกับพวกอาจารย์เท่าไหร่เลย ก็ต้องแยกจากกันแล้ว อาจารย์พวงทอง อาจารย์บุญเลิศ ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ”
เบนจายังอยู่ในห้องกักตัว (ตอนนี้ต้องกักตัว 28 วัน) ร่วมกับเพื่อนผู้ต้องขังหญิงอีก 7 คน ซึ่งในระหว่างกักตัวก็จะอยู่บนห้อง จะลงมาได้ก็เฉพาะเวลามาคุยกับทนายที่ขอเยี่ยม ลงไปห้องสมุดไม่ได้ บางคราเธอก็นั่งคิดถึงพล๊อตหนังเก่าๆ อย่างเช่นหากอยู่ในคุก แล้วมีซอมบี้เข้ามาจะเอาชีวิตรอดอย่างไรนะ คิดฟุ้งๆ ไปเรื่อยๆ ได้ดูทีวีบ้าง ตอนนี้เป็นเรื่องพราวมุก นิทานพันดาว มีแต่ละครไทย เบนจาจึงหวังว่าจะได้อ่านหนังสือที่หลายๆ คนพยายามส่งเข้ามา การได้ใช้ดินสอขีดเขียนอะไรบ้างในตอนกลางวันและอ่านหนังสือเป็นกิจกรรมที่เธอบอกว่า “พอฆ่าเวลาได้บ้าง”
พอพูดเรื่องเวลา เราคุยกันต่อว่าวันนี้กว่าทนายจะได้คุยกับเบนจาก็เกือบจะสี่โมงเย็น จนเบนจาบอกว่าก็รู้สึกผิดปกติมากๆ กลัวไม่ได้คุยกับทนาย และเธอรู้สึกแย่มากกับกระบวนการของตำรวจและศาลในช่วงเช้า รอที่จะเล่าให้ทนายฟัง
ทนายจึงเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ทนายเองก็เกรงว่าจะมีอะไรผิดพลาดและจะไม่ได้เยี่ยม เนื่องจากยื่นขอเยี่ยมไว้ตั้งแต่เวลาสิบโมงกว่าในช่วงเช้า จนเวลาบ่ายสามโมงยี่สิบแล้ว ทางทัณฑสถานหญิงกลางยังไม่ติดต่อกลับ ทนายจึงได้โทรสอบถามและเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะจัดให้คุยได้ ให้ทนายสแตนบายรอ จนเวลา 15:45 น. จึงได้เริ่มสนทนากับเบนจา และได้รับแจ้งระยะเวลาการเยี่ยมว่าประมาณ 15-20 นาที การที่ผู้ต้องขังมีสิทธิได้รับการเยี่ยมจากญาติ เพื่อน คนสนิท และทนายความ เป็นเรื่องที่เบนจาย้ำว่าสำคัญมากจริงๆ
“เรื่องเยี่ยมญาติหนูสงสารคนข้างในนี้มาก ช่วงกักตัวคือจะไม่ได้เยี่ยมเลย ออกจากกักตัวก็จะได้แค่เดือนละครั้งมั้ง”
ตอนนี้ความยากลำบากในการเยี่ยมผู้ต้องขังช่วงโรคระบาดดูเหมือนน่าจะแก้ไขได้ด้วยเทคโนโลยี แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น ก่อนหน้านี้ที่รุ้งถูกควบคุมตัวอยู่เรือนจำนี้ ทนายความยังสามารถมาเยี่ยมเห็นหน้าตัวเป็นๆ ที่เรือนจำได้ แม้ว่าจะผ่านลูกกรงก็ตาม ตอนนี้ปรับเป็นการเยี่ยมออนไลน์ทั้งหมด รวมถึงทนายความ ซึ่งจริงๆแล้วถ้าเทคโนโลยีทำไว้พร้อม แล้วทำได้ดี ซึ่งมันควรจะทำได้ดีมานานแล้ว เพราะเราอยู่กับโรคระบาดไวรัสโควิด-19 มาเป็นปีแล้ว ถ้าหน่วยงานรัฐให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ตั้งแต่แรก ระบบการเยี่ยมออนไลน์ ให้ทนายความได้ ก็ควรต้องให้สิทธิญาติได้เยี่ยมด้วย ทั้งญาติก็ควรจะได้เยี่ยมบ่อยกว่านี้ ไม่ใช่แค่ 1 เดือนครั้ง เรื่องนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขังทุกคนไม่ใช่เฉพาะผู้ต้องขังในคดีการเมืองอีกด้วย
เบนจาบอกว่าคิดถึงผู้ต้องขังข้างในที่ไม่มีทนายความมาเยี่ยมเลย หรือสื่อสารกับญาติหรือเพื่อนได้เพียงเดือนละครั้ง เหมือนเป็นการตัดขาดผู้ต้องขังจากโลกภายนอกในสภาวะที่ไม่รู้ว่าคนนอกคุกหรือคนในคุก มีสุขภาพร่างกายและมีชีวิตเป็นอยู่อย่างไรในความเสี่ยงกับโรคระบาดและเหตุอื่นๆ
ทนายถามเรื่องเรียนของเบนจา และถามถึงอาจารย์ หรือบุคคลในในแวดวงวิศวะ หรือที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ที่เรียนอยู่ ที่จะออกมาสื่อสารหรือพอจะมาเป็นนายประกันให้เบนจาได้ เบนจาแจ้งว่า ”มันหายากจริงๆ นะ คนที่เรียนสายเทคโนโลยี สายวิศวะ แล้วสนใจ คนที่สนใจการเมืองส่วนใหญ่ก็ไปอยู่เมืองนอกกันแล้ว” สุดท้ายเบนจาพูดขึ้นมาชื่อหนึ่งว่า “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แล้วกัน จบวิศวะ มธ. เป็นรุ่นพี่เตรียมอุดมฯ ด้วย”
ก่อนวางสาย เบนจาฝากข้อความถึงทุกคนว่า “ถ้าคิดถึงเราก็ดูหนังเรื่อง Interstellar นะ คิดซะว่าเราเป็น Dr.Cooper ออกยานไปอวกาศ แล้วติดอยู่ใน Singularity”
“เราอาจจะสื่อสารมากไม่ได้ แต่ว่ามันมีสิ่งหนึ่งที่สามารถทะลุผ่านกรงขังได้ นั่นก็คือความรัก”
.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
บันทึกเยี่ยมเบนจา อะปัญ: “แล้วพอสิ่งต่างๆ มันหายไป เลยไม่รู้ว่าต้องทำอะไร”
ศาลอุทธรณ์ยืนไม่ให้ประกัน “เบนจา” คดี 112 เหตุปราศรัยหน้าตึกซิโนไทย #คาร์ม็อบ10สิงหาไล่ทรราช
.