2 ปีผ่าน อัยการสั่งฟ้อง 6 นักกิจกรรม คดี ม.116 ชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” อ้างกิจกรรมอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ

30 ส.ค. 2565 เวลา 13.30 น.  ที่ศาลจังหวัดธัญบุรี อัยการจังหวัดธัญบุรีได้ยื่นฟ้องนักศึกษาและนักกิจกรรมรวม 6 คน จากกรณีการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ประกอบด้วย “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, อานนท์ นำภา, ณัฐชนน ไพโรจน์, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “บอล” ชนินทร์ วงษ์ศรี ในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116  หลังผ่านไปนานกว่า 2 ปีนับตั้งแต่มีการจัดชุมนุม ก่อนศาลจังหวัดธัญบุรีอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ในวงเงินรวม 520,000 บาท 

.

ลำดับเหตุการณ์ก่อนการสั่งฟ้องคดี 

ย้อนไปในกระบวนการชั้นสอบสวนของคดีนี้เมื่อปี 2563 ทั้ง 6 ได้ถูกตำรวจ สภ.คลองหลวง จับกุมตามหมายจับ-แจ้งข้อกล่าวหา ในเวลาไล่เลี่ยกันภายในช่วงเวลา 3 เดือนหลังจากการจัดชุมนุม เริ่มจากภาณุพงศ์ ซึ่งถูกจับกุมใันวันที่ 24 ส.ค. 2563 ตามมาด้วยอานนท์ นำภา ซึ่งถูกตำรวจแสดงหมายจับขณะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีที่ สน.สำราญราษฎร์ ในวันที่ 25 ส.ค. 2563 

จากนั้นช่วงวันที่ 29 ก.ย. 2563 ชนินทร์ ได้ถูกตำรวจเข้าเข้าตรวจค้นและยึดหนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” ก่อนจะถูกนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหา จากกรณีการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน

ขณะที่ ปนัสยา, ณัฐชนน และพริษฐ์ ถูกจับกุมในเช้าวันที่ 15 ต.ค. 2563 ภายหลังการชุมนุมของกลุ่ม #คณะราษฎร ที่เดินเท้าจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 และถูกตำรวจสลายการชุมนุมช่วงเช้ามืด

การชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ยังนำไปสู่การร้องศาลรัฐธรรมนูญโดย นายณฐพร โตประยูร ให้ศาลมีคำวินิจฉัยว่านักกิจกรรมที่ถูกร้องจำนวน 3 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล มีการกระทำที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จากการปราศรัยหรือไม่

ภายหลัง ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวโดยเห็นว่า การกระทำของทั้ง 3 คน เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 ภายหลังขณะที่ทั้งหมดถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางและเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จากคดีหลักในการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร 

จนเวลาล่วงเลยมากว่า 2 ปี จึงมีการประสานงานกับทั้ง 6 คน เพื่อนัดวันที่จะนำตัวมาส่งฟ้อง

.

เปิดคำฟ้องอัยการ อ้างเวทีชุมนุมอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ

พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี พันตำรวจโทสุวิชญ์ สุขประเสริฐ เป็นผู้เรียงคดีนี้ ระบุว่า

ระหว่างวันที่ 21 ก.ค. 2563 – 10 ส.ค. 2563 ปนัสยา, ภาณุพงศ์, อานนท์, ณัฐชนน, พริษฐ์ ได้บังอาจร่วมกันนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยการโพสต์ข้อความและภาพลงในบัญชีเฟสบุ๊กชื่อ “พรรคโดมปฏิวัติ Dome Revolution” “ธรรมศาสตร์และการชุมนุม” และ “Thammasart TODAY” เชิญชวนประชาชน นักเรียน และนักศึกษาให้มาร่วมชุมนุมในวันที่ 10 ส.ค. 2563 เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป ณ ลานพญานาค ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และขอรับการสนับสนุนเงินในการจัดกิจกรรม ดังกล่าวโดยให้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของ “ชนินทร์ วงษ์ศรี กับพวก”

พริษฐ์ยังโพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กส่วนตัวขอรับการสนับสนุนเงินในการจัดกิจกรรมชุมนุม โดยก่อนการชุมนุมในวันที่ 7 ส.ค. 2563  

ปนัสยาและภาณุพงศ์ได้ยื่นหนังสือต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอใช้ลานพญานาค ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นสถานที่จัดกิจกรรมการชุมนุมดังกล่าว ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุญาตให้กลุ่มนักศึกษาใช้สถานที่ในการชุมนุมได้ และในวันเดียวกันเวลาประมาณ 12.00 ถึง 15.00 น.

ปนัสยาได้เข้าไปในบริเวณที่จัดกิจกรรมพร้อมกับมีรถขนอุปกรณ์ประกอบเวที เครื่องเสียง เข้าไปในพื้นที่โดยเป็นผู้คอยกํากับดูแลการจัดตั้งเวทีพร้อมอุปกรณ์ต่างๆ และจัดสถานที่เตรียมความพร้อม

ต่อมาวันที่ 10 ส.ค. 2563 ก่อนจัดกิจกรรมชุมนุม พริษฐ์เดินทางเข้ามาในพื้นที่จัดงานโดยทําหน้าที่ตรวจตราความเรียบร้อย สั่งการและกํากับการทํากิจกรรมภายในพื้นที่การชุมนุม 

เมื่อเริ่มกิจกรรมเวลาประมาณ 17.00 น. ปนัสยา, ภาณุพงศ์, อานนท์ นำภา และ ณัฐชนน ขึ้นพูดปราศรัยบนเวทีมีเนื้อหาโจมตีรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย โดยมีการถ่ายทอดสดภาพเคลื่อนไหวและเสียง 

ขณะที่มีการพูดปราศรัยรวมถึงนําภาพของบุคคลอื่นพร้อมข้อความที่ไม่เหมาะสมและมิบังควรขึ้นฉายบนเวที ซึ่งมีเนื้อหาพาดพิงรัฐบาลและสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 2,500 คน รวมกันอยู่ในพื้นที่ชุมนุมที่มีพื้นที่ประมาณ 800 ตารางเมตร 

“ในการชุมนุมและผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยดังกล่าว ได้มีการพูดปราศรัยในลักษณะปลุกเร้าผู้ร่วมชุมนุมโดยได้พูดพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าอยู่เบื้องหลังของการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และได้มีการฉายภาพ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ซึ่งเป็นผู้กระทําความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและอยู่ระหว่างหลบหนี ขึ้นบนจอแอลอีดี บนเวทีปราศรัย โดยก่อนฉายภาพมีเสียงดนตรี คล้ายในข่าวพระราชสํานัก และเมื่อปรากฏภาพของบุคคลทั้งสองอยู่บนจอ พร้อมกับมีข้อความว่า “ด้วยข้าว ด้วยแกงอ่อม ขอหมูกระทะ” และข้อความว่า “ทรงพระเจริญ” พร้อมกับคํากล่าวนําว่า “ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ” 

การกระทําดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและมิบังควร เพื่อเป็นการปลุกปั่นผู้ชุมนุมและประชาชนชนให้เกิดความรู้สึกเห็นด้วยหรือคล้อยตาม เกลียดชังต่อต้านรัฐบาลและสถาบันพระมหากษัตริย์ มีลักษณะเป็นการปลุกระดมก่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องและใช้ข้อมูลที่เป็นความเท็จ มีลักษณะของการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและใช้ความรุนแรงในสังคม อันมีผลทําให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ทําให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ อันอาจนําไปสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด

อัยการยังบรรยายว่าการชุมนุมดังกล่าว เป็นการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือมั่วสุมกัน ณ สถานที่ใดๆ ที่แออัด มีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในเขตพื้นที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด โดยจำเลยทั้งหกกับพวก ไม่ได้จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเว้นระยะนั่ง หรือยืนห่างทางสังคมระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัสหรือแพร่เชื้อโรค ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่ทางราชการกำหนด

พนักงานอัยการยังได้แนบคำถอดเทปคำปราศรัยและวิดิโอบันทึกภาพเคลื่อนไหวของการปราศรัยเข้ามาด้วย โดยอัยการไม่ได้คัดค้านการประกันตัวจำเลยทั้งหมด แต่ให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

.

สั่งฟ้องรวม 3 ข้อหา ศาลให้ประกันตัววางหลักทรัพย์รวม 5.2 แสนบาท

โดยสรุปแล้ว สำหรับ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, อานนท์ นำภา, ณัฐชนน ไพโรจน์, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกอัยการสั่งฟ้องรวม 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่

1. “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
2. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) 

3. ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

ขณะที่ “บอล” ชนินทร์ วงษ์ศรี ถูกฟ้องเฉพาะข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เวลา 15.30 น. ภายหลังศาลอ่านคำฟ้องให้จำเลยทั้ง 6 ฟัง ทั้งหมดได้ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณา พร้อมยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวจากกองทุนราษฎรประสงค์ รวมทั้งสิ้น 520,000 บาท โดยผู้ที่ถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ได้ยื่นหลักทรัพย์รายละ 100,000 บาท ขณะที่ชนินทร์ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาเดียว ยื่นหลักทรัพย์ 20,000 บาท 

ก่อนที่เวลา 16.30 น. ศาลจะอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวทั้งหมด และกำหนดนัดถามคำให้การอีกครั้งในวันที่ 11 ต.ค. 2565 เวลา 9.00 น.  

สำหรับการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 เป็นการจัดชุมนุมในมหาวิทยาลัยซึ่งมีผู้ขึ้นปราศรัยมาจากหลากหลายกลุ่ม โดยในวันดังกล่าวรุ้ง ปนัสยา เป็นผู้อ่าน ‘ประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1’ ซึ่งมีรายละเอียดเป็นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์จำนวน 10 ข้อ ก่อนจะสิ้นสุดกิจกรรม

.

X