ตัวแทน “ประยุทธ์” อีกหนึ่งกลไกรัฐบาลในการคุกคามประชาชนผู้เห็นต่าง

จากกรณีที่ เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 64 ที่ผ่านมา สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล หรือ ฮาร์ท นักร้องและนักดนตรี ถูกอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะทนายความประจำสำนักกฎหมาย อ.อัมพร ณ ตะกั่วทุ่ง รับมอบอำนาจจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ พ.ต.ท.อธิชย์ ดอนนันชัย รอง ผกก. (สอบสวน) สน.นางเลิ้ง ให้ดำเนินคดีในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าคดีนี้นับเป็นคดีที่ 5 แล้วที่อภิวัฒน์เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีนักกิจกรรม นักการเมือง รวมถึงประชาชนในข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาล และบทบาทของสถาบันกษัตริย์ 

อภิวัฒน์ เริ่มสร้างผลงานจากการยื่นหนังสือต่อสภาทนายความให้ลบชื่อ “อานนท์ นำภา” ออกจากทะเบียนทนายความ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 63 โดยอ้างเหตุจากการปราศรัยชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 63

จากนั้นเป็นต้นมา อภิวัฒน์แจ้งความดำเนินคดีหรือร้องทุกข์กล่าวโทษประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีคดีอาญาอย่างน้อย 23 คดีแล้ว  ที่เขาเป็นคนแจ้ง และในจำนวนนี้แทบทุกคดีมีการแจ้งความที่ สน.นางเลิ้ง มี พ.ต.ท.อธิชย์ ดอนนันชัย รอง ผกก.(สอบสวน) สน.นางเลิ้ง เป็นผู้รับแจ้ง

ในทางสาธารณะอภิวัฒน์ ขันทอง ยังมีอีกตำแหน่งคือ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ และดำเนินคคีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีและการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี 32/2563 ลง 21 ก.ย. 63 ซึ่งชัดเจนว่า บทบาทการดำเนินคดีประชาชนของเขาทำในนามของ “นายกรัฐมนตรี” ตัวแทนรัฐบาลที่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนนั่นเอง 

เท่ากับว่า รัฐบาลนอกจากจะใช้กลไกราชการต่างๆ ในการดำเนินคดีประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองในทางวิพากษ์วิจารณ์ ต่อต้าน จนทำให้หลังการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกเพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 63 เป็นต้นมา มีประชาชนถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 635 คน ในจำนวน 301 คดี (ข้อมูลเมื่อ 30 เม.ย. 64) ยังใช้กลไกของ “ตัวแทน” ที่ได้รับมอบอำนาจตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีโดยตรงอีกด้วย

 

ขอให้ตรวจสอบและลบชื่อ “อานนท์ นำภา” ออกจากทะเบียนทนายความ

วันที่ 7 ส.ค. 63 อภิวัฒน์ยื่นหนังสือถึงสภาทนายความฯ ขอให้ตรวจสอบและลบชื่อ อานนท์ นำภา ออกจากทะเบียนทนายความ เนื่องจากพฤติกรรมเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ เพราะทำการ “บิดเบือนข้อความจริง พูดปราศรัยหมิ่นประมาท เสียดสียุยงปลุกปั่น ก่อให้เกิดความเสียหาย และความชิงชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อหวังผลให้ประเทศเกิดความแตกแยกสามัคคี….” จากการปราศรัยชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 63 

อย่างไรก็ตามองค์กรนักกฎหมายไทยและนานาชาติต่างแสดงความไม่เห็นด้วยกรณีดังกล่าว โดยวันที่ 21 ส.ค. 63 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) รวบรวมรายชื่อทนายความ สำนักงานทนายความ องค์กรด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนต่างๆ รวม 266 รายชื่อ ออกจดหมายเปิดผนึกส่งถึงสภาทนายความฯ ระบุว่าเหตุผลตามที่อ้างนั้นไม่ปรากฏว่าเป็นเหตุตามข้อบังคับของสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 แต่อย่างใด นอกจากนั้นคดีที่ถูกกล่าวหานั้นก็ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นความผิดหรือไม่

วันที่ 17 ก.พ. 64 คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงสภาทนายความอีกเช่นกัน ระบุว่ากรณีดังกล่าวจะส่งผลเป็นการแทรกแซงการทำงานของอานนท์ นำภา ในฐานะทนายความ อย่างไม่เหมาะสม รวมถึงส่งผลกระทบต่อการว่าความให้แก่ลูกความในคดี และส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกของเขาด้วย 

ตามกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศแล้ว ทนายความก็เหมือนกับบุคคลทั่วไปที่ทรงสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในความเชื่อ เสรีภาพในการรวมตัว และเสรีภาพในการชุมนุม ทนายความควรที่จะสามารถกล่าวกับสาธารณชนเกี่ยวกับกิจการสาธารณะต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะในฐานะทนายความเองก็ดี หรือในฐานะส่วนตัวก็ตาม การระงับหรือการเพิกถอนใบอนุญาตทนายความอันเนื่องมาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพโดยชอบนั้น ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อการใช้สิทธิของทนายความผู้นั้นเท่านั้น หากแต่ยังกระทบถึงสิทธิของลูกความในการมีทนายความที่ตนเลือกมาว่าความคดีให้

สำหรับความคืบหน้า กรณีนี้ยังคงอยู่ในระหว่างยื่นคำร้องโต้แย้งของอานนท์ นำภา ซึ่งได้ขอขยายระยะเวลาออกไป เนื่องจากอานนท์ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และยังต้องรักษาตัวจากโรคโควิด-19

 

5 คดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

วันที่ 18 ก.พ. 64 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ แจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่มเติมแก่ อานนท์ นำภา อีกหนึ่งข้อหา จากเหตุชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน ที่ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 63

อานนท์ ถูกจับกุมตามหมายจับในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 63 ขณะเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา และถูกนำตัวไปที่จังหวัดเชียงใหม่ แจ้งข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และข้อหาใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

คดีนี้มีผู้ต้องหารวม 9 คน อานนท์เป็นเพียงคนเดียวที่ถูกแจ้งข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังอภิวัฒน์เข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 63

>> ตร. 3 สภ.จากเชียงใหม่ แจ้ง 112 เพนกวิน-อานนท์ถึงเรือนจำ เหตุปราศรัยถึงทรัพย์สินกษัตริย์

วันที่ 30 มี.ค. 64 ที่ สน.นางเลิ้ง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า  เข้ารับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) จากเหตุเผยแพร่ไลฟ์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 64 ในหัวข้อ “วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย” ซึ่งวิจารณ์นโยบายการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ และตั้งคำถามถึงแนวทางจัดหาวัคซีนที่ไม่มีการกระจายความเสี่ยง รวมถึงแสดงความกังวลต่อการที่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงเข้ามาแข่งขันกับบริษัทเอกชนอื่นๆ

จากการติดตามของศูนย์ทนายฯ ยังมีคดีผู้ถูกดำเนินคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีก 2 คดี ซึ่งผู้ถูกดำเนินคดีไม่ประสงค์ให้เผยแพร่ และกรณีของสุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล  นับเป็นกรณีที่ 5 ที่ถูกอภิวัฒน์ร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหาดังกล่าว

 

8 คดี จากกรณี #ตามหาลูกประยุทธ์

มูลเหตุแห่งคดีสืบเนื่องจากช่วงเดือนสิงหาคม 2563 มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตร่วมกันแสดงความคิดเห็นผ่านแฮ็ชแท็ก #ตามหาลูกประยุทธ์ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบรัฐบาล โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ และตั้งข้อสังเกตว่าลูกสาวสองคนของพลเอกประยุทธ์ไม่เคยปรากฏตัวในทางสาธารณะจนทำให้ประชาชนเกิดคำถาม

วันที่ 2 ก.ย. 63 นางสาวธัญญา และ นางสาวนิฏฐา จันทร์โอชา บุตรสาวของพลเอกประยุทธ์ มอบอำนาจให้ นายอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะทนายความประจำสำนักกฎหมาย อ.อัมพร ณ ตะกั่วทุ่ง และเพื่อน เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ให้ดำเนินคดีกับผู้แสดงความคิดเห็นในอินเตอร์เน็ตดังกล่าว

ต่อมาวันที่  14 ก.ย. 63 ที่ สน.นางเลิ้ง ผู้ถูกออกหมายเรียก 7 ราย เข้ารับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 โดย 1 ราย ให้การรับสารภาพ ส่วนอีก 6 ราย ให้การปฏิเสธยืนยันจะต่อสู้คดี เนื่องจากเป็นใช้สิทธิเสรีภาพวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะโดยสุจริต

>> 7 ผู้โพสต์ #ตามหาลูกประยุทธ์ เข้ารับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา”

นอกจากนี้ศูนย์ทนายฯ ได้รับรายงานว่ามีประชาชนอีกอย่างน้อย 1 ราย เป็นชายอายุประมาณ 35 ปี ถูกดำเนินคดีจากกรณีเดียวกันนี้ด้วย

 

แจ้งความผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

อภิวัฒน์ ขันทอง ยังมีบทบาทในการแจ้งความดำเนินคดีผู้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอีกอย่างน้อย 9 ราย จนบุคคลเหล่านั้นถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จำนวน 3 คดี และ “ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 รวม 4  คดี  มีอีก 1 คดี เป็นกรณีที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ถูกดำเนินคดีในทั้งสองข้อหา 

 

3 คดี หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

วันที่ 26 ต.ค. 63 ที่ สน.นางเลิ้ง กรสพร (สงวนนามสกุล) ถูกแจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” เนื่องจากโพสต์เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุว่า ข้อความที่กรสพรเผยแพร่นั้นถือเป็นการใส่ความนายกรัฐมนตรีว่า เป็นคนไม่ดี คนเลว ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับความเสียหาย กรสพรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

>> ตัวแทนประยุทธ์แจ้ง “หมิ่นประมาท” ปชช.เหตุโพสต์วิจารณ์ในกลุ่มเฟซบุ๊ก

วันที่ 4 เม.ย. 64 ที่ สน.นางเลิ้ง น.ส.โชติกา ชนิดาประดับ ถูกดำเนินคดี “ดูหมิ่นโดยการโฆษณา” จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 63 เปรียบเทียบพลเอกประยุทธ์กับสัตว์เลื้อยคลาน คดีนี้ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 2,000 บาท คดีอาญาจึงสิ้นสุดลง นอกจากนั้นโชติกาได้กล่าวขอโทษพลเอกประยุทธ์ มีการบันทึกคลิปเพื่อเป็นหลักฐานในการสำนึกผิด ซึ่งกระบวนการดังกล่าวไม่ใช่โทษทางอาญา

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และผู้ดูแลเพจพรรคก้าวไกล ถูกอภิวัฒน์แจ้งความดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 64 จากการโพสต์รูปภาพและข้อความบนเพจพรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 64 วิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ กรณีวินิจฉัยให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่ขาดคุณสมบัติในการเป็น ส.ส. หรือรัฐมนตรี แม้เคยต้องคำพิพากษาจำคุกในคดียาเสพติดที่ประเทศออสเตรเลีย และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่ให้ ร.อ.ธรรมนัส ร่วมคณะรัฐบาล

 

4 คดี ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่

วันที่ 25 ธ.ค. 63 ที่ สน.นางเลิ้ง นายสมบัติ ทองย้อย ถูกแจ้งข้อกล่าวหา “ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน” จากการโพสต์เฟซบุ๊กบัญชีส่วนตัววิพากษ์วิจารณ์พลเอกประยุทธ์ จำนวน 2 โพสต์ ในวันที่ 19 ส.ค. 63 มีเนื้อความวิจารณ์ว่าพลเอกประยุทธ์ไม่ทราบว่าประเทศอังกฤษใช้สกุลเงินปอนด์ และในวันที่ 5 มิ.ย. 63 โพสต์ข้อความและภาพล้อเลียนพลเอกประยุทธ์ โดยสมบัติให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

>> ‘สมบัติ ทองย้อย’ ถูกแจ้งข้อหาโพสต์ ‘หมิ่นประยุทธ์’ หลังถูกผช.รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวหา

วันที่ 22 มี.ค. 64 ที่ สน.นางเลิ้ง “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมกลุ่ม “ราษฎร” และธีระชัย (สงวนนามสกุล) ถูกกล่าวหาว่า “ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่” จากการโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความไม่พอใจรัฐบาล ทั้งสองคดีผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนจึงเปรียบเทียบปรับ โดยชลธิชาถูกปรับเป็นเงิน 2,000 บาท ด้านธีระชัยถูกปรับเป็นเงิน 1,000 บาท คดีจึงสิ้นสุดลง

>> ประธาน คตส.กล่าวหา “ลูกเกด” และประชาชนอีกราย ‘ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน’ ปมโพสต์ภาพ-ข้อความ เสียดสีประยุทธ์-ประวิตร

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 64 ที่ สน.นางเลิ้ง อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ถูกดำเนินคดีในข้อหา “ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน” จากการถ่ายทอดสดเรื่องขบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าว จ.กาญจนบุรี อีกหนึ่งคดีด้วย

 

แจ้งความ ส.ส.เหตุอภิปรายไม่ไว้วางใจ

วันที่ 27 มี.ค. 64 ที่ สน.นางเลิ้ง อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ถูกแจ้ง 2 ข้อหา “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” และ “ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่” จาก 3 กรณี จากเหตุโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ 2 กรณี เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 63 และ 12 ก.ย. 63 อีกกรณีมาจากการวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 64

อมรัตน์กล่าววว่า การวิพากษ์วิจารณ์ขณะอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎรจะได้การคุ้มครองไม่สามารถนำมาฟ้องร้องดำเนินคดีกันได้ จึงเป็นเรื่องผิดปกติที่นายกรัฐมนตรีให้ตัวแทนมาแจ้งความดำเนินคดีคดีนี้อมรัตน์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

จากการติดตามศูนย์ทนายฯ ยังพบอีกว่าอภิวัฒน์แจ้งความดำเนินคดีกับ วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ หรือ จอห์น วิญญู และชายไม่ทราบชื่ออายุประมาณ 30 ปี จากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เป็นคดีอาญาอีก 2 คดี แต่ยังไม่ทราบว่าถูกแจ้งข้อหาใด

 

X