อัยการฟ้อง 6 คดีการเมือง: โพสต์หมิ่นประยุทธ์-การ์ดวีโว่ถูกกล่าวหาเป็นอั้งยี่ซ่องโจร-คาร์ม็อบ10กรกฎา

สรุปสถานการณ์สั่งฟ้องคดีทางการเมืองในช่วงสิ้นเดือนกันยายน ถึงต้นตุลาคม 2564  มีคดีถูกฟ้องต่อศาลอย่างต่อเนื่อง รวมอีก 6 คดี ทั้งคดีสมบัติ ทองย้อย ถูกกล่าวหาโพสต์หมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์, คดีทีมการ์ด Wevo 8 คน ถูกกล่าวหาเป็นอั้งยี่-ซ่องโจร หลังถูกจับกุมก่อน #ม็อบ7สิงหา, คดีประชาชนล้อมวงอยู่บ้านย่านทุ่งครุ แต่ถูกตำรวจบุกจับ เหตุมีบางส่วนเข้าร่วมชุมนุม ทำให้ถูกกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, คดีผู้ร่วม #ม็อบ7สิงหา ถูกกล่าวหาว่าเผารถควบคุมผู้ต้องหาของตำรวจ และถูกกล่าวหาว่าพูดผ่านโทรโข่งให้ปาก้อนหินใส่ คฝ., คดีร่วมคาร์ม็อบ10กรกฎา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

.

อัยการอาญากรุงเทพใต้ สั่งฟ้อง ‘สมบัติ ทองย้อย’ กรณีโพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นประยุทธ์

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 64 พนักงานอัยการอาญาพิเศษ ฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 มีความเห็นสั่งฟ้องคดีของนายสมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ดคนเสื้อแดง ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ จากกรณีถูกนายอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กล่าวหา ว้่าได้โพสต์เฟซบุ๊กดูหมิ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยคดีนี้ สมบัติเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค. 63 ที่ สน.นางเลิ้ง

อัยการบรรยายคำฟ้องระบุว่า สมบัติ ได้โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทจำนวน 2 ข้อความ ได้แก่

1. เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2562 สมบัติได้ใช้เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อสกุลเดียวกัน โพสต์ข้อความแบบสาธารณะ ว่า “มีตบไหม” และลงภาพนายกรัฐมนตรี มีข้อความบนภาพนายกฯ ว่า “อีฉ้อ” (ฉ้อฉลมันทุกรูปแบบ)

2. เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2563 สมบัติได้ใช้เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อสกุลเดียวกัน โพสต์ข้อความแบบสาธารณะ เวลา 21.58 น. ว่า “อังกฤษเขาใช้เงินปอนด์อังกฤษ บ้านพ่องงงง ใช้เงินดอลลาร์ #มึงนี่นะควายจริงๆ” โดยลงรูป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และมีข้อความด้านล่างภาพนายกฯ ว่า “สมมติว่าอังกฤษมีการเรียกร้องว่าเมื่อจบการศึกษามาแล้วจะต้องมีงานได้เงินเดือนละ 5,000 ดอลลาร์ จะได้ให้ได้หรือไม่ ก็คงไม่ได้”

สมบัติถูกฟ้องใน 3 ข้อกล่าวหา ประกอบด้วย 1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326  “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา”  2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 “ดูหมิ่นเจ้าพนักงานฯ” 3. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 16 ฐานตัดต่อภาพทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงฯ 

ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีการถ่ายรูปทำประวัติ นัดคุ้มครองสิทธิวันที่ 12 ต.ค. 2564 และนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 22 พ.ย. 64 เวลา 9.00น.

.

สั่งฟ้อง 8 สมาชิกกลุ่ม Wevo 4 ข้อหา “อั้งยี่-ซ่องโจร” จากม็อบ 7 ส.ค.

ในวันเดียวกัน (23 ก.ย. 2564) พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 สั่งฟ้องคดีของสมาชิกกลุ่ม Wevo จำนวน 8 คน ได้แก่ โสภา, รพงศ์, ทนง, ณัฐพงษ์, ภัชราภร, กัลยกร, ปวีณ์กร และ ธนบัตร ต่อศาลอาญา จากกรณีที่ทั้งหมดถูกจับกุมก่อน #ม็อบ7สิงหา บริเวณลานจอดรถวัดมหรรณพาราม และบริเวณโรงแรมย่านชนะสงคราม เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 โดยถูกฟ้องในข้อหาเป็นอั้งยี่ และซ่องโจร 

อัยการบรรยายฟ้อง โดยกล่าวหาว่าทั้ง 8 คน กับพวกอีกประมาณ 200 คน ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของคณะบุคคลโดยใช้ชื่อว่า We Volunteer หรือ Wevo ซึ่งปกปิดวิธีดําเนินการสามารถรับรู้กันได้เฉพาะในระหว่างสมาชิก โดยสมาชิกของกลุ่มจะมีการแสดงสัญลักษณ์ของคณะบุคคลในรูปแบบเครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์ต่างๆ ปรากฏสัญลักษณ์คําว่า We Volunteer โดยคณะบุคคลมีวัตถุประสงค์อันมิชอบด้วยกฎหมาย มีพฤติกรรมร่วมกันชุมนุมมั่วสุมสมคบกันวางแผนเป็นยุทธวิธี ขั้นตอน ซ่องสุมกําลัง ฝึกกําลังพล เพื่อแบ่งหน้าที่กันกระทําหน้าที่ต่างๆ ตามระบบสายบังคับบัญชา 

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 จําเลยทั้งแปดได้ร่วมกันสมคบกันเป็นซ่องโจร โดยได้จับกลุ่มนัดหมายประชุมกัน ปรึกษาหารือ ตลอดจนมีการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน วางแผนเป็นยุทธวิธีขั้นตอน เตรียมกําลังคนโดยแบ่งหน้าที่ระหว่างกัน และตกลงกันเพื่อจะไปกระทําความผิด โดยได้ร่วมกันตระเตรียมเตรียมอาวุธ หนังสติ๊ก ลูกแก้ว ลูกเหล็ก ระเบิดควัน และวัตถุอื่นจํานวนหลายชนิด และหลายรายการ เพื่อใช้ในการป้องกันตน จากการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในการดูแลการชุมนุมของเจ้าพนักงานตามกฎหมาย และตระเตรียมวิทยุสื่อสารอันเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมที่ต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าพนักงานจํานวนหลายเครื่อง 

อัยการได้ฟ้องทั้ง 8 คน 2 ข้อกล่าวหาหลัก คือฐานอั้งยี่ และฐานซ่องโจร โดยมีจำเลย 5 ราย ยังถูกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 “มีซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออก” และมีโสภา จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องในข้อหาพกพาอาวุธไปในเมืองโดยไม่มีเหตุอันควร (กระบองดิ้ว) รวมเป็น 4 ข้อหา

.

อัยการอาญาธนบุรี สั่งฟ้องฝืน ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ 4 ประชาชนนั่งล้อมวงอยู่ในบ้าน

ในวันเดียวกัน (23 ก.ย. 2564) พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 มีความเห็นสั่งฟ้องประชาชน 4 ราย ต่อศาลอาญาธนบุรี ประกอบด้วยอภิสิทธิ์, ณภัทร, อารียา, รัชนีกร อายุระหว่าง 18-21 ปี ในข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  “ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจํานวนรวมกันมากกว่าห้าคนในพื้นที่ ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นและทำการจับกุมในบ้านพักย่านทุ่งครุ เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 64 โดยการตรวจค้นดังกล่าว ตำรวจอ้างว่าผู้อยู่ในบ้านดังกล่าวบางส่วนไปได้ร่วมชุมนุม #ม็อบ15สิงหา บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง

อัยการบรรยายคำฟ้องระบุ 18 ส.ค.2564  เวลาประมาณ 18.10 น. กลุ่มจำเลยกับพวก รวม 7 คน ได้นั่งจับกลุ่มเป็นวงล้อมกันอยู่ในลักษณะมั่วสุม และไม่มีผู้ใดสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่บริเวณหน้าห้องแถวเช่าย่านเขตทุ่งครุ อันเป็นการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจํานวนรวมกันมากกว่าห้าคน

ต่อมา ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์ประกันตัวรายละ 20,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดวันนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานต่อไปวันที่ 17 ม.ค. 2565

ทั้งนี้กรณียังมีผู้ถูกจับกุมที่เป็นเยาวชนอายุ 17 ปี อีก 3 ราย ที่ถูกแยกกล่าวหาไปในคดีเยาวชน

.

อัยการสั่งฟ้องประชาชน 3 คน กล่าวหากรณี “เผารถตำรวจ-พูดให้ปาหินใส่จนท.” ใน #ม็อบ7สิงหา

วันที่ 29 ก.ย. 2564 พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 สำนักงานคดีอาญา มีความเห็นสั่งฟ้อง อาทิตย์ (สงวนนามสกุล) และ น้ำเชี่ยว (สงวนนามสกุล) ต่อศาลอาญา ใน 5 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อ, ม.215 มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายฯ, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ และ ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ สืบเนื่องจากการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564

อัยการได้บรรยายฟ้องโดยสรุปว่าเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 จําเลยทั้งสองกับกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมจํานวน ประมาณ  200 คน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมชุมนุมเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตําแหน่ง โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้นัดรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วได้เคลื่อนย้ายไปที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 

พวกจำเลยรวมตัวจับกลุ่มขับรถยนต์และรถจักรยานยนต์จํานวนมาก สร้างความวุ่นวายบนท้องถนน ซึ่งมีผู้สัญจรไปมาจํานวนมาก โดยทําให้เกิดเสียงดัง และได้ใช้ไม้ ใช้เหล็กทุบ และขว้างปาก้อนอิฐ ก้อนหิน 

ประทัดเพลิง ขวดน้ํามัน สิ่งของใส่และจุดไฟเผารถยนต์ควบคุมผู้ต้องหา อันเป็นทรัพย์ของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของกองกํากับการต่อต้านการก่อการร้ายกองบังคับการสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ


ในวันเดียวกัน พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 สำนักงานคดีอาญายังได้สั่งฟ้อง วิทย์สรัช (สงวนนามสกุล) ต่อศาลอาญา ใน 3 ข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ม.215 และ ร่วมกันพยายามทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน สืบเนื่องจากการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 

เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กล่าวผ่านเครื่องขยายเสียง คือโทรโข่ง ในลักษณะเป็นการชักชวนยุยงให้ผู้ร่วมชุมนุมขว้างปาก้อนหินใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมได้ลงมือขว้างปาก้อนหินประทุษร้ายเจ้าพนักงานตํารวจดังกล่าว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล เนื่องจากก้อนหินไม่ถูกร่างกายเจ้าพนักงานตํารวจ เจ้าพนักงานตํารวจจึงไม่ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ 

ในทั้ง 2 คดีใช้หลักประกันเดิมในชั้นสอบสวน โดยศาลนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 เวลา 9.00 น.

.

อัยการแขวงดุสิต สั่งฟ้องนักดนตรี-ผู้นำรถเข้าร่วมคาร์ม็อบ 10 กรกฎา

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2564 พนักงานอัยการแขวงดุสิต มีความเห็นสั่งฟ้องวีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล และ ‘อาเล็ก’ โชคดี ร่มพฤกษ์ ต่อศาลแขวงดุสิต จากกรณีร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ (Carmob) เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 64 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 

พนักงานอัยการบรรยายฟ้องโดยสรุปว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันชุมนุม มั่วสุม หรือจัดทํากิจกรรม “CAR MOB (คารม็อบ)” โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมและทํากิจกรรมดังกล่าว จํานวน 100 คน มีการตั้งขบวนขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ จํานวนประมาณ 100 คัน อันเป็นการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจํานวนรวมกันมากกว่ายี่สิบคน ที่บริเวณหน้าร้านอาหารแม็คโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในลักษณะกีดขวางการจราจรและทางสาธารณะ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองขับไล่นายกรัฐมนตรี 

อัยการกล่าวหาว่าโชคดี ได้ทํากิจกรรมชื่อว่า “ยืนยัน ดันเพดาน พูดด้วยหัวใจ ด้วยเสียงเพลง” โดยการแสดงดนตรีร้องเพลง ที่บริเวณริมทางเท้าข้างร้านแมคโดนัลด์ ซึ่งมีประชาชนสนใจเข้าร่วมรับฟังประมาณ 50 คน วีส่วนวีรวิชญ์ถูกกล่าวหาว่าได้นํารถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลเข้าร่วมขบวนแห่ โดยมีการขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ติดตามกันไปเป็นขบวนในลักษณะกีดขวางการจราจร บีบแตรรถส่งเสียงดัง มุ่งไปจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ จนสิ้นสุดที่สี่แยกราชประสงค์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร 


พนักงานอัยการได้ฟ้องทั้งสองคนในข้อหา “ร่วมกันฝ่าฝืนข้อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ. จราจร มาตรา 133 นํารถเข้าขบวนแห่ต่างๆ ไปตามทางโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานจราจร”

ทั้งคู่ให้การปฎิเสธ โดยศาลแขวงดุสิตอนุญาตให้ประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์คนละ 20,000 บาท ศาลนัดพร้อมคดีต่อไปในวันที่ 17 ม.ค. 2564 เวลา 9.00 น.

ทั้งนี้กิจกรรมนี้ ยังมี “บก.ลายจุด” สมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ ที่ถูกฟ้องคดีที่ศาลแขวงดุสิตไปก่อนหน้านี้ คาดว่าอัยการโจทก์จะแถลงขอรวมกันพิจารณาเป็นคดีเดียวกันต่อไป
.

X