ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน “ยงยุทธ” ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน หลังถูกจับกุมที่เมเจอร์ #ม็อบ6มีนา64 ชี้จำเลยไม่มีความเกรงกลัวต่อกฎหมาย ไม่รอลงอาญา

วันที่ 11 เม.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงพระนครเหนือนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ในคดีของ “ยงยุทธ” ประชาชนวัย 25 ปี ที่ถูกฟ้องกรณีทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จากการสับศอกใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากถูกจับกุมที่ห้างเมเจอร์ รัชโยธิน โดยยังไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม #ม็อบ6มีนา วันที่ 6 มี.ค. 2564 แต่อย่างใด

การชุมนุม #ม็อบ6มีนา จัดขึ้นโดยกลุ่ม REDEM ซึ่งนัดรวมตัวกันบริเวณห้าแยกลาดพร้าว เพื่อเดินขบวนไปยังศาลอาญา รัชดาฯ จุดประสงค์เพื่อทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ นําขยะไปทิ้งหน้าศาลอาญา พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำราษฎรซึ่งถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร

คดีนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 1 สั่งฟ้องในวันที่ 5 พ.ค. 2564 สรุปบรรยายฟ้องได้ว่า เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 ขณะเกิดเหตุ กลุ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 20 คน วิ่งไปที่รถควบคุมผู้ต้องหา และได้ใช้ไม้ ท่อนเหล็กและก้อนหินทุบทำลายรถควบคุมผู้ต้องหา ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพนิ่งเพื่อเก็บเป็นหลักฐาน กลุ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้กระชากโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายพร้อมพูดว่า “เอ้ยตำรวจถ่ายรูป” 

จำเลยได้บังอาจใช้กำลังประทุษร้ายร่างกายผู้เสียหายโดยใช้ศอกสับไปที่ศีรษะและใบหน้าผู้เสียหาย เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลบริเวณริมฝีปากด้านใน มีเลือดออกบริเวณเหงือก และฟันด้านล่างหลุดจำนวน 1 ซี่ 

พนักงานอัยการขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 ประกอบ มาตรา 289 ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่

ยงยุทธให้การรับสารภาพทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล โดยในศาลชั้นต้น ศาลพิพากษาว่าเขามีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก 1 ปี ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และเขาได้รับการประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์คดี

.

วันนี้ (11 เม.ย. 2566) ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 17 ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ สามารถสรุปได้ดังนี้

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน ไม่รอการลงโทษ เห็นว่า ผู้เสียหายได้ทำการบันทึกภาพถ่ายในที่เกิดเหตุ โดยจำเลยรู้ว่าผู้เสียหายคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่จำเลยก็ยังทำร้ายร่างกายโดยการศอกไปที่ศีรษะและใบหน้าของผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ พิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลย เห็นว่าจำเลยไม่มีความเกรงกลัวต่อกฎหมายแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

.

ด้านยงยุทธเล่าถึงเหตในวันเกิดเหตุว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาว่ากระทำความผิดซึ่งหน้าจึงเข้าจับกุมโดยไม่มีหมาย บริเวณห้างเมเจอร์รัชโยธิน ประกอบกับเขาได้เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนำกระบองเขี่ยบริเวณก้นของผู้ถูกจับกุมหญิงรายหนึ่ง ทำให้เขารู้สึกโกรธและรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม

ในขณะที่ยงยุทธถูกควบคุมตัวอยู่บนรถผู้ต้องขัง เมื่อมีประชาชนมาล้อมและทุบรถ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เปิดประตูและหนีไป ตนกับคนอื่น ๆ จึงได้ลงมาจากรถผู้ต้องขังที่มีความแออัดและอากาศไม่ถ่ายเท โดยไม่ได้คิดจะหลบหนี ก่อนเห็นประชาชนคนหนึ่งวิ่งเข้าไปกระชากโทรศัพท์มือถือจากบุคคลที่ยืนถ่ายภาพอยู่ ซึ่งในขณะนั้นเขาไม่ทราบว่าบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากไม่ได้สวมใส่เครื่องแบบ ใส่หมวก และไว้ผมยาว ทำให้เขาเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ไม่ประสงค์ดี จึงได้ศอกใส่ผู้เสียหายไปหนึ่งครั้ง

ยงยุทธเปิดเผยว่า ภายหลังเกิดเรื่อง เขารู้สึกผิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจคนดังกล่าวอย่างมาก และเขาได้พยายามขอช่องทางติดต่อจากเจ้าหน้าที่ เพื่อขอโทษ และชดเชยค่าเสียหาย แต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้

.

ต่อมาหลังยื่นขอประกันตัวจำเลยระหว่างฎีกาคดี ในเวลา 17.22 น. ทนายความแจ้งว่า ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยให้การรับสารภาพในศาลชั้นต้น และในระหว่างประกัน จำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางเงินหลักประกันเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม

.

X