ศาลยกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ‘ทีมการ์ด Wevo’ คดีชุมนุมต้านรัฐประหารเมียนมา แต่ปรับ 1 หมื่น ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ

วันที่ 5 ต.ค. 2565 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงพระนครใต้นัดฟังคำพิพากษา คดีชุมนุม #StandWithMyanmar หน้าสถานเอกอัครทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย ถนนสาธรเหนือ เพื่อต่อต้านการรัฐประหารของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 โดยจำเลยในคดีนี้คือ “วิชพรรษ ศรีกสิพันธุ์” อายุ 22 ปี นักกิจกรรมทางการเมืองจากกลุ่ม We Volunteer

เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นภายหลังมีการรัฐประหารในประเทศเมียนมา ตอนช่วงเช้าของวันที่ 1 ก.พ. 2564 ต่อมาในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 15.30 น. ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมชาวเมียนมาและคนไทยมาร่วมชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารที่บริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมา 

ในวันเกิดเหตุ พ.ต.อ.ธนโชติ ฤกษ์ดี ผู้กำกับการ สน.ยานนาวา ซึ่งถูกแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ได้ประกาศให้ยุติการชุมนุมในเวลา 16.16 น. ผู้ชุมนุมได้ทยอยแยกย้าย แต่ยังมีกลุ่มการ์ดเหลืออยู่บางส่วน จนเวลา 17.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนพร้อมโล่และกระบอง ได้นำกำลังเข้าสลายการชุมนุม โดยเดินตั้งแถวเข้าไปยังพื้นที่ที่ผู้ชุมนุมที่เหลือรวมตัวกันอยู่ ผู้ชุมนุมแนวหน้าและกลุ่มการ์ดกับเจ้าหน้าที่เกิดการผลักดันกัน มีรายงานว่าตำรวจใช้กระบองตีผู้ชุมนุม ในขณะที่ผู้ชุมนุมก็มีการขว้างปาสิ่งของใส่ตำรวจเพื่อให้หยุดการเดินแถวรุกเข้ามายึดพื้นที่

ต่อมาเวลา 17.20 น. ผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม 2 ราย รายหนึ่งเป็นทีมการ์ดของกลุ่ม Wevo ส่วนอีกรายหนึ่งเป็นประชาชนที่มาร่วมชุมนุม ทั้งสองคนถูกคุมตัวขึ้นบนรถควบคุมผู้ต้องหาของ สน.ยานนาวา ที่จอดอยู่ ต่อมา เฟซบุ๊กของปิยรัฐ จงเทพ ระบุว่ามีทีมการ์ดของกลุ่ม Wevo ถูกตำรวจจับกุมและมัดมือไพล่หลังอยู่อีก 1 ราย ทำให้มีผู้ถูกจับกุมทั้งหมดรวม 3 ราย โดยหนึ่งในผู้ถูกจับกุมคือ “วิชพรรษ ศรีกสิพันธุ์” ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้

ในชั้นสอบสวน วิชพรรษให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.ยานนาวา ตลอดคืนวันที่ 1 ก.พ. 64 ก่อนในวันที่ 2 ก.พ. 2564 พนักงานสอบสวนจะนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขังที่ศาลแขวงพระนครใต้ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลก็มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์

.

คดีนี้ วิชพรรษถูกกล่าวหาใน 2 ข้อหา ได้แก่

  1. ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9  แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 25 ธ.ค. 2563 ข้อ 3 “ร่วมกันชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุม ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่ที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ” มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
  1. ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 “ร่วมกันกระทําการ หรือดําเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ” มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท 

.

ย้อนอ่านข่าวการถูกจับกุมเพิ่มเติม >>> 3 ปชช. – นศ.มธ. ชุมนุมต้านรปห.สถานทูตเมียนมา ถูกแจ้งข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ต่อสู้ขัดขวางจนท.

ย้อนอ่านข่าวการฝากขัง-ประกันตัว >>> ศาลอนุญาตฝากขัง 3 ผู้ชุมนุมต้านรปห.เมียนมา ก่อนได้รับการประกันตัว

.

ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ให้ลงโทษปรับ 10,000 บาท

วันนี้ (5 ต.ค. 2565) เวลา 9.45 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 7 ศาลขึ้นพิจารณาคดี อ่านคำพิพากษาให้ฟังโดยย่อว่า ศาลยกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และศาลลงโทษปรับตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เป็นเงินจำนวน 10,000 บาท เนื่องจากจำเลยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรค เมื่อพิจารณาคำพิพากษา พบว่าศาลวินิจฉัยใน 3 ประเด็น ดังนี้

.

1.ข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในประเด็นร่วมกันชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ในสถานที่ที่แออัด 

ศาลฟังได้ว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่เปิดโล่ง ผู้คนและยวดยานสามารถสัญจรผ่านได้ แม้มีผู้ชุมนุม 200 กว่าคน และเห็นได้ชัดว่าผู้ชุมนุมรวมตัวกันเป็นกลุ่ม แต่จำนวนผู้ชุมนุมเทียบกับขนาดพื้นที่แล้ว มีไม่มากพอที่จะเป็นพื้นที่แออัด ผู้ชุมนุมไม่ได้ถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่ในบริเวณแออัด จึงรับฟังไม่ได้ว่าเป็นสถานที่แออัด จำเลยจึงไม่มีความผิด

.

2.ข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในประเด็นกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

ศาลชี้ว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยยุยงให้กลุ่มผู้ชุมนุมกระทำการอันใดให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย การปราศรัยของปิยรัฐกับพวกที่ต่อต้านรัฐประหาร เป็นการแสดงความเห็นตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตย แม้จำเลยเป็นสมาชิกของกลุ่มดังกล่าว แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยร่วมขว้างปาข้าวของ ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย จำเลยจึงไม่มีความผิด

.

3.ข้อหาตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

พยานโจทก์เป็นเจ้าพนักงาน ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ศาลเชื่อว่าน่าจะเบิกความตามความเป็นจริง วันเกิดเหตุมีผู้ชุมนุมกว่า 200 คน ไม่มีจุดตรวจวัดอุณหภูมิ ไม่มีจุดคัดกรอง ไม่มีจุดบริการแอลกอฮอล์  ไม่มีจุดลงทะเบียน ไม่มีการแจ้งผู้ชุมนุมให้เว้นระยะห่าง และเจ้าหน้าที่สั่งให้ยุติการชุมนุมแล้ว

ศาลฟังได้ว่าจำเลยเข้าร่วมการชุมนุมในวันเกิดเหตุ และหลังจาก พ.ต.อ.ธนโชติ ประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมแล้ว จำเลยถูกจับกุมขณะเจ้าพนักงานตำรวจเข้าสลายการชุมนุม แม้จำเลยจะต่อสู้ว่าไม่ได้ยิน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ประกาศแล้ว การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 วรรค 1 อนุ 6 และมาตรา 51 ให้ลงโทษปรับ 10,000 บาท

.

หลังอ่านคำพิพากษา วิชพรรษได้ชำระค่าปรับเป็นเงิน 9,500 บาท โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยค่าปรับได้ลดลง 500 บาท เนื่องจากถูกคุมขัง 1 วันระหว่างถูกจับกุมโดยไม่มีความผิด 
.

ทั้งนี้ คดีจากการชุมนุมหน้าสถานทูตเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 นอกจากคดีของวิชพรรษ ยังมีคดีของนักกิจกรรมต่อสู้คดีอยู่อีก 3 คดี ได้แก่ คดีของนักกิจกรรม 9 คนที่ถูกฟ้องที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เนื่องจากมีข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน, ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานร่วมด้วย, คดีของเยาวชนที่ร่วมชุมนุม 1 ราย และคดีของโตโต้ ปิยรัฐ, เพนกวิน พริษฐ์ และ รุ้ง ปนัสยา สามแกนนำที่ถูกฟ้องที่ศาลแขวงพระนครใต้เช่นกัน ในข้อหาหลักตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

X