แจ้งข้อหา 10 ประชาชน-เยาวชน คดีชุมนุมหน้าสถานทูตเมียนมา พบ 1 ในผู้ได้รับหมายเรียกไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 64 เวลา 10.30 น. ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ‘โตโต้’ ปิยรัฐ จงเทพ และกลุ่ม WeVo พร้อมประชาชน รวม 11 คน ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ยานนาวา จากกรณีกิจกรรม #ม็อบ1กุมภา หรือ #StandWithMyanmar ซึ่งจัดขึ้นบริเวณหน้าสถานเอกอัครทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย ถนนสาธรเหนือ เพื่อต่อต้านการรัฐประหารของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หลาย ในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 

ทั้งหมดได้รับหมายเรียกจาก สน.ยานนาวา ลงวันที่ 9 ก.พ. 2564 เพื่อให้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวน โดยคดีมี พ.ต.ท.ประวิทย์ วงษ์เกษม กับพวก เป็นผู้กล่าวหา นอกจากนั้นกรณีนี้มีผู้ถูกจับกุมในวันเกิดเหตุจำนวน 3 คน ซึ่งถูกแจ้งข้อกล่าวหาไปก่อนแล้ว และยังมีพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” ที่ถูกออกหมายเรียกด้วย แต่ยังไม่ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อหา เนื่องจากถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเพราะไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว

>> 3 ปชช.-นศ.มธ. ชุมนุมต้านรปห.สถานทูตเมียนมา ถูกแจ้งข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ต่อสู้ขัดขวางจนท.

 

รุ้ง-โตโต้ ถูกแจ้ง 3 ข้อหา เหตุร่วมปราศรัยต่อต้านรัฐประหารเมียนมา

เวลา 11.00 น.  พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ พิมพ์มานนท์ พนักงานสอบสวนสน.ยานนาวา ได้แจ้งข้อหา ‘รุ้ง’ ปนัสยา และ ‘โตโต้’ ปิยรัฐ  โดยบรรยายพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่า

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีการประกาศผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ We volunteer และเพจ โตโต้ ปิยรัฐ – Piyarat Chongthep มีข้อความว่า “ #Stand With Mynmar อาเซียนร่วมใจไม่รับรองการรัฐประหารในเมียนมา พบกัน 15.30 น. | หน้าสถานเอกอัคราชทูตเมียนมาร์ (ถนนสาทรเหนือ ใกล้ BTS สุรศักดิ์)” 

ต่อมาในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 15.30 น. ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมชาวเมียนมาและคนไทยมาร่วมชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารที่บริเวณหน้าสถานทูตเมียนมา โดยมีผู้ต้องหามาร่วมชุมนุมในครั้งนี้ด้วย จากนั้นผู้ต้องหาได้ใช้เครื่องขยายเสียงที่ติดตั้งบนรถกระบะและติดสติกเกอร์ข้อความว่า We volunteer ที่จอดอยู่บริเวณหน้าสถานทูตเมียนมา ในการปราศรัยกับผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน โดยมีนายปิยรัฐ จงเทพ, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ได้ใช้เครื่องขยายเสียงดังกล่าวปราศรัยกับผู้มาร่วมชุมนุม”

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหา 3 ข้อหา ต่อทั้งสองคนประกอบด้วย

1. ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 25 ธ.ค. 2563 ข้อ 3 “ร่วมกันชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุม ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่ที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ” มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

2. ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 “ร่วมกันกระทําการ หรือดําเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ” มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

3. ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 “ร่วมกันใช้ เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท

แจ้งข้อกล่าวหา ม.215 วรรคสอง ทีมการ์ดและผู้ชุมนุม 8 คน กล่าวหาทำร้ายเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้พนักงานสอบสวนยังได้แจ้งข้อหาสมาชิกกลุ่ม We volunteer ประชาชนอีก 7 คน และเยาวชนอายุ 17 ปี  รวม 8 คน โดยบรรยายพฤติการณ์ข้อกล่าวหาว่าหลังผู้กำกับ สน.ยานนาวาได้ประกาศแจ้งเตือนให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม ปรากฏว่าผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิกการชุมนุมในเวลาที่กำหนด เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้ทำการ “กระชับพื้นที่” ผลักดันให้กลุ่มผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม 

เวลาประมาณ 17.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้ร่วมกันขว้างปาก้อนหิน อิฐ ประทัดลูกบอล พลุควัน และพลุสี เข้าใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชน หลังจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 30 คน ยังได้ร่วมกันใช้กําลังทําร้ายเจ้าหน้าที่ตํารวจที่กําลังปฏิบัติหน้าที่ ด้วยการขว้างปา ขวดน้ำ กรวยยาง หิน ก้อนอิฐ ใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชน และยังใช้ท่อนเหล็กทุบตีแผง โล่ควบคุมฝูงชนจนได้รับความเสียหาย นอกจากนั้นยังมีผู้ใช้ท่อนเหล็ก ดิ้ว ตี และใช้แผงเหล็กทุ่มใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชน 

มีผู้ชุมนุมที่นำทรัพย์ของผู้อื่น คืออิฐและแผ่นปูพื้นถนน แกลลอนพลาสติก มาเป็นอาวุธด้วยการขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน ซึ่งเจ้าของทรัพย์คือบริษัท จอมธกล จำกัด ได้มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน การกระทำดังกล่าวยังเป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้รับบาดเจ็บ จำนวน 14 ราย การกระทำของผู้ชุมนุมได้ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และยังเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค 

ในจำนวน 8 คน มี 7 คน ถูกแจ้ง 6 ข้อกล่าวหา ประกอบด้วย

1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสอง “มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยผู้กระทำผิดคนใดคนหนึ่งมีอาวุธ” มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 ประกอบมาตรา 140 “ร่วมกันต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีหรือใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป” มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 “ร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

4. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 “ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์” ​ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

5. ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

6. ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ร่วมกันกระทําการซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะฯ มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

ส่วนชาติ (นามสมมติ) ถูกแจ้งเพียง 6 ข้อหา โดยไม่มีข้อหาทำให้เสียทรัพย์

ทั้ง 10 คน ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะขอให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน ขณะพนักงานสอบสวนได้นัดหมายเพื่อส่งสำนวนให้กับอัยการในวันที่ 31 มี.ค. 64 

ทั้งนี้ “ณัฐ” ซึ่งยังเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี ต้องเดินทางไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร (บางนา) พร้อมกับที่ปรึกษากฎหมายภายหลังการรับทราบข้อกล่าวหา เพื่อรับทราบนัด โดยจะต้องไปรายงานตัวอีกครั้งที่สถานพินิจฯ ในวันที่ 2 มี.ค. 64 เวลา 09.00 น.

ก่อนการเดินทางไปสถานพินิจ ณัฐยังได้ทำหนังสือคัดค้านการส่งตัวไปตรวจสอบการจับกุมและควบคุมตัว ที่ศาลเด็กและเยาวชน โดยระบุว่าเขาได้เข้ามาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกด้วยตนเอง ไม่ได้ถูกจับกุม จึงไม่ได้เข้าข่ายตามมาตรา 70 และ 72 ของ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ 

ขณะเดียวกัน ยังมีนายวันเฉลิม หลงภูงา หนุ่มวัย 20 ปี ซึ่งเดินทางมาที่สน.ยานนาวาจากการถูกออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ ได้ยืนยันกับตำรวจว่าตนไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว โดยแสดงพยานหลักฐานที่อยู่ ในส่วนภาพในเอกสารของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ชัดเจน ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นตน ตำรวจจึงยังไม่แจ้งข้อหาต่อวันเฉลิม โดยระบุว่าการระบุตัวบุคคลเป็นเรื่องของฝ่ายสืบสวน

สำหรับกรณี #ม็อบ1กุมภา เป็นการแสดงออกต่อต้านรัฐประหารในประเทศเมียนม่าของประชาชนชาวพม่าในประเทศไทย เป็นการนัดหมายรวมตัวกันหน้าสถานทูตเมียนมา โดยมีนักกิจกรรมเข้าร่วมสังเกตการณ์หลายคน อย่างไรก็ตามในวันดังกล่าวมีการสลายการชุมนุมและการจับกุมผู้ชุมนุมในเวลาประมาณ 17.00 น โดยเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนได้พยายามเดินเข้ายึดพื้นที่บนถนน แต่มีกลุ่มการ์ดและผู้ชุมนุมบางส่วนพยายามตั้งแนวเพื่อสกัดเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนมีการเข้าจับกุมผู้ชุมนุม 3 ราย และยุติการชุมนุมในที่สุด

รวมแล้วมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมนี้จำนวน 14 ราย  โดยยังเหลือ “เพนกวิน” พริษฐ์ ที่ยังไม่ได้ถูกตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา

.

X