เยาวชนอายุ 15 ถูกจับกุม หลังถูกกล่าวหา “ร่วมชุมนุม-ทุบทำลายกล้องวงจรปิด” ใน #ม็อบ10กันยา ที่แยกดินแดง ก่อนศาลเยาวชนให้ประกันตัว

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 64 เวลา 15.00 น. ฐา (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 15 ปี ถูกตำรวจราว 3 นาย เข้าควบคุมตัวที่ย่านบ้านพักอาศัยในจังหวัดปทุมธานี โดยแสดงหมายจับศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จากกรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร่วมชุมนุมและทุบทำลายกล้องวงจรปิดที่บริเวณแยกใต้ด่วนดินแดง เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 หรือ #ม็อบ10กันยา

ภายหลังการจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจจะพาฐาไปที่สถานีตำรวจภูธรปากคลองรังสิตเพื่อทำบันทึกจับกุม โดยมีแม่ติดตามไปด้วย แต่ไม่มีที่ปรึกษากฎหมายเข้าร่วม ในบันทึกจับกุมบรรยายว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 เวลาประมาณ 18.00 น. มีคนร้ายซึ่งเป็นผู้ชุมนุมทางการเมือง และก่อความวุ่นวายได้ก่อเหตุทุบทําลายกล้องวงจรปิด ที่บริเวณแยกใต้ด่วนดินแดง ต่อมา พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้ขอศาลเยาวชนและครอบครัวกลางอนุมัติหมายจับบุคคลตามภาพขณะก่อเหตุไว้ตามหมายจับศาลเยาวชนและครอบครัวกลางที่ 30/2564 ลงวันที่ 16 ก.ย. 64 ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตํารวจชุดจับกุมจะประสานเจ้าหน้าที่ตํารวจ สภ.ปากคลองรังสิต เกี่ยวกับข้อมูลบุคคลตามภาพในหมายจับ แล้วทราบว่าคือฐา ผู้ต้องหาในคดีนี้ 

ต่อมา เวลาประมาณ 15.00 น. เจ้าหน้าที่ตํารวจชุดจับกุมจึงได้เชิญตัวฐา พร้อมกับมารดา มาที่ สภ.ปากคลองรังสิต เพื่อซักถามรายละเอียด เมื่อมาถึงเจ้าหน้าที่ตํารวจชุดจับกุมจึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานพร้อมทั้งแสดงหมายจับให้ดู โดยฐารับว่าตนเองเป็นบุคคลตามภาพถ่ายแนบท้ายหมายจับดังกล่าว ซึ่งเป็นภาพชายกำลังก่อเหตุทุบกล้องวงจรปิดที่บริเวณแยกใต้ด่วนดินแดง และมารดาก็ได้ตรวจดูภาพถ่ายดังกล่าวแล้ว ยืนยันว่าบุคคลตามภาพคือบุตรชายของตนจริง

ชุดจับกุมจึงได้แจ้งข้อหา “ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยฐาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และเนื่องจากฐานไม่สามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้ แต่เขียนชื่อตนเองได้ เจ้าหน้าที่จึงเขียนลงในหมายจับว่า ฐาเป็นบุคคลตามหมายจับจริง และให้ฐาลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน

จากนั้นชุดจับกุมได้ควบคุมตัวฐาไปที่ สน.ดินแดง เพื่อทำการสอบสวน อย่างไรก็ตาม ในชั้นสอบสวนซึ่งมีที่ปรึกษากฎหมายเข้าร่วม ฐาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ที่ปรึกษากฎหมายแจ้งว่า จะทำคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือยื่นภายใน 30 วัน

ภายหลังเสร็จกระบวนการ แม้ว่ามีแม่ติดตามมาด้วย พนักงานสอบสวนก็ไม่ได้ปล่อยตัวฐาให้กลับบ้านกับแม่ แต่เอาตัวขังไว้เพื่อส่งศาลเยาวชนฯ ตรวจสอบการจับในวันรุ่งขึ้น

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาทางกฎหมายได้ให้ข้อมูลว่า จากการพูดคุยในขณะสอบปากคำ ฐามีภาวะสมาธิสั้น นั่งนานๆ ไม่ได้ มีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย และสภาพจิตใจค่อนข้างย่ำแย่ และจากการพูดคุยกับแม่ ก่อนหน้านี้ ฐาประสบอุบัติเหตุถูกรถยนต์ชนจึงทำให้มีบาดแผลที่ศีรษะ ต้องเย็บหลายเข็มโดยยังไม่ได้ตัดไหมที่เย็บแผลออก นอกจากนี้ ฐายังเคยมีประวัติเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยรวมมีอาการหลงลืมง่าย พัฒนาการช้า คิดช้า และไม่เป็นตัวของตัวเอง ทำให้ไม่สามารถศึกษาต่อในสถานศึกษาได้

ศาลเยาวชนฯ ให้ประกัน 20,000 บาท โดยไม่กำหนดเงื่อนไข

วานนี้ (18 ก.ย. 64) พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้พาฐาไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อตรวจสอบการจับกุมและขอให้ศาลออกหมายควบคุมตัวไว้ระหว่างสอบสวน โดยมีที่ปรึกษาทางกฎหมายและผู้ไว้วางใจติดตามไปด้วย ทั้งนี้ ในคำร้องตรวจสอบการจับ พนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาด้วย   

ต่อมา ศาลมีคำสั่งให้ออกหมายควบคุมตัว ก่อนอนุญาตให้ปล่อยตัวฐา โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 20,000 บาท โดยที่ปรึกษากฎหมายได้วางเงิน 2,000 บาท ไว้กับศาลก่อน ส่วนที่เหลือจะนำมาชำระภายในวันที่ 4 ต.ค. 64 ศาลนัดมารายงานตัวที่สถานพินิจฯ กรุงเทพฯ ในวันที่ 22 ก.ย. 64 เวลา 8.30 น. และนัดรายงานตัวที่ศาลในวันที่ 11 ต.ค. 64 เวลา 8.30 น.

ภายหลังเสร็จกระบวนการตรวจสอบการจับ ที่ปรึกษาทางกฎหมายได้ขอคัดคำร้องตรวจสอบการจับที่พนักงานสอบสวนยื่นต่อศาล เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า มีการบรรยายพฤติการณ์คดีไม่ตรงกับบันทึกการจับกุม โดยมีเนื้อหาและข้อหาเพิ่มเติม ที่ปรึกษากฎหมายจึงได้ทำคำแถลงคัดค้านคำร้องตรวจสอบการจับให้ฐาลงชื่อและยื่นต่อศาล มีเนื้อความว่า ขอปฏิเสธข้อความในคำร้องตรวจสอบการจับของพนักงานสอบสวน และขอคัดค้านว่าเป็นคำร้องที่มีเนื้อหาที่ไม่ชอบ มีการเสริมแต่งพฤติการณ์เพิ่มเติมจากบันทึกจับกุม

ทั้งนี้ คำร้องตรวจสอบการจับของพนักงานสอบสวน บรรยายเพิ่มเติมไปจากบันทึกจับกุมว่า การชุมนุมในวันที่ 10 ก.ย. 64 ซึ่งฐาเข้าร่วมการชุมนุมด้วยนั้น อยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด โดยเป็นการชุมนุมที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 64 มีลักษณะก่อความวุ่นวาย สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในวงกว้าง และทำลายทรัพย์สินของทางราชการ โดยการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน “ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มตั้งแต่ 25 คน ในพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวาย โดยผู้ร่วมกระทำคนใดคนหนึ่งมีอาวุธ”   

X