จับกุมหนุ่ม 2 ราย กล่าวหา “วางเพลิงเผารถตำรวจ-มั่วสุมเกิน 10 คน-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ใน #ม็อบ7สิงหา ก่อนศาลให้ประกันตัว

*อัพเดตล่าสุด 16 ส.ค. 64

วานนี้ (12 ส.ค. 64) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งกรณีการจับกุมอาทิตย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 20 ปี และน้ำเชี่ยว (สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 1319/2564 และหมายจับศาลอาญา 1320/2564 ตามลำดับ ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ในฐานความผิดวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และ มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายฯ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการวางเพลิงเผารถควบคุมผู้ต้องขัง ในระหว่างการชุมนุม #ม็อบ7สิงหา เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 64 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ในเช้าวันนี้ อาทิตย์และน้ำเชี่ยวถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญาฯ ก่อนจะได้รับอนุญาตให้ประกันตัวด้วยเงินสดคนละ 47,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ 

.

ตร.จับกุม-ค้นห้องพัก แจ้ง 3 ข้อหา ไม่มีการแจ้งสิทธิขณะถูกจับกุมและบังคับลงชื่อสารภาพ

สำหรับบันทึกการจับกุมในกรณีของอาทิตย์ ระบุว่าคดีนี้มีเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมนำโดย พ.ต.ท.นิคม ศรเหล็ก รองผู้กำกับสืบสวน 1 กองบัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองกํากับการสืบสวนสอบสวนอีก 9 นาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสน.พญาไท 5 นาย ร่วมกันจับกุมอาทิตย์ 

ในส่วนของพฤติการณ์ระบุว่า เจ้าพนักงานตํารวจชุดจับกุมได้ทําการสืบสวนจนทราบว่า อาทิตย์ พักอาศัยอยู่ที่ห้องพักในจังหวัดสมุทรปราการ จึงได้ยื่นคําร้องต่อศาลอาญาเพื่อขอหมายค้นห้องพักดังกล่าว และศาลอาญาได้อนุมัติหมายค้นที่ 595/2554 ลงวันที่ 11 ส.ค 64 

จากนั้นในวันที่ 12 ส.ค 64 เวลาประมาณ 7.00 น. จึงได้นํากําลังไปยังห้องพักดังกล่าวเพื่อตรวจค้น เมื่อไปถึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ โดยพบอาทิตย์อยู่ภายในห้องพักดังกล่าว จากนั้นได้ทําการแสดงหมายค้นและหมายจับให้ผู้ต้องหาดู และนําตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.พญาไท ดําเนินคดี 

เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงได้แจ้ง 3 ข้อหาแก่ผู้ต้องหา ได้แก่ 1. “ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217  2. “มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้ายขู่เข็ญ หรือกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นไปในบ้านเมือง”  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215  3. ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจํานวนรวมกันมากกว่า 5 คน และหรือทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศหรือคําสั่งกําหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

อย่างไรก็ตาม อาทิตย์ระบุว่า ในระหว่างการจับกุม เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งสิทธิของผู้ถูกจับกุมให้ทราบ รวมถึงเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมให้เขียนคำรับสารภาพด้วยลายมือตนเอง โดยเจ้าหน้าที่ได้บอกให้เขียนข้อความทั้งหมดและบังคับให้ลงชื่ออีกด้วย แต่กลับมีการระบุไว้ในบันทึกจับกุมว่าได้แจ้งสิทธิให้ผู้ถูกจับกุมทราบแล้ว อาทิตย์จึงไม่ยินยอมลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม

.

ตร.จับกุม-แจ้ง 3 ข้อหา ไม่มีการแจ้งสิทธิผู้ถูกจับกุมและบังคับให้รับสารภาพ

สำหรับบันทึกการจับกุมในกรณีของน้ำเชี่ยว ระบุว่าการจับกุมเกิดขึ้นภายใต้การสั่งการของ พล.ต.ต.สันติ ชัยนรามัย ผู้บังคับการสืบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองกํากับการสืบสวนสอบสวน 3 ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ทั้งหมด 12 นาย และตำรวจฝ่ายสืบสวนของ สน.พญาไท อีก 4 ราย ร่วมกันจับกุมน้ำเชี่ยว 

ในส่วนของพฤติการณ์ระบุว่า เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้รับคําสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ดําเนินการสืบสวนเพื่อติดตามจับกุมตัวน้ำเชี่ยว จนกระทั่งเมื่อวันที่ 12 ส.ค 64 เวลาประมาณ 06.00 น. เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้สืบทราบว่าน้ำเชี่ยวไปอยู่ที่แมนชั่นย่านเขตจอมทอง

เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงเดินทางเพื่อไปสังเกตการณ์ จนเวลาประมาณ 07.30 น. เจ้าหน้าที่ตํารวจได้พบกับ บุคคลที่มีตําหนิรูปพรรณตรงกับบุคคลตามหมายจับ จึงได้ทําการแสดงตนเป็นเจ้าหน้าที่ตํารวจ จากการสอบถามทราบว่าบุคคลดังกล่าวคือน้ำเชี่ยว ซึ่งมีตําหนิรูปพรรณตรงกันกับผู้ต้องหา ตามหมายจับข้างต้น เจ้าหน้าที่ตํารวจชุดจับกุมจึงได้แสดงหมายจับให้ผู้ถูกจับกุมดู 

เจ้าหน้าที่ได้แจ้ง 3 ข้อกล่าวหา เช่นเดียวกับอาทิตย์ และระบุไว้ในบันทึกจับกุมว่าผู้ถูกจับกุมให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยผู้ถูกจับกุมไม่ประสงค์จะพบและปรึกษาทนายความ และได้แจ้งให้คนรู้จักทราบขณะถูกจับกุมแล้ว เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงนําตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.พญาไท เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม น้ำเชี่ยวระบุว่า ขณะลงชื่อในบันทึกจับกุมไม่ได้มีทนายความอยู่ด้วย และถูกเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมบังคับให้ลงชื่อโดยไม่ได้อ่านข้อความในบันทึก ไม่มีการแจ้งสิทธิในชั้นจับกุม รวมถึงเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมยังให้เขียนคำรับสารภาพด้วยลายมือตนเองและบังคับให้ลงชื่อเช่นเดียวกับกรณีอาทิตย์

ต่อมาเวลาประมาณ 14.00 น. เศษ หลังทนายความติดตามไปที่ สน.พญาไท เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้งสองคน โดยกล่าวหาพฤติการณ์จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 64 ในเวลาประมาณ 16.00 – 19.00 น. ตำรวจได้วางกำลังสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุมที่สามแยกดินแดง โดยพบว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 200 คนมารวมตัวบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในระหว่างนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถยนต์ 6 ล้อ สองคัน ซึ่งใช้ควบคุมตัวผู้ต้องหามาปฏิบัติหน้าที่รอรับผู้ต้องหา และตำรวจจะนำรถเลี้ยวเข้าไปในซอยโรงพยาบาลราชวิถี รถของเจ้าหน้าที่คันหนึ่งไม่สามารถขับผ่านไปได้ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่ามีผู้ชุมนุมาขว้างปาสิ่งของใส่  ทำให้พลขับ คือ ส.ต.ท.นัฐพล โมกหอม จอดรถและวิ่งหลบหนีไป 

จากนั้นได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาขว้างปาสิ่งของใส่รถ ใช้ไม้ทุบ ก่อนจะเกิดเหตุเปลวเพลิงลุกไหม้ขึ้นที่บริเวณด้านหน้ารถยนต์ และไหม้ลุกลามจนเสียหายทั้งคัน จากนั้นตำรวจได้เข้าควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ดังกล่าว

ต่อมา ตำรวจชุดสืบสวน สน.พญาไท และชุดสืบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิด และพบว่าผู้ต้องหาทั้งสองเป็นผู้ร่วมการชุมนุมดังกล่าว และได้ร่วมก่อเหตุวางเพลิงรถคันดังกล่าว เป็นมูลค่าความเสียหาย 1,570,225 บาท จึงได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีทั้งสองคน

ผู้ต้องหาทั้งสองคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน โดยจะให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 10 ก.ย. 64 หลังการสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวทั้งสองไว้ที่ สน.พญาไท ในคืนที่ผ่านมา 

.

ศาลอาญาฯ ให้ประกันโดยวางเงินคนละ 47,000 บาท ไม่กำหนดเงื่อนไข 

ในช่วงเช้าวันนี้ (13 ส.ค.) พนักงานสอบสวนได้ยื่นขอฝากขังน้ำเชี่ยวและอาทิตย์ต่อศาลอาญาฯ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จาก สน.พญาไท โดยอ้างว่ายังต้องสอบพยานเพิ่มเติมอีก 4 ปาก และรอผลการตรวจลายนิ้วมือและประวัติผู้ต้องหา 

พนักงานสอบสวนยังคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสอง โดยอ้างว่ากระทำการไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวมในภาวะที่เกิดโรคระบาด ทั้งเจ้าหน้าที่ยังอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิจารณาดำเนินคดีที่มีโทษร้ายแรงต่อไป หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัว เกรงว่าจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก

ภายหลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทางทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยเหตุผลระบุว่า

1. พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหาผู้ต้องหาเป็นคดีนี้ ตามบันทึกจับกุมและพยานหลักฐานในสำนวนคดีของพนักงานสอบสวนระบุเหตุการณ์โดยเลื่อนลอย เคลือบคลุมเท่านั้น ไม่มีพยานหลักฐานตามสมควรอันควรเชื่อได้ว่าผู้ต้องหาในคดีนี้คนใดได้กระทำการอันเป็นความผิดอย่างไรบ้าง การคุมขังตัวผู้ต้องหาไว้จึงเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุ และเกินความจำเป็นแก่กรณี 

2. ขณะที่เจ้าหน้าที่ตํารวจจับกุมผู้ต้องหา ผู้ต้องหาให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตํารวจในการจับกุมแต่โดยดี มิได้ต่อสู้ขัดขวาง จึงไม่มีพฤติการณ์หลบหนีใด อีกทั้งผู้ต้องหาไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการกระทําความผิดอาชญากรรม และไม่เคยต้องโทษในคดีอาญาใดๆ มาก่อน จึงไม่อาจไปก่ออันตรายประการอื่นได้

3. ปัจจุบันผู้ต้องหาทั้งสองยังเป็นนักเรียนซึ่งอยู่ในระหว่างศึกษาเล่าเรียนตามโครงสร้างหลักสูตรที่สถานศึกษากำหนด ผู้ต้องหาทั้งสองมีภาระหน้าที่จะต้องเข้าเรียน จัดทำรายงาน และเข้าสอบในรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียนไว้ หากผู้ต้องหาต้องถูกคุมขังไว้โดยไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวก็จะไม่สามารถไปศึกษาต่อตามปกติได้ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิทางการศึกษาของผู้ต้องหาทั้งสองอย่างร้ายแรง

4. ขณะนี้เป็นที่ปรากฏว่ามีการแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัส 2019 ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเรือนจําต่างๆ หากผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว จะต้องถูกคุมขังในเรือนจําดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ต้องหาเนื่องจากเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 จากการถูกคุมขังในสถานที่แออัดซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรค

ต่อมา ในช่วงเวลาราว 14.00 น. ศาลอาญาฯ ได้อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 47,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขแต่อย่างใด และศาลให้นัดรายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 30 ก.ย. 64 เวลา 8.30 น.

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 16 ส.ค. 64 เวลา 09.00 น. ศาลจะเรียกผู้ต้องหาทั้งสองเพื่อตรวจสอบหลักประกันต่อไป 

.

อัพเดตเพิ่มเติม 16 ส.ค. 64

ศาลกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม ห้ามเข้าร่วมชุมนุมที่มีความรุนแรง ห้ามออกนอกบ้านหลังบ่ายสาม พร้อมติดกำไล EM

16 ส.ค. 64 ศาลได้กำหนดนัดให้ผู้ขอประกันส่งตัวนายอาทิตย์และนายน้ำเชี่ยวต่อศาลเพื่อกำหนดเงื่อนไขให้ประกัน เพิ่มเติม โดยศาลได้ตรวจสำนวนประกอบคำร้องของหมายจับพบว่า ตามพยานหลักฐานที่ปรากฎ ผู้ต้องหาทั้งสองนั้นมีความใกล้ชิดกับการใช้ความรุนแรงในการชุมนุม เป็นการหลงผิดของศาลที่ปล่อยตัวทั้งสอง โดยไม่ได้กำหนดมาตรการกำกับที่เหมาะสมและเพียงพอที่จะป้องกันการเกิดเหตุอันตรายประการอื่นได้

ดังนั้น ศาลจึงอาศัยอำนาจตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 115 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 108 วรรคสาม กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม โดยให้ทั้งสองติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็คทรอนิกส์ (กำไล EM) และห้ามผูัต้องหาทั้งสองออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 15.00 น. – 06.00 น. พร้อมกับห้ามทั้งสองเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองที่มีลักษณะการใช้ความรุนแรง

.

X