ศาลไม่ให้ประกัน ‘โตโต้’ คดีอ้างจะก่อเหตุใน #ม็อบ6มีนา ส่วนอีก 14 ราย ปล่อยด้วยหลักทรัพย์ 45,000 บาท

วันนี้ (8 มีนาคม 2564) จากกรณีการจับกุมกลุ่มการ์ด We Volunteer (Wevo) และประชาชน บริเวณห้างสรรพสินค้าเมเตอร์รัชโยธิน ก่อนการชุมนุมในวันที่ 6 มีนาคม 2564 โดยในวันดังกล่าวมีการจับกุมกลุ่มการ์ดและประชาชนไม่น้อยกว่า 48 ราย และมีผู้ถูกควบคุมตัวไปที่ บก.ตชด. ภาค 1 เพื่อดำเนินคดีรวม 18 ราย 

ในจำนวนผู้ถูกจับกุม มีเยาวชนอายุ 17 ปี จำนวน 2 คน และยังมีศัลยแพทย์ 1 คน จากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ถูกจับกุมมาด้วย ก่อนเยาวชนสองรายได้รับการประกันตัวจากศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในวันที่ 7 มีนาคม 2564  ขณะที่ศัลยแพทย์ได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกแจ้งข้อกล่าวหา โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ แต่หากผิดสัญญาประกัน จะถูกปรับในวงเงิน 50,000 บาท

ทั้งนี้ผู้ถูกจับกุมที่เหลือได้ประกันตัวด้วยเงินสดเป็นหลักทรัพย์ 45,000 บาท มีเพียง “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ จากกลุ่ม Wevo ที่ไม่ได้รับการประกันตัว 

>> จับ Wevo-ปชช.กว่า 48 คน โดย 18 คนถูกแจ้งข้อหาอั้งยี่-ซ่องโจร-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อ้างเตรียมสร้างเหตุวุ่นวาย

 

ภาพจากผู้ใช้ทวิตเตอร์

 

หลังการจับกุมตั้งแต่คืนวันที่ 6 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่ 4 ข้อกล่าวหา ต่อผู้ต้องหา 18 ราย ภายใน บก.ตชด ภาค 1 ได้แก่ 1. ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, 2.ข้อหาตามพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6),  3.ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 ฐานเป็นอั้งยี่ 4. ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 210 ฐานเป็นซ่องโจร

เจ้าหน้าที่ทำการสอบสวน 16 ราย ยกเว้นเยาวชน 2 ราย เสร็จสิ้นในช่วงบ่ายวันที่ 7 มีนาคม 2564  โดยให้ปล่อยตัวแพทย์ที่ถูกจับกุมมาด้วย ก่อนที่เช้าของวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจขอฝากขังผู้ต้องหา 15 ราย ที่ศาลอาญาโดยผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์จาก บก.ตชด. ภาค 1

จากนั้นทนายความยื่น คำร้องประกอบการขอประกันตัวระบุว่าคดีนี้ตามบันทึกจับกุมและพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุเหตุการณ์โดยเลื่อนลอย ไม่มีพยานหลักฐานตามสมควรอันควรเชื่อได้ว่าผู้ต้องหาคนใดในคดีนี้ ทำความผิดอย่างไรบ้าง 

อีกทั้งผู้ต้องหาบางคนไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา แต่ก็ถูกจับกุมมาด้วย ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกจับกุมโดยยังไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมใดๆ ไม่ได้มีพฤติการณ์มั่วสุมหรือชุมนุมในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค เพราะการเดินทางเข้าห้างนั้น จะต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิอยู่แล้ว และไม่ได้ดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อนสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดโรคติดต่อหรือโรคแพร่ระบาดออกไป รวมทั้งไม่ได้เป็นสมาชิกคณะบุคคล เพื่อปกปิดวิธีการดำเนินการและมีความมุ่งหมาย เพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้กระทำการมีลักษณะเป็นซ่องโจร

 

พฤติการณ์ตามบันทึกจับกุมไม่ตรงกับความเป็นจริงหลายประการ

นอกจากนั้นคำร้องยังระบุรายละเอียดว่า 1. ปิยรัฐ จงเทพ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา ตามวันเวลาที่เกิดเหตุ ปิยรัฐเพียงเดินทางไปรับประทานอาหารที่ห้างเมเจอร์รัชโยธินเท่านั้น ไม่ได้ไปมั่วสุมหรือชุมนุมกับบุคคลใดๆ ไม่ได้เข้าไปร่วมชุมนุม ไม่ได้กระทำการใดเพื่อปกปิดวิธีการดำเนินการ ปรากฎตามใบเสร็จค่าอาหารจำนวน 962 บาท ในเวลา 17.52 น. 

หลังจากนั้นปิยรัฐกำลังจะเดินทางกลับ ขณะอยู่บริเวณลาดจอดรถของห้าง ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบพยายามเข้ามาควบคุมตัว โดยไม่มีหมายจับ ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ไม่แจ้งว่าทำความผิดอะไร ไม่มีหมายค้น โดยปิยรัฐก็ให้ความยินยอมแต่โดยดี 

ตามคลิปวีดีโอเหตุการณ์นี้ที่ปรากฎ การตรวจค้นไม่พบสิ่งของใดๆ อันมีไว้เพื่อความผิด หรือมีไว้ใช้เพื่อทำความผิด และปิยรัฐมีเพียงตัวเปล่าเท่านั้น ไม่มีกระเป๋าหรือของใส่สัมภาระใดๆ ย่อมไม่สามารถมีสิ่งของใดๆ ไว้ในครอบครองตามที่ถูกกล่าวหาและถูกจับกุมได้ และปิยรัฐให้เพื่อนพยายามถ่ายภาพเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษเดินทางมาถึง ก็ได้พยายามปัดกล้องไม่ให้ถ่ายภาพเหตุการณ์เอาไว้ ภาพถ่ายและคลิปวีดีโอก็ถูกตัดออกไป และปิยรัฐกับเพื่อนก็ถูกควบคุมตัวออกไป

2. บุคคลอื่นๆ จำนวน 27 คน ก็ได้ไปลงบันทึกประจำวันที่ สน.พหลโยธิน ว่าถูกควบคุมตัวบริเวณลานจอดรถของห้างเมเจอร์รัชโยธิน โดยไม่มีการแสดงหมายจับ ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา และไม่แจ้งว่าจะพาตัวไปที่ใด รวมทั้งไม่แจ้งสิทธิตามกฎหมาย และถูกควบคุมตัวขึ้นรถผู้ต้องขังไปทันที ทั้ง 27 คน จึงไปขอให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบกล้องวงจรปิดบริเวณดังกล่าวในช่วงกลางคืนวันที่ 6 มีนาคม 2564 เพื่อป้องกันไม่ให้ทำลายพยานหลักฐาน และเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์เป็นธรรม แต่พนักงานสอบสวนยังไม่ได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดหรือขอข้อมูลกล้องวงจรปิด ทั้งนี้หากได้ภาพวีดีโอกล้องวงจรปิดมาแล้ว น่าจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้แก่ผู้ต้องหาในคดีนี้ได้ 

3. ประเด็นที่กล่าวหาว่าได้มีการค้นพบสัมภาระของกลุ่มบุคคลต่างๆ ผลการตรวจค้นพบเป็นวัตถุยุทธภัณฑ์ ซึ่งอาจใช้เป็นอาวุธ และใช้ก่อความวุ่นวายทางการเมือง ก็ไม่ปรากฎว่า ถูกตรวจพบจากผู้ต้องหาคนใด หรือเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาหรือไม่ ทั้งนี้หากมีการตรวจยึดอุปกรณ์ยุทธภัณฑ์จากผู้ต้องหาจริง ก็คงจะมีการตั้งข้อกล่าวหาเรื่องนั้นด้วย แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินคดีดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าพฤติการณ์ตามบันทึกจับกุมไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงทั้งหมด

อีกทั้งผู้ต้องหาไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐานได้ และผู้ต้องหาเป็นผู้มีภูมิลำเนาถิ่นฐานที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หากไม่ได้รับการประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมด อาจจะได้ความเดือดร้อนอย่างหนัก ไม่สามารถแสวงหาพยานหลักฐานมาต่อสู้ได้อย่างเต็มที่และเป็นธรรม 

คำร้องขอประกันตัวยังระบุอีกว่า ผู้ต้องหายังไม่ได้ผ่านการพิจารณาพิพากษาจากศาลว่าเป็นความผิดหรือไม่ ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมเป็นภาคี บัญญัติข้อ 50 ของ ICCPR ยังระบุว่า บทบัญญัติของกติกานี้จะครอบคลุมทุกภาคของรัฐที่เป็นรัฐร่วมโดยปราศจากข้อจำกัดยกเว้นใดๆ และมาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่าก่อนที่จะมีคำพิพากษาจนถึงที่สุดว่าบุคคลได้กระทำผิด ศาลหรือองค์กรรัฐจะปฏิบัติกับบุคคลนั้นเสมือนผู้กระทำความผิดไม่ได้ 

3. หากพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาขอให้ศาลเรียกพนักงานสอบสวนและผู้ต้องหามาไต่สวนเหตุในการคัดค้านขอปล่อยตัวชั่วคราว

 

 

ศาลไม่ให้ประกันตัว “โตโต้” อ้างไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง

ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง ก่อนที่ทนายความจะยื่นขอประกันตัว ด้วยเงินสดคนละ 45,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยมีนักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ต้องหารายที่ 2 ใช้ตำแหน่งอาจารย์ในการขอประกันตัว  

กระทั่งเวลา 16.15 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาที่ 2-15 ระหว่างสอบสวนตลอดจนถึงชั้นพิจารณา เว้นแต่โจทก์ฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาที่หนักกว่า โดยให้ประกันในวงเงินคนละ 45,000 บาท 

แต่ในส่วนของผู้ต้องหาที่ 1 ปิยรัฐ นั้น เห็นว่าผู้ต้องหาที่ 1 มีพฤติการณ์ที่อุกอาจ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ประกอบผู้ต้องหาที่ 1 ถูกดำเนินคดีในคดีอื่นในลักษณะเดียวกันกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาอีกหลายคดี หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีเหตุอันควรให้เชื่อว่าผู้ต้องหาที่ 1 จะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

คำสั่งมี ‘ชนาธิป เหมือนพะวงศ์’ ผู้พิพากษาศาลอาญา เป็นผู้สั่งคดี

คำสั่งดังกล่าวส่งผลให้ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ ถูกควบคุมไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครในการฝากขังผัดแรก 12 วัน ส่วนผู้ต้องหาที่ได้รับการประกันตัว ศาลนัดมารายงานตัวอีกครั้งวันที่ 26 เมษายน 2564

สำหรับกรณีของเยาวชน 2 ราย หลังทำบันทึกจับกุมเสร็จและตรวจร่างกายในคืนวันที่ 6 มีนาคม 2564  เจ้าหน้าให้ผู้ปกครองมารับตัวกลับบ้านก่อน และนัดหมายที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในที่ 7 มีนาคม 2564 เพื่อตรวจสอบการจับกุม ก่อนศาลจะให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์คนละ 5,000 บาท โดยเยาวชนทั้งสองต้องไปที่ศูนย์ให้คำปรึกษาคดีที่ศาลเยาวชนฯ และเข้าสู่กระบวนการสืบเสาะประวัติโดยพนักงานคุมประพฤติต่อไป ขณะที่ศัลยแพทย์ที่ถูกจับกุมมาด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ทำสัญญาประกันวงเงิน 50,000 บาท แต่ไม่ต้องวางเงิน

 

 

สำหรับเหตุการณ์ชุมนุม #ม็อบ6มีนา วันที่ 6 มีนาคม 2564 เกิดจากการนัดหมายของกลุ่ม  “รีเด็ม” (REDEM) เดินขบวนจากห้าแยกลาดพร้าว ไปหน้าศาลอาญา แต่ช่วงก่อนการชุมนุมเกิดเหตุการณ์จับกุมทีมการ์ด We Volunteer และประชาชนบริเวณห้างสรรพสินค้าเมเจอร์รัชโยธิน ซึ่งยังไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมแต่อย่างใด 

นอกจากนี้  #ม็อบ6มีนา  ยังมีเหตุชุลมุนเมื่อเวลา 18.45 น. รถควบคุมตัวผู้ต้องขังคันหนึ่ง ซึ่งมีประชาชนถูกคุมตัวอยู่บนรถ 14 ราย วิ่งมาบริเวณใกล้ศาลอาญา กลุ่มประชาชนได้ติดตามและล้อมรถไว้บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ทำให้เจ้าหน้าที่ขับรถได้หนีลงจากรถไป และทิ้งรถควบคุมตัวไว้อยู่บนถนน ต่อมาได้มีความพยายามประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน ให้มาดูแลสถานการณ์ผู้ถูกควบคุมตัว 14 คน แต่ก็ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่เดินทางมากว่า 2 ชั่วโมง

ส่วนผู้ถูกคุมตัวก็ไม่หลบหนีออกมา เนื่องจากเกรงว่าจะถูกดำเนินคดีหลบหนีการจับกุม จึงร่วมกันตัดสินใจเดินเท้าไปที่ สน.พหลโยธิน ท้องที่เกิดเหตุ เพื่อยืนยันว่าไม่ได้หลบหนี ทั้งสอบถามเหตุผลการจับกุม และอำนาจที่เจ้าหน้าที่ใช้จับกุม 

บันทึกประจำวันที่ผู้ถูกจับกุมแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ ทั้งหมดยืนยันว่ากำลังนั่งทานข้าวอยู่ที่ลานจอดรถชั้น 5 ของห้างเมเจอร์รัชโยธิน แต่กลับถูกตำรวจเข้าควบคุมตัว โดยไม่มีการแสดงหมายจับ ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายใด ไม่แจ้งว่าจะพาตัวไปที่ใด ไม่มีแจ้งสิทธิตามกฎหมาย ใช้กำลังควบคุมตัว ใช้อาวุธข่มขู่ มีการยึดทรัพย์สินของแต่ละราย จึงขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินการติดตามทรัพย์สิน และสอบสวนกล้องวงจรปิดในห้างทั้งหมด เพื่อขอความเป็นธรรมให้กับทั้งหมดด้วย 

รวมแล้ว มีผู้ถูกจับกุมเข้ามาแสดงตัวต่อตำรวจสน.พหลโยธิน ทั้งหมด 30 ราย เมื่อรวมกับจำนวนผู้ถูกจับกุมที่ บก.ตชด. ภาค 1 ทำให้มีผู้ถูกจับกุมจากเหตุที่ห้างเมเจอร์รัชโยธิน ไม่น้อยกว่า 48 ราย ซึ่งนับได้ว่าเป็นการจับกุมจากเหตุทางการเมือง เป็นจำนวนมากที่สุด นับตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมเยาวชนปลดแอก เมื่อกลางปี 2563 เป็นต้นมา

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

>> เปิดสถิติผู้ถูกควบคุมตัวไป บก.ตชด. ภาค 1 จากการชุมนุมทางการเมือง

 

X