สถิติผู้ถูกควบคุมตัวไป บก.ตชด. ภาค 1 – บช.ปส. จากการชุมนุมทางการเมือง

สถานการณ์การนำตัวผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมทางการเมืองไปควบคุมตัวและสอบสวนที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด. ภาค 1) จังหวัดปทุมธานี เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีการนำตัวไปยังกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) อีกด้วย

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2563 จนถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2564 พบว่ามีผู้ถูกจับกุมอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ถูกนำตัวไปควบคุมในสองสถานที่ดังกล่าว รวมถึงสถานีตำรวจซึ่งไม่ใช่ท้องที่เกิดเหตุหรือเจ้าของคดี แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 335 ราย โดยทั้งหมด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สถานการณ์ดังกล่าวสามารถแยกพิจารณาได้เป็นสองช่วง

.

56 ราย: ถูกควบคุมตัวใน บก.ตชด. ภาค 1 ช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เวลา 04.00 น. ถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2563 เวลา 12.00 น. 

ต่อมา พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ได้ออกประกาศฉบับที่ 1/2563 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เรื่อง “กำหนดสถานที่ควบคุม” ระบุให้กรณีที่มีการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่ถูกสงสัยว่าเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้สามารถส่งตัวไปควบคุมที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ค่ายนวมินทราชินี จังหวัดชลบุรี 

นอกจากนั้น ประกาศยังให้อำนาจหัวหน้าผู้ควบคุมสถานที่ กำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการควบคุมและการเยี่ยมได้ตามที่เห็นสมควร 

แม้ว่าจะมีประกาศสถานที่ควบคุมตัวดังกล่าว แต่การควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงนั้น เจ้าหน้าที่ต้องมีการร้องขอต่อศาลเพื่อขออนุญาตดำเนินการ ออกหมายศาล (เรียกกันว่า “หมายฉฉ.”) เพื่อให้มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน (ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ)

หากแต่ช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2563 นั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าไม่มีกรณีใดเลยที่พบว่าศาลออกหมายควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้แต่อย่างใด ดังนั้นแล้วแม้จะเป็นช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เจ้าพนักงานยังต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการควบคุมตัวบุคคลตามปกติ 

ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 และ 84 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมไปยังสถานีตำรวจท้องที่ที่ถูกจับกุม หรือสถานีตำรวจเจ้าของคดีเท่านั้น การนำตัวผู้ถูกจับกุมไปยัง บก.ตชด. ภาค 1 จึงไม่ได้มีกฎหมายให้อำนาจไว้ตามปกติแต่อย่างใด 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีผู้ถูกควบคุมตัวไปที่ บก.ตชด. ภาค 1 อย่างน้อย 56 ราย โดยมีทั้งแกนนำที่ถูกจับกุมตัวตามหมายจับในคดีชุมนุมต่างๆ และผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมการชุมนุมในช่วงดังกล่าว

.

.

277 ราย: ถูกควบคุมตัวใน บก.ตชด. ภาค 1 – บช.ปส. ทั้งที่ไม่มีสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 เจ้าหน้าที่ก็ได้มีการควบคุมตัวผู้ร่วมชุมนุมจากกรณีการชุมนุม #คณะราษฎรอีสาน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยัง บก.ตชด. ภาค 1 จำนวน 21 ราย ซึ่งวันดังกล่าวยังไม่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงฯ แต่อย่างใด

นอกจากนั้น หลังการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 1/2563 เรื่อง “กำหนดสถานที่ควบคุม” ก็ได้สิ้นผลไปทันที โดยในประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงนามโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในข้อที่ 2 ก็ได้กำหนดให้บรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 อันเนื่องจากได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เป็นอันสิ้นสุดลง ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำตัวผู้ถูกจับกุมไปควบคุมตัวนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้

ภายหลังวันที่ 22 ตุลาคม 2563 จนถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่ก็ยังนำตัวผู้ถูกจับกุมจากเหตุชุมนุมทางการเมือง ไปควบคุมตัวที่ บก.ตชด. ภาค 1 และ บช.ปส. อย่างต่อเนื่อง จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับได้จำนวนอย่างน้อย 256 ราย

จากเหตุการณ์ต่างๆ ได้แก่ กรณีการ์ด Wevo ขายกุ้ง บริเวณสนามหลวงและอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 63, กรณีกิจกรรมเขียนป้าย 112 เมตร ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและสามย่าน เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 64, กรณีการชุมนุม #ม็อบ13กุมภา เดินขบวนการอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังศาลหลักเมือง, กรณีการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังกรมทหารราบที่ 1, กรณีการควบคุมตัวทีมการ์ด Wevo ก่อน #ม็อบ6มีนา, กรณีการชุมนุม #ม็อบ20มีนา ที่สนามหลวง, กรณีผู้ชุมนุม #หมู่บ้านทะลุฟ้า เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 64, กรณีผู้ชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 64, กรณีผู้ถูกจับกุมระหว่างคาร์ม็อบ #ม็อบ1สิงหา วันที่ 1 ส.ค. 64 และผู้ชุมนุมทะลุฟ้าที่หน้า บช.ปส. เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 64

กล่าวได้ว่าการจับกุมตัวผู้ชุมนุมในช่วงสองระยะนี้ ไปควบคุมที่ บก.ตชด. ภาค 1 และ บช.ปส. รวมจำนวน 277 ราย นั้น เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการนำตัวไปควบคุมตัวในสถานที่นั้นแต่อย่างใด นอกจากนั้นยังมีอีก 2 ราย ถูกคุมตัวไปสอบสวนในสถานีตำรวจซึ่งไม่ใช่เจ้าของคดีและไม่ใช่ท้องที่เกิดเหตุ

นอกจากนั้น การควบคุมตัวไปยัง บก.ตชด. ภาค 1 ยังส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้ต้องหาหลายประการ ทั้งการที่ทนายความไม่สามารถเข้าพบผู้ต้องหาได้ในทันที ต้องรอการอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ ทำให้การให้ช่วยเหลือทางกฎหมายเป็นไปอย่างล่าช้า และยังมีการจำกัดการเข้าเยี่ยมของญาติหรือผู้เกี่ยวข้อง สถานที่อยู่ห่างไกลจากจุดเกิดเหตุมาก ทำให้การติดตามไปเยี่ยมเป็นไปอย่างยากลำบาก 

ในบางครั้งเจ้าหน้าที่มีการยึดโทรศัพท์ผู้ต้องหา หรือขอเก็บโทรศัพท์ทนายความในระหว่างอยู่ภายใน ทำให้ไม่สามารถติดต่อประสานงานในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายได้

อีกทั้งสถานที่ควบคุมตัวที่ไม่แน่นอนและเป็นไปตามอำเภอใจเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ยังนำไปสู่ความเสี่ยงของผู้ต้องหาที่จะถูกบังคับสูญหายหรือถูกซ้อมทรมานในระหว่างควบคุมตัวอีกด้วย 

.

.

ตารางภาพรวมการควบคุมตัวใน บก.ตชด. ภาค 1 – บช.ปส.

ในภาพรวม ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2563 – 3 สิงหาคม 2564 มีผู้ถูกจับกุมอันมีเหตุเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ถูกนำตัวไปควบคุมที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) หรือสถานีตำรวจซึ่งไม่ใช่ท้องที่เกิดเหตุหรือเจ้าของคดี แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 335 ราย

  • ในจำนวนนี้ ถูกจับกุมนำตัวไปควบคุมและแจ้งข้อกล่าวหาที่ บก.ตชด. ภาค 1 และ บช.ปส. จำนวน 228 ราย 
  • มีแกนนำถูกจับกุมนำตัวไป บก.ตชด.ภาค 1 จากนั้นนำตัวขึ้นเครื่องต่อไปยังจังหวัดเชียงใหม่ และแจ้งข้อกล่าวหาที่กองบิน 41 จำนวน 2 ราย 
  • มีผู้ถูกจับกุม และนำตัวไปที่ บก.ตชด. ภาค 1 จากนั้นนำตัวกลับไปแจ้งข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจในภายหลัง 2 ราย 
  • มีผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัวไป บก.ตชด. ภาค 1 แต่ไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา 1 ราย
  • มีผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัวไปยังสถานีตำรวจ ซึ่งไม่ใช่ท้องที่เกิดเหตุและเจ้าของคดี 2 ราย
ลำดับ วันที่ถูกจับกุม

เหตุการณ์

จำนวนผู้ถูกควบคุมตัว
113 ต.ค. 63ชุมนุม #คณะราษฎรอีสาน รอการชุมนุมใหญ่ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย21
215 ต.ค. 63ชุมนุม #ม็อบ14ตุลา เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเช้ามืดวันที่ 15 ต.ค. 6324
315 ต.ค. 63ชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์7
416 ต.ค. 63ชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน และแกนนำที่ถูกออกหมายจับ14
517 ต.ค. 63 ชุมนุม #17ตุลาไปห้าแยกลาดพร้าว และแกนนำที่ถูกออกหมายจับ6
618 ต.ค. 63แกนนำที่ถูกออกหมายจับในคดีการชุมนุม 2
719 ต.ค. 63แกนนำที่ถูกออกหมายจับในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร1
821 ต.ค. 63แกนนำที่ถูกออกหมายจับในคดีการชุมนุม2
931 ธ.ค. 63กิจกรรม “ขายกุ้ง” ช่วยผู้ค้ากุ้ง ที่สนามหลวงและอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ของกลุ่ม We Volunteer16
10ก่อนเที่ยงคืน 13 ม.ค. 64สิริชัย นาถึง นักศึกษามธ. ถูกจับกุมตามหมายจับคดีมาตรา 112 เจ้าหน้าที่นำตัวไปบก.ตชด. ภาค 1 ก่อนนำตัวไปแจ้งข้อหาที่ สภ.คลองหลวง1
1116 ม.ค. 64ชุมนุมเขียนป้าย 112 เมตร ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม ที่สามย่านมิตรทาวน์6
1213 ก.พ. 64ชุมนุม #ม็อบ13กุมภา เดินจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปศาลหลักเมือง11
1328 ก.พ. 64ชุมนุม #ม็อบ28กุมภา เดินจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปกรมทหารราบที่ 1 19
146 มี.ค. 64จับกุมทีมการ์ด Wevo และประชาชน จากห้างเมเจอร์รัชโยธิน ระหว่างชุมนุม #ม็อบ6มีนา18
1510 มี.ค. 64จับกุม “พรชัย” ตามหมายจับ ม.112, ม.116 และพ.ร.บ.คอมฯ ก่อนนำตัวไปสอบบก.ตชด. ภาค 1 แล้วนำตัวกลับมาสถานีตำรวจ1
1620 มี.ค. 64ชุมนุม #ม็อบ20มีนา ที่บริเวณท้องสนามราษฎร์ (สนามหลวง) และการจับกุมบริเวณโดยรอบ30
1728 มี.ค. 64ควบคุมตัวผู้ปักหลักชุมนุม #หมู่บ้านทะลุฟ้า ที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ใกล้ทำเนียบรัฐบาล67
1828 มี.ค. 64ผู้ชุมนุมคัดค้านการจับกุม #หมู่บ้านทะลุฟ้า ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล (ช่วงเย็น) ถูกจับกุมไปยัง กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.)32
1919 ก.ค. 64ผู้ร่วมชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา #ทวงคืนประเทศไทยขับไล่ปรสิต จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังทำเนียบรัฐบาล (ผู้ถูกจับกุม ถูกจับบริเวณ สน.บางเขน)14
201 ส.ค. 64เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี ถูกจับกุมระหว่างเดินไปร่วม CarMob #ม็อบ1สิงหา7
211 ส.ค. 64ทีมขับรถปราศรัยใน CarMob #ม็อบ1สิงหา ถูกจับกุมไปยัง กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) 3
222 ส.ค. 64กลุ่มทะลุฟ้าและประชาชนถูกจับกุมระหว่างรวมตัวเรียกร้องให้ปล่อยตัวคนขับรถปราศรัยของกลุ่มราษฎร ที่หน้าสโมสรตำรวจ30
232 ส.ค. 64กลุ่มทะลุฟ้าและประชาชนถูกจับกุมระหว่างรวมตัวเรียกร้องให้ปล่อยตัวคนขับรถปราศรัยของกลุ่มราษฎร ที่หน้าสโมสรตำรวจ โดยถูกแยกไปสอบสวนที่ สน.สุทธิสาร ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจเจ้าของคดีและไม่ใช่ท้องที่เกิดเหตุ2
242 ส.ค. 64นักศึกษา มธ. ถูกจับกุมระหว่างเรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้าและประชาชนหน้า บก.ตชด. ภาค 11

*ตัวหนังสือสีเข้ม คือกรณีที่ควบคุมตัวไป บก.ตชด. ภาค 1 โดยไม่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงแล้ว

.

X